“Fly me to the moon. Let me play among the stars.”
— Fly Me to The Moon (In Other Words), Frank Sinatra
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เสียงของใครสักคนหนึ่งจะเป็นอมตะ และอยู่กับเรามาหลายชั่วอายุคน แฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) คือนักร้องเพียงไม่กี่คนที่ถึงแม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เพลงที่เคยร้องเอาไว้ยังมีคนนำมาเปิดซ้ำ แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปตามกาลเวลา
จะปฏิเสธยังไงก็ตาม ต้องมีบ้างสักครั้งที่เพลงของ แฟรงก์ ซินาตรา แว่วผ่านเข้าหูคุณ…ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ
เพลงที่แฟรงก์ร้องแทบจะอยู่คู่วัฒนธรรมอเมริกาและโลกไปแล้ว บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินเสียงร้องอันนุ่มลึกและทรงเสน่ห์ในเทศกาลต่างๆ ผลงานของเขายังถูกใช้ในหนังอยู่เสมอ เช่นเพลง ‘Come Fly With Me’ ในหนังเรื่อง ‘Catch Me If You Can’ หรือหนัง ‘Joker’ ที่เพิ่งฉายไปและได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น ก็มีเพลง ‘That’s Life’ มาเป็นองค์ประกอบที่พูดแทนตัวละครในเรื่อง
แต่ถ้าไม่อินกับเทศกาลหนังเรื่องไหน เพลงของแฟรงก์เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้คนฟังรื่นรมย์ได้
แฟรงก์ ซินาตรา คือนักร้องเพลงป๊อปชาวอเมริกาที่นับว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการดนตรี แต่ก่อนได้มาเป็นนักร้อง แฟรงก์เกือบไม่มีชีวิตรอดเพื่อลืมตาดูโลก
ในวันคลอด เด็กชายมีน้ำหนักตัวกว่า 6 กก. ซึ่งนับว่าหนักหนาทีเดียวสำหรับ ดอลลี่ ซินาตรา หญิงร่างเล็กผู้เป็นแม่ของแฟรงก์ ผลจากการคลอดทำให้ทารกน้อยได้รับบาดเจ็บที่ลำคอ หู และใบหน้าทางด้านซ้าย ยิ่งไปกว่านั้นคือ เขาไม่หายใจ จนในท้ายที่สุด โรส คุณยายของแฟรงก์เลยตัดสินใจอุ้มเด็กน้อยจุ่มน้ำเย็นซะเลย และแล้วเสียงร้องก็แรกดังออกมา
แฟรงก์ ซินาตรา จึงได้มีชีวิตในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1915
“That’s life , that’s what all the people say”
— That’s Life, Frank Sinatra
แฟรงก์เติบโตมาในฐานะชาวอเมริกาเชื้อสายอิตาเลียน พ่อกับแม่ของแฟรงก์คือคนอิตาลีที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองโบโฮเกน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติหลายสีผิว
การเดินทางสู่อาชีพนักร้องของแฟรงก์เริ่มขึ้นเมื่อเขาอายุได้เก้าปี ในตอนนั้นพ่อของเขาเปิดร้านเหล้าชื่อ มาร์ตี้ โอไบรอันส์ บาร์ (M.O.B) เหตุผลที่มาเปิดบาร์คงเป็นเพราะพ่อของแฟรงก์เคยทำงานคุ้มกันรถขนเหล้าเถื่อนมาก่อน จึงไม่แปลกอะไรที่จะมาเปิดร้านเสียเอง ในช่วงเวลาทำการ แขกประจำร้านมักขอให้แฟรงก์ไปหยิบโทรโข่งมาร้องเพลงคู่กับเปียโนอยู่บ่อยๆ และสิ่งที่แฟรงก์ได้ตอบแทนคือเหรียญเงินเพียงไม่กี่เซนต์ที่แขกพยายามโยนให้ลงโทรโข่งเวลาเขาร้องเพลง
ตั้งแต่นั้นแฟรงก์ก็คิดได้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่เขาจะทำเป็นอาชีพ
“Start spreadin’ the news, I’m leaving today.
I want to be a part of it: New York, New York.”
— Theme from New York, New York, Frank Sinatra
เปลี่ยนจากโทรโข่งมาเป็นไมโครโฟน แฟรงก์จับกลุ่มกับเพื่อนๆ ในเมืองบ้านเกิดเพื่อไปออกอากาศกับคลื่นวิทยุชื่อดัง โดยทั้งวงมีอยู่สี่คน ชื่อวงที่ได้ออกมาเลยเป็น ‘Hoboken Four’ สี่หนุ่มจากเมืองโฮโบเกน แต่ด้วยความคิดที่อยากจะเป็นนักร้องเดี่ยวตั้งแต่แรกเพราะมี บิง ครอสบี (Bing Crosby) นักร้องเพลงป๊อปแห่งยุค 30s เป็นแรงบันดาลใจ แฟรงก์จึงเลือกออกจาก Hoboken Four เพื่อทำตามฝันของตัวเอง
การไล่ตามเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงแรกแฟรงก์เตร็ดแตร่ร้องเพลงไปทั่ว บางงานไม่ได้เงินด้วยซ้ำแต่เขาก็ยังทำ ชีวิตที่ดูไร้ทิศทางนี้เองที่ทำให้พ่อของแฟรงก์ตัดสินใจบอกกับลูกชายของตัวเองว่า “ทำไมแกไม่ออกจากบ้าน แล้วไปตามทางของตัวเองล่ะ” นี่เองเป็นเหตุผลให้แฟรงก์เดินทางไปนิวยอร์ก เมืองแห่งความฝันที่ไม่มีวันหลับใหล
อาจจะดูแปลกไปสักหน่อย แต่แฟรงก์มาเรียนรู้การร้องเพลงจริงๆ จังๆ หลังจากรู้จักกับลุงขี้เมา ควินลิน อดีตสมาชิกวงเดอะเม็ท ลุงขี้เมาคนนี้ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าให้เงินสามเหรียญต่อสัปดาห์เขาจะสอนวิธีร้องเพลงให้ ได้ยินแบบนั้นแฟรงก์ก็ตกลงเริ่มเรียนทันที ตั้งแต่นั้นจนตลอดการทำอาชีพนักร้อง แฟรงก์ยังใช้แบบฝึกหัดเดิม โดยเพิ่มเติมวิธีที่พัฒนาขึ้นมาเองนิดหน่อย
“I’ll never smile again until I smile at you”
— I’ll Never Smile Again, Frank Sinatra
ในช่วงชีวิตการเป็นนักร้อง แฟรงก์ได้ร่วมงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา ทั้ง ทอมมี่ ดอร์ซี่ (Tommy Dorsey) นักเล่นทรอมโบนมือฉมังที่ชักชวนเขามาร่วมวง แต่สุดท้ายด้วยน้ำเสียงของชายหนุ่มที่ฟังดูแสนเปลี่ยวเหงาและทรงเสน่ห์ไปในตัว ทอมมี่ต้องปล่อยแฟรงก์ไปเพราะดังเกินจะหยุดไหว หรือแม้แต่ บิง ครอสบี นักร้องที่ยึดเป็นไอดอล แฟรงก์เองก็ยังมีโอกาสได้ร่วมงานด้วย
แฟรงก์มีชีวิตที่ขึ้นสุดลงสุด เขาโด่งดังในฐานะนักร้องก่อนจะวูบดับ และกลับมาดังอีกครั้งในฐานะนักแสดง ล้มอีกบ่อยครั้ง และฟื้นตัวกลับมาเด่นดังในอาชีพร้องเพลงอีกที… และ ใช่ แฟรงก์เป็นนักแสดงด้วย แถมยังได้รับรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำมาแล้ว จากเรื่อง ‘From Here to Eternity’ ในสาขานักแสดงสมทบ
ไม่ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร สิ่งที่แฟรงก์ไม่เคยหลงลืมเลยคือ เขาเป็นชาวอเมริกาผู้มีต้นกำเนิดมาจากเชื้อชาติอื่น แฟรงก์รู้ดีในจุดนี้ว่าเคยเติบโตมายังไง เขาจึงเป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่คนในยุคนั้นที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของเชื้อชาติ เห็นได้จากการเป็นแสดงเรื่อง ‘The House I Live In’ หนังที่เล่าถึงกลุ่มเด็กซึ่งกำลังกลั่นแกล้งเด็กผู้ถูกมองว่าแปลกแยก และแฟรงก์ที่ในเรื่องก็แสดงเป็นนักร้องเข้าไปห้ามไว้ได้ทัน ปิดท้ายด้วยการร้องเพลงอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกัน
“ผมคิดว่ามันแย่มาก ผมคิดว่ามันเป็นแนวทางซึ่งไม่เหมาะที่จะเชื่อ” แฟรงก์พูดถึงความเกลียดชังต่อเชื้อชาติเอาไว้แบบนั้น
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แฟรงก์มองทุกคนเท่ากัน คงเป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานร่วมกันด้วยผลงานมากกว่าจะเป็นเรื่องรุปกายภายนอก นอกจากนั้น แฟรงก์บอกเองว่าคนผิวสีจำนวนไม่น้อยมีอิทธิพลในผลงานของเขา แฟรงก์จึงไม่มีท่าทีหยามเหยียด ไปจนถึงคอยช่วยเหลือเพื่อนๆ นักดนตรีต่างเชื้อชาติอยู่เสมอ เช่นนักร้องผิวดำ แซมมี่ เดวิส (Sammy Davis) ทั้งคู่ขึ้นเวทีด้วยกันบ่อยๆ และสนิทกันมากแม้ลงจากเวทีมาแล้ว หรืออย่างตอนที่แฟรงก์แสดงอยู่ที่ลาสเวกัส เขามักจะให้บอดี้การ์ดคอยคุ้มกันเพื่อนศิลปินผิวสีกลับที่พัก เพราะในยุคนั้น คนผิวสีไม่ได้รับอนุญาตให้พักในโรงแรม ต้องไปนอนในที่พักแยกอันห่างไกลแทน
“You play the same love song – it’s the 10th time you’ve heard it.
That’s the beginning, just one of the clues.
You’ve had your first lesson in learnin’ the blues.”
— Learnin’ the Blues, Frank Sinatra
การเข้าใจความหลากหลายคงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ แฟรงก์ ซินาตรา เป็นศิลปินที่ร้องเพลงได้อย่างจริงใจ และทำให้เสียงร้องที่ออกมาซึมลึกไปในหัวใจคนฟัง หากได้หยิบเพลงของเขามาฟังไม่ว่าจะอยู่ในห้วงอารมณ์ไหน เพลงทั้งหมดจากจำนวนกว่าหลายร้อยเพลงของแฟรงก์ก็มักจะเป็นพื้นที่รองรับสำหรับทุกความรู้สึก คอยเคียงข้างและปลอบโยนเราอย่างเข้าใจ
เพลงของแฟรงก์จะยังคงเป็นอมตะต่อไป ไม่เชื่อลองเงี่ยหูฟังเพลงตามร้านค้าต่างๆ ในช่วงคริสต์มาสนี้สิ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้ยินเพลง ‘Jingle Bells’ หรือ ‘Let It Snow! Let It Snow! Let It Snow!’ ที่ศิลปินในตำนานคนนี้ร้องไว้ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Sinatra : All or Nothing at All (2015)
- www.sinatra.com