ก็อตซิลล่า ‘ลบหนึ่ง’ หรือ Godzilla Minus One ที่เพิ่งเข้า Netflix หลังจากที่แฟนก็อซซิล่ารอคอยกันมาอย่างยาวนาน
สำหรับก็อตซิลล่าในภาคนี้ คำว่าลบหนึ่ง เป็นอีกคำสำคัญที่สามารถตีความได้หลากหลาย อย่างแรกน่าจะเป็นมิติด้านเวลาที่ภาคนี้เล่าในห้วงเวลาก่อนก็อตซิลล่าตัวแรกในปี 1954 การถอยกลับไปจากศูนย์ยังอาจตีความจากช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นอยู่ในสภาพที่เรียกว่า 0 คืออยู่ในจุดจบที่ย่ำแย่ที่สุดหลังจากถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์และพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง การปรากฏตัวขึ้นของก็อตซิลล่าจึงเป็นการพาญี่ปุ่นให้ย่อยยับลงไปจากศูนย์สู่สภาวะการต่อสู้ดิ้นรนที่เลวร้ายลงไปในระดับติดลบ
การกลับไปสู่จุดสิ้นสุดและจุดต่ำสุดของญี่ปุ่นในจุดสิ้นสุดสงครามยังอาจมีนัยที่ซับซ้อนขึ้นไปกว่านั้น ในระดับเรื่อง ตัวเรื่องเล่าถึงตัวละครที่เผชิญการล่มสลายจากสงคราม นอกจากบ้านเมืองที่ราบเป็นหน้ากลองแล้ว ตัวละครส่วนใหญ่ล้วนแบกรับบาดแผลจากสงครามเผชิญมาโดยเฉพาะชิกิชิมะ นักบินคามิคาเซะที่ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจและกลับมาพร้อมกับปมอันสำคัญที่จะต้องคลี่คลายแทบทั้งเรื่อง แกนสำคัญของก็อซซิล่าในภาคนี้จึงค่อนข้างพูดถึงผลพวงของสงครามในหลายระดับ ทั้งในระดับของความทรงจำในตัวผู้คน และสัมพันธ์ไปถึงจัดการบาดแผลจากประวัติศาสตร์สงครามของชาติ
การเล่าย้อนกลับไปสู่ภาวะหลังสงคราม และการพูดถึงความยากลำบากในการรับมือกับบาดแผลและความทรงจำของสงคราม ถ้าเรามองจุดกำเนิดของก็อตซิลล่าที่ตัวมันเองอาจเป็นเหมือนหนึ่งในแฟรนไชส์หนึ่งสัตว์ประหลาด การกลับมาของธรรมชาติ อำนาจดึกดำบรรพ์ที่มาท้าทายความรู้และเทคโนโลยีของมนุษย์สมัยใหม่
ทว่า นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของก็อตซิลล่า ตัวมันเองสัมพันธ์กับบริบทประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ความกังวลต่อภัยนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น การกลับไปสู่ปี 1945 ปีที่ระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ญี่ปุ่น และก็อซซิล่าทั้งหมดที่ล้วนตื่นขึ้นหรือเกิดขึ้นจากรังสี จึงอาจอ่านการติดลบในฐานะจุดเรื่มต้น และการกลับไปขุดคุ้ยผลของสงครามอย่างซับซ้อนอีกครั้ง
โกจิระกับบรรยากาศมาคุของสงครามนิวเคลียร์
ก็อตซิลล่ากับนิวเคลียร์แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน ในระดับเรื่องก็อตซิลล่าเกิดขึ้นจากการที่พวกมันหลับใหลอยู่ในมหาสมุทรและตื่นขึ้นจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ การได้รับรังสี หรือการระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซซากิโดยตรง ในภาพรวมก็อซซิลาเองก็ถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ของระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเผชิญ การทำลายล้างและความสูญเสียจากรังสี
ในการบรรยายเรื่องก็อตซิลล่ากับป๊อบคัลเจอร์ที่มหาวิทยาลัย UCLA ศาสตราจารย์วิลเลียม ทซึซุย (William Tsutsui) จากมหาวิทยาลัยเคนสัส นิยามว่า ก็อตซิลล่าเกิดจากผลพวงของสงครามเย็นและความกังวลเรื่องนิวเคลียร์ที่ล่องลอยความทรงจำ รวมถึงความรู้สึกไม่มั่นคงในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังตั้งหลักใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นช่วงปี 1945-1952 ญี่ปุ่นภายใต้การกำกับของอเมริกาหลังแพ้สงคราม แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะค่อยๆ ก้าวกระโดดขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็ถูกเซนเซอร์ไม่ให้พูดเรื่องนิวเคลียร์ อีกทั้งภาวะอดอยากเป็นปัญหาสำคัญของผู้คนในช่วงปีแรกๆ หลังแพ้สงคราม
ปี 1956 ปีเดียวกันกับก็อซซิล่าภาคแรกออกฉาย หกเดือนก่อนที่ก็อตซิลล่าจะปรากฏตัว ญี่ปุ่นเจอกับฝันร้ายของนิวเคลียร์และผลกระทบของสงคราม (จากสหรัฐ) อีกครั้งคือกรณีเรือประมงของญี่ปุ่นถูกแรงระเบิดจากการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่บริเวณหมู่เกาะ Bikini Atoll แรงระเบิดในครั้งนั้นทำให้ลูกเรือสัมผัสกับรังสี ค่อยๆ ป่วยและเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในเวลาต่อมา ทั้งปลาทูน่าปนเปื้อนบางส่วนหลุดเข้าสู่ตลาดและการบริโภคของชาวญี่ปุ่น เหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจอย่างมากและถูกเรียกว่าเป็นการถูกระเบิดครั้งล่าสุดของญี่ปุ่น และแน่นอนว่าความทรงจำเลวร้ายที่ฮิโรชิม่าและนางาซากินั้นผ่านไปยังถึงสิบปี
ความตึงเครียดในช่วงหลังสงคราม ความไม่แน่นอนทางการเมือง การถูกควบคุมปกครอง ภัยจากนิวเคลียร์ สงครามและการทหารคร้ังแล้วครั้งเล่า บรรยากาศมาคุของชาติที่แสนอ่อนแอนี้เอง เป็นบรรยากาศที่ก็อซซิล่าถูกสร้างและถ่ายทำขึ้น
หลายงานเขียนนิยามว่าญี่ปุ่นมีมุมมองต่อประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น ก็อตซิลล่าเองจึงเป็นอีกหนึ่งอสูรกายที่เป็นภาพอุปมาอันชัดเจนของความรู้สึกของผู้คน เป็นตัวแทนของศัตรู ความน่าหวาดหวั่นใจ เหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เป็นความกังวลและบาดแผลสงครามที่อาจถูกปิดบังหลบซ่อนไว้ซึ่งกลับมาในรูปแบบของสัตว์ประหลาดที่ก้าวขึ้นมาจากทะเล
กลับไปสู่ปากแผล การฟื้นฟูหลังสงคราม
ตัวก็อตซิลล่าเองก็มีวิวัฒนาการที่น่าสนใจ ในยุคแรกมันอาจจะเป็นตัวแทนของพลังนิวเคลียร์ ในยุคต่อๆ มา ชาวญี่ปุ่นดูจะรักมันมากขึ้น เชื่องมากขึ้นและกลายเป็นตัวแทนมอสเตอร์ประจำชาติไปสู้รบกับสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆ
สิ่งที่น่าสนใจในการกลับมาของก็อตซิลล่าคือจังหวะการฉายที่ไล่เลี่ยกันกับหนังสำคัญว่าด้วยนิวเคลียร์อีกเรื่องคือ Oppenheimer หนังที่ในบางความเห็นวิจารณ์ว่าเล่าผ่านสายตาของผู้กระทำ ในแง่นี้ Godzilla Minus One จึงดูจะเป็นการกลับไปสู่อดีต ในห้วงเวลาที่แทบจะต่อเนื่องกันแต่เป็นการวางเรื่องเล่าในจุดยืนของผู้พ่ายแพ้สงคราม
ตรงนี้เองที่บทบาทของก็อตซิลล่าจึงค่อนข้างน่าสนใจ แน่นอนว่าก็อตซิลล่าในภาคไมนัสวันทำหน้าที่เป็นเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ภาพรวมของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความยากแค้น ก็อตซิลล่าในแง่หนึ่งจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบาดแผลของสงครามที่ญี่ปุ่นเผชิญ
ซึ่งบาดแผลหรือ trauma รวมไปถึงอาการ PTSD เป็นปมใหญ่ของเรื่อง ตลอดเรื่องชิกิชิมะ ผู้ซึ่งควรจะตายแต่ดันมีชีวิตกลับมาได้ จมอยู่กับบาดแผลและความปรารถนาจะแก้ไข กระทั่งความปรารถนาที่จะตายเป็นปมสำคัญที่ปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง
อาการ PTSD ของชิกิชิมะหลายครั้งเริ่มพูดถึงก็อซซิล่าแง่มุมของอุปมา เราเริ่มสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วงแรกๆ ก็อตซิลล่าไม่ถูกพูดถึงเลย บางครั้งเราเริ่มสงสัยว่าภาพก็อตซิลล่าเป็นภาพจริง หรือเป็นจินตนาการ ในทางกลับกันชิกิชิมะก็ตั้งคำถามกระทั่งการมีลมหายใจอยู่ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่จริงไหม
ในแง่นี้จึงอาจมองว่าก็อตซิลล่าเป็นตัวแทนของบาดแผลจากความรุนแรงในสงครามที่ชิกิชิมะ รวมไปถึงตัวละครทั้งหมดซึ่งอาจตีความถึงชาติญี่ปุ่นที่จะต้องลุกขึ้นมาเอาชนะบาดแผลจากสงครามนั้น ซึ่งปมในการกำจัดก็อตซิลล่าก็เป็นปมเดียวกันที่ชิกิชิมะต้องกลับไปแก้ไขและคลี่คลายความผิดพลาดของตัวเอง
สุดท้ายการกลับมาของก็อตซิลล่าในภาพของญี่ปุ่นยุคที่เป็นศูนย์ นอกจากความสนุกตื่นเต้น ไปจนถึงการปลุกความกลัวในความเล็กกระจ้อยร่อยของมนุษยชาติแล้ว ในมิติเรื่องสงครามเป็นอีกการนำเสนอภาพที่น่าสนใจ ทั้งการให้ภาพความเป็นอยู่ในเศษซากอันเป็นผลพวงของสงคราม การสร้างก็อตซิลล่าในฐานะตัวแทนของสงครามที่คราวนี้ญี่ปุ่น ในความร่วมแรงร่วมใจสามารถเอาชนะสงครามและบาดแผลจากสงครามนั้นได้ ไปถึงการให้ภาพความสัมพันธ์ การสร้างครอบครัวและบ้านเรือนขึ้นใหม่ในนามของการสร้างชาติในยุคหลังสงครามของญี่ปุ่นเอง
อ้างอิงจาก