สำหรับเบื้องหน้า เราอาจรู้จัก จ๊อบซัง—ณัฐพล บวรวัฒนะ ในฐานะผู้จัดการ BNK48 วงไอดอลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสุดขีด แต่ในเบื้องหลัง เขาบอกเราว่า มักวางสถานะตัวเองเป็นพี่ชายคนหนึ่ง ที่คอยเฝ้ามองการเติบโตของเหล่าวัยรุ่นในวงอย่างใกล้ชิด
ในวันที่สารคดี BNK48 : Girls Don’t Cry ได้เข้าฉายแล้ว และกำลังกลายเป็นประเด็นพูดถึงในหลายแง่มุม ทั้งความรู้สึกของเมมเบอร์ที่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง การแข่งขัน ลำดับชั้น ความแตกต่างระหว่างคนที่ได้รับโอกาส กับคนที่โอกาสยังมาไม่ถึง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเท่านั้น แต่จ๊อบซังเองยอมรับว่า เขาก็เพิ่งเคยได้ยินความรู้สึกบางอย่างจากเมมเบอร์เป็นครั้งแรก
วันนี้เราจึงชวนจ๊อบซังมาคุยกันถึงสิ่งต่างๆ ที่เคยขึ้นในสารคดีเรื่องนี้ว่าเขารู้สึกอย่างไร แล้วข้างหลังน้ำตาของเหล่าวัยรุ่น มันมีเรื่องราวแบบไหนเกิดขึ้นกันบ้าง
(หมายเหตุ : การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศเซ็มบัตสึในงานจับมือวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม 2561 และบทสัมภาษณ์นี้อาจมีเนื้อหาบางอย่างเกี่ยวกับหนังสารคดีรวมอยู่ด้วย)
อะไรคือความรู้สึกแรกหลังจากพี่จ๊อบดูหนังเรื่องนี้จบ
พี่คิดว่าได้รับความแปลกใหม่ในการดูหนัง ธรรมดาพี่ไม่ค่อยดูหนัง แต่ครั้งนี้เราได้รับอะไรบางอย่างจากการดูหนังจบ ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง หรือความคิดของสมาชิกในวง บางเรื่องเราอาจจะรู้มาอยู่บ้าง แต่ไม่เคยได้ยินจากปากของน้องเขามาก่อน หนังมันสามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่พี่เองก็ไม่เคยเห็น
มีอะไรในหนังที่ไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง
มีหลายช่วงที่เกี่ยวกับความรู้สึกของคนที่ยังไม่ถูกเลือกเป็นเซ็มบัตสึ มันค่อนข้าง sensitive บางครั้งเรารู้นะว่าน้องเขารู้สึกยังไง แต่ครั้งนี้เราได้ยินจากปากเขาจริงๆ หรือจากประโยคที่ว่า ความพยายามไม่ทำร้ายใคร หนังเรื่องนี้มันสะท้อนอะไรหลายอย่างให้เห็นว่า นอกจากความพยายามแล้วมันมีอะไรอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการได้สิ่งๆ หนึ่งมา แง่คิดพวกนี้พี่เองไม่เคยได้ยินจากปากน้อง
ชื่อหนังก็บอกอยู่ในตัวว่าเกี่ยวกับการร้องไห้ ในฐานะที่พี่จ๊อบอยู่กับน้องมาตั้งแต่แรกเริ่ม อยากรู้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาร้องไห้กับเรื่องอะไรกันบ้าง
จริงๆ น้องก็ร้องไห้กันบ่อยนะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่เขาจะร้องไห้เพราะกดดัน หลายคนคาดหวังว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าจะสะท้อนเป็นบางอย่างที่เขาควรได้กลับมา ช่วงประกาศเซ็มบัตสึมันเป็นเรื่องที่บีบหัวใจตลอด พี่ก็เห็นทั้งคนที่ร้องไห้เพราะร้องไห้และเสียใจ
พี่เองก็ร้องไห้ บางครั้งเราก็กดดันแทนเด็ก หรือตอนประกาศเซ็มบัตสึ เราสงสารเด็กๆ จริงๆ เราย้อนกลับไปเห็นภาพแบบนั้นทีไรเราก็น้ำตาไหลทุกที มันสะเทือนอารมณ์
อารมณ์ตอนนั้นพี่ร้องไห้เพราะเสียดายผสมๆ ไปกับดีใจอย่างนั้นเหรอ
มันก็มีทั้งสองอย่างนะ บางครั้งเราก็สงสาร เราอยากให้บางคนได้รับคัดเลือกสักทีแต่มันก็ยังไม่ถึงเวลาของเขา หรือบางทีก็สงสารคนที่เคยได้เป็นเซ็มบัตสึแต่มาหลุดไปในตอนหลัง ขณะเดียวกันเราก็ดีใจไปกับคนที่ได้ตำแหน่งเซ็นเตอร์ หรือติดอยู่ในเซ็มบัตสึด้วย
เวลาประกาศผลคัดเลือกเซ็มบัตสึ เราก็มักเห็นภาพที่เมมเบอร์หลายคนที่ยังไม่ได้รับคัดเลือกไปด้วย
พี่ว่าเมมเบอร์รุ่นหนึ่งเข้าใจ หลังจากที่พี่ดูหนังเรื่องนี้จบ พี่เชื่อว่าพวกเขาเข้าใจอะไรบางอย่างแหละ เขาเข้าใจว่าเราเลือกเพราะอะไร แต่มันก็ไม่ใช่แค่นั้น บางครั้งมันอาจจะมีหลายเรื่องที่เข้ามาปนเปกัน ที่สำคัญคือพี่ก็ไม่ได้เลือกแค่คนเดียว ยังมีทั้งพี่ต้อมและอีกหลายคนด้วย
พี่จะพูดอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสว่า การคัดเลือกเซ็มบัตสึไม่ได้มีแค่พี่คนเดียวที่เลือก เพราะยังมี report จากบรรดาอาจารย์และคนอื่นๆ ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารเราก็ต้องตอบคำถามกับทางญี่ปุ่นให้ได้ด้วย
หลายๆ คนก็ยังคงสงสัยว่าทำไมเมมเบอร์บางคนยังไม่ถึงเวลาของเขาเสียที
พี่คิดว่าปัจจัยที่มันจะวัดได้ตัวนึงคืองานเลือกตั้งของ BNK48 ในเมืองไทย มันจะเป็นสิ่งที่วัดความนิยมได้จริงๆ และพี่ก็คิดว่าได้ภาพที่ชัดเจน งานจับมือได้ภาพส่วนนึง แต่มันอาจจะยังไม่ได้ภาพทั้งหมด การเลือกตั้งน่าจะเป็นตัวชี้วัดความนิยมได้จริงๆ เพราะอันนี้มันขึ้นกับฐานแฟนคลับพอสมควรเลย
พี่จ๊อบอธิบายกับคนที่ไม่ได้ตำแหน่งเซ็มบัตสึยังไงบ้าง
บอกว่าบางครั้งมันยังไม่ใช่เวลาของเขาด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพวกความนิยมของเขาจากแฟนคลับ งานจับมือ การแสดงของเขา การฝึกซ้อม รวมถึงบุคลิกของเขาที่มันอาจจะยังไม่ถึงเวลา
แปลว่าการคัดเลือกแต่ละครั้งก็มีปัจจัยมากมายเต็มไปหมด
ใช่ เพราะเราเองก็เปลี่ยนเกณฑ์อยู่ตลอดเวลา บางครั้ง เราอาจต้องการคนที่มีสตอรี่ค่อนข้างเยอะ หรือบางครั้งเราก็วัดจากฐานแฟนคลับจริงๆ เลย บางอัลบั้มเราวัดจากภาพรวม มันมีหลายองค์ประกอบมาเกี่ยวกัน แต่แน่นอนว่า เราเลือกเพราะว่าความนิยมจากแฟนคลับ แต่มันก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมมเบอร์เองด้วย เช่น ทัศนคติและพฤติกรรมที่เราไม่ได้ละเลย มันเป็นองค์รวมในการตัดสินใจของเรา
พูดอย่างนี้ได้ไหมว่า แค่พยายามอย่างเดียวอาจจะไม่พอที่จะได้รับตำแหน่งเป็นตัวจริง
ใช่ แต่ความพยายามไม่ได้ทำร้ายใครนะ (หัวเราะ) มันอาจจะยังไม่เพียงพอ บางครั้งมันอาจจะเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลหมด
พอมันเป็นช่วงเวลาของเขา อยู่ดีๆ ทุกอย่างเกี่ยวกับเขามันก็ลงตัวขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างตอนเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย ภาพลักษณ์ของโมบายล์เข้ามาลงตัวกับเพลงพอดี แล้วน้องก็เป็นคนที่มีทัศนคติและนิสัยที่น่ารักอยู่แล้วด้วย บวกกับรูปลักษณ์ที่เข้ากับคาแรคเตอร์เพลงพอดี
เหตุผลคล้ายๆ กันนี้ที่ทำให้เราเห็นเปี่ยมติดเซ็มบัตสึเพลงริเวอร์รึเปล่า
เปี่ยมติดริเวอร์ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องความพยายาม แต่เรายังตัดสินใจจากทัศนคติและมุมมองของเปี่ยม คาแรคเตอร์ของเปี่ยมก็เข้ากับเพลงได้พอดีด้วยนะ เปี่ยมเปลี่ยนไปในหลายๆ ส่วนด้วยเหมือนกัน
ในหนังก็เห็นน้องหลายคนพูดเรื่องการแข่งขันกันเองในวง ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่โหดพอสมควร
การแข่งขันเป็นสิ่งที่เมมเบอร์หลีกไม่พ้น มันเป็นกลไกอันนึงของ 48 Group ซึ่งในชีวิตคุณต้องเจอแบบนี้ แม้กระทั่งเราเองก็ตาม เราต้องมีการแข่งขันกับเพื่อนด้วยกันตลอด มันเป็นเรื่องปกติ เพียงแค่ว่าเราจะเจอในสถานการณ์ไหน มันเป็นกลไกแบบนึงที่ไม่ให้เด็กอยู่กับที่ ทำให้เขารู้ว่ามันจะมีคลื่นลูกใหม่มาตลอดนะ สิ่งพวกนี้มันมีอยู่แล้วล่ะ แต่เราทำให้มันเป็นระบบมากขึ้น
เวลาพูดเรื่องการแข่งขัน ตอนนี้มันก็มีช่องว่างระหว่างเมมเบอร์ที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ กับคนที่เป็นอันเดอร์พอสมควร พี่จ๊อบมองเรื่องนี้ยังไง
เมมเบอร์ที่ป๊อปเขาก็ป๊อปเพราะมีสาเหตุ อาจจะเพราะด้วยคาแรคเตอร์เขาด้วยรึเปล่า ประเด็นนึงที่พี่พูดกับเมมเบอร์ตลอดคือ เราไม่ใช่เจ้าของโลก แต่โลกมันหมุนด้วยตัวเอง โลกไม่ได้หมุนตามคุณ เพราะฉะนั้นคุณต้องพยายามปรับตัวเข้ากับโลกให้ได้
เกินกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ เห็นความเติบโตขึ้นของสมาชิกในรูปแบบไหนบ้าง
พี่เห็นเขาเข้าใจโลกมากขึ้น เมมเบอร์มีกระบวนการคิด มีการเติบโตจากจังหวะความผิดหวัง ความพยายาม ความคาดหวัง สิ่งที่เขาผ่านมานั้นมันช่วยเพิ่มศักยภาพ การออกสื่อ การให้สัมภาษณ์สื่อ มันทำให้เขาโตขึ้นโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว
อย่างทีมเด็กๆ ประจำรุ่นหนึ่งอย่าง ซัทจัง จ๋า เปี่ยม เราเห็นว่าพวกเขาโตขึ้นแค่ไหน
ปกติเราจะวางตัวเป็นพี่ชายคนนึง แต่พี่พยายามจะเปลี่ยนสเตตัสเป็นผู้จัดการวางให้มากขึ้นเวลาดูเขาโชว์ ดูการเขาตอบคำถามสื่อ วิธีการพูดของพวกเขาดูกลมขึ้น กระชับขึ้น พูดผ่านสื่อได้ดีขึ้น อย่างแก๊งเมมเบอร์ที่โตและเป็นผู้ใหญ่นั้นก็ไม่น่าห่วงแล้ว เขาออกงานบ่อย ภูมิคุ้มกันเยอะ พี่เชื่อว่ากลุ่มเด็กๆ ในวงก็ได้ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จากรุ่นพี่ในวงไปเยอะ
ภูมิคุ้มกันแบบนั้นมันเกิดจากอะไร
อันนี้มุมมองส่วนตัวพี่นะ ภูมิคุ้มกันมันเกิดขึ้นจากปัญหาและอุปสรรคที่เราเผชิญ พูดแบบทั่วๆ ไปนะ เมื่อเจอปัญหาแล้วเราหาทางแก้ไข มันก็แปลว่าเราไม่ได้อยู่กับที่ เราเดินขึ้นไปบนการพัฒนาของตัวเอง เมื่อเราผ่านอุปสรรคแล้วเราก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น
พูดกับเมมเบอร์ยังไงเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยที่ยังต้องค้ำยันตัวตนไม่ให้ฝืนความรู้สึกมากเกินไป
เวลาเรามีโฮมรูมที่คุยกัน เราบอกพวกเขาว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่ความน่ารักแบบคิขุ แต่มันคือคาแรคเตอร์ที่มีเสน่ห์ พี่ยังจำความคิดครั้งแรกได้ว่า การที่มีน้องๆ เยอะๆ มันหมายความว่า เรามีคาแรคเตอร์ที่ตอบโจทย์หลายคนด้วย ถ้าเมมเบอร์ 26 คน เราก็มีคาแรคเตอร์ 26 แบบที่จะเข้าถึงฐานแฟนคลับ และทำให้ภาพรวมของ BNK48 เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เรื่องนึงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคาแรคเตอร์แบบนึงมันไปรอด หลายคนก็อยากลองทำดูตามแบบนั้น
เขาพยายามจะเลียนแบบเพราะคิดว่ามันใช่ไง ยกตัวอย่าง ปูเป้ กับ แก้ว ในตอนแรกๆ ที่คิดว่าตัวเองควรจะปรับตัวเองเป็นคนน่ารักแบ๊วๆ เพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง และต้องทำตามคาแรคเตอร์ที่คิดว่ามันคือ stereotype ของ AKB48 หรือวงไอดอลญี่ปุ่น แต่เมื่อเขาเรียนรู้กับการไม่เป็นตัวเอง เขาก็เข้าใจได้ว่าแล้วเราจะหลอกตัวเองไปทำไม เขาอาจจะลองผิดลองถูก ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็จะหาตัวเองเจอ ถ้าเขาไม่ฟังคนอื่นเยอะเกินไป พูดลำบากเนอะ (หัวเราะ)
เมมเบอร์ควรถ่วงดุลความคิดยังไง ระหว่างสิ่งที่ตัวเราเป็นจริงๆ กับสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเป็น
พี่ชอบที่เมมเบอร์บางคนพูดในหนังว่า แฟนคลับเขาชอบเราเพราะเราเป็นตัวเรา ดังนั้น เราก็ควรนำเสียงจากภายนอกมาใช้ย้อนดูตัวเองว่าเรากำลังหลอกตัวเองรึเปล่า เปิดใจให้กว้าง แล้วทำใจให้เป็นกลางจากสิ่งที่มีคนพูดเข้ามา ถ้ามันเป็นเรื่องจริงเราก็ควรเก็บมาแก้ไข
ในชีวิตประจำวันเราก็มักจะรู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้จากเพื่อนที่ว่าเรา แต่การเป็นไอดอลเราจะมีคนจำนวนมากที่จับจ้องเราอยู่
น้องที่เป็นไอดอลใน BNK48 กำลังเหมือนกับถูกฉีดยาให้เร่งโตจากบรรยากาศที่อยู่รอบเขาโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว
แล้วพี่จ๊อบเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการเร่งโตนี้แค่ไหน
พี่เฝ้าดูจากผลที่เกิดขึ้น เพราะเข้าข้างใครไม่ได้ พี่ต้องวางตัวเป็นกลางมากที่สุด แต่ถ้ามีเรื่องที่น่ากังวลเราก็มีเตือนๆ ด้วยเหมือนกัน
ในเมื่อกระบวนการเร่งโตมันก็คงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แล้วอย่างนี้ปลายทางของการเร่งโตคืออะไร
ปลายทางมันไม่จำกัด มันมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ทั้งมุมมองและความคิดที่เปลี่ยนไป ทุกวันมันคือการเรียนรู้ คนเรามันไม่มีที่สิ้นสุดกับการพัฒนาตัวเอง
พยายามเพื่อไปสู่อะไร
พี่อยากให้ปลายทางของมันคือคุณมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และพี่ก็คิดว่ามันคือขึ้นอยู่กับความพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น
เท่าที่เฝ้าดูกระแสความนิยมที่พุ่งขึ้นเร็วมากๆ พี่จ๊อบคิดว่ามันส่งผลให้เมมเบอร์กดดันมากขึ้นไหม
เมื่อความป๊อปเยอะขึ้น ความคาดหวังก็มากขึ้น มันก็เป็นไปได้ที่พวกเขาจะกดดันจากหลายสิ่งหลายอย่าง มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเมื่อเรามาถึงจุดนี้แล้ว แต่เราก็พูดกับเมมเบอร์ตลอดว่า อย่าลืมตัวเอง
ตอนนี้มีรุ่นสองแล้ว พี่จ๊อบเห็นอะไรที่เหมือนกับรุ่นหนึ่งบ้าง
อย่างแรกเราเห็นหัวใจที่ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน มีความตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ พวกเขาตกใจกับความเปลี่ยนแปลง มีความสงสัยกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว แล้วเขาก็ได้การเตือนจากสิ่งที่รุ่นหนึ่งเคยเจอมาก่อน จะบอกว่าเป็นภูมิคุ้มกันก็ได้นะ เหมือนได้รับยามาตัวนึงแล้ว ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าแล้วพวกเขาแพ้ยา หรือดื้อยารึเปล่า ตัวพี่เองก็เตือนพวกเขาบ่อยๆ ว่าต้องเลือกรับเสียงวิจารณ์นะ
พี่เชื่อว่าเมื่อรุ่นสองได้ดูหนังเรื่องนี้ พวกเขาก็น่าจะได้ภูมิคุ้มกันขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง