“มีเลือดเปรอะทุกที่ในธรรมศาสตร์”
ผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บอีกไม่น้อยที่ถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตีอย่าสาหัส หรือถูกทำให้พิการอย่างถาวร สถานศึกษากลายเป็นพื้นที่อนุญาตให้ยิงอย่างเสรี หลังสิ้นกลิ่นฉุนควันปืน ไม่มีผู้ก่อการที่ลั่นไกคนใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยมักข้ามเหตุการณ์นี้ไปราวสุญญากาศ
แต่ความเจ็บปวดไม่เคยจางหายไปเลย มันคือ Posttraumatic stress disorder (PTSD) ของสังคมไทยที่ไม่มีทางลบเลือน ไม่ว่าคุณจะปกปิด บิดเบือนอย่างไรก็ตาม และ ‘การทำให้ลืม’ ก็ไม่สามารถเยียวยาบาดแผลได้ การที่สังคมเลือกหลีกเลี่ยงที่จะหยิบยกมาพูดอย่างเปิดเผย เพราะเพียงหวาดกลัวความแตกแยก หรือไปกระทบความรู้สึกเก่าๆ คงไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดนัก และไม่ทำให้เราก้าวพ้นบาดแผลได้เสียที
วิทยาศาสตร์ไม่เคยแก้ปัญหาด้วยการลืม
ทำความรู้จักแผลเก่า
แม้คุณคิดว่า อาการสะเทือนใจที่พัฒนากลายเป็นบาดแผลฝังลึก หรือ PTSD จะไม่ได้เกิดกับคุณได้ง่ายๆ อันนี้ก็คิดผิดถนัด! เพราะมีผู้คนพบประสบการณ์เลวร้ายอยู่รอบตัวไปหมด พวกเขาสามารถพัฒนาเป็นอาการทางจิตเรื้อรังอย่างน้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีผู้ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรืออ้างอิงจากเหตุรุนแรงแบบกราดยิงฝูงชน (Mass shooting) ผู้ที่รอดชีวิตมักมีอาการรกระวนกระวายอย่างเฉียบพลัน (Agitation) ไวต่อสิ่งเร้า (Irritability) เห็นภาพอันทารุณซ้ำไปซ้ำมาเหมือนมีคนมากดปุ่ม Playback กลายเป็นภาวะสะสมของอาการหลับยากเรื้อรัง
จริงๆ เหตุการณ์รุนแรงเกิดกับเราทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นทางการเมืองหรือสงครามเท่านั้น แต่การสูญเสียคนสำคัญจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน หรือคุณเป็นคนเดียวที่รอดตายอย่างหวุดหวิด อาจกล่าวได้ว่า หากมีคน 15 คนเดินเรียงหน้ากระดานเข้ามา ต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่แฝงอาการ PTSD อยู่ด้วย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
สมองมนุษย์ไม่ได้เป็นบ้านที่ดีนักสำหรับความเครียด มีรายงานว่าหากคุณเผชิญหน้าความสะเทือนใจตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของชีวิต คุณมีโอกาสพัฒนาเป็นอาการ PTSD ในปีต่อๆ ไปได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งอิทธิพลของยีน ก็เป็นตัวกำหนดว่าคุณรับมือความเครียดได้ดีแค่ไหน การแสดงของยีน (Gene Expression) สามารถคาดคะเนได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
ความหวาดกลัวเคาะประตูจิตใจเราในหลายๆ ฟอร์ม และร่างกายทำปฏิกิริยาทันทีทันใด ฮอร์โมนเครียดเพิ่มสูงขึ้น อะดรีนาลีนพล่านไปทั่วตัว เลือดหยุดหล่อเลี้ยงส่วนที่ไม่จำเป็นที่คุณต้องใช้ (ส่วนใหญ่คือ สมองส่วนที่ใช้เหตุผลอย่าง Prefrontal cortex) และคอร์ติซอลที่แล่นผสมกับเลือดทำให้ทางเลือกคุณมีไม่มากระหว่าง ‘สู้หรือถอยหนี’ (Fight or Flight)
ระบบภูมิคุ้มกันพยายามปกป้องสมองจากการอักเสบและความเจ็บปวด แม้กระทั้งเซลล์สมองเองก็พยายามทำหน้าที่นั้น แต่ปัจจัยภายในยังไม่ใช่กลไกทั้งหมด แม้วิทยาศาสตร์พยายามหาอิทธิพลของความทรงจำที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์อันเลวร้าย ที่อาจถึงขั้นใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการบิดเบือน หรือปรับเปลี่ยนความทรงจำ
