*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของ Perfect Blue
Trigger Warning: Rape scene
“คุณเป็นใคร?”
อดีตนักร้องไอดอลสาว ‘มิมะ’ พูดงึมงำกับตัวเองท่ามกลางกองถ่ายคลาคล่ำไปด้วยผู้คน “คุณเป็นใคร?” ตัวหนังสือของบทละครโทรทัศน์เรียงรายในมือ เป็นประโยคเดียวที่เธอจะได้พูดในวันแรกของงานใหม่ด้วยฐานะนักแสดง ใครสักคนเขียนให้เธอพูด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไอดอล ถ้าใครสักคนบอกให้เธอเป็นอะไรสักอย่างอยู่เสมอ คุณเป็นใคร? ตัวละครพูดกับนักสืบในละคร หรือมิมะพูดกับตัวเอง แล้วใครคือมิมะ ไอดอล นักแสดง หรือแค่มิมะ?
เสียงระเบิดดังขึ้น เลือดผู้จัดการอาบกองถ่าย ไม่มีคนเสียชีวิต แต่การขู่ฆ่ามาในรูปแบบซองจดหมายที่มีชื่อเธอเขียนอยู่ ‘มิมาริน’ ชื่อไอดอลที่เธอกำลังจะละทิ้งไป แต่เราหยุดเป็นเราได้จริงหรือ? คืนหลังจากวันนั้นของมิมะเป็นภาพเบลอ ตื่น ฝัน เป็นมิมะ มิมาริน สรุปแล้วเธอคือใคร?
Perfect Blue เธอกับฉันและฝันของเรา (1997) โดยคอน ซาโตชิ (Kon Satoshi) อนิเมชั่นทริลเลอร์จิตวิทยาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปี 2024 ระยะห่าง 27 ปีจากวันที่คอนเขียนเรื่องราวนี้ขึ้นมา มันพาเราย้อนกลับไปสู่เรื่องราวที่เป็นทั้งแคปซูลเวลาของขวบปีที่โลกย่างเข้าสู่ยุค y2k และเป็นหนังสไตล์ Character Study ที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับห้วงเวลาสั้นๆ ในชีวิตของไอดอลสาวผู้ผันตัวเป็นนักแสดง กับปฏิกิริยาของโลก คนรอบตัว แฟนคลับ และตัวเธอเองที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ปฏิกิริยาที่แม้จะผ่านไปนานนับทศวรรษ ก็ไม่ได้ดูเลยห่างจากความเป็นจริงอย่างน่าเศร้า
ในซีนที่โด่งดังที่สุดของเรื่อง มิมะยืนพิงขอบประตูรถไฟฟ้าในคืนที่เหนื่อยล้า หลังจากเธออ่านบทละครตอนใหม่ที่ผู้เขียนบทชีกอเขียนให้เธอเล่น ฉากข่มขืนเพื่อการพัฒนาตัวละคร ฉากที่เธอตอบตกลงยอมถ่ายเพื่อจะได้เป็นนักแสดงอย่างแท้จริง สายตาว่างเปล่าของมิมะมองตรงเข้าไปในขบวนรถไฟ ก่อนที่เธอจะปรายตาและสบเข้ากับเงาสะท้อนของตัวเธอเองในชุดไอดอล ซึ่งปฏิเสธที่จะเล่นฉากดังกล่าว เธอตกใจ สะดุ้งพรวดออกจากการเหม่อลอย มองภาพสะท้อนที่หน้าต่างประตูรถไฟอีกครั้ง แต่มีเพียงเธอเท่านั้นที่มองกลับมา และลึกๆ ข้างในเธอก็เห็นด้วยกับหญิงสาวชุดชมพูที่ไม่มีอยู่
มองกันตามเนื้อผ้า Perfect Blue คือเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่ในน้ำวนของความเจ็บปวดและปัญหาสุขภาพจิต จุดสำคัญที่โผล่มาให้เราเห็นอยู่เสมอในเรื่องคือ ภาพหลอนจากการเห็นตัวเองในชุดไอดอลอยู่ปรากฏตัวผ่านกระจก หรือล่องลอยอยู่เหนือหมู่เมือง การมองเห็นสตอล์กเกอร์ที่พบในอีเวนต์ต่างๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อชีวิตของตัวเธอเองและละครที่เล่นผสานกันเป็นหนึ่ง มองๆ ดูแล้วอาการที่มิมะกำลังประสบอยู่นั้นอาจคล้ายคลึงกับ Schizophrenia
ตามคำจำกัดความของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา Schizophrenia หรือโรคจิตเภท คือ “อาการป่วยทางจิตรุนแรงซึ่งกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของคนคนหนึ่ง โดยคนที่เป็นโรคนี้มักสูญเสียความเชื่อมโยงต่อความเป็นจริงรอบตัวพวกเขา” ทั้งนี้ยังลิสต์อาการของโรคนี้เอาไว้ว่ามีหลากหลายประเภท ซึ่งประเภทแรกเรียกว่า อาการโรคจิต ประกอบด้วย
- รับรู้ถึงภาพหลอน – การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รับรส หรือรู้สึกในสิ่งที่ไม่มีอยู่
- ความคิดหลงผิด – การเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริงอย่างไร้เหตุผลในมุมผู้อื่น
- เรียบเรียงความคิดไม่ได้ – พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย เปลี่ยนเรื่องไปมาอย่างไม่มีความเชื่อมโยง
- ผิดปกติทางการเคลื่อนไหว – มีการขยับขับเคลื่อนร่างกายที่เปลี่ยนไป
นอกจากนั้นยังมีอาการที่เรียกว่าอาการด้านลบ (Negative Symptoms) เช่น
- ไม่อาจวางแผนหรือทำตามแผนที่ตัวเองวางไว้ได้
- ไม่คาดหวังและไม่รู้สึกความรู้สึกดีๆ ในชีวิต
- พูดเสียงเบาและมีสีหน้าเรียบเฉย
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
- ไม่มีพลังาน
สุดท้ายคืออาการหมวดที่เรียกว่า อาการด้านการรู้คิด (Cognitive Symptoms) เช่น
- ประมวลผลข้อมูลในการตัดสินใจต่างๆ ได้ลำบาก
- นำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ทันทีหลังจากเพิ่งเรียนรู้ไป
- ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้
มองไปยังพฤติกรรมหลายๆ อย่างของมิมะ เราจะพบเห็นอาการเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน และเมื่อนำจิกซอว์หลายๆ ชิ้นมาประกอบกัน การพูดบทผิดๆ ถูกๆ การลืมวันลืมคืน ลืมว่าที่ใช้ชีวิตอยู่คือฝันหรือความจริง หรือการหยุดดูแลสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านความตายของปลาในตู้ปลาที่ห้องเธอ พฤติกรรมเหล่านั้นยิ่งน่ามึนงงเข้าไปใหญ่ เมื่อเรื่องราวยังแกล้งหลอกล่อเราด้วยการให้ โยโกะ หรือตัวละครที่มิมะเล่นในละครหลังจากเป็นนักแสดงแล้ว เป็นโรคหลายบุคลิกซึ่งมีอาการคล้ายกับที่เป็นอยู่ แต่แตกต่างกันเพราะว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทมีเพียงบุคลิกเดียว และมิมะไม่ได้มีหลากหลายบุคลิก
อย่างไรก็ดี เราพูดว่ามิมะไม่ได้มีหลายบุคลิกได้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าการที่ผู้สร้างอย่างคอนหยิบยกโรคดังกล่าวขึ้นมา เขาจะไม่ได้ใช้มันเพียงในฐานะโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่เป็นการวาดภาพธีมของเรื่องผ่านมันต่างหาก?
มองลงไปภายใต้ความเจ็บปวดทางใจของมิมะ อีกเรื่องที่ Perfect Blue เล่าคือ ‘ตัวตน’ ภาพหลอนและโรคจิตเภทเป็นมากกว่าเครื่องมือการดำเนินเรื่อง แต่เป็นการเล่าธีมของเรื่องว่าคือ “เราจะทำยังไง เมื่อเราตื่นรู้ว่าตัวตนของเราที่ผู้อื่นเห็นนั้นห่างไกลจากความจริงมากมายเหลือเกิน?”
การเป็นนักร้องไอดอลหมายความว่าอะไร หากไม่ใช่การใช้ชีวิตเป็นคนที่ไม่ใช่ตัวเองจนมันกลืนตัวตนเดิมของเราไปทั้งสิ้น? นั่นคือความรู้สึกของมิมะที่บอกผ่านโทรศัพท์กับแม่ในเย็นวันที่เธอประกาศสำเร็จการศึกษาจากวงทรีโอ้ CHAM! (ซึ่งในตัวมันเอง เป็นการเล่นเสียงที่ฉลาด เพราะคำว่า Sham แปลว่า ปลอม) เธอบอกแม่ว่าภาพลักษณ์ไอดอลนั้นกำลังทำให้เธออัดอั้นจนหายใจไม่ออก มองไปรอบๆ ตัวเรา มีทั้งการละเมิดความเป็นส่วนตัวจากเหล่าแฟนคลับและสื่อ การถูกมองเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง หรือในอีกสุดขั้วคือการถูกเบียดบังออกจากความเป็นตัวเอง แล้วแทนที่ด้วยภาพอุดมคติของใครสักคน เป็นคนที่สมบูรณ์แบบไร้ตำหนิ ซึ่งเป็นภาพหลอนที่ไม่อาจคว้าไขว่ไว้ได้ นั่นก็คือความสมบูรณ์แสนโศกของมิมะ
อีกหนึ่งสิ่งแสดงออกถึงประเด็นความสมบูรณ์และตัวตนในอุดมคตินี้ อาจพบได้จากการใช้สีของเรื่อง มิมะในร่างมิมารินปรากฏตัวครั้งแรกในชุดไอดอลสีชมพู และที่คาดผมสีฮอตพิงค์ สีที่มักถูกนำเสนอถึงความเยาว์ ความเป็นหญิง ความรัก ความบริสุทธิ์ แต่สีที่ในความเป็นจริงแล้วคือสิ่งโกหก มนุษย์ไม่สามารถเป็นเช่นนั้นตลอดเวลาได้ ในวันปกติมิมะใส่เสื้อผ้าทุกสีโดยเฉพาะสีน้ำเงิน เรื่องถูกเล่าผ่านการใช้สีไปถึงจุดไคลแม็กซ์ เมื่อหนึ่งในคนที่คลั่งไคล้ในมิมะที่สุดปรากฏตัวเป็นมิมารินในชุดไอดอลสีแดง ซึ่งสีแดงก็คือสีชมพูที่เข้มขึ้นจนแปลงเปลี่ยนไป ตัวตนของเธอในสายตาคนอื่นจึงไม่เคยมีเสียงที่แท้จริงของเธออยู่ในนั้นเลย
ปัญหาตัวตนของมิมะยังถูกเสริมขึ้นไปอีก ทั้งจากอาชีพใหม่ที่ยังเกี่ยวข้องกับการละทิ้งความเป็นตัวเอง จนกลายไปเป็นตัวละครของใครสักคน หรือการมีเว็บบอร์ดโดยสตอล์กเกอร์ที่ปลอมตัวเป็นเธอ ซึ่งบันทึกและเผยแพร่ชีวิตประจำวันของเธอในทุกๆ ย่างก้าวชีวิต มากเสียจนเธอเริ่มไม่มั่นใจว่านั่นคือเธอจริงๆ หรือไม่ และเมื่ออาชีพการแสดงของเธอเรียกร้องให้เธอเบนเส้นทางออกไปจากตัวตนของไอดอลสาวมิมาริน พฤติกรรมของสตอล์กเกอร์จึงยิ่งรุนแรงและล่วงเกินขึ้น ในนามของการคงไว้ซึ่งภาพอุดมคติที่ไม่เคยมีจริง
ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบริบทของปี 1997 ซึ่งเกิดขึ้นกับไอดอลสักคน แต่เหตุใด Perfect Blue ถึงใกล้ตัวเราขนาดนี้ ในโลกที่เรารู้เท่าทันอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กับชีวิตของเราซึ่งเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่นักแสดง หรือบุคคลสาธารณะ ทำไมเรื่องราวของมิมะจึงยังทำงานกับความกลัวของเราอย่างสุดขั้วหัวใจ? เพราะว่ามันถามถึงคำถามที่เรามักไม่กล้าเผชิญหน้าอยู่บ่อยครั้งนัก นั่นก็คือตัวตนของเรามาจากไหน
มองไปยังชีวิตของเราเอง ทำไมเราจึงเป็นอย่างที่เราเป็น? วิธีที่เราพูด เรื่องที่เราเชื่อ เพื่อนที่เราคบหา รสนิยม ความชอบ ค่านิยม ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นคือ ‘เรา’ หรือผลผลิตของสังคมที่เราอาศัยอยู่? เราเป็นแบบที่เราเป็นเพราะว่าเราอยาก หรือเพราะว่าโลกไม่อนุญาตให้เราเป็นแบบอื่น? หรือเพราะเพศ เพราะน้ำหนัก เพราะฐานะ เพราะนามสกุล ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจในคำถามดังกล่าวได้
และส่วนที่แย่ที่สุด คือเราอาจจะหรืออาจจะไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง การมีอยู่ของเราอาจจะไม่เป็นสุขทั้งหมด
อ้างอิงจาก