ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผู้เขียนรู้สึกไปเองหรือเปล่า แต่ช่วงสองสามปีหลังมานี้ การรับรู้และมุมมองต่อนักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดัง ฮารูกิ มูราคามิ ในบ้านเรา (และอาจจะทั่วโลก) เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ถ้าเป็นช่วง 10-15 ปีที่แล้วมูราคามิถึงขั้นเป็นศาสดาที่คนบูชา ใครๆ ก็อ่านงานของเขา ไม่ว่าจะอ่านเพราะอินจริงหรืออยากอินเทรนด์ การเดินถือหนังสือมูราคามิเดินไปมาในมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องเท่ไม่หยอก อย่างน้อยก็ในยุคที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่
แต่ดูเหมือนคนรุ่นใหม่ (อาจเหมาหยาบๆ ว่ารุ่นเจน Z) อาจจะอินกับมูราคามิน้อยลง ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนไปบรรยายในวิชาวิจารณ์วรรณกรรม เมื่อถามว่ามีใครชอบมูราคามิบ้างหรือไม่ ก็ไม่มีนักศึกษายกมือเลยสักคน แต่ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร พอๆ กับที่นักศึกษาภาพยนตร์ยุคนี้ไม่ค่อยอะไรกับหว่องกาไวแล้ว
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือหลายมิติในงานของมูราคามิถูกใคร่ครวญหรือวิพากษ์วิจารณ์ในมุมใหม่ โดยเฉพาะเรื่องตัวละครผู้หญิงของเขา บางเสียงวิจารณ์ในเชิงลบว่าพวกเธอเป็นเพียงแค่ตัวประกอบไร้ชีวิต เป็นเครื่องระบายความเหงาของตัวละครนำชาย มิเอโกะ คาวากามิ คนเขียน Breasts and Eggs ถึงขั้นพูดว่า “เพื่อนผู้หญิงของฉันถามเสมอว่าถ้าเธอชอบงานของมูราคามิขนาดนั้น เธอจะแก้ต่างเรื่องการนำเสนอภาพผู้หญิงของเขาอย่างไร” (อ่านบทสนทนาระหว่างมูราคามิกับคาวากามิได้ที่นี่) หรือบ้างก็ว่าเขาเป็นพวกเกลียดผู้หญิง (misogyny) ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เกินเลยไป
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเองก็ห่างเหินกับงานของมูราคามิเช่นกัน ด้วยความเบื่อการวนเวียนอยู่กับเรื่องลำลึงค์ เต้านม ใบหู เพลงแจ๊ซ และพ่วงด้วยภาระการงานที่มากขึ้น นั่นทำให้อ่าน 1Q84 เล่ม 3 ไม่จบ, ซื้อ Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage มาดอง และอ่าน Killing Commendatore ไปเพียง 80 หน้า แต่ในช่วงโควิดระบาดเป็นระลอกที่สามจนต้องหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน (ณ วันที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ออกจากบ้านมาหนึ่งเดือนแล้ว) ทำให้เกิดดำริอยากกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้ง และประเดิมด้วยงานของมูราคามิ
First Person Singular วางขายฉบับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.2020 ฉบับแปลอังกฤษเพิ่งออกเมื่อเมษายน ค.ศ.2021 (เชื่อว่าแปลไทยคงมาในเร็ววัน) เป็นการรวมเรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่อง หลายเรื่องเคยตีพิมพ์ที่อื่นมาก่อน อาทิ The New Yorker และ Granta ทุกเรื่องมีจุดร่วมกันคือการเล่าโดยการใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง หรือถ้าพูดให้ชี้ชัดคือการใช้ ‘ผม’ เพราะตัวละครนำของทุกเรื่องเป็นชายวัยกลางคนคนหนึ่ง
ที่จริงแล้วการเล่าด้วย ‘ผม’ ของมูราคามิไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น
เขาใช้วิธีเขียนแบบบุรุษที่หนึ่งมาบ่อยครั้ง แต่สำหรับ
First Person Singular มันอาจมีความพิเศษอยู่บ้าง
เช่นว่า ‘ผม’ ในที่นี้คือใคร ใช่ตัวมูราคามิเองหรือเปล่า เพราะลักษณะบางอย่าง-การชอบเพลงแจ๊ซและเบสบอล-ช่างดูเป็นมูราคามิเอามากๆ สรุปแล้วหนังสือเล่มนี้คือเรื่องแต่ง อัตชีวประวัติ หรือผสมปนเปทั้งสองอย่าง อีกคำถามคือ ‘ผม’ ในทั้ง 8 เรื่องเป็นคนเดียวกัน หรือเป็นคนเดิมกับเรื่องสั้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่นว่าเรื่อง Confessions of a Shinagawa Monkey นั้นเหมือนจะเป็นภาคต่อของ A Shinagawa Monkey (ถูกรวมอยู่ในเล่ม Blind Willow, Sleeping Woman)
เมื่ออ่าน First Person Singular จนจบ เราจะพบลักษณะร่วมของหนังสือเล่มนี้ มันว่าด้วยเรื่องของชายคนหนึ่งที่ระลึกถึงอดีต เหตุการณ์ในอดีตที่เป็นเศษเสี้ยวเล็กน้อยดูไม่มีความสำคัญอะไรกับชีวิต เขากระทั่งลืมรายละเอียดที่ควรจำได้เช่นชื่อหรือใบหน้าของบุคคล ทว่าแม้จะทำทีไม่ใส่ใจ เขาก็ได้ค้นพบว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ทิ้งปริศนาบางอย่างไว้ อาทิ การได้พบกับลิงพูดได้ในโรงแรมโกโรโกโส การสานสัมพันธ์กับหญิงหน้าตาน่าเกลียดที่หลงใหลเพลงของชูมานน์ หรือผู้หญิงที่เข้ามาบอกเขาในบาร์ว่าเขาเคยทำสิ่งเลวร้าย แต่นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก
ทั้งนี้มีเรื่องสั้น 2 เรื่องใน First Person Singular ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ เรื่องแรกคือ Cream ที่มีกลิ่นอายลึกลับระทึกขวัญเล็กน้อย มันเล่าถึงชายหนุ่มผู้ได้รับเชิญไปงานแสดงเดี่ยวเปียโนของเพื่อนเก่า ทว่าเมื่อไปยังสถานที่จัดงาน เขากลับพบแต่ตึกปิดล็อกร้างไร้ผู้คน ในขณะที่กำลังมึนงงเขาก็เจอกับชายชราผู้พูดถึงวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางมากกว่าหนึ่งและวงกลมไม่มีเส้นรอบวง (!?) ตามสไตล์มูราคามิว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่มีการเฉลยที่มาที่ไป ผู้อ่านต้องไปขบคิดตีความต่อกันเอง รวมถึง ‘ครีม’ ที่เป็นชื่อเรื่อง
ส่วน With the Beatles เป็นเรื่องที่ผู้เขียนชอบที่สุดในเล่ม มันเริ่มจากการที่อยู่ดีๆ พระเอกนึกถึงช่วงมัธยมที่เขาเห็นเด็กสาววิ่งอยู่ตรงทางเดินและกอดแผ่นเสียงชุด With the Beatles ของวง The Beatles เอาไว้ ทว่าเรื่องสั้นนี้ไม่ใช่การเชิดชูวงสี่เต่าทอง ตัวเอก (หรือตัวมูราคามิเอง?) ให้ความเห็นต่อ The Beatles อย่างแสบสันต์ว่าเพลงของพวกเขาก็ไพเราะดี แต่ฟังแล้วไม่ได้ติดหูติดใจอะไรนัก เป็นเสียงพื้นหลังที่เหมือนวอลเปเปอร์แปะตามฝาผนัง
จากนั้นเรื่องราวใน With the Beatles ข้ามไปยังคนรักเก่าของพระเอก โดยละทิ้งเรื่องของเด็กสาวกอดแผ่นเสียงไปอย่างหน้าตาเฉย แต่นี่เป็นหนึ่งในกลวิธีทางเส้นเรื่องที่แฟนคลับของมูราคามิคุ้นเคยกันดี ประเภทว่าตัดไปเล่าเรื่องอื่นหรือการแฟลชแบ็กย้อนอดีตอย่างยืดยาวจนคนอ่านเริ่มเบลอว่าอะไรคือเส้นเรื่องหลัก ส่วนเนื้อหาโดยรวมของ With the Beatles นั้นว่าด้วยความรัก ความสูญเสีย ความตาย ชวนให้นึกงานคลาสสิกอย่าง Norwegian Wood หรือ South of the Border, West of the Sun อยู่เหมือนกัน
โดยสรุปแล้วผู้เขียนรื่มรมย์กับ First Person Singular อยู่ไม่น้อย แม้ว่าผลงานเรื่องนี้จะแทบไม่ได้แปลกใหม่ไปจากงานก่อนหน้าของมูราคามิเลย อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดเก่า แต่เป็นเหล้ารสชาติคุ้นเคยที่ทำให้รู้สึกดี อาจเป็นเพราะธีมสำคัญที่มูราคามิพูดมาตลอด–เรื่องราวทำนองความหลอกหลอนจากอดีตที่ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของการดำรงอยู่–เป็นสิ่งที่เราใกล้ชิดได้มากขึ้นเมื่อใช้ชีวิตข้ามมาถึงหลักเลขสามเลขสี่ นี่อาจเป็นข้อดีไม่กี่ข้อของการนับถอยหลังสู่วัยกลางคน
อนึ่ง ผู้เขียนข้อทิ้งท้ายว่าผลงานของมูราคามิกำลังจะถูกทำเป็นภาพยนตร์ อีกครั้ง โดยเรื่องสั้น Drive My Car (อยู่ในเล่ม Men Without Women) ที่ว่าด้วยการพูดคุยขณะขับรถของนักแสดงชายกับคนขับรถสาว จะถูกแปลงขึ้นจอเงินภายใต้การกำกับของ ริวสุเกะ ฮามากุจิ (Happy Hour, Asako I & II) หนังมีกำหนดฉายช่วงครึ่งหลังของปี 2021
และเดือนตุลาคมนี้ เราก็ต้องมาลุ้นกันอีกครั้งว่ามูราคามิจะได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมหรือไม่ หลังจากลุ้นกันมาข้ามทศวรรษ แต่ผู้เขียนอยากให้ มิลาน คุนเดอร่า ได้มากกว่าเพราะปีนี้ปู่แกก็อายุ 92 แล้ว ส่วนมูราคามินั้นเชื่อว่าน่าจะอายุยืนยาวและมีไฟสร้างสรรค์ผลงานไปอีกหลายปี