ดอริส เดย์ จากเราไปในวัย 97 ปี
นี่อาจเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีก็ได้ เพราะการที่ใครสักคนจะมีอายุยืนยาวได้ถึงเพียงนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
ดอริส เดย์ อาจมีดาราที่เป็น ‘คู่ขวัญ’ กับเธอหลายคน แต่คนหนึ่งที่โดดเด่นเป็นที่จดจำของผู้คนเหลือเกิน ก็คือดาราหนุ่มผู้หล่อเหลา เป็นที่ใฝ่ฝันถึงของสาวๆ ทั้งโลก เช่นเดียวกับที่เธอเองก็เป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ชายทั้งโลกเช่นกัน
ดาราหนุ่มคนนั้นมีชื่อว่า—ร็อค ฮัดสัน (Rock Hudson)
ย้อนกลับไปในยุค 50s และ 60s ดอริส เดย์ คือ ‘ภาพ’ ของผู้หญิงใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่มีมิติของความร้ายกาจอยู่ในตัวของเธอเลยแม้แต่น้อย ภาพลักษณ์ของเธอเหมือนกับเพลง Que Sera, Sera เพลงที่เด็กน้อยร้องถามแม่ของเธอว่า—ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่มีผิด
เพลงนี้บันทึกเสียงครั้งแรกในปี 1956 เป็นเพลงฝีมือ เจย์ ลิฟวิงสตัน (Jay Livingston) และเรย์ อีแวนส์ (Ray Evans) ซึ่งหลายคนอาจประหลาดใจ หากบอกว่าเพลงใสๆ เพลงนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของผู้กำกับหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทที่ลือชื่อที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด
เขาคือ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock)
และหนังเรื่องนั้นก็คือ The Man Who Knew Too Much
ดอริส เดย์ เล่นหนังเรื่องนี้ร่วมกับ เจมส์ สจ๊วร์ต (James Stewart) และเธอก็ร้องเพลงนี้เป็นครั้งแรกเพื่อประกอบหนังเรื่องนี้ กับเรื่องราวของเด็กน้อยที่ถามแม่ของเธอว่า ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วเด็กคนนั้นก็เติบโตขึ้นเพื่อถามครูและคนรักของเธอด้วยคำถามเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ทั้งแม่ ครู และคนรักของเธอตอบแบบเดียวกันว่า—อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด Whatever will be, will be และดังนั้น จงอย่ากลัวกับมันไปเลย
และเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นและกลายเป็นแม่คน เธอก็สอนลูกของเธอด้วยประโยคเดียวกัน เวียนวนเป็นวัฏจักรต่อไปไม่จบสิ้น
ดูคล้ายว่า ชีวิตของดอริส เดย์ ก็เป็นอย่างนั้น
ภาพของ ดอริส เดย์ คือสาวบริสุทธิ์ สาวพรหมจารี สาวที่ไม่เคยต้องมือชาย ถึงเธอจะรับบทก๋ากั่นบ้าง เช่นในหนังเรื่อง Calamity Jane ซึ่งตัวละครมีลักษณะคล้าย ‘ทอมบอย’ อันเป็นการแสดงออกทางเพศแบบหนึ่งที่นิยมกันในยุคนั้น แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาเป็น ‘สาวบริสุทธิ์’ อีกอยู่ดี
นั่นทำให้เธอได้ชื่อว่าเป็น The Sexual Virgin หรือสาวพรหมจารีที่มีความยั่วยวนทางเพศซ่อนอยู่ลึกๆ และถึงขั้นมีคนเคยบอกว่าเธอคือ The Professional Virgin หรือพรหมจารีมืออาชีพด้วยซ้ำ ค่าที่เธอ ‘ขาย’ ภาพลักษณ์นี้บนจอภาพยนตร์
ความโด่งดังของเธอเกิดขึ้นพ้องพานกับยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเกาหลี ทำให้เธอกลายเป็นดาราสาวขวัญใจทหารหาญ เธอเริ่มโด่งดังครั้งแรกในปี 1945 กับเพลง Sentimental Journey ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหล่าจีไอ แต่ต้องใช้เวลาอีกสิบกว่าปี กว่าเธอจะกลายเป็นไอคอนของผู้คนด้วยเพลง Que Sera, Sera ซึ่งกลายเป็นเพลงชนะเลิศรางวัลออสการ์
ที่จริงแล้ว ดอริส เดย์ ไม่ชอบเพลงนี้เลย เมื่อเธอได้รับมอบหมายให้ร้องเพลงนี้ เธอแสดงความสงสัยออกมาว่า เพลงนี้จะเป็นที่นิยมไปได้ยาวนานสักเท่าไหร่กัน เพราะมันคือเพลงง่ายๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่เพลงนี้กลับโด่งดังเป็นพลุแตก มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ดอริส เดย์ จนเธอต้องกลับมาร้องใหม่ในภาพยนตร์หลังจากนั้นอีกสองเรื่อง คือ Please Don’t Eat the Daisies (1960) และ The Glass Bottom Boat (1966) และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันกลายเป็นเพลงเปิดรายการ Doris Day Show ที่ออกอากาศทางช่องซีบีเอสนานถึงห้าปี
แต่ก่อนจะเล่าถึงรายการ Doris Day Show มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องย้อนกลับมาดูชีวิตก่อนหน้านั้นของเธอ
เอาเข้าจริง ชีวิตเบื้องหลังของสาวน้อยบริสุทธิ์แสนสดใส ผู้เป็นตัวแทนของความร่าเริงเจิดจ้าทั้งปวงบนโลกใบนี้—กลับเต็มไปด้วยร่องรอยของความเสี่ยง ความพรั่นพรึง ความใกล้ชิดกับเหตุเขย่าขวัญที่สั่นประสาทคนอเมริกันทั้งประเทศ คล้ายว่าเธอกำลังอยู่ในหนังของอัลเฟร์ด ฮิตช์ค็อก, กระนั้น
ที่จริงแล้ว ชีวิตของดอริส เดย์ มีอะไรคลับคล้ายกับ ‘คู่ขวัญ’ ของเธออย่างร็อค ฮัดสัน ไม่น้อย
ในฉากหน้า ทั้งคู่คือต้นแบบและขวัญใจผู้คน แต่ก็อย่างที่เรารู้กันอยู่ ร็อค ฮัดสัน—ผู้เป็นชายในฝันของหญิงทั้งโลกนั้นไม่ได้ปรารถนาในหญิงใด เพราะเขารักผู้ชายด้วยกันเอง เรื่องนี้ก็คงเป็นความลับต่อไปชั่วกัลปาวสาน หากว่าร็อค ฮัดสัน จะไม่ล้มป่วยจนเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เสียก่อน
ในปี 1985 ร็อค ฮัดสัน มีอาการป่วยหนัก เขามาร่วมงานแถลงข่าวรายการใหม่กับดอริส เดย์ ใครๆ ก็เห็นว่าเขาป่วย แต่ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าฮัดสันเป็นอะไร ไม่มีใครรู้ สงสัย หรือแม้แต่กล้าสงสัย ว่าดาราหนุ่มที่หล่อที่สุดคนหนึ่งของโลกคนนี้จะเป็นคนรักเพศเดียวกันและป่วยเป็นเอดส์ เรื่องนี้เป็นความลับไปจนกระทั่งฮัดสันเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
ดอริส เดย์ เล่าว่า ครั้งสุดท้ายที่เธอได้พบกับเขานั้น ทั้งคู่จูบลากัน เขากอดเธอแน่น เธอน้ำตาคลอ คล้ายรู้ว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งคู่จะได้พบกัน
ชีวิตของร็อค ฮัดสัน มีเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่แตกต่าง ชีวิตของดอริส เดย์ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
อีกหลายปีถัดมา เมื่อดอริส เดย์ เขียนอัตชีวประวัติ เธอสร้างเสียงฮือฮาให้ผู้คน ด้วยการปฏิเสธภาพลักษณ์ที่ทุกคนเห็น ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์แบบ The Professional Virgin หรือสาวบริสุทธิ์ รวมไปถึงภาพลักษณะแบบ The Girl Next Door คือหญิงสาวง่ายๆ ไม่เรื่องมาก เธอบอกว่า ภาพลักษณ์ทำนองนั้นทำให้เธองงงวยมาก เพราะเธอไม่ได้ตั้งใจจะฉายภาพตัวเองออกมาแบบนั้นเลย ไม่ว่าจะในงานแสดงหรือในชีวิตส่วนตัวก็ตาม
แต่มันกลับกลายเป็นเช่นนั้น
ชีวิตของ ดอริส เดย์ ไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอแต่งงานรวมทั้งหมดสี่ครั้งด้วยกัน แต่ครั้งที่น่าจะเป็นคล้ายหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทสำหรับเธอมากที่สุด น่าจะเป็นการแต่งงานครั้งที่สาม กับ มาร์ติน เมลเชอร์ (Martin Melcher)
ในทศวรรษ 60s พูดได้ว่า ดอริส เดย์ ทำเงินมากมายมหาศาล เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หนึ่งครั้ง (แต่ไม่ได้) รวมไปถึงรางวัลลูกโลกทองคำอีกหกครั้ง เพลงของเธอโด่งดังไปทั่วโลก แต่เมื่อมาร์ติน เมลเชอร์ เสียชีวิตในปี 1968 เธอพบว่าตัวเองแทบไม่เหลืออะไรเลย แถมยังเป็นหนี้มากถึงห้าแสนเหรียญด้วย
เมลเชอร์กับคู่หูทางธุรกิจของเขา คือเจอโรม โรเซนธัล (Jerome Rosenthal) ได้ผลาญเงินของดอริส เดย์ จนหมด ทั้งยังทำให้เธอต้องติดหนี้ต่างๆ มหาศาลด้วย โรเซนธัลเป็นทนายความของเธอมาตั้งแต่ปี 1949 ทั้งยังเคยว่าความคดีหย่าร้างให้เธอมาก่อน เมื่อเธอพบว่าตัวเองหมดเนื้อหมดตัว จึงฟ้องร้องโรเซนธัล จนกลายเป็นคดีความยาวนานข้ามทศวรรษ เพราะโรเซนธัลบอกว่า ที่จริงแล้วเป็นทนายความของเขาอีกทีที่โกงเงินไปหลายล้านเหรียญ รวมทั้งกล่าวหาดอริส เดย์ด้วยว่า ถูกทนายความดังกล่าวหลอกล่อให้ขายทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นบริษัทน้ำมันที่เธอมีอยู่ในราคาขาดทุน ผลลัพธ์ก็คือความย่อยยับทางด้านการเงินที่ทั้งเขาและเธอต้องเผชิญร่วมกัน
ดูเหมือนดอริส เดย์ น่าจะช็อกและตกอับ แต่ที่เธอไม่รู้มาก่อนก็คือ มาร์ติน เมลเชอร์ สามีของเธอ ได้แอบไปตกลงทำสัญญาลับๆ กับซีบีเอส เพื่อให้ ดอริส เดย์ กลับมาทำรายการใหม่เพื่อกอบกู้ฐานะของเขาและเธอ ซึ่งต่อมาก็คือรายการชื่อ Doris Day Show นั่นเอง
ดอริส เดย์ ไม่อยากทำรายการนี้ เธอกำลังช็อก ทั้งเรื่องสามีตายกะทันหันและการตกเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวฉับพลัน เธอจึงไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรทั้งนั้น การลุกขึ้นเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ในเวลาแบบนั้นเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจมาก
ทว่าก็เป็นตอนนั้นเอง ที่ลูกชายของเธอ เทอร์รี เมลเชอร์ (Terry Melcher) เข้ามาปลอบโยนเธอ และพูดจาโน้มนำให้ดอริส เดย์ ยอมจัดรายการ เพราะนี่คือโอกาสหวนคืนสู่ความนิยม เป็นการกลับมาทำงานเพื่อให้ได้เงินอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญก็คือ เธอจะได้ลืมเรื่องร้ายๆ ต่างๆ ได้ด้วย
เธอไม่อยากทำเลย แต่สุดท้ายก็จำต้องทำ ปรากฏว่ารายการ Doris Day Show ที่ออกอากาศครั้งแรกหลังสามีของเธอเสียชีวิตราวห้าเดือน กลายเป็นรายการฮิต ที่ย้อนแย้งมากก็คือ เพลง Que Sera, Sera กลายเป็นเพลงเปิดรายการที่เป็นสัญลักษณ์ของเธอ
อะไรจะเกิด—ก็ต้องเกิด, นี่เป็นเหมือนทั้งคำอวยพรและสาปแช่ง ทั้งผลักเธอลงสู่หลุมลึกและดึงเธอกลับขึ้นมาอีกครั้งด้วย
ตลอดชีวิตของเธอ เธอต้องเผชิญกับความรุนแรง การฉวยใช้ และการบีบบังคับจากผู้ชายเสมอมา สามีคนแรกของเธอเป็นนักดนตรีที่ทำร้ายเธอเหมือนคนโรคจิต การแต่งงานอีกสามครั้งที่เหลือล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ฉิวเฉียดต่อความเป็นความตายของเทอร์รี เมลเชอร์ ลูกชายเธอ ก็คือเหตุการณ์สังหารหมู่โดยฝีมือของ ‘ครอบครัวแมนสัน’ (ดูรายละเอียดได้ใน End of the Road ตอนที่แล้ว) เพราะเทอร์รี เมลเชอร์ ซึ่งทำงานเป็นโปรดิวเซอร์แผ่นเสียง เคยสัญญากับชาลส์ แมนสัน หัวหน้าลัทธิหัวรุนแรงผู้โหดเหี้ยมว่าจะเซ็นสัญญาออกอัลบั้มให้เขา แต่เมลเชอร์ไม่ได้ทำอย่างนั้น และนั่นทำให้ชาลส์ แมนสัน โกรธ
เป็นดอริส เดย์ นี่เอง ที่เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลในมิตรภาพของลูกชายเธอกับชาลส์ แมนสัน อาจเพราะดอริส เดย์ เคยคุ้นกับการถูกทำร้ายโดยผู้ชายอยู่แล้วก็ได้ เธอจึง ‘รู้’ ว่าแมนสันเป็นปีศาจร้าย เธอจึงพยายามบอกให้ลูกชายของเธอย้ายออกจากคฤหาสน์ที่เขาเช่าอยู่โดยเร็ว ซึ่งก็โชคดีเหลือเกินที่เทอร์รี เมลเชอร์ เชื่อ และย้ายออกมาก่อนหน้าที่จะเกิดการสังหารหมู่เพียงไม่กี่เดือน
เหตุร้ายนั้นเกิดขึ้นในปี 1969 เพียงหนึ่งปีหลังการตายของมาร์ติน เมลเชอร์—สามีของเธอ หากเธอต้องสูญเสียลูกชายไปอีกคนด้วยลักษณาการอันสยดสยองอย่างที่เกิดขึ้นกับชารอน เทต ผู้เป็นภรรยาของโรมัน โปลันสกี้ ก็ไม่มีใครรู้เลยว่า ดอริส เดย์ จะทานทนได้มากเพียงใด
ในบั้นปลายชีวิต ดอริส เดย์ ไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสื่อนัก เธอก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสัตว์ชื่อ Doris Day Animal Foundation ขึ้นในปี 1978 เพื่อทำงานล็อบบี้องค์กรต่างๆ โดยมีเป้าหมายลดความทุกข์ทรมานของสัตว์ เช่น การใช้สัตว์ทดลอง โดยพยายามต่อสู้ในด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ที่ออกมาในปี 1995 เป็นต้น
13 พฤษภาคม 2019 ดอริส เดย์ เสียชีวิตที่บ้านไร่ในแคลิฟอร์เนีย ด้วยวัย 97 ปี ผู้ที่ประกาศการเสียชีวิตของเธอไม่ใช่ลูกชายอย่างเทอร์รี เมลเชอร์ ผู้เสียชีวิตก่อนเธอไปตั้งแต่ปี 2004 ไม่ใช่สามีคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งล้วนเสียชีวิตไปหมดแล้วเช่นกัน) ไม่ใช่ฮอลลีวูด ไม่ใช่บริษัทภาพยนตร์ที่ไหน แต่คือองค์กร Doris Day Animal Foundation ที่เธอรักและเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมานี่เอง
ชีวิตของดอริส เดย์ ดูเหมือนน่าจะง่าย คล้ายโรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนภาพลักษณ์ของเธอ แต่ก็อย่างที่เราเห็น มันไม่ง่ายเอาเสียเลย
ชีวิตของเธอเป็นคล้ายคาถาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นได้ทั้งพรและคำสาป ด้วยวลีสั้นๆ ในบทเพลงที่โด่งดังที่สุดของเธอนั่นเอง
Whatever will be, will be