Being in the World, but not of the World
ต้าเหนิง—กัญญาวีร์ สองเมือง
สาวหมวยผมสีแดงเพลิงผู้มาพร้อมบุคลิกเวรี่สตรองในบทบาทของ ‘เจน’ นักเรียน ม.ปลายที่ไปเติบโตไกลถึงนิวยอร์ก ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 คือประตูบานแรกที่ทำให้เรารู้จักเธอ
‘เจน’ ตัวละครที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กับเรื่องราวที่เธอสร้างวีรกรรมแหวกเกือบทุกขนบที่ขวางหน้า เถียงผู้ใหญ่ เล่นยา หรือกระทั่งเอาไม้คทาฟาดหน้ารุ่นพี่
แต่ในความกร้าวกลับมีเรื่องรวดร้าวซ่อนอยู่เงียบๆ และส่งทอดผ่านแววตา และท่วงท่าการแสดงเทียบชั้นมืออาชีพของ ต้าเหนิง—กัญญาวีร์ สองเมือง นักแสดงวัยรุ่นเจ้าของร่างสูงโปร่งและตาชั้นเดียว ผู้กวาดรางวัลการประกวดทั้งจากเวทีนางแบบระดับประเทศอย่าง Thai Super Model 2013 และเวทีเฟ้นหานักแสดง ซึ่งเปลี่ยนชีวิตของเธอสิ้นเชิงอย่าง Hormones The Next Gen เมื่อปี 2014
เธอโดดเด่นในระดับที่ ย้ง—ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับแห่ง Hormones วัยว้าวุ่น ออกปากว่าแค่มองปราดเดียวก็รู้ว่าบท เจน ต้องเป็นของเธอเท่านั้น
“แสดงว่าคุณกับเจนต้องมีบางอย่างเชื่อมกันหรือเปล่า” เราแย็บถาม ก่อนเธอจะหัวเราะและปฏิเสธเต็มเสียง “ไม่เลย เรียกว่าสวนทางจะถูกกว่า” ต้าเหนิงบอกแบบนั้น ก่อนจะเสริมว่านอกจากบุคลิกแมนๆ แล้ว ตัวตนจริงของเธอแทบไม่มีส่วนซ้อนทับกับเจนหรือบทบาทหลังจากนั้นที่มักเข้าข่ายวัยรุ่นหัวดื้อหรือต้านโลกเลยสักนิด
“อาจเพราะเราเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างให้อิสระ” เธอบอก นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมชีวิตของเธอถึงไม่ได้มีเรื่องรวดร้าวให้กลายเป็นปมสักเท่าไหร่ เราโยนความสงสัยกลับไปอีกว่า การเติบโตขึ้นในครอบครัวเชื้อสายจีนไม่สร้างกรอบให้กับชีวิตของเธอสักนิดเชียวหรือ เธอส่ายหน้า ก่อนจะไล่เลียงให้เราฟังว่าคนที่ทั้งผลักทั้งดันให้เธอมาอยู่ตรงนี้ก็คือครอบครัว “ครอบครัวเราไม่ได้เป็นจีนตามภาพจำขนาดนั้น” เธอพูดเรื่อยๆ ก่อนย้อนถามเราว่าจีนในความหมายของเราน่ะเป็นแบบไหน? เราชะงักไปเสี้ยววินาทีกับคำถามดังกล่าว ก่อนต้าเหนิงจะเปล่งเสียงหัวเราะคล้ายเป็นนัยว่าอย่าเพิ่งรีบตัดสินอะไรจากภาพจำที่ใช้ส่งต่อกันมา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาว่าด้วยเรื่องราวในโลกที่มีเราทุกคนเป็นฟันเฟืองทำงานสอดประสานเพื่อสร้างแรงหมุน เป็นการหมุนโคจรรอบตัวมันเอง ไม่ใช่การหมุนรอบเธอ รอบฉัน หรือรอบใครเพียงบางคน
คุณคงถูกถามมาตลอดชีวิต แต่เราก็ยังอยากรู้ที่มาที่ไปของชื่อ ‘ต้าเหนิง’ อยู่ดี
ต้าเหนิงแปลว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ อากงเป็นคนตั้งให้ คือบ้านเราจะตั้งชื่อออกแนวจีนๆ กันหมด อย่างพี่ชายเราก็ชื่อต้าหนิน แล้วพอชื่อจีนแต่เข้าเรียนโรงเรียนไทยก็จะมีปัญหาเรื่องชื่อเรียกยากนิดหน่อย ตอนเด็กๆ ก็จะกร่อนชื่อตัวเองให้เหลือแค่เหนิง ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้เรียกง่ายขึ้น (หัวเราะ)
แสดงว่าคุณเติบโตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน
ใช่ แต่ไม่ได้จีนจ๋าตามขนบเหมือนในละครขนาดนั้น เป็นครอบครัวปกติธรรมดา ออกจะให้อิสระกับลูกมากด้วยซ้ำ แต่สมัยเด็กๆ ก็เคยแอบคิดว่าครอบครัวให้ความสำคัญกับพี่ชายมากกว่าหรือเปล่า คือเขาทำอะไรก็จะไม่ค่อยผิด (หัวเราะ) พอโตมาก็เข้าใจว่าครอบครัวไหนก็เห่อลูกชายคนแรกเป็นธรรมดา ยิ่งเราเป็นผู้หญิงด้วย ก็คงมีเรื่องให้เป็นห่วงเยอะ กฎเกณฑ์ก็เลยมากกว่า
ให้อิสระที่ว่านี่ขนาดไหน
คือครอบครัวเราเขาถือคติว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เขาเลยเปิดโอกาสให้เราลองนู่นลองนี่อยู่เรื่อยๆ อย่างตอนสมัครเข้าคัดเลือกนักแสดงซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ซีซั่น2 (Hormones The Next Gen) เราก็ตัดสินใจสมัครเพราะแม่โน้มน้าวว่าเราน่าจะทำได้ พูดได้เต็มปากว่าเรามายืนอยู่จุดนี้ได้ก็เพราะครอบครัวให้อิสระ
ก่อนหน้าจะเป็นนักแสดง คุณเข้าประกวดเวทีนางแบบอย่าง Thai Super Model 2013 มาก่อน อะไรทำให้คุณตัดสินใจก้าวจากรันเวย์สู่เส้นทางการแสดง
ถ้าถามว่าชอบการแสดงหรือการเดินแบบมากกว่ากัน เราว่าชอบเท่าๆ กัน คือสองศาสตร์นี้มันอาจจะดูคล้ายกันแต่ในเนื้อหามันไม่เหมือนกันเลย การแสดงคือการทำความเข้าใจมนุษย์แล้วถ่ายทอดออกมา ส่วนการถ่ายแบบก็ต้องทำความเข้าใจเหมือนกัน แต่เป็นความเข้าใจในตัวสาร ซึ่งคือเสื้อผ้า แล้วแสดงออกมาผ่านอินเนอร์การเดินหรือการโพส ส่วนถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกมาเป็นนักแสดง จริงๆ ก็ไม่ได้เลือกอย่างเสียอย่างขนาดนั้น คือตอนนี้เราก็ยังรับงานถ่ายแบบหรือเดินแบบอยู่ ยังสนุกกับทั้งสองอย่างพอๆ กัน
เหมือนว่าบุคลิกของคุณรับกับบท เจน ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ขนาดที่คนอินกันทั้งประเทศ ตัวจริงของคุณกับเจนมีส่วนซ้อนทับกันบ้างไหม
ส่วนใหญ่จะไม่ แต่ก็มีบางส่วนที่คล้าย อย่างเราเคยไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ มาก็จะได้รับทัศนคติแบบฝรั่งบางอย่างติดตัวมาพอสมควร พอกลับมาเรียนมัธยมปลายภาคภาษาอังกฤษที่ไทยก็อยู่ในวงล้อมของเพื่อนที่มีทัศนคติใกล้เคียงกันอีก ทีนี้มันเลยยิ่งสนับสนุนความเชื่อบางอย่างของเรา เช่น เรื่องการตรงเวลา ซึ่งที่สหรัฐฯ จะซีเรียสมาก ถ้าอาจารย์เข้าสอนไม่ตรงเวลานักเรียนมีสิทธิ์ลุกออกจากห้องได้ทันที แต่ที่ไทยถ้าทำแบบนั้นก็กลายเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ ทั้งที่เรื่องการตรงเวลามันควรเป็นระเบียบที่ทุกคนเคารพเหมือนๆ กัน หรือถ้ามีนักเรียนสักคนทวนกระแสขึ้นมาก็จะถูกมองว่าแปลกหรือผิด ทั้งที่จริงๆ ถ้าเราลองตั้งคำถามกับการกระทำนั้นดูอาจพบว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดก็ได้
ถ้าเปลี่ยนระบบให้การศึกษาไทยเป็นแบบอเมริกันจะเวิร์กไหม
มันไม่มีมาตรวัดหรอกว่าอะไรเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เราว่ามันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม บางอย่างเหมาะกับพื้นที่นี้แต่อาจจะไม่เหมาะกับพื้นที่นั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้มันจะมีบางอย่างที่เราสามารถหยิบยืมกันมาใช้ร่วมกันได้
เช่นอะไร
อย่างการตั้งคำถาม นักเรียนที่สหรัฐฯ สามารถยกมือถามได้เลยถ้าสงสัย ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรด้วยนะ คือการตั้งคำถามมันเป็นวัฒนธรรมของเขาไปแล้ว แต่พอตัดภาพมาที่นักเรียนไทย ถ้ายกมือถามก็จะมีอคติบางอย่างผุดขึ้นมาทันที เช่น จะขัดจังหวะครูหรือดูโง่หรือเปล่า
ทราบมาว่าคุณย้ายสาขาจากแฟชั่นดีไซน์ มาเรียนสาขาวิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งดูค่อนข้างแตกต่างกัน จุดเปลี่ยนคือตรงไหน
น่าจะอยู่ตรงที่พอเราเริ่มทำงานในวงการบันเทิง แล้วเริ่มไม่มีเวลานี่แหละ (หัวเราะ) คือเราสนใจแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก ตอนเลือกคณะเข้ามหาวิทยาลัยก็มุ่งมาสาขานี้เลย แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆ ถึงพบว่างานภาคปฏิบัติมันเยอะมาก และเรามีเวลาให้กับมันไม่พอแน่ๆ เลยกลับมานั่งคิดว่าเราสนใจอะไรนอกจากนี้ สุดท้ายก็มาจบที่วิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาในวิทยาลัยสหวิทยาการ ซึ่งเปิดโอกาสให้เราทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้คล่องตัวกว่า
ปรัชญาดึงดูดคุณยังไง เริ่มสนใจตั้งแต่ตอนไหน
เราชอบฟังเรื่องเล่า แล้ววิชาปรัชญาก็เป็นหนึ่งในวิชาที่ตอบโจทย์ อีกอย่างคือเราชอบวิชาสายสังคมศาสตร์มาก (ลากเสียง) เพราะมันช่วยเปิดมุมมองให้เราเห็นภาพกว้างของสังคม คือเราเหมือนเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยต่อเติมให้วงกลมวงหนึ่งเต็ม ถ้าเราเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ในวงกลมก็น่าจะทำให้เรารู้ว่าวงกลมมันจะหมุนไปในทิศทางไหน
มีมุมอื่นอีกไหมที่คนภายนอกอาจจะคิดไม่ถึง
จริงๆ ก็ไม่มี (หัวเราะ) คือเราเป็นเด็กธรรมดามากเลย อาจจะมีเข้าถึงยากหน่อยเพราะเป็นคนโลกส่วนตัวสูงมาก เราจะแบ่งพื้นที่ในชีวิตออกเป็นขั้นๆ แบบว่าคนที่รู้จักเราผ่านสื่อจะเห็นเราแค่ไหน คนสนิทจะเห็นเราแค่ไหน หรือครอบครัวจะเห็นเราแค่ไหน ซึ่งเอาจริงๆ มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เราไม่มีทางรู้จักคนๆ หนึ่งได้ครบทุกด้าน
ความโลกส่วนตัวสูงในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณกลายเป็นไอดอลสายฮิปสเตอร์อย่างที่หลายคนนิยามหรือเปล่า
เราไม่แน่ใจความหมายของคำว่าฮิปสเตอร์เท่าไหร่ (หัวเราะ) เราแค่เป็นตัวเองและไม่เคยมีปัญหากับการเป็นตัวเอง คือเราชัดเจนในความชอบของตัวเองมากๆ ในทุกๆ ด้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่านั่นเป็นลักษณะของฮิปสเตอร์หรือเปล่า
การเป็นคนที่มีความชัดเจนกับตัวเองมากๆ แล้วต้องมาทำงานอยู่ในสปอตไลต์สร้างปัญหาให้ชีวิตไหม
ก็มีบ้าง คือการทำงานอยู่ในสปอตไลต์มันทำให้เรากลายเป็นเป้าโจมตีง่ายมาก แถมเป็นเป้าที่ตอบโต้อะไรไม่ค่อยได้ด้วย อย่างเวลามีดราม่าเกี่ยวกับตัวเราขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต ข่าวมันจะกระจายไปไวมากๆ จนเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย แล้วธรรมชาติเราเป็นคนไม่ชอบอธิบายถ้ามันไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เช่น มีคนโพสต์ว่าเราทำอะไรไม่ดี แต่เราไม่ได้ทำ เราก็จะอธิบายว่าเราไม่ได้ทำ แต่ถ้าอธิบายแล้วยิ่งแย่เราก็จะเลือกเงียบดีกว่า เพราะบางคนเขามีชุดความเชื่อของเขาอยู่แล้ว คำอธิบายของเราไม่สามารถไปเปลี่ยนความจริงของเขาได้หรอก
คิดยังไงกับเหตุผลจำพวก ‘เพราะคุณเป็นคนของประชาชน’ ที่หลายคนใช้อ้างเพื่อวิจารณ์ชีวิตส่วนตัวของดารานักแสดง
สำหรับเรา เรารู้สึกว่าเรามาทำงานตรงนี้เราไม่ได้มาเพื่อโดนด่านะ (หัวเราะ) สิ่งที่เกิดกับเราอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ครอบครัวเราเขาก็มีแอบซีเรียสหรือน้อยใจบ้าง แต่เขาก็เข้าใจว่าเราทำงานอยู่ในที่แจ้ง ซึ่งไม่สามารถควบคุมความคิดของคนได้ อะไรจำเป็นต้องปล่อยก็ต้องปล่อย
ทั้งบทบาทในซีรีส์และชีวิตจริงของคุณต่างถูกทำร้ายด้วยถ้อยคำบนโลกอินเทอร์เน็ต (cyberbullying) อย่างรุนแรงมาตลอด คิดว่าเรามีทางทำให้ปัญหามันดีขี้นกว่านี้ได้ยังไงบ้างไหม
เราว่าปัญหามันแก้ได้ แต่เราไม่เลือกที่จะแก้มากกว่า อย่างการมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันก็เป็นเครื่องมือที่ถ้าเราบังคับใช้มันจริงๆ ก็อาจจะลดปัญหา cyberbullying ลงได้ แต่ในเชิงปฏิบัติเราก็ไม่สามารถไล่ลบข้อความเป็นพันๆ ได้หมดอยู่ดี จนบางทีก็แอบคิดว่าหรือวิธีแก้ปัญหาที่เวิร์กอาจเป็นการทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปเลยดีกว่า
แล้วแบบนี้เส้นแบ่งระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับการทำร้ายกันบนโลกอินเตอร์เน็ต (cyberbullying) มันอยู่ตรงไหน
เราว่าการวิจารณ์มันต้องอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงและต้องสุภาพ ถ้าเราผิดในประเด็นนี้ก็วิจารณ์เราเฉพาะในประเด็นนี้อย่างสุภาพ เอาความจริงมาพูดกันตามเนื้อผ้า อย่าลากโยงเรื่องอื่นมาผสม เช่น เราเล่นละครไม่ดีตีบทไม่แตก ก็วิจารณ์เป็นส่วนๆ ไป ไม่ควรมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์
คนรุ่นคุณเป็นช่วงปลายของเจนวายที่เติบโตมากับเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคุณอย่างไร
เอฟเฟกต์มาก (ลากเสียง) สังคมรอบตัวเราพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย คือมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตอนเราเด็กโลกมันไม่ใช่แบบนี้อย่างสิ้นเชิง อย่างเรามีมือถือเครื่องแรกตอนอายุ 15 แต่พอมาวันนี้เด็กประถมใช้เฟซบุ๊กเป็นกันหมดแล้ว พอสังคมมันโตเร็วแบบก้าวกระโดด สุดท้ายมันเลยส่งผลให้รากฐานไม่แข็งแรง
อย่างสมัยก่อนการจะพูดหรือแชร์อะไรสักอย่างมันต้องทำผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ มีกระบวนการไตร่ตรองหลายชั้น แต่สมัยนี้คุณอยากแชร์อะไรแค่คลิกเดียวสารก็กระจายไปทั่วโลกแล้ว มันทำให้คนเราไม่ได้กลับมาหาความจริงที่จุดกำเนิด ไม่ได้กลับมามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มันคืออะไรกันแน่
เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลง แล้วเบื่อการเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า
ค่อนข้าง (หัวเราะ) ด้วยความที่เราเป็นคนขี้รำคาญด้วยแหละ พอเจอความวุ่นวายเราก็คิดแต่ว่าไม่อยากเข้าไปยุ่ง ใช้วิธีถอยกลับมาจัดการความคิดของตัวเราเองดีกว่า
คิดว่าโลกในยุคของตัวคุณเองในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน
เราเป็นคนใช้ชีวิตวันต่อวันมากๆ คือพยายามจะไม่วางแผนอะไรไกล กลัวว่าถ้าเราคาดหวังอะไรมากเราจะพะว้าพะวังกับสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา อีกอย่างโลกในอนาคตเป็นเรื่องที่คาดเดาแทบไม่ได้เลยสำหรับเรา เพราะทุกอย่างรอบตัวมันหมุนและเปลี่ยนเร็วมาก
ความท้าทายในชีวิตของต้าเหนิงในวัย 20 ปีคืออะไร
ถ้าเราไม่ได้เข้ามาทำงานในวงการบันเทิงตอนนี้เราคงสอบชิงทุนแล้วก็ไปใช้ชีวิตนักศึกษาที่เมืองนอก แต่พอเข้ามาทำงานตรงนี้ความท้าทายก็จะอยู่ในงานใหม่ๆ ที่เราได้ลองทำ ยิ่งเราเป็นพวกไม่ค่อยตั้งความหวังกับชีวิตสักเท่าไหร่ เลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าวินาทีต่อไปอาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เป็นความท้าทายในตัวเองแบบนี้อยู่ตลอด (หัวเราะ)
ได้ข่าวว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงถ่ายทำรายการท่องเที่ยวอย่าง Hang Over Thailand 2016 Trip3 ปกติเป็นคนชอบท่องเที่ยวไหม คิดว่าการท่องเที่ยวจำเป็นต่อชีวิตในแง่ไหน
ส่วนตัวเราเป็นคนชอบท่องเที่ยวมาก แต่หลังๆ ก็เริ่มไม่ค่อยมีเวลาไปไหนเท่าไหร่ คือถ้าไปสักครั้งก็จะเลือกไปต่างประเทศเลย หนึ่งเราชอบอากาศเย็น สองคือบรรยากาศมีผลต่อการคิดและตกตะกอนของเรา เวลาคิดอะไรสักอย่างในเมืองไทยกับในต่างประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน ด้วยสภาพแวดล้อม อากาศ หรือสิ่งที่เราเห็นมันส่งผลต่อกระบวนการคิดทั้งหมด การท่องเที่ยวสำคัญกับเราในแง่นี้
แบบนี้เคยเจอ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ ประเภทที่กำลังตกเป็นเป้าการวิจารณ์บ้างไหม
เจอนะ แต่ส่วนตัวเราว่าการเห็นภาพหรือคลิปบนอินเทอร์เน็ตแล้วไปตัดสินแบบเหมารวมว่าพวกเขาแย่มันไม่ถูก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเบื้องหลังมันมีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่บ้าง นักท่องเที่ยวจีนบางคนเขามีประสบการณ์ชีวิตยังไง ผ่านอะไรมา อย่างถ้าเราไม่เคยกินปลาแซลมอนแล้วได้กิน เราก็ต้องตื่นเต้นหรืออยากกินมากๆ เป็นธรรมดา คือถ้ากลับกันเป็นเราไปเที่ยวบ้านเขา เราอาจจะเป็นฝ่ายที่ดูแปลกก็ได้ ถูกไหม
ถ้าคุณต้องเป็นฝ่ายรับมือกับนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเข้ามาสร้างความน่าปวดหัวในประเทศไทย คุณจะเลือกจัดการกับปัญหานี้ยังไง
เราว่าต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเขาก่อนเลย คือการจะอยู่ร่วมกับใครในสังคมเราต้องยอมรับและทำความเข้าใจในความแตกต่าง เพราะเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้อยู่แล้ว ถ้านับเป็นประเทศ ประเทศเราก็ไม่สามารถยืนอยู่ประเทศเดียวได้ในทุกๆ ด้าน พอเข้าใจแล้วถึงค่อยกลับมาคิดหาทางว่าจะรับมือยังไงต่อ
เทศกาลแบบจีนๆ ที่ต้าเหนิงรักที่สุดคืออะไร
ตรุษจีนค่ะ เพราะเป็นวันหยุด ได้อั่งเปา แล้วก็ได้ใช้เวลาอยู่กับที่บ้าน เป็นเทศกาลที่วนมาทีไรก็มีความสุข
ติดตามความเคลื่อนไหวของต้าเหนิงได้ที่
Ig : thanaerngnin
จากคอลัมน์ Face ใน giraffe magazine issue 44 : Power of China