เผลอแป๊ปเดียวก็เข้าช่วงหยุดยาวกันอีกแล้ว คนที่อยากอยู่บ้านไม่อยากออกไปไหน เอนจอยการนั่งๆ นอนๆ กลิ้งเกลือกอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไรก็กดอินเทอร์เน็ตหาอะไรรับชมในช่วงวันหยุดกัน
คราวนี้เราจัดธีมในการ Binge Watch เป็น ‘เซ็ต’ ในลักษณะแบบเซ็ตอาหารโปรโมชั่น แม้จะมีเซ็ตไม่เยอะนัก แต่จำนวนซีรีส์ที่เราพูดถึงก็สามารถละลายเวลาในช่วงวันหยุดยาวของคุณไปได้โขเลยทีเดียว แต่จะมีเซ็ตอะไรกันบ้าง ไปดูกัน
เซ็ตย้อนวัยเอาใจเด็ก 80-90
Jojo’s Bizarre Adventure + Full House + Meteor Garden: 7 วัน 4 ชั่วโมง
คนรุ่นนี้ได้กลายเป็นมนุษย์ทำงานและมีกำลังซื้อสูงไม่เบา เราเลยได้เห็นบริการรับชมรายการออนไลน์เอาคอนเทนต์ที่ชวนให้ระลึกถึงวัยเด็กวัยรุ่นมาให้เห็นกันเพียบ บางเรื่องอาจเป็นการสร้างใหม่บ้าง แต่บางเรื่องก็เป็นการเอาเวอร์ชั่นดั้งเดิมกลับมาฉายอีกครั้ง เราเลยหยิบยกเอาซีรีส์ที่ดูแล้วระลึกความหลังมาให้ชมกัน
เราหยิบยกตัวแทนของซีรีส์สามประเทศ สามรสชาติ เรื่องแรกเป็นการ์ตูนที่ตอนนี้ก็ยังไม่จบอย่าง โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ที่เพิ่งเริ่มทำอนิเมชั่นชุดใหม่ในปี 2012 ที่ซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับแบบสุดๆ คุณจะได้ติดตามชมชีวิตของตระกูลโจสตาร์ที่ต้องเกี่ยวดองกับหน้ากากศิลาที่สร้างผีดิบขึ้นมาบนโลก โดยเฉพาะผีดิบที่ชื่อว่า ดีโอ บรันโด ที่ทำให้ตระกูลนี้ต้องเดือดร้อนกันหลายชั่วคน
เรื่องที่สองเป็นตัวแทนซิตคอมจากอเมริกาเรื่อง Full House ที่เคยฉายทางเคเบิลทีวี IBC สมัยก่อน ที่เล่าเรื่องของ พ่อม่ายลูกสาม ที่ตัดสินใจเปิดบ้านให้น้องเขยและเพื่อนมาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเพื่อช่วยกันดูแลครอบครัวในบ้านหลังใหญ่ ตัวซีรีส์สร้างชื่อให้นักแสดงทั้งผู้ใหญ่และเด็กหลายคน อาทิ Mary-Kate กับ Ashley Olsen ก่อนที่พวกเธอจะผันไปทำธุรกิจแฟชั่นเต็มตัวในภายหลัง (และเป็นพี่สาวของ ElizabethOlsen หรือ Scarlet Witch ของฝั่ง MCU ด้วย)
เรื่องที่สามก็คือ Meteor Garden หรือที่บ้านเราจะคุ้นกันในชื่อ รักใสๆ หัวใจสี่ดวง ฉบับปี 2001-2002 ที่ก่อปรากฎการณ์ F4 ไปทั่วทั้งเอเซีย กับการลุ้นว่า ซานไช่ จะลงเอยกับ ฮวาเจ๋อเล่ย หรือ เต้าหมิงซื่อ กันแน่ และในช่วงนั้นเพลง หลิวซิงหยี่ (Liu Xing Yu) ที่เป็นเพลงประกอบละครก็ถูกเปิดไปทั่วบ้านทั่วเมือง
ความยาวของทั้งสามซีรีส์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 วัน 4 ชั่วโมง (โจโจ้ฯ 4 ภาค 113 ตอน – 2,825 นาที, Full House 8 ซีซั่น – 4,800 นาที, Meteor Garden 45 ตอน – 2,700 นาที) โชคดีนิดหน่อยที่ทั้งสามเรื่องนี้สามารถดูได้จบในแอพพลิเคชั่นเดียวก็คือ Netflix ถ้าคุณไม่มีแผนไปไหนช่วงหยุดยาว ก็จัดลิสต์รายการแล้วหาของกินมานั่งๆ นอนๆ ย้อนวัยกันได้เลย