PKMzeta จึงเป็นโมเลกุลโปรตีนที่ถูกพูดถึงกันสักระยะในความสามารถเพิ่มปริมาณเซ็นเซอร์ AMPA receptor ที่อยู่นอกเซลล์ประสาท เสมือนประตูที่เมื่อเปิดตอนรับแล้ว มันสามารถไปเชื่อมโยงกับเซลล์อื่นๆได้ ซึ่งอาจเหนี่ยวนำความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) แม้มันจะดูคืบหน้าดีในหนูทดลอง ทำให้มันเลิกติดน้ำตาลไปสักระยะ แต่ในมนุษย์นั้นโดยเฉพาะความทรงจำอันเจ็บปวดยังถูกตั้งคำถามทางศีลธรรมถึงการปรับเปลี่ยนความทรงจำอยู่ และเรายังไกลเกินไปที่จะลบมัน
พูดกับคนที่เจ็บด้วยกัน
ใครเล่าที่จะเข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดที่สุด ก็ต้องคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นไง แม้แต่คนที่มีบาดแผลทางความทรงจำก็ยังมีศักยภาพในการเยียวยาผู้อื่นได้ โดยการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ที่พวกเขาเผชิญ พูดคุยกับคนที่มีปัญหาหน้าใหม่ๆ แนวคิดนี้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มีต่อผู้ป่วยอย่างสิ้นเชิง คนที่มีอาการ PTSD ในอีกมิติ คือทรัพยากรที่มีคุณค่า นั่นล่ะทำไมเราควรพูดถึงความเจ็บปวดจากคนที่เคยเจ็บ
ช่วงปี 1990 กลุ่มศูนย์สุขภาพหลายแห่งในอเมริกาให้ความสำคัญผู้ป่วย PTSD แต่ไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นผู้ป่วยอย่างเดียว ศูนย์สุขภาพจ้างคนเหล่านี้เพื่อมาเป็นเจ้าหน้าที่ยูนิตใหม่ ในการเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ จนเรียกตำแหน่งว่า Peer Counselor
แม้ในช่วงแรกๆ จะมีคำถามในแวดวงการแพทย์หนาหู ว่าผู้ป่วย PTSD มีศักยภาพเพียงพอแล้วหรือ? นี่ไม่ใช่เป็นการตอกย้ำความรู้สึกแน่นะ และพวกเขามีกระบวนการที่ดีพอในการสื่อสารไหม หรืออาจเป็นความไม่ปลอดภัยเมื่อเติมเชื้อไฟไปอีก
งานศึกษาในปี 1998 ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania จึงเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมของกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า PTSD กว่า 51 รายเป็นเวลา 6 เดือนโดยคัดเลือกผู้ป่วยจำนวนหนึ่งให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย PTSD ด้วยกันเป็นเมนเทอร์ โดยจิตแพทย์คอยไกด์ไลน์ให้ห่างๆ
ผลปรากฏว่า พวกเขามีสุขภาพทางอารมณ์ดีขึ้น ทั้งในเชิงกายภาพและสภาพจิตใจ มากกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในแผนการรักษาแบบปกติ
เมื่อเราสามารถเห็นความเจ็บปวดของผู้อื่น มันไม่ใช่ความสงสาร (ความสงสารเกิดจาก คนสองคนที่มีสภาวะต่างกันจนเกิดความ Pity) แต่เป็นการเห็นอกเห็นใจที่ก้าวผ่านสภาวะความสุญญากาศทางอารมณ์ร่วมกัน
เราเห็นประโยชน์ของความเจ็บปวดที่พาเราข้ามผ่าน การทำให้ลืมหรือไม่พูดถึงเลยทำให้มันแน่นิ่งอยู่กับที่ไม่ใช่ทางออก
หากเรามองสังคมที่มีอาการ PTSD เหมือนมนุษย์ การพยายามลืมประสบการณ์นั้นทำให้เราเสียโอกาสในการรักษาอย่างถาวร
เราจึงควรพูดถึงมัน พูดถึงคนที่เจ็บปวด พูดถึงพลังของความขัดแย้งที่ข้ามเส้นไปสู่ความรุนแรง
6 ตุลาคม จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ควรถูกกลืนหายไปจากประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม