เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปประเทศสวีเดนและฟินแลนด์มาครับ (แล้วทำไมแกเพิ่งมาส่งต้นฉบับป่านนี้ – เสียง บ.ก.แชมป์ ด่า) แต่ไม่ได้ไปตามล่าหาแสงเหนือแบบที่เขานิยมกัน เพราะใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปไม่เก่ง เอ๊ย ไม่ใช่ …เพราะเคยลองหาข้อมูลแล้วมันดูเหนื่อยและพึ่งดวงเยอะเหมือนกัน คนดวงซวยไร้แต้มบุญนกตลอดชาติอย่างผมเลยคิดว่าไม่ไปมันซะเลย จะได้ไม่ต้องผิดหวัง (อ้าว)
ตลอดทริปราว 12 วัน ผมอยู่เมืองหลวงสต็อกโฮล์มและเฮลซิงกิเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่นักท่องเที่ยวเด๋อๆ อย่างผมคิดว่าน่าสนใจและอยากเล่าสู่กันฟังมีประมาณ 4 อย่างดังนี้ครับ (จริงๆ มีมากกว่านี้ แต่รออ่านเวอร์ชันเต็มในหนังสือสิเธอว์)
1. เรื่องเงินๆ ทองๆ
หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่าข้าวของในยุโรปเหนือนี่แพงมาก ผมเจอตั้งแต่หาโรงแรมนอนแล้วครับ โรงแรมในตัวเมือง ใกล้สถานีรถไฟ ราคาคืนละ 4000 บาทนี่เป็นเรื่องปกติไปเลย (แต่ไม่ปกติสำหรับตู…) ผมลองจดค่าใช้จ่ายตอนอยู่สต็อกโฮล์มเอาไว้ ประมาณนี้ครับ
เข้าห้องน้ำ 40 บาท
น้ำส้มขวดละ 56 บาท
พริงเกิ้ลกระป๋องเล็ก 65 บาท
ฮ็อทด็อกชิ้นละ 140 บาท
แซนด์วิชแพ็คสองชิ้น 200 บาท
เบนโตะสลัด + ทูน่า 267 บาท
ค่าเข้ามิวเซียมเฉลี่ย 400 บาท
นี่แหละครับชีวิตดีๆ ที่สวีเดน อยู่ไปสองวันคิดถึงข้าวมันไก่จานละ 30 บาทที่โรงอาหารมหา’ลัยทันที
อีกเรื่องสำคัญคือ อย่างที่เราเคยทราบกันว่าสวีเดนพยายามจะลดการใช้เงินสด หรือมุ่งเป็น Cashless Society (อ่านเพิ่มเติมที่นี่จ้ะ ) ซึ่งผมก็เจอจริงๆ กับสถานที่ที่เขารับแต่บัตรเครดิต ไม่รับเงินสด เช่น Abba Museum, มิวเซียมภาพถ่าย Fotografiska หรือเด็ดสุดคือโรงแรมที่เมือง Gothenburg แปะป้ายหราหน้าโรงแรมเลยว่า Cash Free Zone (อื้อหือ) ส่วนฟินแลนด์ไม่เจอแบบนี้จ้ะ ยังรับเงินสดอยู่
2. วงดนตรีแห่งชาติ
สมมติถ้าถามว่าวงดนตรีแห่งชาติของไทยคือวงอะไร อาจจะฟันธงได้ยาก บ้างก็ว่า Moderndog อีกคนอาจบอก Bodyslam แต่วงดนตรีแห่งชาติของสวีเดนนี่แน่นอนว่าต้องเป็นวง Kent
Kent เป็นวงร็อคที่ดังมากๆ ของสวีเดนครับ อยู่ในวงการมาตั้งแต่ปี 1990 เคยพยายามทำเพลงภาษาอังกฤษอยู่ช่วงนึง (เพลงที่อาจจะรู้จักกันคือ 747 ) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร จากนั้นเลยทำเพลงภาษาสวีดิชมาตลอด
เมื่อต้นปี 2016 อยู่ดีๆ Kent ก็ประกาศข่าวช็อคว่าจะยุบวงแล้วจ้า หลังจากอยู่ในวงการมา 26 ปี แม้ลุงๆ จะยังยอดขายดีไม่มีตกก็ตาม ดังนั้นทัวร์อำลาของ Kent เลยขายดีสุดขีด บัตรหมดในสิบนาที เพิ่มรอบกันรัวๆ และตัวผมเองก็อุตส่าห์กดบัตรมาได้ (ไอ้เรื่องไม่จำเป็นกับชีวิตนี่เก่งนัก)
แน่นอนว่าผมฟังสวีดิชไม่ออกแม้แต่คำเดียว แต่ตอนอยู่ในฮอลล์คอนเสิร์ตก็รู้สึกถึงพลังบางอย่างของวงนี้ได้ สิ่งที่ประทับใจมากคือวิชวลกราฟฟิกในงาน ตอนเพลงสุดท้าย Den sista sången (แปลว่า The Last Song) จอจะเป็นรูปเด็กๆ มายืนเรียงหน้ากระดาน จากนั้นก็ค่อยๆ เดินหายลับไปทีละคน ประมาณว่าลาแล้ว ทำนองนั้น หันไปมองรอบข้างก็เป็นแฟนเพลงวัย 30+ 40+ หรือ 50+ ก็มี ตอนจบงานเห็นบางคนร้องไห้ปาดน้ำตา คงเพราะวงดนตรีที่อยู่กับเขามาครึ่งชีวิตได้ปิดฉากตัวเองลงแล้ว (อันนี้ไม่ได้ถามเขา มโนเอาเองล้วนๆ)
ดูบรรยากาศคอนเสิร์ตได้ที่นี่จ้ะ
3. อาร์ตตตตตตตตตตตตตต
ผมค่อนข้างโชคดีว่าทริปนี้ได้ดูงานของศิลปินระดับตำนานสองคนด้วยกัน ตอนอยู่สต็อกโฮล์มมีงานของ Anton Corbijn ช่างภาพที่ถ่ายรูปวงดนตรีมากมาย ส่วนที่เฮลซิงกิก็ได้ดูนิทรรศการของ Yayoi Kusama คุณป้าลายจุดผู้โด่งดัง
ทว่าสิ่งที่ผมพบเจอตลอดการเดินทางไปโซนยุโรปในช่วงปี 2015-2016 คืองานศิลปะหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป เช่น
กันยายน 2015 ผมไปอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เป็นช่วงที่ Refugee Crisis พีคใหม่ๆ ใจกลางอัมสเตอร์ดัมมีจัดคอนเสิร์ต Welcome Refugee ส่วนตอนที่ไปดูคอนเสิร์ตวง U2 ลุงโบโน่นักร้องนำก็สปีชเรื่องผู้ลี้ภัยไปราวๆ ห้านาที ก่อนจะขึ้นแฮชแท็ก #RefugeeWelcome ตัวใหญ่ๆ บนจอ (ซึ่งมีทั้งคนปรบมือและทำหน้าอึนๆ)
พฤษภาคม 2016 ย่าน Molenbeek ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เป็นย่านที่ชาวมุสลิมอยู่กันเยอะ บริเวณนี้เลยถูกมองว่าเป็นที่ซ่องสุมพวกก่อการร้าย ช่วงที่ผมไปมีการจัดนิทรรศการ The Face of Molenbeek เป็นการแปะรูปพอร์ทเทรตของชาวบ้านแถบนี้ มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนผิวขาว ผิวสี เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ส่วนตุลาคม 2016 ผมเจอนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับ Refugee Crisis ที่สต็อกโฮล์มสองงานครับ งานแรกคือ Every Person Has Lost Something ของ Moustafa Jano ชาวซีเรียที่ลี้ภัยมาอยู่ในสวีเดน งานของเขาคือการเอาภาพเมืองอเลปโปที่กลายเป็นซากไปแล้วมาตัดต่อ ภาพที่ดังมากก็คือภาพเด็กชาวซีเรียนั่งอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังแล้วมีตัวโปเกม่อนมานั่งร้องไห้ข้างๆ
อีกงานหนึ่งคือ นิทรรศการ The New Human ที่ Moderna Museet คอนเซ็ปต์คือการสำรวจเงื่อนไขที่มนุษย์เผชิญในยุคนี้ แน่นอนว่าต้องมีเรื่อง Refugee Crisis ด้วย งานเด่นคือวิดีโอของ Tomáš Rafa ศิลปินชาวสโลวาเกีย เป็นห้องที่ฉายวิดีโอพร้อมกันประมาณ 10 จอ สิ่งที่ดีคือการนำเสนอมุมมมองที่หลากหลาย มีทั้งภาพเด็กสาวผู้น่าสงสารที่ซีเรีย ภาพกลุ่มนีโอนาซีอออกมาเดินขบวนต่อต้านผู้ลี้ภัย แต่ขณะเดียวกันก็มีฟุตเทจซากกองขยะตามสถานีรถไฟที่ผู้ลี้ภัยทิ้งเอาไว้
4. ผู้คนและภาพจำ
ก่อนจะมาฟินแลนด์ผมได้รับคำขู่มากมายเกี่ยวกับผู้คนประเทศนี้ เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า “คนไม่ค่อยเฟรนด์ลี่เลยอะแก” ส่วนอีกคนที่เคยเรียนที่เฮลซิงกิบอกว่า “เดินตอนกลางคืนมึงระวังนะ คนเมาเยอะ” ประกอบกับเคยดูหนังของ Aki Kaurismaki ผู้กำกับฟินแลนด์คนดัง ตัวละครในหนังของเขาก็สีหน้าตายซากเหมือนปลาขายไม่ออกตามตลาดนัดเหลือเกิน
แต่สิ่งที่ได้พบจริงๆ เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มากเลยครับ กลายเป็นว่า service mind ของคนฟินแลนด์นี่ดีมากๆๆๆๆๆ ดีพอๆ กับสวีเดน เนเธอร์แลนด์ (ส่วนแย่ที่สุดคงฝรั่งเศส…) ไม่ว่าจะพนักงานโรงแรม มิวเซียม ร้านอาหาร ทุกคนยิ้มแยมแจ่มใส แถมหลายคนก็ชวนคุยเล่นซะงั้น ก็คงตัดสินไม่ได้หรอกครับว่าคนฟินแลนด์เฟรนด์ลี่หรือไม่เฟรนด์ลี่ เพราะผมไม่ได้พูดคุยกับผู้คนตามท้องถนน แต่อย่างน้อยที่สุดในโหมดงานบริการพวกเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมไม่บกพร่อง
มุมมองแบบฉาบฉวยของนักท่องเที่ยวที่ไปใช้ชีวิตที่นั่นแค่สิบกว่าวันก็คงประมาณนี้แหละครับ