แฟนซีรีส์เกาหลีหลายคนสะดุ้งจนตัวลอยช่วงต้นสัปดาห์ก่อน เมื่อเว็บไซต์ Kodhit.com เว็บที่ชาวเน็ตต่างทราบกันดีว่าเป็นแหล่งรวมซีรีส์เกาหลี ที่มีให้ชมกันแบบประชิดติดระยะเวลาฉายจริงพร้อมซับไตเติ้ลภาษาไทย หรือที่เรียกกันว่า ‘แฟนซับ’ ที่แปลได้ ‘โปร’ พอสมควร
แฟนซับนั้นก็มีมานานแล้ว ตั้งแต่แฟนซับที่อัดลงวิดีโอในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต หรือถ้าจะนับร้านแว่นวิดีโอ ที่อยู่ในหนังเรื่อง The Master ของเต๋อ นวพล เป็นแฟนซับแบบหนึ่งก็พอได้อยู่ เราคงจะไม่มาพูดว่าแฟนซับนั้นเป็นการกระทำที่ถูกผิดหรือไม่อย่างไร (เราก็รู้กันอยู่แก่ใจอยู่แล้วล่ะ) แต่เราจะคุยกันเรื่อง ‘ข้อดี’ กับ ‘ข้อเสีย’ ของแฟนซับ
ข้อดีของ ‘แฟนซับ’
ข้อดีที่เห็นกันชัดๆ แจ้งๆ The MATTER เห็นว่าคงไม่พ้นอะไรแบบนี้จ้ะ
- เร็วทันใจ
แน่นอนแหงแซะว่าการดูแฟนซับนั้น ได้เปรียบได้ใจด้วยเหตุที่ว่าส่วนใหญ่กลุ่มแฟนซับก็มักจะได้ไฟล์ตัวต้นฉบับ (ที่เรียกกันว่าไฟล์ Raw) แล้วก็แปลออกมาได้ภายในครั้งเดียว ในชั่วเวลาไม่ถึงวันดี โอ้โฮ เนี่ยแหละข้อดีมากๆ ของแฟนซับที่ยากจะหาคำปฏิเสธได้
- เป็นคำแปลจากแฟนระดับฮาร์ดคอร์
ปกติซีรีส์หลายเรื่องก่อนที่จะออกอากาศจริงจะมีการโปรโมทกันก่อน พล็อตเรื่องมาไง ใครเป็นตัวเอก แนวนี้แนวไหน ผู้กำกับเคยทำอะไร คนเขียนบทชอบชงสไตล์ไหน พอแฟนคลับเห็นกันแล้ว ก็จะมีคนเสนอตัวมาว่าข้อมูลส่วนไหนที่พวกเขาแม่น หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือนักแปล (ซับ) แต่ละเจ้าแต่ละบ้านก็จะไปทำการบ้านทำความเข้าใจมาก่อน ผลก็คือคำแปลที่ออกมาเลยค่อนข้างเป็นงานที่แฟนคลับเดนตายแปลด้วยจิตวิญญาณของพวกเขาจริงๆ แหละ
- แก้ไขได้ง่าย
ตามต่อมาจากข้อตะกี้ ด้วยความที่มันต้องแปลเร็วเนี่ยหลายทีมันก็ผิดพลาดกันได้แหละ ถ้าเป็นในโทรทัศน์หรือในโรงหนัง พอมันพลาดแล้วแก้ไมได้ไง แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับแฟนซับเลย ด้วยความที่ว่าแฟนซับปล่อยเป็นไฟล์ในโลกออนไลน์ การแก้ไขอาจใช้เวลานิดหน่อยแล้วก็ปล่อยไฟล์เวอร์ชั่น V2, V3 อะไรก็ว่าไปออกมา
- คุณภาพของภาพอัดเต็มเท่าต้นทาง
อันนี้สำหรับหลายคนที่อยากได้ความคมชัดของไฟล์ที่การดูทางทีวีอาจมอบให้ไม่ได้ ด้วยความที่สมัยนี้ในประเทศต้นทางหลายๆ ประเทศที่ปล่อยซีรีส์สุดฮิตมา เขาไปไกลระดับ HD / 4K กันแล้ว ทำไมเราจะต้องดูกันในแบบภาพเล็กๆ เบลอๆ ด้วยล่ะ
- อยากดูเมื่อไหร่ก็ได้ดู
โลกอินเทอร์เน็ตมันดีตรงที่ทุกอย่างเร็วทันใจ คลิกปุ๊ป ได้ปั๊ป เกิดอยากจะดูพระเอกในดวงใจ หรือ นางเอกในอุดมคติขึ้นมา ก็ไม่ต้องนั่งรอลุ้นตามเวลาฉายในทีวีหรอก แค่เสิร์ชกูเกิลก็ได้ดูแล้ว อย่างมากก็เสียค่าเน็ต (หรือที่ในฮาร์ดดิสก์) ซึ่งแฟนซับนี่แหละ ตอบโจทย์ได้ดีสุดๆ จริงๆ แกร!
ข้อเสียของ ‘แฟนซับ’
พูดถึงข้อดีกันแล้ว มันก็ต้องมีข้อเสียบ้างหละ ข้อเสียที่เรานึกออกเร็วๆ ก็ประมาณนี้
- การมีอยู่ของแฟนซับหลายครั้งทำให้ธุรกิจบางตัวไม่กล้าเข้ามาต่อยอดในไทย
ห้ะ? แค่แปลซีรีส์ แปลการ์ตูน แปลหนังเนี่ยนะ จะทำให้บริษัทบางแห่งไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทย คือถ้ามาจับละเมิดพี่ยังเข้าใจได้นะแต่ถึงขั้นไม่กล้าเข้ามาต่อยอดนี่ยังไงอะ?
คำตอบเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงไม่ติงนังอย่างใด ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีคนทำแฟนซับเรื่องที่ฮิตมาก จนทุกคนแชร์ออกไปอย่างล้นหลามถึงระดับที่ว่ากด Google ทีเดียวเจอลิงค์ Youtube บ้าง Mthai บ้าง แอดวานซ์หน่อยก็มีคนทำ Live Viewing อีกบ้าง ทั้งหมดนี้อาจจะขัดกับแผนเดิมของต้นสังกัดละคร, ซีรีส์ หรือหนังเรื่องนั้นๆ ที่เดิมก็คิดว่าจะทำตลาดกว้างๆ หลายประเทศ แต่พอถึงเวลาแฟนซับมันไปไกล จะให้ทำตลาดก็รู้สึกว่าคนดูดูไปหมดแล้ว จะพาดารานำในเรื่องมาจัดอีเวนท์ก็เสียวว่ารายได้อาจไม่ดีเพราะกระแสมันบางตาละ จะทำหนังสือเจาะลึกก็มีคนแปลแล้ว ไม่ก็ทำหนังสือรวมภาพเองแล้วอีกต่างหาก
พอมันเห็นแนวโน้มการสร้างรายได้ไม่ค่อยมา เขาเลยเลือกที่จะเปิดตัวบริษัทขายของในประเทศอื่นที่มีแรงซื้อชัดเจนมากกว่าก่อน แล้วค่อยแวะมาบ้านเราทีหลัง
- ดับฝันการพากย์ไทย
หลายคนอาจมองว่าการพากย์ไทยไม่ได้ช่วยอะไรหรอกคู้น ก็คนที่เขาตัดสินใจดูแฟนซับเนี่ยไม่ได้สนใจเสียงไทยของ คุณกรณิการ์ ประภัสภักดี หรือ คุณดวงดาว จารุจินดา กันสักหน่อย
เอ้อ มันก็จริงนะอย่างผู้เขียนเองก็พึงพอใจกับเสียงออริจินัลมากกว่า แต่…ผู้เขียนก็ไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ ถึงจะพอพูดได้ว่าขนาดพ่อแม่ลุงๆ ป้าๆ เรายังดูซับได้แล้วเลย แต่ในแง่มุมคนทั่วไปจริงๆ หรือตลาดกว้างที่แท้จริงนั้น ชาวไทยยังถนัดการดูซีรีส์พากย์ไทยอยู่ และนั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าการปล่อยไฟล์เยอะ และถึงจะมีบางเรื่องหลุดรอดได้มาพากย์ไทยบ้าง แต่จะละคร, ซีรีส์ หรือการ์ตูนเหล่านั้นก็อาจจะซวยรับประทานได้ฉายในเวลายามไทม์ (ตี 1 ถึงราว 7 โมงเช้า) แทน โธ่ถัง
- รายได้ไปไม่ถึงมือคนทำงานตัวจริง
จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่อยู่ในฝั่งศีลธรรมนะ แต่ขอยกขึ้นมากสักกะติ๊ดแค่นิดก็พอลิตเติลบิทลิตเติลมอร์ละกัน (ทาทา ยัง ก็มาเนาะ) การทำงานซีรีส์ฝั่งทีวีนั้นไม่ได้มีแค่ดารานักแสดงนักพากย์ ยังมีคนเบื้องหลังอีกมาก คนประสานงานไรงี้ โอเค ยอมรับได้ว่ารายได้ส่วนนึงคนทำงานเหล่านี้ก็ได้ไปแล้วล่ะ แต่อีกส่วนอย่างเช่นบริษัทที่ลงทุนไป เขาก็รอลุ้นว่าจะมีสปอนเซอร์คนไหนมาสนใจงานเพิ่มไหม ซึ่งสุดท้ายมันจะย้อนกลับไปยังหัวข้อที่ว่า ‘ธุรกิจไม่กล้าต่อยอด’ เราอาจยังไม่เห็นซีรีส์ที่ดังข้ามชาติมีปัญหาจากการขาดรายได้จนถึงจุดที่ต้องปิดตัวไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไมได้รับผลกระทบจากการเสียรายได้อะนะ
แฟนซับก็โอเคนี่ แล้วทำไมต้องสนับสนุนของแท้อีก?
แล้วทำไมเราถึงควรจะดูของแท้กันมากกว่าล่ะ คำถามนี้เป็นคำถามคลาสสิค เพราะถ้าคุยกันในแง่ศีลธรรมจรรยา การใช้ของที่ถูกต้องย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่แล้ว แต่การรอคอยสักสามสี่ปีก่อนที่จะได้ดูเรื่องที่มันอินเทรนด์อยู่ ณ นาทีนี้ มันก็รอไม่ไหวเนอะ
- อุดหนุนสินค้าแล้วมีโอกาสได้ดูสดๆ พร้อมกัน
5 ปีก่อน เรื่องนี้อาจดูเป็นไปได้ยาก แต่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ราคาถูกลงมากขนาดนี้แล้ว การทำ Simulcast มันก็ง่ายขึ้นมาก ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ก็ เรามีโอกาสได้ชม Walking Dead ในวันเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาฉายตอนแรกพร้อมซับไตเติ้ลครบถ้วน ผ่านช่อง FOX Thai แอพดูหนังบางแอพอย่าง AIS Movie Store ไม่ก็ Daisuki ก็มีการ์ตูนฉายวันเดียวกันกับที่ญี่ปุ่น หรืออย่างในกรณีที่ Kodhit ปิดตัวไป ก็ว่ากันว่าเจ้าของสิทธิ์ละครในเกาหลีใต้ต้องการมาเปิดตัวเว็บไซต์ VIU.com ซึ่งทำการถ่ายทอดสดละครเกาหลี
เดี๋ยวนี้นอกจาก Simulcast แล้ว เรายังมี Simulpub หรือการออกหนังสือในระยะเวลาพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งส่วนนึงก็มาจากความมั่นใจจากเจ้าของผลงานที่เห็นว่าบางตลาดพร้อมจ่ายเงินให้กับการรับชมสดๆ พร้อมกันนั่นเอง
- อุดหนุนของแท้แล้วทำให้มีการงานมากขึ้น
โหย เวอร์วังเนอะ แค่ซื้อของแท้จะทำให้มีงานเลยเหรอ คำตอบคือ…มีว่ะคุณ คนกลุ่มแรกเลยที่ได้รับงานแน่ๆ ก็คือคนแปล ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนแปลที่ทำงานอยู่ก่อนแล้วนะ เราหมายรวมถึงคนที่แปลแฟนซับนี่แหละที่มีโอกาสจะได้งานจากการย้ายฟาก จากธุรกิจสีเทามาเป็นธุรกิจสีขาว โดยที่คุณยังได้แปลงานเหมือนเดิม อาจมีข้อจำกัดมากขึ้นคือคุณอาจจะอินดี้เลือกแปลตามใจไม่ได้และมีเดทไลน์ชัดเจนขึ้น แต่คุณก็จะได้เงินค่าจ้างขึ้นมาแทน หรือในสเกลกองถ่ายก็มีโอกาสได้ทำงานกับทีมงานต่างชาติมากขึ้น
อย่างบ้านเราก็ได้รับความนิยมในการใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหรือโปรดัคชั่นหนัง, ซีรีส์ และละคร อยู่แล้ว ถ้ามีการอุดหนุนของแท้มากขึ้น ผู้สร้างก็อยากมาลงทุนใช้โลเคชั่นในบ้านเรามากขึ้น อย่างประเทศจีน จำนวนคนเสพของแท้ก็มากพอที่จะทำให้ชาติอื่นไปถ่ายทำในจีน เพื่อให้คนดูในประเทศเขาอินกับหนังมากขึ้น เป็นต้น
- อุดหนุนของแท้แล้วมีโอกาสที่นักแสดงนำจะมามีทแอนด์กรี๊ดมากขึ้น
ยอมรับว่าดาราหลายๆ ประเทศชอบมาเที่ยวประเทศไทย เมื่อมองกลับมาในด้านมีทแอนด์กรี๊ดนั้น (…ได้ยินเสียงจิ้งหรีดไหม) คือเขาก็มากันแหละแต่เป็นสายนักร้องเสียมากกว่า ไม่ค่อยมีใครมาเดินพรมแดง สวยๆ หล่อๆ แฟนเซอร์วิส มาออกตีสิบ หรือรายการเจาะใจอะไรงี้
โอเค…ค่าตัวพวกเขาแพงก็เป็นคำตอบนึง แต่อีกอันนึงที่พวกเขายังไม่เห็นแรงจูงใจคือ ก็คนอุดหนุนมันดูไม่เยอะอะ จะให้พวกเขายอมลดค่าตัวเดินพรมแดงก็คงยากหน่อย ดังนั้นการอุดหนุนที่สามารถตรวจตัวเลขได้ชัดเจนแน่นอน อย่างตอนนี้มีทั้งแอพ iFlix, Hollywood HD เขาก็สามารถเช็คได้ว่ายอดเขาชมเรื่องไหนกำลังป๊อป (ตอนนี้งานของ ‘ชินไค มาโคโตะ’ ผู้กำกับ Your Name กำลังมาแน่ๆ) พอเขาเห็นเลขว่ามันดีจริง ไม่โมเม ไม่ใช่แค่กระแส เขาก็จะกล้ามาเดินเล่นในบ้านเรามากขึ้นล่ะ
ถ้าดูแฟนซับ แล้วแล้วคนดูกลับไปอุดหนุนของจริงด้วยจะดีมากๆ เพราะสุดท้ายเงินทุนเหล่านั้นมันก็หมุนเวียนไปยังวงการ (ใดๆ ก็ตาม) แล้วก็กลับมาเป็นต้นทุนให้คนสร้างผลงานกลับมาให้เราดูอีกทีหนึ่งไงล่ะ