สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามามีงาน Anime Festival Asia Thailand 2016 หรือ AFATH16 หนึ่งในงานกิจกรมกลุ่มวัฒนธรรมย่อยจากญี่ปุ่นที่ทางเราเคยพูดถึงไปตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วว่า ในปีนี้มีงานแบบนี้เยอะขึ้นจริงๆ อาจเป็นเพราะกลุ่มคนที่ติดตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยนี้มีมากขึ้น ผสมกับการอุดหนุนสินค้าในไทยก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบูธหลายบริษัทที่ยกเนื้อหาตรงจากญี่ปุ่นมากขึ้นในปีนี้
หนึ่งในเนื้อหาที่ออกบูธอย่างค่อนข้างเต็มตัวในงาน AFATH16 ก็คือฝั่งของเครื่องเกม Playstaion 4 ที่ยกเอาเกมเด่นอย่างเกม Final Fantasy XV ที่เพิ่งเกิดอาการไส้เลื่อน ขยับวันวางจำหน่ายไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้มาเป็นไฮไลท์ ทั้งนำเอาเดโมตัวล่าสุด เทียบเท่าที่เพิ่งเปิดตัวในระดับโลกนอกจากนั้นแล้วในงานนี้ ยังมีการฉายภาพยนตร์ Kingsglaive : Final Fantasy XV มาฉายรอบพิเศษให้ชมกันในวันเดียวกันกับทั่วโลก แล้วก็ยังมีช่วงกิจกรรมพิเศษบนเวที ที่ได้รับเกียรติ จาก คุณซัน – ประเสริฐ ประเสริฐวิทยาการ ที่เป็นรับตำแหน่ง Lead Game Designer (Party AI System) ของเกม Final Fantasy XV ออกมาอธิบายโลกของเกมภาคต่อนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น
ในฐานะที่ The MATTER ได้แวะเวียนไปงานนี้และมีโอกาสได้ทั้งลองเล่นเกม แวะรับฟังคุณซัน แถมไปรับชมภาพยนตร์ในโรงมาด้วย เลยอยากจะจับประเด็นของเกมนี้มาบอกต่อให้รับทราบกัน
ที่มาที่ไปของ Final Fantasy XV
หลายคนน่าจะคุ้นตากับเหล่าตัวละครหลักสี่ตัว แรกเริ่มเดิมที เกมนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในฐานะ ภาคหนึ่งของของ ‘Fabula Nova Crystallis Final Fantasy XIII’ ก่อนที่จะถูกปรับชื่อในภายหลังเหลือแค่ ‘Fabula Nova Crystallis’ ที่แปลได้โดยคร่าวว่า ‘ตำนานใหม่แห่งคริสตัล’ ซึ่งถ้าได้ติดตามเกม Final Fantasy ภาคเก่าๆ จะจำได้ว่าเกมเคยวนเวียนอยู่กับเรื่องคริสตัลถึง 5 ภาคต่อเนื่องกัน ก่อนจะใส่ผสมส่วนบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) เข้าไปมากขึ้นในภาคต่อมา
Fabula Nova Crystalis ได้ดึงเอาความสำคัญของคริสตัลกลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่ในเกม Final Fantasy XIII และเกมภาค Type-0 ส่วนในภาค XV เองคริสตัลจะเป็นของวิเศษชิ้นหลักในของราชอาณาจักร Lucis และเป็นแหล่งพลังเวทมนตร์ที่ยิ่งใหญ่ โดยจะมีราชาของอาณาจักรสามารถดึงพลังส่วนหนึ่งของ โดยราชาคนปัจจุบันนตอนนี้คือ กษัตริย์ Legis ส่วนตัวละครหลักของภาคเกมอย่าง Noctis คือมกุฏราชกุมาร ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้สืบทอดบัลลังก์เท่านั้น แต่เขายังต้องแบกรับชะตากรรมของการช่วยเหลือโลกทั้งใบไว้ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของเกมภาค XV คุณซัน ได้ออกมาอธิบายเติมว่าตัวเกมจะมีการนำเสนอแยกย่อยไปในรูปแบบต่างๆ อีก โดยใช้ชื่อเรียกว่าเพื่อขยาย ‘ความสัมพันธ์’ ของตัวละครมากขึ้น โดยแบ่งแยกเป็นส่วนของ เกมตัวหลัก Final Fantasy XV / อนิเมชั่นภาคเสริม Brotherhood เน้นหนักเรื่องการอธิบายที่มาที่ไปของกลุ่มตัวละครหลักในเกมทั้งหมด / ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์กราฟิก Kingsglaive เล่าเรื่องทั้งช่วงก่อนหน้าเกมและในระยะเดียวกันกับช่วงต้นของเกม และถ้าตามวิสัยของบริษัทเกมญี่ปุ่น อาจจะมีฉบับหนังสือการ์ตูนหรือฉบับนิยายมาขยายความเพิ่มเติมอีกขั้นหนึ่งด้วย The MATTER ที่ได้ติดตามส่วนของ อนิเมชั่น และ ภาพยนตร์ พูดได้เต็มปากว่าเป็นการขยายเรื่องราวที่อยู่ในโลกนี้ได้อย่างดีมากจนแทบอยากจะเล่นเกมตัวเต็มเร็วๆ เลยทีเดียว
ขอย้อนกลับไปที่เรื่องของ Fabula Nova Crystallis จะเห็นได้ว่าตอนแรกมีการลงเลข XIII เอาไว้ ซึ่งจริงๆ FF ภาค XV ก็ถูกเปิดตัวมาในฐานะ Final Fantasy Versus XIII มาก่อน แต่พอมีการพัฒนาเกม XIII-2 กับ Lightning Returns: Final Fantasy XIII ตามออกมา ทำให้เรื่องราวของเกม Versus XIII กับภาค Agito XIII ถูกโยกออกมาเป็นเรื่องของตัวเองแบบชัดเจน ซึ่งตัวเกมภาค Agito XIII ถูกปรับไปเป็นเกม Final Fantasy Type-0 และ Versus XIII ก็กลายเป็น XV ทั้งยังมีการปรับโครงสร้างเรื่องออกไปเล็กน้อย ที่เปิดเผยมาก็ดังเช่น แรกเริ่มเดิมทีจะมีตัวละครหญิงชื่อ Stella Nox Fleuret แต่ก็ปรับออกมา Lunafreya Nox Fleuret แทนเป็นอาทิ
จำเป็นไหมที่ต้องไปติดตาม Final Fantasy XV Universe ทั้งหมด?
ขอวนกลับมาที่ภาพยนตร์ Kingsglaive และอนิเมชั่น Brotherhood อีกครั้ง ถามว่าคุณควรติดตามเรื่องเหล่านี้ด้วยไหม? ในฐานะที่มีโอกาสได้ดูทั้งสองอย่างนี้เท่าที่มีให้ชมตอนนี้แล้ว (อนิเมชั่น Brotherhood มีกำหนดฉายทั้งหมด 5 ตอน ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ ตอนสุดท้ายยังไม่ออกมาให้รับชม)
Kingsglaive พูดถึงหน่วยทหาร Kingsglaive ที่เป็นหน่วยรบใช้เวทมนตร์ที่ได้มาจากราชา Regis และพวกเขาก็วาร์ปไปโจมตีไปได้ไม่ต่างจาก Noctis พระเอกของเกมหลัก ที่ทำให้เห็นว่าวิชาการต่อสู้ในโลกนี้มีความสมจริงและสามารถฝึกฝนกันได้ในระดับหนึ่ง และในโลกแห่งความจริง คงดูแปลกอยู่เล็กน้อยถ้าจะคุยว่า สงครามระหว่างสองประเทศนั้นสามารถกระทำกันได้ด้วยคนเพียงจำนวนไม่มากนัก
ด้านคุณภาพของงานนั้น ก็ไม่ต้องกังวล อย่าง Brotherhood แม้ว่าถูกลดทอนรายละเอียดลงตามวิสัยของการดัดแปลงเป็นอนิเมชั่น แต่งานก็ไม่ได้ออกมาสุกเอาเผากิน แถมยังยกนักพากย์ญี่ปุ่นที่ให้เสียงตัวละครในเกมมารับบทเดิม ส่วน Kingsglaive ที่เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์กราฟิกมีการใช้นักพากย์คนละชุด ยกตัวอย่างเช่น Sean Bean ที่มารับบท กษัตริย์ Legis ผสมกับความอลังการของของกราฟิกที่ยกระดับจากที่ทีมงานเคยทำไว้ในภาพยนตร์ Final Fantasy 7 : Advent Children เสียอีก
เราขออธิบายสั้นๆ ว่าถ้าคุณติดตามข่าวสารของเกมนี้มาตลอด คุณควรจะติดตามทั้งสองส่วนนี้อย่างมาก แม้ว่าจะไม่ไดขยายโลกของเกมให้กว้างขึ้น แต่ลงลึกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวที่อาจจะไม่ได้พูดถึงมากในเกมฉบับเต็ม แต่ถ้าไม่ได้ติดตามเกมนี้มาเลย เราขอแนะนำให้คุณติดตามเพียงข่วงท้ายของ Kingsglaive ที่มีฉากแอคชั่นอลังการราวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดแต่ยังคงกลิ่นอายแบบ Final Fantasy อยู่
ความเป็น ‘Final Fantasy’ ในภาค XV
มั่นใจว่าหลายคนจะเรียกเกมนี้ในเชิงประชดว่า ‘บอยแบนด์แฟนตาซี’ ด้วยเหตุที่มีตัวละครเป็นผู้ชายถึง 4 ตัว ทั้งยังได้รับการยืนยันจากทีมผู้พัฒนาว่าไม่สามารถสลับตัวละครที่เราเล่นได้แต่ยังพอจะมีตัวละครอื่นมาเข้าร่วมเป็นเวลาชั่วคราวได้ ส่วนการเดินทางภายในเกมก็นำเสนอหนักไปด้วยการขี่รถยนต์ เมืองที่ปรากฏในเกมก็ดูทันสมัย จนมีความสงสัยว่า แล้วความแฟนตาซีจะอยู่ที่ไหน?
คำตอบที่เราได้รับจากงาน AFATH16 ก็คือ มีอยู่แทบทุกอณูของ Final Fantasy XV Universe อย่างในส่วนของภาพยนตร์ Kingsglaive เปิดเผยให้เราเห็นว่า เวทมนตร์นั้นเป็นสิ่งที่คนในโลกของเกมคุ้นเคยอยู่อย่างมาก หรือตัวเมือง Insomnia อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร Lucis ก็มีปราสาทตั้งอยู่กลางเมือง หรือแม้แต่มนต์อสูรก็ยังมีอยู่เหมือนกับในเกม ตัวละครพูดจากันถึงสัตว์ในโลกอย่าง Chocobo ในขณะเดียวกันก็มีความจริงแบบโลกปกติปะปนอยู่ เพราะถึงจะมีเวทมนตร์ก็ใช่ว่าทุกคนจะใช้พลังนี้ได้ คนในเรื่องก็ยังเลือกที่จะใช้พาหนะทั้งรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง มีการเอาระบบบลูทูธมาใช้เพื่อการติดต่อกันระหว่างทหารหน่วยต่างๆ หรือแม้แต่การวางระเบิดเพื่อก่อการร้าย (ที่เคยใช้มาแล้วในภาค VII) ก็มีปรากฏขึ้นในส่วนนี้ ซึ่งทั้งหมดก็สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของเกมนี้ที่กล่าวว่าาเป็น “a fantasy based on reality” (โลกแฟนตาซีบนความเป็นจริง)
ส่วนในเกม คุณซัน Lead Designer เคยกล่าวไว้ว่า ยังคงเก็บความคลาสสิกของเกมฉบับดั้งเดิมเอาไว้ แต่ปรับเกมให้สามารถเล่นได้ง่ายขึ้น เข้าถึงผู้เล่นได้ทุกกลุ่มทั้งคนที่เล่นเกมภาคเก่ามาก่อน คนที่เล่นเกมแต่ยังไม่เคยเล่น Final Fantasy รวมถึงผู้เล่นที่ไม่คุ้นเคยเกมมาก่อนสามารถสนุกได้ทั่วกัน แม้ว่าโดยภาพรวมจะมีการปรับให้เกมกลายเป็นลักษณะ Action RPG ที่ผู้เล่นสามารถออกคำสั่งตัวของ Noctis ให้ทำตามได้ทันที แต่เกมก็ยังเปิดระบบ Wait Mode ที่จะทำให้ตัวละครทุกตัวหยุดเคลื่อนไหวระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้เล่นเลือกว่าจะเลือกคำสั่งในการต่อสู้อย่างไร ลักษณะคล้ายๆ กับเกม Final Fantasy ภาคเก่า
แล้วทำไมถึงเกมถึงต้องเดินทางกันแค่ 4 คน ทั้งที่ภาคก่อนหน้านี้พอจะมีหญิงสาวหรือสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์ลงมาแจมบ้าง คุณซันได้อธิบายทั้งในเชิงเนื้อเรื่อง ตามวิสัยผู้ที่ออกแบบความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก กับตัวละครอื่นๆ ในเรื่องว่า ตัวเกมต้องการนำเสนอ ‘การเดินทางของมิตรสหาย’ ด้วยความต้องการให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง (การเดินทางเริ่มขึ้นจากการที่ Noctis ต้องออกไปหาคู่หมั้นของเขาที่อีกเมืองหนึ่ง) จึงบีบให้ตัวละครที่จะต้องออกเดินทางไปด้วยกันนั้นเป็นตัวละครกลุ่มเดียว และเมื่อคิดในแง่เกมที่เปลี่ยนเป็นแนวสมจริงขึ้นและกึ่งเป็นโลกเปิดมากขึ้น การใส่ตัวละครหญิงเข้าในกลุ่มแบบถาวรจะทำให้เกิดความน่าสงสัยบางประการ อย่างการที่ชายหนุ่มสามารถแชร์ห้องกันได้ แต่ถ้ามีหญิงสาวอยู่ในกลุ่มอาจจะต้องมีการเปิดห้องเพิ่ม ซึ่งพอคิดในแง่การเล่าค่าโรงแรมมันโดนบวกเยอะขึ้นหรือน้อยลงตามปาร์ตี้ก็คงดูตลกๆ ระดับนึง