เซ็ตรีเมก / ตีความใหม่
Riverdale, Chilling Adventures of Sabrina, She-Ra and the Princess of Power, Megalo Box, SSSS.Gridman: 2 วัน 21 ชั่วโมง
ซีรีส์เซ็ตที่สองที่ขอแนะนำให้นั่งดูกันในช่วงวันหยุดก็จะเป็น ซีรีส์ที่รีเมก หรือไม่ก็ตีความใหม่ ให้เนื้อเรื่องมันแซ่บขึ้น สมเหตุสมผลมากขึ้น มีความหลากหลายของตัวละครในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ไม่ได้เล่าแบบขาวเป็นขาว ดำเป็นดำเหมือนสมัยก่อน เซ็ตนี้เราเลือกมาทั้งแบบซีรีส์และอนิเมชั่นมาให้ชมกัน เพราะว่าตัวต้นฉบับของทั้งสี่เรื่องที่เราเลือกมานั้นเป็นการ์ตูนมาก่อน (กับหนึ่งหนังแปลงร่าง ที่บางบ้านก็มองว่านี่คือการ์ตูนแบบนึง)
เรื่องแรกคือ Riverdale ที่จับเอาตัวละครของ Archie Comics ที่ออกจะเป็นแนวชิลๆ ชิคๆ มาปรับมู้ดใหม่กลายเป็นแนวดราม่าลึกลับ แถมยังมีคดีฆาตกรรมอีกต่างหาก ซีรีส์ออกอากาศมาแล้วสองซีซั่น ณ ตอนที่เขียนบทความกำลังฉายฉายซีซั่นสามอยู่ แต่เพื่อความสมบูรณ์ในการดูเราจะนับเวลาชมเป็นจำนวน 35 ตอนก่อนนะ
เรื่องที่สองก็คือ Chilling Adventures of Sabrina ที่ดัดแปลงจาก Sabrina the Teenage Witch ซึ่งเดิมทีก็เคยเป็นการ์ตูนของ Archer Comics เช่นกัน แต่หลายคนจะจดจำตัวละครลูกครึ่งแม่มดได้จากทีวีซีรีส์ที่เคยออกฉายในช่วงยุค 1990s เหมือนกับ Riverdale ตรงที่ ซีรีส์ฉบับใหม่นั้นดาร์กขึ้น น่ากลัวขึ้น เดิมทีตัวซีรีส์จะเชื่อมกับจักรวาลของเรื่อง Riverdale เพราะทีมงานกับกองถ่ายใช้ชุดเดียวกัน แต่สถานการณ์อาจปลี่ยนไปเพราะ Chilling Adventures of Sabrina ไม่ได้ลงฉายทางโทรทัศน์ช่องเดียวกับ Riverdale ตามแผนดั้งเดิม ถึงอย่างนั้นก็ดูว่าทีมผู้สร้างก็อยากจะให้มาครอสโอเวอร์กันอยู่แหละ
เรื่องที่สาม ขยับจากซีรีส์คนแสดงมาเป็นอนิเมชั่นที่ตีความใหม่จากฉบับเดิมอย่างเรื่อง She-Ra and the Princess of Power ที่ในฉบับออกฉายใหม่ ยังเก็บโครงเรื่องเดิมเอาไว้ที่ อะดอรา เคยเป็นหัวหน้าหน่วยกวาดล้างกลุ่มต่อต้านบนดวงดาวเอเธเรีย แต่เมื่อเธอได้รับดาบวิเศษและรู้ความจริงของกองทัพปิศาจที่เธอรับใช้ เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมฝ่ายต่อต้าน ซึ่งในฉบับใหม่นี้ อะดอร่า ไม่ได้สลับฝั่งแบบทันทีทันใด แต่ใช้เวลาทำความรู้จักฟากฝั่งใหม่ก่อนที่เธอะจะกลายเป็น เจ้าหญิงชีร่า ผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องคนบริสุทธิ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ
เรื่องที่สี่คือ Megalo Box อนิเมะแนวหมัดมวย ซึ่งเป็นการตีความ โจ สิงห์สังเวียน หรือ Ashita No Joe เนื่องในโอกาสที่ตัวมังงะต้นฉบับนั้นมีอายุครบรอบ 50 ปี ฉบับนี้ปรับภูมิทัศน์เป็นโลกอนาคต แต่ยังคงเล่าเรื่องของนักมวยระดับเบี้ยล่างที่หาญกล้าท้าแชมป์ของการแข่งขันมวยติดแขนกลหรือว่า Megalo Box และเจ้าตัวท้าทายสังเวียนดังกล่าว ด้วยการไม่ติดแขนกลหรืออุปกรณ์เสริม เพื่อพิสูจน์ให้ผู้คนได้รู้ว่ากำปั้นลูกผู้ชายของแท้ยังคมและมีคุณค่าอยู่
