*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม
ช่วงนี้แทบทุกคนต้องอยู่ติดบ้าน แม้แต่จะทำงานยังไม่ต้องเข้าออฟฟิศ work from home กันจนวงจรชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลักมือ การออกไปไหนไม่ได้—ไกลสุดไม่เกินรั้วบ้านหรือห้องเล็กๆ ในคอนโด—ทำให้เรานึกถึงกิจกรรมที่เคยทำได้ในช่วงเวลาปกติ การได้ออกแรงทำอะไรสักอย่างจริงๆ การได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน นึกถึงความมีชีวิตชีวาของธรรมชาติ ทะเล แม่น้ำ ต้นไม้ใบหญ้า
เราคิดถึงโลกข้างนอกพื้นที่ของเรา
การอยากกลับไปหาธรรมชาติ และโหยหากิจกรรมที่ทำได้มากกว่าในพื้นที่จำกัดทำให้ Animal Crossing: New Horizon เกมเสมือนจริงที่ให้ผู้เล่นไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่คนเกือบทั้งประเทศ—ทั้งโลกเลยก็ได้—ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 มีคนจำนวนไม่น้อยหาซื้อเครื่องเล่นและตัวเกมจนทำให้สินค้าขาดตลาด ราคาพุ่งสูงไปถึงระดับที่เห็นแล้วท้อ ส่วนใครที่คนข้างกายได้เกมไปเล่นก็จะพบว่าเขาคนนั้นมีภาวะอดหลับอดนอน เอาตัวเองไปอยู่ในโลกของเกมแทบจะเรียบร้อยแล้ว
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะตัวเกมตอบสนองความต้องการคนในช่วงวิกฤตตรงที่มันให้เราได้หลบหนีไปจากความอึดอัดของการกักตัว เกมที่มีตัวละครน่าตาน่ารักนุ่มฟูเกมนี้เสนอตั๋วลี้ภัย (Deserted Island Getaway Package) ให้ผู้เล่นไปอยู่บนเกาะในฝัน อำนวยความสะดวกโดย Nook Inc. บริษัทสมมติที่บริหารงานโดยทานูกิ บนเกาะนี้ผู้เล่นเหมือนได้เริ่มชีวิตใหม่ มีกิจกรรมให้ทำมากมายทั้งปลูกผักทำสวน ตกปลา นอนอาบแดด สร้างพิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงพูดคุยกับสัตว์หลากชนิดที่กลายมาเป็นเพื่อนบ้าน (villagers) ของเรา
Animal Crossing: New Horizon เป็นเกมเสมือนจริงที่ให้เราได้เป็นเจ้าของเกาะ ทรัพยากร และสิ่งของ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของเกม เพราะเหนือไปว่าการตอบสนองความต้องการที่จะออกไปหาธรรมชาติและการทำกิจกรรมในภาวะปกติ ตัวเกมสะท้อนโลกความจริงบางด้าน และให้โอกาสผู้เล่นได้ตอบสนองอีกความต้องการหนึ่ง คือการที่เราจะได้เป็นผู้ชนะในโลกแห่งทุน เราได้ครอบครองและเป็นเจ้าของสิ่งที่บางครั้งในโลกแห่งความเป็นจริงแม้จะพยายามสักแค่ไหนก็ไม่เคยได้มันมา Animal Crossing: New Horizon จึงเป็นโลกที่เราไม่ได้ทุกข์ทรมานมากนักจากทุนนิยม
ระบบเศรษฐกิจ การค้าเสรี และการลงทุน
จริงอยู่ที่ Animal Crossing: New Horizon พาเราไปอาศัยอยู่บนเกาะที่เราจะได้ร่วมสร้างและตกแต่งให้เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผู้เล่นไม่จำเป็นต้องแลกอะไรเลยเพื่อไปถึงจุดนั้น แค่มาถึงเกาะเราก็เป็นหนี้ ทอม นุก (Tom Nook) ทานูกิเจ้าของบริษัท Nook Inc. ที่ถูกแฟนเกมมองว่าหน้าเลือด เรียกว่าเริ่มกันด้วยการใช้หนี้ก่อนเลย… ทุกอย่างที่เราหมายมั่นปั้นมือสร้างจึงต้องแลกมาด้วยแรงกาย ทรัพยากร และเงิน—เมื่อพูดถึงเงิน สิ่งที่ตามมาคือ ‘ระบบเศรษฐกิจ’
การแลกเปลี่ยนสินค้าในเกมอยู่ภายใต้สองสกุลที่แม้จะคล้ายกันมากแต่มีเป้าหมายต่างกัน สกุลแรกคือ เบลล์ (bell) เงินที่ได้จากทั้งการขายผลไม้ที่เก็บได้จากต้นไม้ในเกาะ ขายปลาที่ตกมาหรือแมลงที่จับมาได้ เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนขายของในโลกปกติของเรานี่แหละ ส่วนอีกสกุลคือ นุกไมล์ (nook mile) แต้มที่เราจะได้จากการทำภารกิจประจำวันซึ่งมีมาให้เราไม่ขาดสาย จะทำเท่าไหร่ก็ได้ ทั้งสองสกุลเอาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องได้ทั้งคู่ก็จริง แต่การได้มาของทั้งสองสกุลนั้นไปขับเคลื่อนสังคมในเกาะคนละส่วนกัน ตัวเงินเบลล์จะเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวละคนผู้เล่นเป็นหลัก การหาของมาขายเองแลกกับเงินเบลล์ของผู้เล่นนั้นไม่จำเป็นต้องยุ่งกับสังคมโดยรวมของเกาะเลย ต่างกับนุกไมล์ที่เราต้องไปทำภารกิจเพื่อให้ได้มา เช่น พูดคุยกับเพื่อนบ้าน ถอนหญ้าตัดต้นไม้ให้เกาะดูสะอาด บริจาคฟอสซิลให้พิพิธภัณฑ์
