“ดุจอัปสรค่ะ”
“อศิรครับ อศิร จุฑาเทพ”
“จุฑาเทพ?”
บทพูดสุดไวรัลของชาว TikTok ไทยจากหนึ่งตัวอย่าง ‘ละครชุดดวงใจเทวพรหม เรื่องดุจอัปสร’ ที่เป็นกระแสมาตั้งแต่ละครยังไม่ออนแอร์ กับเรื่องราวที่จะพาให้ย้อนกลับไปสำรวจเรื่องราว 30 ปี ให้หลังของละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพที่เคยฉายครั้งแรกเมื่อปี 2556
ซึ่งละครชุดดวงใจเทวพรหมเป็นละครที่สร้างจากนวนิยายซีรีส์เดียวกันของนักเขียนชุดเดียวกับซีรีส์สุภาพบุรุษจุฑาเทพ โดยในครั้งนี้จะเรื่องราวในระหว่างปี 2530 – 2540 และมีตัวละครหลักเป็นเหล่าลูกๆ ของตัวละครจากสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ว่าจะเป็นลูกของคุณชายทั้ง 5 ลูกของตัวละครที่คุ้นเคยจากซีรีส์ชุดก่อน ซึ่งในช่วงแรกที่มีการปล่อยตัวอย่างละครออกมา ละครชุดนี้ก็มีคนพูดถึงมากในโซเชียลมีเดียจากบทพูดที่น่าสนใจ จนหลายคนท่องบทอัดคลิปต่อบทละครลง TikTok กันให้ทั่วโดยเฉพาะบทจากเรื่อง ดุจอัปสร
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากที่ละครได้ออนแอร์กันไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนพูดถึงละครเรื่องดุจอัปสรคือการหยิบเอาสิ่งของชวนคิดถึงจากยุค 90 มาแทรกเข้าไปในฉากต่างๆ ทำให้คนดูหลายคนอดหวนระลึกถึงช่วงเวลานั้นไม่ได้ วันนี้ The MATTER เลยอยากชวนทุกคนไปสำรวจส่วนหนึ่งจากสิ่งของที่มีปรากฎในเรื่องว่ามีอะไรกันบ้าง?
โทรศัพท์เคลื่อนที่
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ‘โทรศัพท์เคลื่อนที่’ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ‘โทรศัพท์มือถือ’ ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนมากใช้ในการติดต่อสื่อสารกันเท่าไหร่ เนื่องจากราคาตัวเครื่องที่สูงและยังไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก แต่อย่างไรก็ดีประเทศไทยเองก็ได้มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2529 แล้ว
ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราได้เห็นในเรื่องดุจอัปสร นั้นก็เป็นโทรศัพท์ในช่วงปี 2537 แม้จะไม่มีลักษณะใหญ่และหนาอย่างรุ่นเก่าๆ แต่ก็ไม่ได้เล็กและบางอย่างโทรศัพท์มือถือในช่วงปี 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยการใช้งานโทรศัพท์มือถือสมัยนั้น จะโทรเข้าโทรออกด้วยปุ่มสำหรับกดวางสายรับสายและแป้นตัวเลข และการฉายตัวเลขขึ้นบนหน้าจอง LCD ขาวดำนั่นเอง
บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน นอกจากสิ่งของแล้ว สื่อความบันเทิงก็สามารถบอกเล่าช่วงเวลาได้เช่นเดียวกัน
อย่างในละครก็มีโปรเตอร์ของ ‘บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ’ ที่ฉายในปี 2536 อยู่ด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง ‘บุญชู’ เป็นหนังไทย แนวคอมเมดี้ นำแสดงโดยสันติสุข พรหมศิริ ที่มีการสร้างภาคถึง 10 ภาค ตั้งแต่ปี 2531-2553 บอกเล่าเรื่องราวของบุญชู บ้านโข้ง หนุ่มสุพรรณแสนซื่อ ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อกวดวิชาก่อนสอบแอดมิดชั่น ชีวิตวัยทำงาน ไปจนถึงในวันที่บุญชูได้กลายเป็นพ่อคน
ส่วน ‘บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ’ ก็เป็นเรื่องราวในช่วงชีวิตวัยทำงานของบุญชู ที่เขาได้เดินทางกลับมาเป็นพ่อค้าข้าวในสุพรรณบุรี และเตรียมที่จะแต่งงานกับ ‘โมลี’ คนรักโดยได้รับบ้านเป็นเรือนหอจากมารดา แต่ก่อนที่เขาจะได้แต่งงานเขาต้องช่วยกำจัดน้ำที่เน่าเสียในคลอง อันเกิดจากการนักท่องเที่ยวและพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดบกและตลาดน้ำเทของทิ้งลงแม่น้ำให้ได้เสียก่อน
ฟลอปปีดิสก์
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ในวันที่โลกยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ระบบออนไลน์ ยังไม่มีการโอนถ่ายข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต คนสมัยนั้นเขาส่งไฟล์งาน ส่งเรซูเม่กันยังไงนะ?
ฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) หรือ แผ่นดิสเกตต์ (Diskette) คือเครื่องมือในการจัดเก็บไฟล์ แจกจ่ายซอฟต์แวร์ สำรองข้อมูล รวมถึงถ่ายโอนข้อมูลหรือเนื้อหาระหว่างคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น โดยฟลอปปีดิสก์ของบริษัท IBM เริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2514 และได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 2515 ก่อนที่จะมาได้รับความนิยมสุดๆ ในช่วงกลางยุค 90
เพจเจอร์
ถ้าพูดถึงยุค 90 แล้วไม่มีอุปกรณ์สื่อสารยอดฮิตอย่าง ‘เพจเจอร์’ ก็คงไม่ได้
เพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัว เป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาชนิดแรกๆ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีไว้ครอบครองได้ ในประเทศไทยเพจเจอร์ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2530-2544 โดยมีบริษัท แปซิฟิก เทเลซิส เป็นผู้ให้บริการรายแรก ภายใต้ชื่อ ‘แพคลิงค์’
โดยการทำงานของเพจเจอร์จะเป็นการรับข้อความแบบสั้นๆ ทางเดียวจากผู้ส่ง โดยผู้ส่งจะต้องโทรศัพท์ไปยังโอเปอร์เรเตอร์ แจ้งหมายเลขประจำเครื่องของผู้รับ บอกข้อความที่ต้องการส่งให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความนั้นและส่งต่อไปยังผู้รับอีกทอดหนึ่ง อย่างที่ในละคร อศิรต้องโทรไปหาโอเปอร์เรเตอร์ เพื่อส่งข้อความไปให้ดุจอัปสร
ตลับเทป
ตลับเทป (Compact Cassette) หรือเทปคาสเซ็ตนับเป็นของวิทเทจ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้คนในสมัยนั้นได้แบ่งปันเสียงเพลงได้ง่ายและพกพาสะดวกมากขึ้น ซึ่งตลับเทปได้รับความนิยมมากในช่วงปี 2523 ก่อนที่จะถูกแซงหน้าด้วยการมาถึงของแผ่น CD ในช่วงต้นทศวรรษ 2000
ส่วนในเรื่องดุจอัปสร ตลับเทปโผล่ออกมาระหว่างการคุยโทรศัพท์ของดุจอัปสรและแตงโม โดยที่แตงโมกำลังใช้ดินสอในการกรอเทปอยู่
โปรเจคเตอร์
ในยุต 90 เราก็มีโปรเจคเตอร์แล้วเหมือนกันถึง ถึงมันจะหน้าตาไม่คุ้นเสียเท่าไหร่
โปรเจคเตอร์ในช่วงยุค 90 นั่นคือ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ หรือ Overhead Projector เป็นเครื่องฉายภาพ จากรูปหรือภาพที่อยู่บนแผ่นใสไปยังฝาผนัง ผ่านการทำงานของแสงจากหลอดไฟในตัวเครื่อง กระจก และเลนซ์ตามหลักการการสะท้อนของแสง ซึ่งกระบวนการและวิธีใช้งานเหล่านี้ทำให้คนไทย เรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า ‘เครื่องปิ้งแผ่นใส’ เพราะเวลาที่วางแผ่นใสเพื่อโชว์รูปภาพต่างๆ ขึ้นไปฉาย บริเวณกระจกที่ใช้วางภาพมักจะมีความร้อน อันเกิดจากหลอดไฟที่อยู่ภายในเสมอ
อย่างในละคร ที่ทีมประชาสัมพันธ์ของดุจอัปสรต้องนำเสนอแผนการตลาด ดุจอัปสรก็ได้ทำแผ่นใสและฉายแผ่นนั้นระหว่างการเล่าแผนการตลาดใหม่ที่เธอได้คิดเอาไว้
ตู้โทรศัพท์สาธารณะ
การให้บริการด้านการสื่อสารในช่วงยุค 90 ไม่ได้มีเพียงโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเพจเจอร์เพียงเท่านั้น เพราะยังมีการให้บริการโทรศัพท์อีกรูปแบบหนึ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายดาย เพียงแค่กำเหรียญบาทในมือให้มั่นเท่านั้น ซึ่งบริการนั้นก็คือบริการ ‘ตู้โทรศัพท์สาธารณะ’
แน่นอน การให้บริการโทรศัพท์สาธารณะนั้นมีมายาวนานตั้งแต่ปี 2501 ก่อนจะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากแบบมีผู้ดูแล สู่แบบไม่มีผู้ดูแล จากการเป็นตู้หยอดเหรียญสู้การใช้ ‘บัตรโทรศัพท์’ ซึ่งในละคร ดุจอัปสรได้ใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรหาเพื่อนสนิทอย่างแตงโม โดยเธอได้ใช้บัตรโทรศัพท์ในการโทร ซึ่งตู้โทรศัพท์สาธารณะที่สามารถใช้บัตรโทรศัพท์นี้ ได้มีการเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2534 นั่นเอง
Game boy
อีกสิ่งของที่ปรากฏในละครเรื่องดุจอัปสร ที่แม้จะไม่ได้มีส่วนในเรื่องราวเท่าไหร่ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงยุคสมัยได้ดีก็หนีไม่พ้นเครื่องเล่นเกมยอดฮิตในยุค 90 อย่าง ‘Game boy’
เกมบอย (Game boy) เครื่องเล่นเกมขนาดพกพาจากบริษัท Nintendo เปิดตัวที่ญี่ปุ่นในปี 2532 มีหน้าจอ LCD ขาวดำ ขนาด 160×144 พิกเซล ทำงานด้วยถ่าน AA จำนวน 4 ก้อน เล่นเกมจากตลับเกมที่สามารถเปลี่ยนเข้าออกได้ โดยมีเกมให้เลือกซื้อเลือกเล่นได้มากกว่า 450 เกมทีเดียว แน่นอน ถ้าพูดถึงเกมยอดฮิดในช่วงนั้นก็คงหนีไม่พ้นเกมคุณลุงหนวดมุดท่ออย่าง Super Mario Land หรือเกมจับโปเกม่อน ตียิมอย่าง Pokémon Red และ Pokémon Blue
อ้างอิงจาก