นอกจากเรื่องฟุตบอลยูโร ในเดือนนี้ยังมีอีเวนท์ความบันเทิงเด่นๆ อย่าง E3 (Electronic Entertainment Expo) นิทรรศการแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มักจะมีเกมดังหลายเกมมาเปิดตัวที่นี่ ช่วงปลายเดือนก็มีทุบราคา Steam Summer Sale อีก ถือเป็นอีกเดือนที่คอเกมคอนโซลและคอมพิวเตอร์ต่างกระชุ่มกระชวย
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เรื่องเกมใหม่หรือเรื่องลดราคาคงไม่เร้าใจคอเกมชาวไทยเท่าไหร่นัก แล้วอะไรที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนใจมาซื้อของแท้ แล้วของแท้ทำให้คนเล่นเกมได้อะไรบ้าง เราจะพาไปดูว่าตอนนี้ตลาดเกมในไทยไปถึงไหนกันแล้ว
ภาพรวมเกมในยุคก่อน
เมื่อ 15-20 ปีก่อน คนที่อยากซื้อแผ่นแท้ก็คงมีแต่ร้านเกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น ส่วนกลุ่มคนที่มีคอมพิวเตอร์เล่นที่บ้าน ก็ใช้บริการเกมเถื่อนกันเป็นส่วนมาก เพราะสมัยนั้นราคาเกมออกจะดุเดือด การซื้อของปลอมที่ขายแผ่นละ 100-200 แต่อาจจะได้เกมมากถึง 10 เกมย่อม ‘ดูคุ้ม’ กว่าเป็นแน่นอน ส่วนฝั่งคอนโซลนั้นปริมาณคนซื้อแผ่นแท้ถือว่าน้อยมาก ณ ตอนนั้น
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มในช่วงปี 2001-2003 เกมออนไลน์เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ประกอบกับโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น การเล่นเกมแบบถูกลิขสิทธิ์ก็มากขึ้นตามไปด้วย ตอนนั้นเองที่คนไทยเสียเงินให้กับเกมถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น แม้ว่าเกมออนไลน์เหล่านั้นสามารถดาวน์โหลดตัวติดตั้งได้ฟรีก็ตามที
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกมคอนโซลในไทยเงียบเหงาลงไประดับหนึ่ง เพราะกว่า Playstion 2 จะเล่นแผ่นก๊อปปี้ได้เต็มตัว Playstation 3 ก็เผยโฉมสู่ตลาดโลกแล้ว ผู้ที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็จะติดตามเครื่องรุ่นใหม่โดยไม่มีปัญหา ทำให้ตลาดเกมฟากนี้ดูเงียบเหงาอยู่นาน กว่าจะสัมผัสได้ว่าตลาดเกมคอนโซลแผ่นแท้กว้างขึ้นก็ล่วงเข้าช่วงปี 2010 ที่แม้แผ่นแท้จะยังคงแพง แต่ราคานั้นอยู่ในระดับไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านัก
เด็กที่เคยเล่นเกม ทำงานแล้วก็ยังคงเล่นเกม
เมื่อเด็กที่เคยเล่นเกมโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานที่สามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาซื้อเกมได้ ระบบป้องกันของเกมแผ่นแท้ทั้งฝั่งคอนโซลและคอมพิวเตอร์พึ่งพาอินเทอร์เน็ตในการเล่นมากขึ้น การรวมตัวกันของกลุ่มคนเล่นเกมทั่วโลกก็ง่ายขึ้น ทำให้คนเล่นเกมแท้มีมากขึ้นไปอีก
ถึงอย่างนั้นนั่นก็ยังไม่น่าใช่จุดล่อใจวัยทำงานให้มาเล่นเกมเยอะขึ้น เราจึงลองสอบถามแอดมินเพจ เกมถูกบอกด้วย แล้วก็ได้คำตอบมาข้อหนึ่ง คือคนเล่นเกมได้ค้นพบการลดราคาของเกม อันเกิดมาจากแผนการตลาดของบริษัทเกมต่างประเทศ
“พอเจอของถูกมากๆ คนก็ยินดีที่จะจ่ายเงิน” แอดมินเพจบอกกับเรา “เดิมผมเองก็ได้เกมฟรีมาแล้วไม่สนอะไรมากนัก จนกระทั่งมาเจอ Humble Bundle ที่แพ็คขายเกมราคาถูกมาก จนทำให้รู้สึกว่าทำไมมันถูกจังวะแล้วก็เริ่มซื้อเกมแท้มาตั้งแต่ตอนนั้น”
สอดคล้องกับนักเล่นเกมอีกหลายท่านที่ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการที่ผู้ซื้อได้รับการดูแลหลังการขายอย่างดี ไม่ต้องเสี่ยงลุ้นรับไวรัสที่มากับเกมเถื่อน รวมไปถึงแนวคิดของคนวัยทำงานที่เข้าใจแล้วว่าการสร้างของสักอย่างหนึ่งต้องใช้การลงทุนลงแรงไปเสียเท่าไหร่
ผลจากความรุ่งเรืองของเกมแท้
เรื่องนี้เห็นชัดจากฝั่งเกมออนไลน์ที่ในช่วงหนึ่งมีเกมมาเปิดตัวมหาศาล แม้ตอนนี้อาจจะลดลงไปบ้าง เพราะผู้เล่นเขยิบไปเล่นเกมบนมือถือมากขึ้น สมัยนี้ก็จะมีเกมออนไลน์ที่มีตัวละครจากภาพยนตร์หรืออนิเมชั่นดังๆ แบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ออกมาให้บริการมากขึ้น
เกม Heartstone ที่ทาง Blizzard แปลมุกให้เข้าทางกับคนไทยยิ่งขึ้น
ความชัดเจนที่เกิดขึ้นในฝั่งเกมคอมพิวเตอร์ก็คงเป็นระบบของเกมดังต่างๆ เช่น Steam หรือ Battle.net ของทางค่ายเกม Blizzard พัฒนาหน้าโปรแกรมเป็นภาษาไทยและคิดราคาสินค้าเป็นเงินบาท อันเกิดจากการที่คนไทยเข้าไปอุดหนุนสินค้าพวกเขามากขึ้น
ด้านฝั่งคอนโซลอาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวระบบมากนัก แต่กลุ่มคนเล่นชาวไทยที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้นักพัฒนาเกมคอนโซลมา ‘เดินเล่น’ ตามงานกิจกรรมต่างๆ ในบ้านเราแล้ว ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี