ในช่วงเวลาเย็นวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน คนจำนวนมากไปรวมตัวกันที่งาน BNK48 The Debut งานเปิดตัวครั้งแรกในฐานะวงไอดอลแบบเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการออดิชั่นเด็กสาวกว่าหนึ่งพันห้าร้อยคนจนเหลือเพียง 29 คน และเข้าสู่ช่วงฝึกฝนของสมาชิกที่ได้รับคัดเลือก
แรกเริ่มเดิมทีเราก็คิดว่าคนดูในงานนี้อาจจะเป็นแฟนคลับของวงรุ่นพี่อย่าง AKB48 ที่ได้ส่งทีม 8 มาร่วมเป็นกำลังใจให้กับวงรุ่นน้องที่จะเปิดตัว แต่ความหวั่นใจนั้นก็หายไปเมื่อจำนวนของคนร่วมงานหลังจากสมาชิกวง AKB48 ลงจากเวทีไปแล้ว กลับมีคนเข้ามาสมทบมากขึ้นอีก
จนเวลาก้าวเข้าสู่ช่วง 18.30 น. หน้าจอก็ประกาศชื่อของสมาชิกวง ที่ขึ้นมาปรากฎตัวบนเวทีพร้อมกับเริ่มบรรเลงเพลงแรกของพวกเธอ… BNK48
BNK48 เป็นไทยในรูปแบบญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปช่วงกลางวันของวันเดียวกัน The MATTER ได้พูดคุยกับ คุณจิรัฐ บวรวัฒนะ หรือ คุณต้อม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด ถึงเรื่องของวง BNK48 รวมถึงที่มาที่ไปของการก้าวมาทำธุรกิจ ‘ไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น’ ได้
“BNK48 จะออกมาในลักษณะศิลปินไทยสไตล์ญี่ปุ่น” คุณต้อมแจ้งกับกลุ่มผู้ร่วมวงสนทนาในวันนั้นถึงการวางตัวของวง BNK48 ในไทย อย่างที่เราเคยได้อธิบายไปแล้วในบทความแนะนำเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับ BNK48ก่อนหน้านี้ ว่าตัววงในตระกูล AKB48 นั้นอยู่ในคอนเซ็ปต์ ‘ไอดอลที่คุณมาพบปะได้’
ซึ่งทาง BNK48 ก็จะยังคอนเซ็ปท์นี้อยู่เช่นเดิม และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับความนิยมของคนไทยมากขึ้น
คุณต้อมอธิบายว่า BNK48 จะทำการตลาดโดยมุ่งเน้นผ่านสื่อออนไลน์ อย่างเช่นการไลฟ์สดผ่านเว็บไซต์กับแฟนเพจเฟซบุ๊กตามลักษณะการใช้ชีวิตของคนไทยที่ดูทีวีกันน้อยลงและใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น การไลฟ์หรือการออกรายการต่างๆ ของทาง BNK48 ในไทย (อย่างน้อยก็ในช่วงแรก) จะมีตารางการไลฟ์ที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้เป็นการไลฟ์แบบพึ่งพาตัวเอง 100% เช่นวันหนึ่งจะเป็นไลฟ์เชิญคนดังในวงการบันเทิงไทยมาพูดคุยในฐานะรุ่นพี่ว่าพวกเขาต้องผ่านอะไรกันมาบ้างกว่าจะโด่งดังในจุดนี้
กระนั้นก็ใช่ว่าจะเทความเป็นไอดอลญี่ปุ่นทิ้งไปจนหมด เพราะตัวบริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัดเองก็มีหุ้นจากทาง AKS ต้นสังกัดของ AKB48 ในญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ 10% และอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในการเปิดตัว BNK48 แบบเต็มรูปแบบนี้ ยังมีการแบ่งสมาชิกเป็นสองกลุ่มย่อยง่ายๆ ก็คือ ‘เซ็นบัตสึ’ หรือสมาชิกที่ถูกเลือกตั้ง ที่จะเป็นทีมออกสื่อหลักๆ ทั้งในการแสดงหรือการถ่าย MV ต่างๆ หรือถ้าพูดว่าเป็นหน้าตาของวงก็ไม่ผิดหนัก กับ ‘เค็งคิวเซย์’ หรือเด็กฝึกหัดที่จะมาสลับคิวกันทำหน้าที่ร้องและเต้นแทนกลุ่มเซ็นบัตสึที่อาจจะติดภารกิจไม่สามารถขึ้นคอนเสิร์ตหรือแสดงบนเธียเตอร์ได้ เหมือนกับทางวงต้นฉบับ และในภายหลังจะมีการแบ่งสมาชิกออกเป็น ทีม B ทีม N และทีม K ด้วย
อีกส่วนที่อาจจะเป็นการวัดใจแฟนคลับระดับหนึ่งก็คือ ทีมงานอาจจะไม่อนุญาตให้ไอดอลในกลุ่ม BNK48 ทำตัวสนิทชิดเชื้อกับแฟนคลับเหมือนกับเซเล็บชาวไทยทั่วไป ปรับเรื่องกฎ กติกา มารยาท อย่างการห้ามทำตัวไม่เรียบร้อยไม่เหมาะสม รวมถึงจะขอสงวนการโดนเนื้อต้องตัวในลักษณะใกล้เคียงกับญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งตรงนี้คงต้องดูต่อไปว่าจะกระแสตอบรับจะเป็นอย่างไร
ยังใกล้ชิดคนดู ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง
ด้วยความที่ BNK48 ยังต้องซื่อตรงกับคอนเซ็ปท์ ‘ไอดอลที่คุณมาพบปะได้’ แต่ปัจจุบันทางวง BNK ยังไม่มีเวทีแสดงประจำหรือ Theater เหมือนกับวงต้นฉบับ การทำให้แฟนๆ รู้สึกว่าตัวสมาชิกของวงมีความใกล้ชิดกันจึงต้องใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลัก ซึ่งสมาชิกของวงรวมไปถึงทางต้นสังกัดก็รับรู้และตอบสนองกับแฟนๆ เป็นอย่างดี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือช่วงไลฟ์ออนไลน์ของวง BNK48 นั้นมีการแบ่งเป็นวันของกลุ่ม ‘ชราไลน์’ และ ‘กุมารไลน์’ ออกมา แม้ว่าทั้งสองคำอาจจะไม่ใช่คำแปลกใหม่นัก (แฟนคลับแฟนด้อมกลุ่มอื่นๆ ก็เคยใช้คำนี้กันมาก่อน) แต่การรับเอาคำพูดนี้มาใช้ก็ถือว่าต้นสังกัดติดตามกระแสของแฟนอยู่อย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว
ส่วนการพบพวกเธอในสื่อปกตินั้นเราเชื่อว่าในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้พบเจอกันบ้างแล้วทั้งทางรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุหลายๆ แห่ง และในอนาคตอันใกล้นี้พวกเธอจะมีรายการทีวี BNK48 Show ที่จะทำออกมาตามรอย AKB48 Show ที่จับเอาไอดอลในวงมาเล่นกิจกรรมต่างๆ และก็ยังออกเดินสายตามศูนย์การค้าหลายๆ แห่งในประเทศไทย รวมถึงมีการร่วมมือกับหลายๆ จังหวัดของประเทศญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอีกด้วย
อีกส่วนหนึ่งที่คุณต้อมบอกเราก็คือ นอกจากจะมีการไลฟ์สดผ่านสตูดิโอแล้ว ยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AR กับ VR เข้ามาใช้งานเพื่อให้แฟนคลับของ BNK48 สามารถติดตามสมาชิกของวงแต่ละคนในโลกเสมือนได้ด้วย ในขั้นต้นนี้ VR ของ BNK48 กำลังถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมงาน MAD Virtual Reality เรียกว่าไม่ว่าคุณจะหนีไปยังโลกฟากไหน คุณก็ยังคงได้พบเจอกับไอดอลกลุ่มนี้อยู่ดี
ระบบเลือกตั้งที่มาแน่ๆ แค่ไม่ใช่ปีนี้
ขออธิบายก่อนว่าระบบเซ็นบัตสึนี้ถือว่าเป็นระบบที่สำคัญสำหรับฝั่ง AKB48 เพราะเป็นการเลือกตั้งสมาชิก ‘เซ็นบัตสึ’ หรือกลุ่มที่จะได้ออกสื่อเยอะ และการเลือกตั้งจะมาจากโหวตลงคะแนนเสียงของแฟนๆ ที่มีตั๋วสำหรับลงคะแนนเสียงซึ่งก็มีแถมมากับ CD เพลงที่กำหนดของปีนั้นๆ
แน่นอนว่าแฟนคลับที่อยากเชียร์ไอดอลคนที่ตนชื่นชอบก็พร้อมใจจะเปิดโหมด ‘สายเปย์’ เหมาซิงเกิ้ลเพื่อเอาตั๋วลงคะแนนเสียง แต่เมื่อมองกลับมาในฝั่งบ้านที่ธุรกิจการขายแผ่น CD หรือ DVD ในไทย ณ ปัจจุบัน เงียบเหงาเบาบาง จนอาจจะคาดหวังได้ยากว่าตลาดในลักษณะเดียวกันจะเกิดขึ้นได้ กระนั้นคุณต้อมก็ยืนยันว่าจะยังคงมีระบบเลือกตั้งมาให้แน่นอน
ส่วนสมาชิกกลุ่มเซ็นบัตสึของ BKN48 ในปัจจุบันนี้ เป็นการคัดเลือกของทีมงานทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นเอาสมาชิกจากกลุ่ม ‘ชราไลน์’ กับกลุ่มที่มีความโดดเด่นสูงมาเป็นสมาชิกกันก่อน ส่วนนี้เราคาดการณ์ว่ากลุ่ม ‘ชราไลน์’ หรือกลุ่มสมาชิกวงที่อายุมากกว่า 20 จะเป็นแกนหลักที่ไม่คะเขินจนเกินไปเวลาออกหน้าสื่อต่างๆ ส่วนกลุ่มสมาชิกโดดเด่นที่เหลืออย่างเช่น ซัทจัง ที่มีอายุ 13 ปี หรือ เฌอปราง ที่โดดเด่นทั้งชื่อและรูปลักษณ์นั้น จะได้รับความสนใจจากสื่อที่ไม่คุ้นเคยระบบไอดอลสไตล์ญี่ปุ่นโดยอัตโนมัติ
เมื่อได้ยินระบบที่ค่อนข้างจะแปลกใหม่สำหรับชาวไทย หลายท่านก็สงสัยกันว่าทำไมเด็กสาวกลุ่มนี้ถึงยินยอมจะกระโดดมาอยู่ในระบบที่ยุ่งยากแบบนี้ ซึ่งคุณต้อมก็หยิบเอาคำพูดของน้องๆ มาบอกเราว่าที่ไอดอลกลุ่มนี้ทุ่มเทกันมากก็เพราะ “มันเป็นความฝันของเด็กผู้หญิง”
เขาว่า ‘คนไทย’ ไม่คุ้นเคยระบบไอดอลแบบนี้
ตัดภาพกลับไปยังช่วงค่ำ ในงานเปิดตัวของ BNK48 อย่างเป็นทางการ นอกจากแฟนคลับทั้งชายและหญิง ที่ได้มาร่วมฟังเพลงจาก BNK48 ซึ่งนำเอาเพลงดังของ AKB48 มาแปลเป็นภาษาไทย ทั้งเพลงเต้นสนุกๆ ที่ชวนคนดูเต้นกันรัวๆ Aitakatta อยากจะได้พบเธอ, Oogoe Diamond ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ และเพลงช้าๆ เต้นไม่เยอะแบบ 365 วัน กับเครื่องบินกระดาษ ก่อนจะตบท้ายด้วยเซอร์ไพรส์กับการประกาศให้ เฌอปราง รับตำแหน่งเป็นกัปตันของวง ร่วมกับการมาปรากฏตัวและมาร่วมแสดงของ อิซุตะ รินะ สมาชิกจากวง AKB48 ที่จะย้ายมาประจำ BNK48 ก็เรียกเสียงกรี๊ดจากคนดูได้อย่างต่อเนื่อง
มิหนำซ้ำเมื่อการแสดงจบและมีการจำหน่ายโปสเตอร์ของ อิซุตะ รินะ ที่มาในมาดสาวน้อยชุดมวยไทยก็ยังมีแฟนๆ สนใจกันเยอะ ทำให้เราหายสงสัยไปประการหนึ่ง ว่ามีกลุ่มคนไทยที่คุ้นเคยกับระบบรูปแบบนี้และพร้อมเปย์กับน้องๆ เหล่านี้แล้ว ส่วนคนทั่วไปที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับพวกเธอก็น่าจะติดตามไอดอลกลุ่มนี่ได้อย่างสบายใจ
อีกเรื่องที่เราเคยสงสัยก็คือ ทางประเทศญี่ปุ่นจะยอมปรับตัวให้เข้ากับระบบของวงการบันเทิงต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งคุณต้อมได้บอกกับทางเราไว้ว่า “ทิศทางของประเทศญี่ปุ่นพยายามจะเปิดตัวเองออกมามากขึ้น” ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากการที่กำลังจะมีการจัดโอลิมปิกในปี 2020 ฉะนั้นเราคงได้เห็นการร่วมมือของทาง AKB48 กับทาง BNK48 ด้วยแน่ๆ
และด้วยแผนการที่จะพ่วงวัฒนธรรมไทยไปในหลายๆ กิจกรรม อย่างใน BNK Show ก็อาจจะเอาการละเล่นที่คนไทยคุ้นเคย อย่างการ ‘โอน้อยออก’ หรือ ‘มอญซ่อนผ้า’ ไปร่วมเล่นด้วย เพื่อให้ทั้งคนทั่วไปในประเทศและคนนอกประเทศได้รู้จักวงเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ เหมือนกับที่พวกเขารู้จัก ‘กล้วยไม้ไทย’
ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ เราเชื่อว่าต่อให้เป็นคนทั่วไปก็อาจจะใช้เวลาอีกไม่นานนักที่พวกเขาจะเลือก ‘โอชิเมม’ เป็นของตัวเอง แต่ก็น่าลุ้นเหมือนกันว่าการที่คนไทยคุ้นเคยกับแนวคิดว่าความบันเทิงไม่ควรจะต้องจ่ายเงินมากมายนัก จะเป็นกำแพงให้กับทางวงเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ขนาดไหน