เหมือนถูกขโมยความหวัง…
กองเชียร์ชาวไทยที่ได้รับชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกรอบคัดเลือก เพื่อชิงตั๋วเข้าสู่รอบสุดท้ายโอลิมปิก 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยกับทีมชาติญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าไทยแพ้ไป 2-3 เซ็ต คงรู้สึกแบบนั้น
ไม่ต้องพูดถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพญี่ปุ่นที่มีข้อสงสัยหลายประเด็นในช่วงที่ผ่านมา แต่ขออนุญาตโฟกัสไปที่นักกีฬาวอลเลย์บอลสาวที่แบกความหวังมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน จากรอบคัดเลือกกีฬาโอลิมปิก 2012 เพื่อไปแข่งขัน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ครั้งนั้นเราก็ได้ลุ้นกันจนหยดสุดท้าย ก่อนจะตกรอบไป และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ใกล้เคียงกับการได้ไปกระโดดตบลูกยางให้สนั่นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลาย ทั้งที่อีก 3 นัดหลังจากนั้น นักกีฬาสาวชาวไทยก็ลุกขึ้นสู้และเอาชนะคู่แข่งขันได้ทุกเกม
“3 นัดหลัง เราชนะหมด แต่เรารู้อยู่แล้วว่าเราไม่ได้ไป เพราะคะแนนไม่พอ”
รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย—ชุดคำนี้พวกเธอรู้และเข้าใจมันดีอยู่แล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรก พวกเธอเคยผ่านมันมาหมด ทั้งแพ้ ทั้งชนะ หรือทั้งการให้อภัย ลุกขึ้นสู้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์วอลเลย์บอลหญิงไทยมาก่อน
แต่กับโอลิมปิก มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ของมวลมนุษยชาตินั้นพวกเธอยังไปไม่ถึง …และสำหรับบางคนก็อาจไปไม่ถึงอีกแล้วตลอดกาล
บางคนท้อ บางคนถึงขั้นคิดเลิกเล่นให้รู้แล้วรู้รอด แต่นั่นเป็นเรื่องราวของ 4 ปีก่อน—4 ปีถัดมา พวกเธอลุกขึ้นสู้ใหม่ แต่แล้วทุกอย่างก็พัง และสำหรับบางคนที่อายุอานามเลยเลข 30 มาแล้วนั้น นี่ก็คงเป็นโอกาสครั้งสุดท้าย
วันนั้นในทีมแทบทุกคนร้องไห้ มือเซ็ตอันดับหนึ่งของไทยและของโลกอย่าง ซาร่า—นุศรา ต้อมคำ ก็ร้องไห้ แม้ในศึกเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ 2016 เธอจะทำผลงานได้ดี และคว้าตำแหน่งตัวเซ็ตยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ แต่นั่นก็ไม่อาจเป็นตัวแทนของคำปลอบใจใดๆ ได้
บนความผิดหวัง ความไม่แน่นอนของช่วงวัยและสภาพร่างกาย และบนความไม่มั่นใจว่าอีก 4 ปีข้างหน้าเธอยังจะได้เล่นทีมชาติอยู่ไหม เรานั่งคุยกับซาร่า ขณะที่ศึกโอลิมปิก 2016 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร กำลังจะเปิดฉาก สัมผัสถึงน้ำใจนักกีฬาที่ยังคงเฝ้ารอการได้นั่งลงเชียร์เพื่อนนักกีฬาคนอื่นๆ ของไทย และสัมผัสได้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ยังไม่มอดดับและฉายชัดอยู่ในแววตา ซึ่งเราก็หวังว่า อีก 4 ปีข้างหน้า ความฝันนั้นจะยังคงอยู่
ตอนที่รู้ว่าไม่ได้ไปโอลิมปิกแล้วรู้สึกอย่างไร
รู้สึกเหมือนคนอกหัก คือเมื่อสี่ปีที่แล้วเราก็ผิดหวังแบบนี้ เพียงแค่ครั้งนั้นมันเป็นครั้งแรกที่เราหวัง แล้วมันก็ผิดหวัง เพราะเราหวังไว้เยอะ เราคิดว่าเราได้ไปแน่นอน โอกาสได้ไป 80% แต่ครั้งนั้นไม่ได้ไป แล้วครั้งนี้เรามีบทเรียนจากครั้งที่แล้ว เราก็ทำใจเผื่อไว้บ้าง แต่จริงๆ แล้วมันก็เหมือนเดิมค่ะ เรายังคาดหวังไว้เยอะ แล้วเราก็อยากไป เพราะโอลิมปิกครั้งนี้มีความสำคัญหลายอย่างกับคนในทีม เช่น ผู้เล่นของทีมชุดนี้บางคนกำลังจะเลิกเล่น เพราะอายุทุกคนก็เลขสามขึ้นกันหมดแล้ว มันเหมือนเป็นโอกาสสุดท้ายของคนที่เคยเล่นด้วยกันมา ถ้ารออีกสี่ปีข้างหน้ามันก็คงยาก แล้วเราก็รู้ว่าคนไทยเชียร์เราอยู่ เราเลยอยากทำให้สำเร็จ เพราะเราไม่ได้วางแผนมาแค่สี่ปีนี้ แต่มันมากกว่าสิบปีแล้ว
ร้องไห้หรือเปล่า
ร้องไห้ค่ะ คือวันที่แพ้ญี่ปุ่น เราก็รู้เลยว่าโอกาสมันน้อยแล้ว และเราเตรียมใจมาแล้วนะ แต่พอถึงเวลาจริงเรากลั้นไม่อยู่อย่างสองวันสุดท้ายเราแข่งชนะนะคะ ชนะเกาหลีใต้ ชนะเปรู แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ได้ไป แล้วคนไทยบินไปเชียร์เราเยอะมาก เรามองไปแล้ว เห็นเขาให้กำลังใจ พอมองไปที่รุ่นน้องๆ ก็แบบ โห ชุดเราคงไม่มีโอกาสได้ไปแล้วล่ะ ก็คือเหมือนเราต้องฝากความหวังไว้ที่น้องๆ แล้ว พอไปเห็นหน้าคนเก่าๆ ก็พากันร้องไห้
ทั้งที่วอลเลย์บอลหญิงไทยก็ประสบความสำเร็จในรายการใหญ่ของโลกมาแล้วมากมาย ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับโอลิมปิกขนาดนั้น
เราคิดว่าวอลเลย์บอลไทยมาถึงขั้นนี้ได้มันถือว่ามันเป็นอะไรที่สุดยอดอยู่แล้ว ทุกการแข่งขันระดับโลกที่ FIVB (สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ) จัดขึ้นมา เราได้ไปหมดยกเว้นโอลิมปิก แล้วโอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราเลยหวังว่าจะได้ไปถือธงไทยในโอลิมปิกพร้อมๆ กัน เพราะเราควรจะเป็นกีฬาประเภททีมประเภทแรกที่น่าจะมีโอกาส
ปลุกใจตัวเองอย่างไร เพราะหลังจากไม่ได้ไปโอลิมปิก ก็มีอีกหนึ่งรายการใหญ่อย่างเวิลด์กรังด์ปรีซ์รออยู่
เราพูดกันเสมอว่า มันเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เราจะทำยังไงถึงจะมีแรง มีกำลังใจ ตอนนั้นครอบครัวจึงสำคัญมาก เพราะเขารู้ว่าเราแพ้ เราทำไม่สำเร็จ แต่เขาก็ยังให้กำลังใจเหมือนเดิม ส่วนกองเชียร์ก็ยังส่งกำลังใจมาให้ตลอด บอกว่าอย่าท้อนะ คือเราแพ้ ไม่ใช่เพราะเราไม่สู้ แต่เราแพ้ในขณะที่เราทำเต็มที่แล้ว แต่เราทำอะไรไม่ได้ ทุกคนบอกว่า ถึงแพ้ โลกก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมันทำให้เรามีกำลังใจ เรามีแมตช์ข้างหน้ารออยู่ เราต้องรีบตัดทิ้งให้เร็วที่สุด
รางวัลตัวเซ็ตยอดเยี่ยมของรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์พอจะทดแทนได้ไหม
มันทดแทนกันไม่ได้นะคะ อย่างเวิลด์กรังด์ปรีซ์เราได้ไปเล่นทุกปี แต่โอลิมปิกมันเป็นความหวัง มันเป็นระยะ 4 ปีที่ยาวนาน ซึ่งเราตั้งใจมากๆ มันเลยทดแทนไม่ได้ เราคิดว่าถ้าแลกกันได้ สู้เอารางวัลตัวเซ็ตยอดเยี่ยมของเราคืนไป แล้วให้เราได้ไปโอลิมปิกจะดีกว่า
คิดว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
(หัวเราะ) อีกสี่ปีข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเล่นไหวอยู่ไหม เพราะการเป็นนักกีฬามันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายว่าเราจะรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงได้นานแค่ไหน มีอาการบาดเจ็บหรือเปล่า หรือความสามารถลดน้อยลงไหม เราเลยไม่สามารถรับปากได้ว่าเราจะอยู่ได้ถึง 4 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเป็นตอนนี้ เราก็ยังมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะรับใช้ชาติจนกว่าจะเล่นไม่ไหว
ในฐานะกองเชียร์ จะเชียร์เพื่อนๆ ทีมชาติไทยที่ได้ไปโอลิมปิกด้วยอารมรณ์แบบไหน จะสนุกหรือเปล่า หรือมีแอบเศร้านิดๆ
ไม่เศร้าเลยค่ะ เราบอกได้เลยว่าคำว่าโอลิมปิกมันมีความหมายกับเรามาก เราเลยอยากให้นักกีฬาไทยไปสร้างชื่อเสียงในโอลิมปิก เพราะมันเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ เวลาเราดูกีฬาแล้วเห็นคนไทย ก็จะรู้สึกว่าเราภูมิใจในตัวเขา เพราะครั้งหนึ่งเราก็เคยทำหน้าที่ของนักกีฬาไทย เคยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศ ซึ่งคนอื่นก็เหมือนกัน เขาต้องทำหน้าที่ของเขา นักกีฬากว่าจะได้ไปแข่งแต่ละครั้งนี่เหนื่อยนะ เหนื่อยมาก เรามีความเข้าใจในส่วนนี้ ซึ่งเราก็อยากส่งกำลังใจไปเชียร์เขาเป็นพิเศษ
แม้ไม่ได้ไปโอลิมปิก แต่กระแสวอลเลย์บอลก็ยังฟีเวอร์ ถ้าให้เทียบกับตอนที่เข้ามาเล่นวอลเลย์บอลใหม่ๆ บรรยากาศแตกต่างกับตอนนี้ไหม
ถ้าสมัยช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มเล่นกีฬาวอลเลย์บอลแล้วมาติดทีมชาติ ต้องบอกเลยว่ากองเชียร์แทบไม่มีเลย ไม่มีคนติดตามเรา ไม่มีนักข่าวไปทำข่าว ไม่มีหมอไปกับเรา จะมีแค่โค้ช ผู้จัดการทีม คือจะแพ้หรือชนะจะไม่ค่อยมีคนสนใจ คือเราอาจเก่งแค่ในอาเซียน เพราะในซีเกมส์เราเป็นแชมป์ตลอด แต่ในเอเชียก็จะมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งระดับของเขาสูงมากๆ อยู่แล้ว แค่เราเข้าไปเป็นหนึ่งในสี่เราก็ดีใจแล้ว เพราะโอกาสที่จะชนะเขายากมาก แต่พอหลังปี 2009 เราเริ่มชนะจีนได้เป็นครั้งแรก เริ่มมีนักข่าวเข้ามาทำข่าว เริ่มมีสื่อโฆษณาให้เรา เริ่มมีสปอนเซอร์ เริ่มมีคนรู้จัก มีแฟนคลับติดตาม วอลเลย์บอลก็เลยฟีเวอร์ หลังจากนั้นเราก็เริ่มไปชนะทีมจากยุโรป เริ่มมีคนติดตาม บอกว่ามันสนุกนะ เราตัวเล็กแต่เราสู้เขาได้ มันเลยเป็นกระแสมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเมื่อก่อนกับตอนนี้ต่างกันมากจริงๆ
เกิดอะไรขึ้นที่อยู่ๆ ตั้งแต่ปี 2009 ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยถึงสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ชาติต่างๆ ได้
ก่อนหน้านั้นมันเป็นช่วงที่สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้นักกีฬาไปเล่นอาชีพ ซึ่งพอได้ไปเล่นอาชีพมันก็มีประสบการณ์กลับมาพัฒนาตัวเองและทำให้ทีมพัฒนาขึ้นด้วย ซึ่งนักกีฬาส่วนมากจะไปเล่นที่ยุโรป เราเลยได้เรียนรู้ว่าสไตล์ของยุโรปเป็นยังไง การฝึกซ้อมเป็นยังไง โครงสร้างเป็นยังไง เราถึงรู้จุดอ่อนของเขา เวลากลับมาเล่นในทีมเราถึงสู้เขาได้ คือสมาคมวอลเลย์เขาก็เริ่มมาจากศูนย์ด้วยนะคะ พยายามผลักดันนักกีฬา ทำยังไงให้วอลเลย์บอลไทยก้าวไปสู่ระดับโลก เขาทำงานอย่างหนักเพื่อจะส่งเสริมให้นักกีฬามีการพัฒนาการ
มีคำกล่าวที่ว่า กีฬาไทย ถ้าเป็นประเภทเดี่ยวจะเก่ง แต่ถ้าเป็นประเภททีมจะทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะด้วยนิสัยของคนไทยที่ทำงานเป็นทีมไม่เป็น คิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้
ได้ยินบ่อยมากว่า คนไทยถ้าทำอะไรเป็นทีม หรือทำงานหลายๆ คนจะไม่สำเร็จ เพราะขาดความสามัคคี แต่สำหรับเรา หลายปีที่ผ่านมาวอลเลย์บอลหญิงได้รับรางวัลกีฬาประเภททีมยอดเยี่ยมตลอด ซึ่งเราคิดว่า มันน่าจะเป็นแบบอย่างได้ คือมันสื่อให้เห็นว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด เราเป็นกีฬาประเภททีม มีคนในทีมมากกว่า 12 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 14 คนแล้ว แต่เราก็ยังทำทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกันได้ เรามาจากหลายโรงเรียน หลายพื้นที่ ต่างพ่อ ต่างแม่ ต่างนิสัย แต่เมื่อมารวมกลุ่มกันเราก็เดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้
เคล็ดลับของความเป็นทีมเวิร์กคืออะไร
ต้องคิดถึงทีมมากกว่าเรื่องส่วนตัว มันถึงจะรู้ว่าเป้าหมายที่เราทำอยู่คืออะไร แล้วเราก็จะอยู่ร่วมกันได้ เราคิดว่า จริงๆ แล้วเรามีความสามัคคีและความเป็นมืออาชีพมากพอนะ คือถ้าวันนี้มีซ้อม เราก็ต้องรู้ว่าจะต้องซ้อม เราต้องมีระเบียบวินัย บอกตัวเองว่า ถึงคนอื่นไม่มาก็ช่างเขา แต่เราต้องมา เพราะมันเป็นหน้าที่ ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน
คุณมีความฝันเรื่องติดทีมชาติมาตั้งแต่ตอนไหน
จริงๆ ไม่ได้คาดหวังนะ ตอนนั้นเล่นแล้วได้เรียนฟรี เพราะมันจะต่อยอดไปสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเราเล่นได้ดี เราก็จะเลือกมหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียนได้ ถ้าได้มหาวิทยาลัยที่ดี มันก็จะหมายถึงโอกาสในชีวิตที่ดี จบมามีงานทำ ตอนนั้นคิดแค่นั้น
ครั้งแรกที่ได้ติดธงทีมชาติลงสนามเป็นอย่างไร
ตื่นเต้นค่ะ ตอนเราไปเล่นครั้งแรกไม่มีเพื่อนเลย เป็นรุ่นพี่หมด เราเด็กสุดในทีม พอถูกปล่อยลงไปเล่นเราเลยเล่นไม่ได้เหมือนตอนซ้อม ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนเลยนะ เพราะพอกลับมาจากแมตช์นั้น โค้ชก็ซ้อมเราหนักเลย หนักจนบางทีก็ท้อ รู้สึกอยากกลับบ้าน ไม่ไหวแล้ว แต่พอพูดกับพ่อแม่ เขาก็ทำให้เรากลับมาอดทน คือตอนนี้ วอลเลย์บอลมันเหมือนชีวิตไปแล้ว วอลเลย์บอลให้ทุกอย่างกับเรา ให้เพื่อน ให้ประสบการณ์ ให้การเดินทาง ให้ความอดทน ให้ความเสียสละ ให้ความมั่นคงกับชีวิต ให้เกียรติ เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง
ในภาพรวม ทำไมนักกีฬาส่วนใหญ่ถึงต้องทุ่มเทให้ทีมชาติ ทั้งๆ ที่ถ้าเล่นสโมสรในลีกอาชีพเราก็น่าจะได้รับรายได้ที่มากกว่า
ความภาคภูมิใจมันไม่เหมือนกันนะคะ คุณไปเล่นลีก แต่เสื้อที่คุณใส่มันเป็นตราสโมสร แต่ถ้าคุณเล่นทีมชาติเสื้อที่คุณใส่เป็นตราธงชาติไทยของคุณเอง เวลาคุณไปเล่นต่างประเทศ เขาไม่ได้มองคุณเลยว่ามาจากประเทศไทย แต่เขาจะมองว่าคุณมาจากสโมสรไหน มันเป็นเรื่องของความภูมิใจ ถามว่าเล่นทีมชาติเหนื่อยกว่าไหม เหนื่อยกว่ามาก คุณจะมีความกดดันกว่ามาก
คิดว่าการที่พ่อแม่ยุคใหม่บางคนบังคับให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียวจนไม่มีเวลาออกมาเล่นกีฬา เป็นความคิดที่โอเคไหม
เราคิดว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ถูกต้องนะคะ เพราะกีฬามีอายุสั้น เอาไปต่อยอดไม่ได้
เป็นอาชีพไม่ได้?
ใช่ ไม่มีอาชีพ ไม่มีเงินเดือนถาวร ไม่มีสวัสดิการ คือไม่มีอะไรเหมือนคนทำงานทั่วไปเลย ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน เราก็คงเลือกส่งลูกไปเรียนมากกว่าที่จะให้มาเล่นกีฬา เพราะกีฬารองรับชีวิตเราไม่ได้ แต่สมัยนี้ กีฬามันเปิดกว้างมากขึ้น เป็นตัวเลือกอีกอย่างหนึ่ง คือบางคนอาจเรียนไม่เก่ง ไม่มีความสนใจในด้านที่กำลังเรียน ก็อาจมาเล่นกีฬา ซึ่งตอนนี้สโมสรในไทยไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล หรือวอลเลย์บอลมันค่อนข้างแข็งแรง เงินเดือนอาจมากกว่าคนทำงานทั่วไปด้วยซ้ำ แล้วเล่นกีฬา หนึ่ง—ได้สุขภาพแน่นอน สอง—ได้มนุษยสัมพันธ์ และสาม—สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง
กีฬามีด้านมืดไหม
มีค่ะ คือเราต้องเสียสละตัวเองจริงๆ เพราะเราอยู่กับสนามกีฬาตลอด วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เขาหยุดกันเราก็ไม่มีโอกาส เพราะนักกีฬามันไม่มีวันหยุด และมีความเสี่ยง อาจบาดเจ็บ หยุดไปปีสองปี หรืออาจเล่นต่อไม่ได้อีกแล้ว คือถ้าถามใครสักคนว่าคุณจะยอมเสียสละตัวเองไหม เขาอาจตอบว่าทำได้นะ แต่นั่นอาจเป็นแค่เดือนสองเดือนไง แต่ถ้าคุณลองเสียสละมากกว่าสิบปี คุณอาจจะทำไม่ได้ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วเราคิดว่า ถ้าได้ทำในสิ่งที่เรารัก มันจะไม่มีอุปสรรคอะไรมาขวางเราหรอก
เสียดายช่วงเวลาวัยรุ่นที่ต้องเสียไปให้กีฬาบ้างไหม
เสียดายมากเหมือนกัน เพราะเราใช้ชีวิตแบบก้าวกระโดดจากเด็กมาเป็นคนวัยทำงานเลย มันทำให้เราสูญเสียชีวิตวัยรุ่น เราไม่เคยไปปาร์ตี้ที่ไหน อยากไปเที่ยวก็ไม่ได้ไป แต่ถ้าถามว่าคุ้มค่าไหม มันคุ้มค่ามากนะกับสิ่งที่เราได้กลับมา
แต่ก็คงมีช่วงเวลาที่คิดอยากเลิกเล่นเหมือนกันใช่ไหม
เคยค่ะ มีช่วงหนึ่งที่คิดว่าถึงจุดอิ่มตัว 365 วัน เราอยู่กับวอลเลย์ประมาณ 320 วัน วนอยู่อย่างนี้ประมาณ 5-6 ปี รู้สึกว่าเราต้องการพัก แล้ว 4 ปีที่แล้วเราผิดหวังจากโอลิมปิก พูดง่ายๆ คือเราอยากหยุดไปรักษาแผลใจ แต่เราคิดว่า ตอนนั้นเราอายุ 26 อีกสี่ปีข้างหน้าเราก็ยังมีโอกาส เราก็เลย เอาวะ คือถ้าหยุดไป พอกลับมาเราอาจไม่เหมือนเดิมก็ได้
แล้วตอนนี้เหตุผลที่ไม่หยุดคืออะไร
ตอนนี้ถามว่า หยุดได้ไหม ก็หยุดได้ เพราะตอนนี้มีรุ่นน้องใหม่ๆ ขึ้นมาแล้ว และเราก็มีอะไรหลายอย่างต้องทำ เช่น เป็นพนักงานอยู่ที่การไฟฟ้า และไปเล่นอาชีพที่ต่างประเทศด้วย แต่กับทีมชาติ เราจะรู้สึกว่า ถ้าเราทิ้งไปตอนนี้ มันเหมือนกับเราเอาเปรียบคนอื่นที่สู้มาด้วยกันมากเกินไป เพราะทุกคนก็ยังสู้อยู่
ตอนนี้เราเลยอยากทำให้ดีที่สุด เป็นแบบอย่างให้น้องๆ จนกว่าน้องๆ จะเข้มแข็ง ยืนอยู่ระดับโลกได้ วันนั้นก็อาจเป็นวันที่เราหมดห่วงจริงๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ซาร่า ได้ที่
ig : nootsara13
fb : Nootsara13
จากคอลัมน์ Face โดย ฆนาธร ขาวสนิท : giraffe Magazine 43 — Olympic Issue
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ readgiraffe.com