Documentary Club จัดฉายหนังสารคดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จากวันนั้นถึงวันนี้ ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ ได้นำหนังสารคดีที่สนุกและดีงามเข้ามาถึง 25 เรื่องด้วยกัน
และนี่คือหนังสารคดี ทั้ง 25 เรื่องที่เราชวนคุณดู ซึ่งบางเรื่อง Documentary Club ก็เป็นผู้จัดจำหน่ายในรูปแบบ DVD เองด้วย จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น ไปดู
ปี 2557
1. Finding Vivian Maier คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์
ย้อนกลับไปช่วงปี 1950-1960 ยุคที่การถ่ายรูปยังไม่บูมนัก ด้วยความที่อุปกรณ์ในการถ่ายรูปตอนนั้นยังแพง และยังงานยากกว่ามือถือสมัยนี้ นั่นทำให้ John Maloof ชาวหนุ่มที่ทำงานด้านหนังสือประวัติศาสตร์ของเมืองชิคาโก ตัดสินใจประมูลกล่องที่บรรจุฟิลม์จำนวนมากไว้เผื่อใช้ประกอบงานของเขาเอง
ทว่าภาพจำนวนมหาศาลที่เขาพบนั้นกลับกลายเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การถ่ายรูป โดยเฉพาะในสาขา Street ไปโดยปริยาย เมื่อภาพกว่า 300,000 ภาพ ทั้งภาพสี ภาพขาวดำ ภาพสไตล์เซลฟี่ อัดเทปเสียง รวมถึงหนัง 8 มิลลิเมตร และ 16 มิลลิเมตร ที่มีความงาม มีเสน่ห์ และเต็มไปด้วยความลึกลับ เพราะไม่มีใครเคยได้พบเจอช่างภาพคนนี้มาก่อน
นั่นทำให้ John Maloof ไล่ตามจนเจอว่าผู้ถ่ายรูปคนนี้คือ Vivian Maier จุดที่น่าสนใจคือ เธอผู้นี้กลับใช้ชีวิตอยู่อย่างลึกลับ เธอไม่เคยให้ใครดูงานของเธอ เธอไม่เคยเผยความสามารถ เธอใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในบั้นปลาย และมีเทคนิคที่สามารถเข้าถึงใจผู้ที่ถูกถ่ายภาพ ในทางกลับกัน คนรอบตัวเธอกลับเข้าใจเธอแตกต่างกันออกไป
และนี่ทำให้สารคดี ‘Finding Vivia Maier’ น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ผลงานของเธอเท่านั้น แต่เป็นตัวตนของเธอเองที่สามารถเร้นกายจากสายตาสังคมได้ชั่วชีวิต John Maloof ร่วมทำสารคดีเรื่องนี้กับ Charlie Siskel แม้เป็นผลงานใหญ่ชิ้นแรกของพวกเขา แต่ภาพถ่ายอันมีเสน่ห์และเรื่องราวที่เย้ายวนให้ติดตาม ว่าแท้จริง วิเวียนต้องการอะไร ส่งผลให้สารคดีที่เล่าเรื่องของสตรีที่ไม่ต้องการให้ใครสนใจ ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในปี 2014 ด้วย
2. The Case Against 8 ขอเรา…ให้เท่ากัน
ก่อนที่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาจะตัดสินให้ทุกรัฐของอเมริกาเป็นเรื่องถูกกฎหมายในปี 2015 ย้อนกลับไปในปี 2008 ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการลงประชามติให้กฎหมายใหม่ (ณ เวลานั้น) ที่เรียกว่า Proposition 8 ซึ่งทำให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันที่แต่งงานมาก่อน ไม่ว่าจะจดทะเบียนมาจากรัฐใดก็ตามเป็นผลโมฆะทันที หลังจากนั้นก็มีจดหมายแจ้งคู่แต่งงานเพศเดียวกันที่อาศัยในรัฐ ว่าพวกเขาไม่ได้ถือเป็นคู่แต่งงานกันอีกแล้ว
แม้ว่ากฎหมายผ่านไปตามผลประชามติ กระนั้นการต่อสู้ของผู้ที่มีความรักหลากหลายทางเพศเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น คู่รักชาย และ คู่รักหญิง ที่ตัดสินใจแน่วแน่ว่าต้องต่อสู้กับทางการ ได้พลังหนุนจากทนายสองคนที่พวกเขาเคยขับเคี่ยวกันมาก่อนในเวทีการเมือง แต่ตัดสินใจจับมือกันเพื่อรักษาสิทธิพื้นฐานของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ถูกลดทอนให้กลับไปเป็นพลเมืองชั้นสองอีกครั้ง
การต่อสู้ครั้งใหม่ถูกจัดตั้งขึ้นโดย Ben Cotner และ Ryan White โดยใช้เวลา 5 ปี ตามติดคดีนี้ตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงช่วงที่ Prop 8 ถูกยกตกลงไป การจดบันทึกเสี้ยววินาทีของการต่อสู้ที่แม้แต่ทีมงานผู้ผลิตก็คาดว่าจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ กลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เมื่อผู้กำกับทั้งสองคนได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ Sundace รวมถึงรางวัล Audience Award จากเทศกาล SXSW ในปี 2014
ปี 2558
3. The Circle มีเธอ มีฉัน มีเรา
หนังสารคดีเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนทำหนังสือเกย์ชื่อ ‘The Circle’ ที่เป็นเหมือนองค์กรลับให้กับกลุ่มชายรักชายในสวิสเซอร์แลนด์ยุค 1940-1950 นอกจากหนังเล่าความสัมพันธ์ที่พัฒนาจนเป็นความรักของตัวเอกทั้งสองแล้ว เรื่องราวยังถักทอเอาประวัติศาสตร์การใช้ชีวิตของเหล่าชายรักชายในยุคนั้นที่ได้รับแรงกดดันจากครอบครัว การงาน และสังคม เข้าไว้ด้วย ก่อนทั้งสองจะกลายเป็นคู่รักชาย-ชายคู่แรกที่จดทะเบียนคู่ชีวิตของเมืองซูริกในปี 2003
หนังสารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัล Teddy Award รางวัลให้เกียรติสื่อที่สนับสนุน LGBTQ และ Panorama Audience Award จากงาน Berline Film Festival ทั้งยังเป็นหนังที่สวิสเซอร์แลนด์ส่งเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
4. Life Itself ชีวิตจริง…ยิ่งกว่าหนัง
หากคุณได้ติดตามข่าววงการหนังฝั่งฮอลลีวูดล่ะก็ คุณต้องเคยเห็นชื่อ Roger Ebert ชายผู้นี้คือนักวิจารณ์หนังชื่อดัง นักอ่านตัวยง นักเขียนตัวพ่อ สื่อสายเสรีนิยมปากจัด มือเขียนบทภาพยนตร์เรท X ที่ทำรายได้สูงปรี๊ด พิธีกรปากร้ายที่ชอบกัดแซะหนังดังกับคู่แข่งร่วมวงการ ชายผิวขาวผู้เป็นสามีที่รักของหญิงผิวสี เจ้าของประโยคและท่ายกนิ้วโป้งทั้งสองมือ ‘Two Thumbs Up’ ที่คนทำหนังหลายคนอยากจะได้คำนี้ออกมาจากปากของเขา
สารคดีเรื่องนี้พร้อมวิเคราะห์นักวิจารณ์ชื่อดังคนนี้ ว่าอะไรที่ทำให้นักข่าวธรรมดาๆ กลายมาเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลไม่ใช่แค่ต่อวงการเขียน หรือ วงการภาพยนตร์ แต่ส่งผลในวงกว้างต่อผู้เสพสื่อบันเทิงของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็สามารถแสดงตัวตนของนักวิจารณ์ได้อย่างสมเกียรติด้วยการกวาดรางวัลสารคดีจากสถาบันต่างๆ เป็นว่าเล่น หาก Roger Ebert ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงยกนิ้วโป้งคู่ให้กับหนังสารคดีเรื่องนี้เช่นกัน