ความเป็น Final Fantasy สัมผัสได้ชัดเจนขึ้นเมื่อ The MATTER ลองไปต่อคิวเล่นตัวอย่างเกมที่มาแสดงอยู่ในงาน เราค้นพบว่า นี่คือ Final Fantasy ที่เอากลิ่นของการเดินทางใน GTA มาผสมมากขึ้น (และทำเอามึนอยู่ชั่วครู่เมื่อการขับรถในเกมต้องกดปุ่ม R2 ไม่ใช่แค่ดันก้านควบคุม) บรรยากาศแบบเก่าๆ ก็ยังคงอยู่ อย่างในเกมฉบับดั้งเดิม อย่างจุดพักรถที่ Hammerhead หากเทียบเป็นเกมภาคเก่าๆ ก็คือหมู่บ้านขนาดเล็กที่มีสถานที่ไม่มากมายอะไรนัก ร้านค้าก็ถูกปรับเปลี่ยนจากที่ร้านอาวุธจะต้องเป็นบ้านเล็กๆ ที่เดินเข้าไปหา ก็กลายสภาพเป็นรถบรรทุกมาขายแบบเปิดท้ายแทน (ลักษณะแบบ Foodtruck) ร้านขายไอเท็มก็เปลี่ยนเป็นสภาพคล้ายๆ กับ ร้านสะดวกซื้อ ส่วนร้านอาหารที่ออกจะเป็นของใหม่คนเล่นภาคเก่า (อย่างผู้เขียน) ไม่คุ้น ก็เป็นสถานที่ๆ ขายไอเท็มเสริมพลังกับเป็นสถานที่รับเควสท์แทน
ส่วนตัวละครถึงแม้ว่าผู้เล่นจะสามารถควบคุมตัวละครได้แค่ตัว Noctis ที่เป็นพระเอก แต่การช่วยเหลือของเพื่อนๆ อีกสามคนในปาร์ตี้ก็ยังทำให้เห็นว่าตัวเกมไม่ได้เปิดโอกาสให้พระเอกฉายเดี่ยวม้วนเดียวจบแบบเกมบางเกมที่บังคับให้ควบคุมพระเอกคนเดียวแล้วเราก็เล่นโดยไม่ต้องสนใจเพื่อนในปาร์ตี้ได้เลยก็ถือว่าเป็นการปรับโฉมเกมให้เหมาะสมกับศักยภาพของฮาร์ดแวร์และคนเล่นยุคใหม่ได้อย่างดีทีเดียว จะน่าเสียดายนิดหน่อยก็ตรงที่ในส่วนของเดโมที่เปิดให้รับเล่นกันนี้ ยังไม่สามารถทำอาหารไทยแบบ ‘ปลาราดพริก’ หรือใช้ ‘บริการนวดแผนไทย’ ที่คุณซัน ชาวไทยที่มีส่วนร่วมกับเกมนี้อย่างมากได้พูดถึงไว้
ความเป็น Final Fantasy ไม่ได้ออกมาเต็มเฉพาะในส่วนเกมเท่านั้น เพราะในส่วนอนิเมชั่น Brotherhood ก็เอาบรรยากาศของเกมบางส่วนเองมาให้เห็นกันชัดๆ ก่อนเกมจะออก อย่าง การที่ศัตรูปรากฏตัวขึ้นอย่างกะทันหันในภาค XV ที่เปลี่ยนไปใช้เป็นวิธีที่กองกำลังทหารหุ่นยนต์นั่งเรือเหาะมาไล่ล่าพวกพระเอก
ส่วนในฝั่งภาพยนตร์ Kingsglaive นั้น เราพอจะพูดได้ต็มปากว่า นี่คือเกม Final Fantasy ฉบับย่อเป็นภาพยนตร์ ตัวหนังมาครบถ้วนทั้ง ตัวเอกที่เลเวลต่ำ ก่อนจะอัพเลเวลให้สูงขึ้นในตอนท้าย เขามีปมชีวิตของตัวเองอยู่ มีเพื่อนร่วมปาร์ตี้ แล้วก็มีเพื่อนที่ออกจากปาร์ตี้ มีนางเอกที่ต้องปกป้อง ระหว่างนั้นก็อาศัยอยู่ในเมืองทันสมัยลักษณะคล้ายเมือง Midgard ในเกม Final Fantasy VII แต่ดูสมจริงกว่า มีการพูดถึงประเด็นชาวต่างด้าวอพยพที่ชวนให้กลับมาคิดถึงเรื่องของซีเรีย แล้วในภาพยนตร์ก็มีบอสให้พระเอกต้องสู้ในตอนท้ายด้วย สิ่งที่ขาดหายไปคงมีเพียงแค่ขั้นตอนการซื้อไอเท็ม หรือติดตั้งอาวุธเท่านั้น และถ้าใครเคยเล่นเกมภาค Crisis Core : Final Fantasy VII อาจจะอินกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากขึน