คำเตือน : บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
ถ้าการเติบโตไม่ใช่เรื่องสวยงามและเป็นความเจ็บปวดของการใช้ชีวิต เด็กสาวอายุราวสิบปลายๆ ถึงยี่สิบต้นๆ ที่ผันตัวมาเป็นกลุ่มไอดอลชื่อ BNK48 คงเป็นเด็กส่วนน้อยในสังคมที่น่าจะเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดจากความพยายามที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองเพื่อความฝัน การเป็นที่รัก และแบกรับความคาดหวังทั้งของตัวเองและคนอื่นไว้ทั้งหมด
ช่วงเวลาของการก้าวกระโดดจากความเยาว์วัยสู่วัยผู้ใหญ่ที่ดูจะรวดเร็วกว่าเด็กทั่วไปของ BNK48 ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง BNK48 : Girls Don’t Cry ด้วยสายตาของ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
Girls Don’t Cry พาคนดูไปเห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ความฝันอันสวยงาม—การเป็นไอดอล การพยายามฝ่าฟันให้ถึงจุดหมาย การแข่งขันระหว่างกันในกลุ่ม การตั้งคำถามกับตัวเองของน้องๆ ไปจนถึงจุดที่ BNK48 กำลังจะเป็น เต๋อฉายภาพหนึ่งของการ coming of age ที่เรียกได้ว่าโหดร้ายอย่างถึงที่สุดที่เด็กวัยเดียวกันจะเจอได้
ทุกคนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง การเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ รูปแบบการก้าวจากวัยเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็พอจะคิดได้และแทบจะเป็นสากลไปแล้วคือ จากเด็กที่อยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่ตลอดสู่การเข้าโรงเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนจบปริญญา และมีการมีงานทำ แต่ Girls Don’t Cry ทำให้เห็นการพ้นวัยที่ต่างออกไป สิ่งที่น้องๆ BNK48 ทำคือการเลือกโดดลงไปในแคปซูลกาลเวลา-ถูกย่นระยะเวลาสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในระบบการคัดเลือกเซ็มบัตสึ (Senbatsu)
การคัดเลือกเซ็มบัตสึเป็นเหมือนพื้นที่จำลองของชีวิตการทำงานของผู้ใหญ่ในโลกความเป็นจริง เป็นโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การทำงานเพื่อหาเลี้ยง และการต่อสู้ที่มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ทุกๆ 3 เดือนก่อนมีซิงเกิลใหม่ สมาชิก BNK48 ทุกคนต้องฝ่าฟันเอาตัวรอดเพื่อที่จะถูกเลือกเป็นเซ็มบัตสึ คนที่ถูกเลือกจะได้เป็นทั้งคนร้อง เต้น แสดง MV อยู่บนหน้าปกซีดี ได้รับงานมากมายที่เกี่ยวข้องกับตัวซิงเกิล เรียกได้ว่าเซ็มบัตสึคือถ้วยรางวัลของการประสบความสำเร็จในฐานะสมาชิกไอดอล BNK48 เด็กทุกคนต่างใช้ความพยายามเพื่อแลกกับผลลัพท์ที่หวังจะได้ แต่ความพยามคือประตูไปสู่เซ็มบัตสึจริงๆ ไหม คำพูดที่บอกว่า “ความพยายามไม่เคยทำร้ายใครสักคนที่ตั้งใจ” อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป แต่เป็นระบบนี้ที่สะท้อนถึงโลกการทำงานของผู้ใหญ่ต่างหากรึเปล่าที่ทำร้ายเด็กๆ
ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิก BNK48 ตัวท็อปกับสมาชิก unders—คนที่น้อยครั้งจะมีชื่อ หรือไม่เคยมีชื่อติดอยู่ในเซ็มบัตสึเลย—เป็นสิ่งที่บอกได้อย่างชัดเจนว่า ผลลัพท์ของความพยายามที่ไม่ได้ถูกตอบแทนด้วยความสำเร็จเสมอไป เพราะความพยายามไม่ได้เป็นกลไกสำคัญกลไกเดียวของการไปถึงจุดหมาย ระดับความนิยมในโลกโซเชียล หน้าตา และคาแรคเตอร์ของแต่ละคนกลายเป็นมาตรวัดที่ดูจะสำคัญกว่าความมุ่งมั่นตั้งใจและการทุ่มเทแรงกาย น้องไอดอลบางคนพยายามสร้างตัวตนที่โดดเด่นขึ้นมา เป็นตัวตนที่แตกต่างจากเพื่อนคนอื่นใน BNK48 เพื่อสร้างยอดไลก์ มีทั้งดึงลักษณะเฉพาะที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาใช้ หรือเป็นอะไรอย่างที่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะเป็นมาก่อน ตั้งแต่การตัวน่ารักๆ ไปจนถึงเปลี่ยนเป็นคนดุดันสุดโต่ง
แต่ยังไงก็ตาม โลกความเป็นจริงมักโหดร้ายกับเราเสมอ ทุกการลงแรง ความพยายาม หน้าตา ความนิยม หรือแม้แต่คาแรคเตอร์ใหม่ก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กคนที่มีพร้อมทุกอย่างจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยิ่งนานวันการได้ใช้ชีวิตอยู่ใน BNK48 ยิ่งทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่า โลกนี้มีบางอย่างที่ต่อให้พวกเขาจะซ้อมหนักแค่ไหน ตั้งใจมากเพียงใด มันก็ไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จอยู่ดี บางคนติดเซ็มบัตสึมีกระแสเข้ามาพอดี บางทีก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมบริหาร เป็นความไม่แน่นอนที่ตัวเด็กกำหนดไม่ได้ ก็เหมือนๆ กับโลกของผู้ใหญ่ในวัยทำงาน คือเราเชื่อว่าความสามารถจะทำให้เราได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี แต่บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของโชคและโอกาสด้วย
เมื่อความสำเร็จกำหนดด้วยตัวเองไม่ได้ สุดท้ายทางออกที่ดูจะเป็นได้มากที่สุดคือการปรับตัวและทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แต่ละคนต่างมีวิธีดิ้นรนตัวเอง น้องๆ ทุกคนยังต้องใช้ชีวิตต่อไปในฐานะสมาชิกกลุ่มไอดอล
การดู Girls Don’t Cry ก็เหมือนเราได้นั่งไทม์แมชชีนไปดูการก้าวผ่านจากวัยเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่จากการฝ่าฟันเพื่อเป็นเซ็มบัตสึของน้องๆ BNK48 และได้นั่งลงพิจารณาความโหดร้ายของโลกความเป็นจริง ที่บางครั้งมันก็ไม่ได้ตอบแทนเราอย่างสมเหตุสมผลนัก แต่ก็นั่นแหละ นี่คือความจริง