5. CITIZENFOUR แฉกระฉ่อนโลก
ถ้าถามว่าหนังเรื่องไหนทำให้คนรู้จัก Documentary Club ในวงกว้างแบบมากที่สุด The MATTER เชื่อว่ามันคงเป็นหนังสารคดีที่ได้รับรางวัลออสการ์ประจำปี 2015 เรื่องนี้
สารคดีที่นำเสนอชีวิตส่วนหนึ่งของ Edward Swowden ในช่วงที่เขาเปิดเผยโครงการ PRISM ของ CIA โครงการดักเก็บข้อมูลในการโทรศัพท์ ใช้อินเทอร์เน็ต เก็บข้อความและข้อมูลทุกอย่าง ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับเอง ก็ต้องตัดต่อหนังของเธอที่เยอรมันนี เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนลบไฟล์หนังจากทางรัฐ แม้ว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะออกมายืนยันภายหลังว่า เป้าหมายโครงการนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการก่อการร้ายเท่านั้น แต่นั่นก็ทำให้หนังเรื่องนี้กระฉ่อนไปทั่วโลก และเรื่องของ Snowden ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัสเซียเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมจากอเมริกา ก็กลายเป็นเรื่องที่ใครก็ทราบกันไปแล้ว
6. 1971 ฉีกเอฟบีไอ
สารคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้โลกรู้ว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนของอเมริกาสงสัยองค์กรรัฐของตัวเอง และไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์กรรัฐของอเมริกา เสียท่าให้กับพลังของประชาชน ย้อนกลับไปเมื่อปี 1971 ก่อนยุคอินเตอร์เน็ต ก่อน Wikileaks จะมีตัวตน ก่อน Edward Snowden จะถือกำเนิด คนหนุ่มสาวในยุค 1970 ช่วงที่อเมริกากำลังง่วนอยู่กับสงครามเวียดนาม กลุ่มฮิปปี้ หรือ บุปผาชน ที่ไม่ต้องการสงครามเริ่มสงสัยการกระทำของ FBI ว่าเข้าไปสอดแนมชีวิตและการแสดงออกของพวกเขา ชายหญิง 8 คนรวมตัวกันในชื่อ “คณะกรรมการพลเมืองตรวจสอบ FBI” วางแผนที่ชิงเอกสารลับของหน่วยงานรัฐ พร้อมทั้งเปิดเผยความจริงให้กับสื่อมวลชนรับทราบ
หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องแรกที่ Documentary Club ไม่ได้เอาสารคดีที่มีรางวัลอยู่แล้วมาฉาย แต่เป็นหมุดหมายที่ดีว่า Documentary Club จัดฉายหนังดีๆ ที่ตลาดหนังทั่วไปอาจมองข้าม
7. A Matter of Taste เชฟอัจฉริยะคว้าดาว
ชีวิตของคนทำอาหารไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะคนทำอาหารที่สามารถไปถึงจุดที่คนรอบข้างขนานนามว่า ‘เชฟ’ ด้วยแล้วละก็ มันยิ่งแสดงให้เห็นว่าคนๆ นั้น บ่มเพาะประสบการณ์มาขนาดไหน และหลายคนก็พึงพอใจกับการมาถึงตำแหน่งนี้ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ Paul Liebrandt เชฟผู้เป็นตัวละครเอกในสารคดีต้องการ พอลเดินทางจากอังกฤษสู่อเมริกา ด้วยความมุ่งมั่นและฝีมือที่หลายคนบอกว่าเป็นอัจฉริยะ ในขณะเดียวกันหลายคนก็ต่อต้านเขา เพราะสิ่งที่เขาต้องการนั้นไม่ใช่แค่การงานที่มั่นคง ร้านที่หรูหรา อาหารที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่เป็นการก้าวไปถึงดาวสามดวงของมิชลินที่เป็นตราการันตีว่าร้านของเขาคือสุดยอด
สารคดีบอกเล่าชีวิตอันทะเยอะทะยาน บ้าบิ่น รุ่งโรจน์ ตกต่ำ ที่สำคัญ หลังชมสารคดีชีวิตคนครัวอันดุเดือดเรื่องนี้จบต้องหาอะไรลงท้องซะหน่อย
8. The Wolfpack หมาป่าคอนกรีต
เด็กหนุ่มวัยรุ่น 6 คน ในมาดผมยาวเซอร์สวมแว่นกันแดดกับเสื้อผ้าสีดำขลับ ชวนให้นึกถึงตัวละครจากหนังมาเฟียหลายๆ เรื่อง จนต้องตาต้องใจ Crystal Moselle ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้อย่างจัง แล้วยิ่งเมื่อทราบว่า เด็กหนุ่มทั้งหกถูกเลี้ยงดูด้วยการอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ในกรุงนิวยอร์คแบบที่แทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลย มีเพียงการดูหนังเท่านั้นที่เป็นข้อมูลจากโลกภายนอกที่เด็กหนุ่มเหล่านี้ได้เสพ และพวกเขาก็ตัดสินใจจะทำหนังกันเองเพื่อเปลี่ยนมุมมองของโลกที่พวกเขาพบเจออยู่ทุกวัน กับการถ่ายทำของผู้กำกับที่ให้เห็นชีวิตของครอบครัวที่ตัดสินใจให้ลูกๆ ใช้ชีวิตอยู่ในรังดั่งหมาป่า และการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของพวกเขาที่พ่อแม่คงไม่เคยคาดคิดมาก่อน
หมาป่าคอนกรีต บอกเล่าเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน แถมยังเป็นใจกลางกรุงนิวยอร์ค นั่นทำให้ Crystal Moselle ถูกครหาว่าเธอจัดฉากจ้างเด็กกลุ่มใหญ่เพื่อลวงโลก แต่เมื่อเนื้อหาของหนังออกมาแบบมีที่มาที่ไปชัดเจน ผลตอบแทนของ Crystal ก็ออกผลและผลิบานกลายเป็นรางวัล Grand Jury Price สาขาสารคดีจากงานเทศกาลภาพยนตร์ Sundance ปี 2015 และรางวัลๆ อื่นอีกหลายแห่งเท่าที่หมาป่าฝูงนี้จะบุกไปถึงได้
9. Amy เอมี่
สำหรับคนไทยส่วนมาก อาจจดจำ Amy Winhouse ได้จากภาพข่าวที่เธอเมายายืนเหม่อบนเวทีคอนเสิร์ต แล้วกลายเป็นข่าวซุบซิบไปทั่ว ว่าดารานักร้องมันก็เป็นได้แค่นี้ ไม่ใช่แค่ชาวไทยเท่านั้นหรอกที่มองเธอแบบนั้น เพราะไม่ว่าสื่อเจ้าไหนก็อยากนำเสนอข่าวที่ขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นเรื่องคาวเมาท์มันส์ปากมากกว่า ‘ตัวตนจริง’ ของบุคคลนั้นๆ
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสารคดี Amy ผู้กำกับ Asif Kapadia นำเอาคลิปส่วนตัวของ Amy Winehouse ทั้งของคนในครอบครัวและจากเพื่อนรอบตัวมาถักถอเป็นตัวตนในอีกมุมที่สื่อไม่เคยเห็น นับตั้งแต่รากเหง้าที่เป็นจุดกำเนิดนักร้องแจ๊สและโซลที่ถือว่าเก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของยุค ไปจนถึงเหตุผลที่นำพาไปถึงจุดจบของนักร้องสาวคนนี้ ความเข้มข้นขมขื่นของสารคดีทำให้รางวัลต่างๆ พุ่งเข้ามาหา ไม่ว่าจะเป็นรางวัลสาขาสารคดียอดเยี่ยมทั้งจากเวที ออสการ์ Bafta หรือแม้แต่เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที Grammy Awards
10. Man on Wire ไต่พลิกโลก
แม้จะเข้าสู่ปี 2015 แล้ว แต่ Documentary Club ก็หยิบจับเอาสารคดีสุดเจ๋งเมื่อปี 2008 ที่บันทึกเรื่องราวของ Philippe Petit นักกายกรรมที่ต้องการไต่ลวดข้ามช่องว่างระหว่างตึก World Trade Center แต่ทางตึกไม่อนุญาต ดังนั้นเขากับพวกจึงต้องลักลอบทำแผนการในฝันให้สำเร็จ ด้วยความที่ตัวสารคดีเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานเร้าใจราวกับหนังสายลับ เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับชาวไทยที่มีโอกาสได้เสพหนังสารคดีมีคุณภาพ แม้ว่าไม่ใช่หนังใหม่ของปีนั้นๆ ก็ตาม
11. The New Rijksmuseum บูรณะโกลาหล
ชื่อไทยของเรื่องนี้บ่งบอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสารคดีเนเธอร์แลนด์ได้อย่างครบถ้วน เมื่อการบูรณะพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ท สถานที่สำคัญเก่าแก่ เก็บงานศิลป์ไว้กว่าล้านชิ้น จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งในแง่บรรยกาศ ความปลอดภัย การจัดแสดง แต่ความชิบหายวายป่วงก็บังเกิดขึ้นจากทั้งภายนอกที่ไม่เข้าใจแผนการบูรณะ รวมถึงศึกภายในของบุคลากรที่ปวดกบาลกับการรับมือกับปัญหาที่พวกเขาไม่เคยคิด จากแผนเดิมที่จะปิดซ่อมแค่ห้าปี กลายเป็นสิบปีแห่งความโกลาหล สารคดีเรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องผลงาน และสถานที่จัดแสดงความงามของผลงานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ถ้าชอบงานศิลปะของยุโรปล่ะก็ แนะนำเลย
12. Gayby Baby ครอบครัวของฉัน
ระหว่างที่แฟนๆ สารคดีเริ่มคิดว่า พวกเขาห่างเหินจากสารคดีเกี่ยวกับ LGBTQ ไปนาน Documentary Club ก็นำสารคดีที่กล้าหาญจะนำเสนออีกมุมหนึ่งซึ่งใครหลายคนหรือแม้แต่บุคคลที่เป็น LGBTQ ก็หลงลืมไป มุมนั้นก็คือ ลูกๆ ของคู่แต่งงาน LGBTQ นั่นเอง หนังสารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการระดมทุนผ่านโลกออนไลน์ตามยุคสมัยใหม่ ทีมงานเลือกที่จะเล่าถึงเรื่องราวของเด็กๆ ที่ทั้งพ่อและแม่ของเขาต่าง ‘ประสบความสำเร็จในความรัก’ กันหมดแล้ว ผ่านทางมุมมองของเด็กที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า Gayby หรือเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนเพศเดียวกันแบบพวกเขา มีความสุขเหมือนคนอื่นๆ ไหม และเราก็พบว่าบางครั้ง เด็กๆ ก็มีคำตอบที่ดีกว่าผู้ใหญ่จริงๆ
13. IRIS เปรี้ยวที่ใจ วัยไม่เกี่ยว
ความเปรี้ยวเข็ดฟันของสารคดีนี้จะทำให้คุณต้องยิ้มโดยไม่รู้ตัว กับวิถีชีวิตของ Iris Apfel หญิงใหญ่วัยใกล้ 100 ที่แต่งตัวด้วยสีสันจี๊ดจ๊าดสุดใจ ระดับที่เด็กวัยรุ่นหลายคนอาย ชีวิตของเธอไม่ได้แรงเปล่าๆ เธอเป็นทั้งแฟชั่นนิสต้าตัวแม่ นักออกแบบภายในฝีมือฉกาจ บริษัทผ้าของเธอและสามี เคยตกแต่งภายในให้กับทำเนียบขาวมาแล้วหลายครั้ง เธอไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์ของวงการแฟชั่นเท่านั้น เพราะคำพูดของเธอแต่ละคำ ทำให้คนฟังได้รู้สึกว่า ชีวิตนั้นใช้คุ้มแล้วหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับใจล้วนๆ
ปี 2559
14. Cartel Land ผ่าแดนนรก
ระห่ำดุเดือดกว่าหนังแอคชั่นฮอลลีวูด ก็คงไม่พ้นสารคดีเรื่องนี้ที่เล่าเรื่องสงครามของเหล่าแก็งค์ค้ายา (Cartel) ที่มีทั้งเงินและอำนาจ มากพอจะปิดปากพนักงานรัฐตัวเล็กตัวน้อย กับประชาชนทั้งในฝั่งอเมริกาและเม็กซิโกที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ภาพดิบเถื่อนและผู้กำกับก็บ้าบิ่นพอจะเสี่ยงลุยเข้าไปใจกลางสถานที่เกิดเหตุ นั่นทำให้เขาได้ภาพการยิงกันจริงๆ ดิบเถื่อนชวนขมคอ ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนความจริงแบบที่ยากจะเบือนหน้าหนี
ความจริงจังจนหลบสายตาไม่ได้ ทำให้หนังได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในปี 2016 ไป รวมถึงรางวัลใหญ่อื่นๆ ทั้ง Emmy Bafta และเทศกาลภาพยนตร์ Sundace ที่หนังเรื่องนี้ชนะทั้งในฐานะสารคดียอดเยี่ยมกับการถ่ายทำสารคดียอดเยี่ยมด้วย
15. Tangerine แทนเจอรีน
หนังแท้ๆ เต็มๆ ไม่ได้มีสารคดีมาข้องเกี่ยวที่ทาง Documentary Club นำมาฉายในไทย ด้วยสไตล์และเนื้อเรื่องอันหวือหวาของโสเภนีสาวประเภทสองจำนวนสองนาง ออกเดินทางเพื่อปิดบัญชีแฟนหนุ่มที่ดันหนีไปมีกิ๊กใหม่เสียอย่างนั้น จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คงไม่พ้นการใช้มือถือ iPhone5s ในการถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง แถมนักแสดงทั้งสองก็เป็นสาวข้ามเพศที่เคยขายตัวจริงๆ มารับบทอีกต่างหาก
ด้วยความอินเหรอขนมจีนถึงขั้นนี้ ทำให้หนังกวาดรางวัลสายอินดี้ไปมากถึง 23 รางวัล ทั้งผู้กำกับ และ นักแสดงทั้งสองคนของเรื่อง
16. The Act of Killing ฆาตกรรมจำแลง (Director’s Cut)
หนึ่งในสารคดีคู่ ที่พูดถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอินโดนิเซียเมื่อปี 1965 เรื่องแรกติดตามชีวิตของอดีตหัวหน้าหน่วยล่าสังหารที่ทำหน้าที่ฆ่า ‘คอมมิวนิสต์’ ที่ว่ากันว่าถูกฆ่าไปกว่าหนึ่งล้านคน โดยผู้กำกับเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านั้น สร้างหนังเพื่อเล่าเรื่องใหม่ตามแบบที่เขาอยากจะเล่า เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อปี 1965 ซึ่งเขาได้เปิดเผยอย่างสบายใจแบบที่ไม่มีใครเอาผิดได้ แต่เมื่อผู้ถ่ายทำสารคดีค่อยๆ ย้อนทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วอดีตหัวหน้าคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร
สารคดีมากรางวัลเรื่องนี้ออกฉายมาตั้งแต่ปี 2012 ผู้สร้างเข้าไปขุดบาดแผลที่หลายคนก็อยากให้ลืมเลือน และหลายคนก็ยังอยากได้รับคำตอบ ส่วนฉบับที่เข้ามาฉายในไทยเป็นฉบับ Director’s Cut เพิ่มฟุตเทจบางส่วนที่กลัวจะรุนแรงเกินไป แต่การใส่กลับมานั้นก็เพราะ มีฉากบางฉากที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่อไปที่เราจะพูดถึงด้วย
17. The Look of Silence ฆาตกรเผยกาย
ภาคต่อของ The Act of Killing ที่ย้ายมาจับประเด็นของครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านถูกฆ่าจากการล่าล้าง ‘คอมมิวนิสต์’ และเลือกที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์เหล่านั้นอีก จนกระทั่งน้องชายของผู้เสียชีวิตตัดสินใจเดินไปถามหาความจริงจากฆาตกรที่ฆ่าพี่ชายของเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนใกล้ตัว ความเงียบที่กระอักกระอ่วนค่อยๆ คืบคลานไปในแต่ละนาที
สารคดีคู่นี้รับรางวัลรวมกันกว่า 100 รางวัล แต่ทีมงานส่วนหนึ่งขอไม่เปิดเผยตัว เพราะพวกเขายังกลัวว่าผู้มีอำนาจยังสามารถไล่ล่าคนที่คัดค้านความคิดของเขาได้อยู่ และนั่นคงเป็นเหตุที่ทำให้สารคดีทั้งสองเรื่องได้รับความสนใจจากชาวโลก เพราะมันมีคำถามแรงๆ ถูกถามทิ้งไว้ถึงสองข้อ อย่างแรกคือ คุณจะอยู่อย่างมีความสุขหรือไม่หากคุณสังหารคนจำนวนมากเพื่อให้ได้อำนาจ และ คุณจะทนอยู่อย่างไรถ้ารู้ว่าคนใกล้ตัวนั้นเป็นผู้พรากชีวิตญาติสนิทมิตรสหายของเราไป
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้กวาดรางวัลจากทั่วโลกรวมกันกว่า 100 รางวัล ไม่ใช่เพราะมันเป็นแค่สารคดีที่ถ่ายทำภาพออกมาสวยงาม แต่เพราะการนำเสนอและคำถามบางอย่างที่ทำให้คนดูต้องกลับมาถามตัวเองว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้น ควรจะตัดสินไปในทางใดกันแน่
18. The Hunting Ground ชมรมล่าหญิง
มหาวิทยาลัยที่น่าจะมีชื่อที่สุดของโลก สถานที่อันควรจะนำพาอนาคตที่ไร้ขอบเขตมาสู่ผู้เข้าศึกษา แต่หญิงสาวจำนวนมากต้องมาถูกละเมิดทางเพศ มิหนำซ้ำเมื่อพวกเธอพยายามปกป้องสิทธิ์ตัวเองกลับกลายเป็นสถาบันการศึกษาเองที่พยายามปิดบังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเงินที่พวกเขาได้รับสนับสนุนจากเครือญาติของผู้ก่อคดี หรือการรักษาชื่อสถาบันไม่ให้ติดลบ
สารคดีเรื่องนี้ได้ Lady Gaga มาร่วมร้องเพลงประกอบให้จนได้รับรางวัล Emmy และเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว
19. All Things Must Pass ทาวเวอร์เรคคอร์ดสร้านเดิม…เพิ่มเติมคือคิดถึง
Tower Records ร้านขายเทป แผ่นเสียง ซีดีเพลง ที่นักร้องหลายคนบอกว่า นี่แหละคือร้านในฝัน แหล่งรวมพลคนชอบฟังเพลง และเศษซากอดีตที่จากไปเนื่องจากการมาถึงของระบบ File Sharing และ MP3 สารคดีเรื่องนี้ดึงเอาความติ่งของเด็ก 70s-80s-90s ที่ต้องเคยไปเดินเล่นในร้านชื่อดังร้านนี้ ทำให้พวกเขาได้เห็นถึงการก้าวสู่จุดรุ่งเรือง จุดปรับตัว และสุดท้าย จุดจบของ Tower Records แม้สารคดีเรื่องนี้จะไม่มีรางวัล แต่เพียงแค่ความคิดถึง ก็ทำให้คนดูติดตามสารคดีเรื่องนี้ด้วยใจที่อิ่มเอมแล้ว
20. Bolshoi Babylon ม่านมืดบอลชอย
สารคดีเรื่องนี้ ยอมยกม่านให้ทีมงานจากประเทศอังกฤษ เข้ามาส่องมุมหลังม่าน โรงละครบัลเลต์บอลชอย สมบัติเลอค่าของรัสเซีย หลังจากเกิดเหตุการณ์การสาดน้ำกรดใส่ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโรงละคร จนทำให้คนนอกรับทราบว่าภายในโรงละครระดับชาตินี้ มีแผลที่ไม่เคยเปิดให้คนเห็นมากขนาดไหน และดราม่าของผู้คนที่เกี่ยวข้องนั้น ก็ไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่าเรื่องสมมติที่เราเห็นในละครเลย
21. Creature Designers – The Frankenstein Complex มอนสเตอร์เนรมิต
ย้อนเวลาไปก่อนคอมพิวเตอร์กราฟิกจะครองจอ การสร้างสัตว์ประหลาดที่ฝังตัวอยู่ในความมืดของผู้สร้างแต่ละคนไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย คนทำงานฉากหลังเหล่านั้นต่างพยายามขุดเอาเทคนิคต่างๆ เพื่อให้คนดูเชื่อว่า สัตว์ประหลาดทั้งหลายบนหน้าจอเป็นเรื่องจริง สารคดีเรื่องนี้ทำให้คอหนังสัตว์ประหลาดที่บูมในยุค 80s-90s ต้องน้ำตาไหลด้วยความคิดถึง ล้วงลึกเทคนิคการทำผลงานให้มีชีวิต แนวคิดของเหล่าผู้สร้างสัตว์ประหลาด และอนาคตของคนทำงานกลุ่มนี้
22. Where to Invade Next บุกให้แหลก แหกตาดูโลก
เปล่านะ นี่ไม่ใช่สารคดีบุกโจมตีประเทศอื่นแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงการตั้งชื่อแบบกวนๆ ของ ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับหนังที่ฟันธงว่า โดนัล ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการแข่งขัน สารคดีเรื่องนี้จึงบุกไปยังประเทศต่างๆ ที่ มัวร์ เชื่อว่า ‘มีดีกว่าประเทศตัวเอง’ และเขาจะ ‘ขโมยไอเดียกลับไปใช้’ ให้หมด แค่คอนเซปต์ก็น่าสนุกแล้ว สิ่งที่เขาไปติดตามก็น่าสนใจเช่นกัน อย่างการดูแลแรงงานของอิตาลี ที่จ่ายเงินให้ในวันลาหยุด จ่ายเงินชดเชยช่วงฮันนีมูน การศึกษาระดับเทพที่ฟินแลนด์ ซึ่งแทบจะไม่มีการบ้านหรือการสอบใดๆ โดยไม่จำเป็น /สิทธิสตรีที่โคตรก้าวหน้าของตูนิเซียกับไอซ์แลนด์ แล้วก็เรื่องยิบย่อยอีกมากที่จะทำให้คนดูร้องว่า “โอ๊ย อิจจจจ”
23. The Lovers & the Despot ท่านผู้นำ & คนทำหนัง
สารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงกับ ชินซางอ๊ก และ ชเวอีนฮี ผู้กำกับและดารามาแรงจากเกาหลีใต้ที่ถูกท่านผู้นำ ‘เชิญตัว’ ไปยังดินแดนเกาหลีเหนือเพื่อ ‘ช่วยพัฒนา’ วงการภาพยนตร์ของเกาหลีเหนือ ถึงจะเป็นหนังสารคดี แถมวิธีเล่าก็ตรงไปตรงมา แต่ความบีบคั้นของสถานการณ์ที่หนังสามารถสื่อออกมาได้อย่างเต็มพิกัด ก็ทำให้คนดูเอาใจช่วยนักแสดงและผู้กำกับให้หนีกลับมายังเกาหลีใต้
24. Tsukiji Wonderland อัศจรรย์ตลาดปลาสึคิจิ
สารคดีเรื่องนี้เลือกถ่ายทอดภาพของตลาดสึคิจิ ตลาดค้าปลาที่มีอายุอานามราว 80 ปี เพราะตลาดกำลังจะถูกย้ายไปที่ใหม่ ทีมสารคดีบันทึกภาพทุกมุมของตลาดแห่งนี้เป็นเวลาหนึ่งปี สารคดีเรื่องนี้ฉายให้เห็นภาพอาหารอันเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวอาทิตย์อุทัย
25. Oasis : Supersonic
สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานของ Asif Kapadia ที่ย้ายมาหนังตำแหน่ง Executive Producer แล้วยกเก้าอี้กำกับให้ Mat Whitecross พวกเขายังคงทำหนังเกี่ยวกับเรื่องราวของนักดนตรีชื่อดังอยู่ มารอบนี้เขาทำสารคดีเกี่ยวกับวง Oasis เจ้าของเพลงฮิตอย่าง Wonderwall, Don’t Look Back In Anger, Go Let It Out และ Supersonic ซึ่งตอนนี้หลายคนคงจองตั๋วรอบ Sing Along ที่ดูไปร้องตามไปได้ กันแล้วเนอะ