Animal Crossing: New Horizon คงไม่อยากให้ผู้เล่นหลับหูหลับตาหาเงินจนลืมไปว่า แม้แต่ในเกมเราก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต้มนุกไมล์จึงย้ำว่าเป้าหมายการพัฒนาเกาะให้สวยงามอาจไม่ใช่เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวละครของผู้เล่น แต่เป็นประโยชน์กับสังคมบนเกาะด้วย
ระบบเศรษฐกิจของ Animal Crossing: New Horizon ยังไปไกลกว่าแค่เศรษฐกิจในเกาะด้วยการมีระบบออนไลน์ให้ผู้เล่นได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นเกาะอื่นๆ เป็นเหมือนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ—ระหว่างเกาะ—ขนาดย่อม เพราะเมื่อเปิดเกมมาก็จะให้ผู้เล่นเลือกว่าอยากอยู่เกาะภูมิประเทศทางตอนเหนือหรือใต้ หลังจากนั้นเกมก็จะสุ่มให้อีกว่าผู้เล่นจะได้ผลไม้ประจำเกาะเป็นอะไร ความแตกต่างตรงนี้เองที่ผู้เล่นต่างเกาะใช้ค้าขายกัน ด้วยความที่ผลไม้ประจำเกาะเราจะขายได้ราคาสูงบนเกาะที่มีผลไม้คนละชนิดกับเรา นักเศรษฐศาสตร์ เดวิส ริคาร์โด (David Ricardo) เรียกมันว่า ‘ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ (comparative advantage) เป็นทฤษฎีที่สนับสนุนให้แต่ละประเทศเลือกผลิตและส่งออกสินค้าที่ตนเองใช้ต้นทุนต่ำกว่า—เราได้เปรียบเพราะผลิตสินค้านี้ได้ถูกกว่าคนอื่น—แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศอื่นผลิตได้ต้นทุนต่ำกว่าเรา เท่ากับได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ win-win ทั้งคู่
ตัวเกมให้อิสระในการค้ากับผู้เล่นทั่วโลก เป็นโลกการค้าเสรีที่ใครใคร่ค้าอะไรกับใครก็ค้าไป ระบบที่เกาะแต่ละคนมีทรัพยากรต่างกันคือตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างผู้เล่น เริ่มที่สลับกันเอาผลไม้ไปขาย ก่อนจะขยับไปเป็นสินค้าอื่นตามความต้องการ แล้วสังคมผู้เล่นจะหาราคาที่เหมาะสมให้กับสินค้าแต่ละชิ้นเองในท้ายที่สุด
อีกส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจถึงขนาดทำให้ตัวละครผู้เล่นเป็นเศรษฐีประจำเกาะได้คือการซื้อขาย ‘หุ้น’ ยิ่งสำหรับผู้เล่นใหม่ที่ไม่เคยเล่นเกมในซีรีส์ Animal Crossing คงจะแปลกใจว่าเกมที่ดูจะไม่ซับซ้อนกลับมีประเภทการลงทุนที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงหากไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีพอ และใกล้เคียงกับหุ้นในโลกความเป็นจริงได้อย่างไร Animal Crossing: New Horizon ลดความซับซ้อนและทำให้ดูน่าสนใจขึ้นด้วยการเปลี่ยนหุ้นเป็นการซื้อขาย ‘หัวไชเท้า’ (turnip) ที่หมูตัวน้อยชื่อ เดซี เม (Daisy Mae) มาเดินขายในทุกเช้าวันอาทิตย์ สิ่งที่ผู้เล่นต้องทำคือเอาหัวไชเท้าที่ซื้อมาไปขายในราคาที่แพงกว่าราคาซื้อระหว่างวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ไม่งั้นจะขาดทุน (ราคารับซื้อตัวเกมจะสุ่มมาให้ให้แต่ละวัน เพราะฉะนั้นมันคือการเสี่ยงดวง) ถ้าขายไม่ทันในหนึ่งสัปดาห์หัวไช้เท้าที่ซื้อมาก็จะเน่า—คือเราถังแตก หุ้นติดดอยนั่นเอง ดังนั้นการซื้อไว้เยอะๆ แล้วขายในราคาแพงจึงเป็นวิธีรวยเร็วที่สุดของเกม
เท่ากับกับเกมนี้มีระบบเศรษกิจในเกมเอื้อให้คนเล่นเป็นเศรษฐีได้อย่างง่ายดาย และหลากหลายทาง
ใครอยากเป็นเศรษฐี?
พอได้เล่นไปสักพักใหญ่ ผู้เล่นจะเห็นว่าการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และลงทุนที่รวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจของ Animal Crossing: New Horizon ถือเป็นระบบที่สำคัญที่สุดของเกม การหาเงินและเก็บสะสมสิ่งของผลักดันให้ผู้เล่นทำกิจกรรมต่างๆ ภายในเกม เป็นเหตุผลที่แฟนเกมส่วนใหญ่มองว่าเกมนี้คือ ‘เกมแห่งทุนนิยม’ ผู้เล่นมีภาพของเกาะในอุดมคติเป็นแรงจูงใจ พร้อมที่จะขุดดิน เก็บผลไม้ ตกปลา สร้างของไปขาย ทำภารกิจ และลงทุนเพื่อที่จะมีเงินไปสร้างบ้าน ได้เฟอร์นิเจอร์หรูหราไปตกแต่งเกาะ ยอมแลกแรงกายและเวลาเพื่อต่อเติมความฝัน
โชคดีที่ทุนนิยมในโลก Animal Crossing: New Horizon ไม่โหดร้ายเหมือนในโลกความเป็นจริง เพราะความพยายามและการลงทุนลงแรงของผู้เล่นมักได้ผลเสมอ ถึงตัวเกมจะไม่มีระบบที่ให้คนเล่นได้พัฒนาและผลิตสินค้าในจำนวนมากๆ แบบอุตสาหกรรม หรือ mass production (เกมทดแทนด้วยสูตรคราฟต์ของ DIY)—ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจแบบทุนยิม ถือว่าไปได้สุดเลยทีเดียวถ้ามีระบบแบบนั้น—แต่นายทุนอย่าง ทอม นุก เจ้าของบริษัท Nook Inc. ก็ไม่เคยเปลี่ยนราคาสินค้าที่จำเป็นกับการผลิตและการบริโภคของผู้เล่น หนี้สินไม่มีกำหนดจ่ายคืน ตัวเกมให้โอกาสผู้เล่นได้ลืมตาอ้าปาก จนสุดท้ายผู้เล่นคล้ายกับได้เป็นนายทุนเสียเอง ได้เป็นเจ้าของแทบทุกอย่าง แม้แต่บ้านของเพื่อนบ้านบนเกาะคนเล่นยังเลือกให้ย้ายได้โดยไม่ได้รับการปฏิเสธ
เกมเปลี่ยนภาพไปจากโลกความเป็นจริงที่ทุนนิยมถูกมองเป็นตัวร้าย แรงงานมักโดนเอาเปรียบโดยนายทุน ทำงานหนักแลกค่าจ้างต่ำเพื่อนำไปซื้อสิ้นค้าที่ก็ผลิตโดยนายทุนนั่นแหละ ถ้าตลาดต้องการสินค้านั้นมากราคาก็จะแพงขึ้น แต่รายได้คนทำงานอาจไม่เพิ่มขึ้นตาม ภาระหนี้และค่าใช้จ่ายสูงกลายเป็นอุปสรรคสร้างฐานะ และนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในที่สุด ยังดีที่ตัวเกมไม่มีภาวะวิกฤติให้ผู้เล่นต้องส่งจดหมายร้องขอความช่วยเหลือจากนายทุนทานูกิ ทอม นุก ปฏิบัติราวกับนายทุนเป็นผู้มีบุญคุณประจำเกาะ และปล่อยให้เขาเป็นรายใหญ่เก็บเกี่ยวทรัพยากรจากเกาะต่อไป
ใน Animal Crossing: New Horizon คนเล่นมีโอกาสได้เห็นจุดจบของการลงทุนลงแรง เกมมีหนทางและจุดหมายชัดเจน ถ้าพยายามมากพอ เราจะอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ และเกาะในอุดมคติจะเป็นของเราในไม่ช้า เกมจะยกย่องให้เราเป็นคนสำคัญของเกาะ เหมือนที่ตู้ซื้อของในเกมบอกกับเราทุกครั้งหลังจับจ่ายเสร็จว่า…
“Thank you for your patronage.”
[ขอบคุณในอุปการคุณของท่าน]