เรื่องสุดท้ายคือ SSSS.Gridman ที่ในตอนแรกก่อนจะฉายคนก็คิดว่าเป็นเพียงการจับเอาหนังแปลงร่างมาตีความใหม่ แต่เมื่ออนิเมะเรื่องนี้ฉายจริงก็ทำให้เห็นว่า กริดแมน ภาคใหม่นี้เป็นอาศัยการเล่าเรื่องตามธรรมเนียมเดิม แต่เรื่องราวในฉบับใหม่ นอกจากจะหยอกล้อแนวคิดของหนังแปลงร่างอย่างการที่อยู่ๆ เมืองก็ซ่อมเสร็จหลังขึ้นตอนใหม่ กลายเป็นการตีความว่าการที่สัตว์ประหลาดบุกเมืองอาจเป็นความประสงค์ของผู้มีพลังดุจพระเจ้า และอาจจะมีแค่กริดแมนที่สามารถทำลายวงจรพิสดารนี่ได้
สี่เรื่องแรกสามารถหาชมได้ทาง Netflix ส่วนเรื่องสุดท้ายรับชมได้ผ่านแอพพลิเคชั่น Flixer
เซ็ตชวนหิว
Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman, Ramen Loving Girl, Let’s Eat: 2 วัน 7 ชั่วโมง 50 นาที
ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติเราก็คงพยายามเลี่ยงการรับชมรายการที่มีอาหารดูอร่อยๆ แต่พอมาในช่วงหยุดยาว การรับชมรายการแบบนี้ก็เป็นทุกรกิริยาที่แสนบันเทิงอย่างหนึ่ง เซ็ตนี้เราคัดมาแค่สามเรื่อง แต่มาแบบเน้นๆ ของคาว ของหวาน และฉากการกินที่แค่ดูก็อยากจะขย้ำของที่อยู่ในหน้าจอให้หมด
เริ่มกันด้วยซอฟต์ๆ กับซีรีส์เน้นของหวานจากญี่ปุ่นอย่าง Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman ที่ The MATTER ก็เคยแนะนำมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยความที่ว่าร้านของหวานมีสถานที่อยู่จริง การดูเรื่องนี้จึงไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกหิวเท่านั้นแต่จะทำให้คุณมีไฟจัดคิววางแผนสร้างทริปโซ้ยขนมขึ้นมาอีกต่างหาก
ตามติดด้วยซีรีส์ Ramen Loving Girl ซีรีส์ขนาดไม่ยาวแค่ 4 ตอนสั้นๆ กับ 2 ตอนยาวหน่อย แต่ทุกตอนจะพาคุณไปรู้จักราเมงในญี่ปุ่นมากขึ่้น แถมยังพาไปร้านดังๆ หลายร้าน กับฉากกินฟินๆ อีกต่างหาก
สุดท้ายซีรีส์ที่เราขอแนะนำให้ติดตามความอร่อยก็จะเป็นซีรีส์เกาหลี Let’s Eat แม้ว่าแต่ละภาคจะเปลี่ยนแปลงนางเอกไปตามท้องเรื่อง แต่พระเอกอย่างกูแดยองยังคงเป็นยอดนักกินอยู่เช่นเดิม และไม่ว่าจะเป็นภาคไหนๆ ฉากตอนทำอาหารและฉากโซ้ยของอร่อยก็ทำออกมาให้คนดูรู้สึกอยากจะจิกหมอนแทนของกินไปเลย แต่ภาค 3 จบแบบค้างคาไปหน่อย (เพราะพระเอกในเรื่องไปเกณฑ์ทหารในชีวิตจริง) …หรืออาจจะเป็นโชคดีที่เราอิจฉาฉากกินอาหารลดน้อยไปนิดนึงดีนะ
ซีรีส์ Kantaro: The Sweet Tooth Salaryman กับ Let’s Eat สองภาคแรก หาดูได้ทาง Netflix ส่วน Ramen Love Girl กับ Let’s Eat ภาค 3 ตอนนี้หาดูได้ทาง VIU จ้ะ สรุปเวลาโดยเฉลี่ยของเซ็ตนี้อยู่ที่ 2 วัน 7 ชั่วโมง 50 นาที
เซ็ตพักสมอง
Friends, Brooklyn Nine-Nine, Gintama: 7 วัน 8 ชั่วโมง 30 นาที
หยุดยาวทั้งที ไม่อยากคิดอะไรมาก น่าจะเป็นห้วงคำนึงของใครหลายๆ คน เราเลยคิดเซ็ตซีรีส์ที่เหมาะกับคนที่อยากจะทิ้งสมองเอาไว้ ณ หน้าจอ กับเรื่องแนวเฮฮาปาจิงโกะ อาจจะมีดราม่าบ้าง แต่ก็เข้าลูปเฮฮาได้อย่างรวดเร็ว ชวนสงสัยว่าคิดอะไรตอนเขียนบทกันน่ะ
เรื่องแรกถือว่าเป็นตัวแทนของซิตคอมยุค 1990s อย่างเรื่อง Friends ที่เล่าเรื่องเพื่อนหกคนที่หาความปกติไม่ค่อยเจอ ซึ่งทุกคนก็พยายามพัฒนาตัวเองทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน แต่ระหว่างทางก็จะป่วนๆ หน่อย เรื่องที่สองกับ Brooklyn Nine-Nine ซีรีส์แนวตลกหน้าตายที่ตอนนี้ฉายจนครบจบซีซั่นที่ห้าแล้ว ซึ่งแต่ละตอนก็ชวนให้คิดว่า พวกพี่จะชงมุกกันแบบนี้จริงๆ เหรอ สุดท้ายกับ Gintama ที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นเคยแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยใน Netflix ก็มีสองซีซั่นแรกให้คนที่ไม่เคยดูได้ลองทิ้งสมองไว้ก่อนรับชมเช่นกัน เมื่อรวมกันทั้งหมดที่แล้วคุณจะได้พักสมองไปได้เฉลี่ยราวๆ 7 วัน 8 ชั่วโมง 30 นาที เลยทีเดียวเชียว
เซ็ตเตรียมตัวดูภาคจบ (หวังว่า)
Game of Thrones, A Series of Unfortunate Events, Homeland: 6 วัน 6 ชั่วโมง 30 นาที
เซ็ตสุดท้ายของการแนะนำครั้งนี้ เหมาะสำหรับวันหยุดปลายปี 2018 โดยเฉพาะ เพราะมันคือเซ็ตซีรีส์ที่เขา (ทีมสร้าง) บอกว่าจะอวสานแล้วในปี 2019 เพราะงั้นวันหยุดทิ้งท้ายปีก็เหมาะจะไปย้อนระลึกความหลังว่าซีรีส์พวกนี้เดินเรื่องไว้ถึงไหนแล้ว
เรื่องแรกก็ต้องไม่พ้น Game Of Thrones ที่หลายคนอยากจะรู้ชะตากรรมของอาณาจักรเวสเทอรอสว่าจะจบลงแบบไหน ชีวิตของแม่มังกรจะลงเอยยังไง จอน สโนว์ จะ know anything บ้างไหม ก่อนที่หกตอนสุดท้ายของซีรีส์นี้จะมาถึงในปี 2019 ก็ย้อนกลับไปดู 7 ซีซั่นแรกผ่าน AIS Play กันได้อยู่ล่ะ
เรื่องที่สอง A Series of Unfortunate Events หรือ อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย ที่ทาง Netflix จับมาทำเป็นซีรีส์ที่คอนข้างจะตรงกับวรรณกรรมต้นฉบับ และปล่อยความซวยให้เด็กๆ ในเรื่องอย่างต่อเนื่องมา 2 ซีซั่นแล้ว แต่เด็กๆ จะหลุดพ้นโชคร้ายในเรื่องได้อย่างไรก็รอลุ้นตอนจบกันได้ ส่วนเรื่องสุดท้ายคือซีรีส์แนวสายลับหักมุมชวนให้คิดว่าใครเป็นใครกันแน่อย่าง Homeland ที่เดินที่ทางมาไกลถึง 7 ซีซั่น และจะเข้าสู่บทสุดท้ายของเรื่องในปี 2019 ซึ่งถ้าดูทุกเรื่องจนถึงตอนล่าสุดเท่าที่ฉายในอเมริกาจะได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 6 วัน 18 ชั่วโมง 30 นาที
ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกดูซีรีส์ยาวๆ แบบไหน ก็อย่าลืมเตรียมของกินและสภาพร่างกายกันให้พร้อม แล้วก็อย่าดูเพลินกันจนลืมพักผ่อนก่อนจะถึงวันกลับมาทำงานด้วยล่ะ ขอให้มีความสุขในวันพักผ่อน