ตอนที่เครื่องเล่น Wii ออกวางตลาดใหม่ๆ จำได้ว่าผมขวนขวายหาซื้อ แม้ในช่วงแรกเครื่อง Wii จะหายากอย่างยิ่ง จนต้องบุกบั่นฟันฝ่านั่งแท็กซี่เข้าไปในซอยลึกยามค่ำ เพียงเพราะมีผู้จำหน่ายรายย่อยเจ้าหนึ่งได้เครื่อง Wii มาจำหน่ายจำนวนหนึ่ง และหากไม่รีบไปรับ ณ เวลานั้น ก็มีคนอื่นพร้อมเข้ามารับเครื่องตัดหน้าไปทันที
Wii มีอะไรดีขนาดนั้นหรือ?
สำหรับผม นี่คือเครื่องเล่นเกมที่เป็น ‘นวัตกรรม’ แห่งยุคสมัย (นั้น) เพราะ Wii ทำให้เราสามารถกระโดดโลดเต้นไปกับการเล่นเกมได้ เนื่องจาก Wii สามารถจับการเคลื่อนไหวจากการถือคอนโซลได้ ทำให้ ‘จอยสติ๊ก’ (หรือ remote controller) ของ Wii เป็นอะไรๆ ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ดาบ พวงมาลัยรถยนต์ หมัด ลูกบอล และอื่นๆ นับไม่ถ้วน
สิ่งที่ทำให้ผมหลงรักและอยากได้ Wii มากมายนักในตอนนั้นก็คือเกมเทนนิส ที่มีหลากหลายมาก ตั้งแต่ Wii Sport ที่ใช้ตัวเล่นเป็นอวาทาร์ (avatar) น่ารักๆ ที่เรียกว่า Mii อันเป็นตัวแทนของเราในโลกของ Wii รวมไปถึงเกมอย่าง Grand Slam Tennis และ Virtua Tennis ที่ทำให้เราสามารถ ‘เล่น’ เทนนิสจริงๆ ได้ด้วยการกระโดดโลดเต้น เหวี่ยงแขน และฝึกหัดตี
Wii ทำให้การเล่นเกมกลายเป็นกิจกรรมหรือ activity ที่มีความหมายสอดคล้องกับคำว่า active จริงๆ นั่นคือเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรด้วย ไม่ใช่การนั่งอยู่กับที่ ขยับเพียงข้อมือและปลายนิ้วเพื่อบังคับควบคุมตัวละครในเกม เหมือนเวลาที่เราเล่นเกมในคอนโซลอื่นๆ อย่างเช่น PlayStation หรือ XBox
ดังนั้น—สำหรับผม, Wii จึงคือนวัตกรรม และเป็นเครื่องเล่นเกมที่ทำให้ผมหาเหตุผลให้ตัวเองได้มากพอจะนั่งแท็กซี่เข้าไปในซอยลึกยามมืดค่ำนั้น เพื่อไปรับ Wii มาอยู่บ้านด้วย
เรื่องของผู้อยู่เบื้องหลัง
ผมคิดว่า ในโลกแห่งผู้ผลิตเกมคอนโซลจากญี่ปุ่น น่าจะมี ‘ยักษ์ใหญ่’ อยู่เพียงสองเจ้า เจ้าแรกก็คือค่าย Nintendo ซึ่งเป็นผู้ผลิต Wii (และอื่นๆ อีกหลายแพลตฟอร์ม) กับค่าย Sony ผู้ผลิต PlayStation
แต่นั่นคือการมองยักษ์ใหญ่ทั้งคู่ในฐานะบริษัทที่ทำรายได้มหาศาล เฉพาะ Wii กับ PlayStation รุ่นแรกสุด ต่างก็ขายได้มากกว่า 100 ล้านเครื่องทั้งคู่ ยังไม่นับผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือเกมคอนโซลรุ่นอื่นๆ ที่ตามมาอีก PlayStation เกิดในปี 1994 ส่วน Wii เกิดทีหลังในปี 2006 แต่ถือว่าเป็นบริษัทเกมคอนโซลที่ประสบความสำเร็จล้นเหลือทั้งคู่
คำถามก็คือ แล้วใครเป็น ‘มนุษย์’ ที่อยู่เบื้องหลัง Nintendo และ Sony (หรือพูดให้เจาะจงลงไปก็คือ Wii และ PlayStation) เล่า?
คำตอบคือผู้ชายสองคนที่ถือได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเกมคอนโซลทั้งสอง
คนแรกคือ เคน คุตารากิ (Ken Kutaragi) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่ง PlayStation’ กับอีกคนหนึ่งคือ ซาโตรุ อิวาตะ (Satoru Iwata) ซึ่งเป็นผู้ ‘ฟื้นฟู’ นินเทนโดหลังช่วงปี 2000 และเป็นคนปลุกโลกแห่งวงการเกมด้วย Wii ดังนั้น จะพูดว่าเขาเป็น ‘บิดาแห่ง Wii’ ก็ไม่น่าจะผิดนัก
เคนอายุมากกว่าซาโตรุ เขาเกิดในปี 1950 ที่โตเกียว เขาได้ชื่อว่าชอบขลุกอยู่กับของเล่นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เพื่อการเล่น แต่เขาอยู่กับของเล่นเพื่อ ‘ปรับปรุง’ (tinker) มัน คือแยกแยะชิ้นส่วนต่างๆ ออกมา แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ เติมชิ้นส่วนโน่นนี่เข้าไปเพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการ
ความอยากรู้อยากเห็นนี้พาเขาเข้าสู่มหาวิทยาลัยจนจบปริญญาด้านไฟฟ้า แล้วเขาก็เริ่มงานกับโซนี่ทันทีที่เรียนจบ จุดพลิกผันใหญ่ของเขามาถึงในยุค 80s เมื่อเคนเห็นลูกสาวนั่งเล่นเกมด้วยเครื่อง Famicom เขาหยั่งรู้ในทันทีว่า ‘เกมคอนโซล’ เป็นสิ่งที่มีศักยภาพมากขนาดไหน โชคร้ายอย่างยิ่งที่ในเวลานั้นผู้บริหารของโซนี่ไม่สนใจจะพัฒนาทั้งวิดีโอเกมและเกมคอนโซล
ตัดภาพกลับมาที่ซาโตรุแห่งนินเทนโด ซาโตรุเกิดในปี 1959 ที่ซัปโปโร เขาไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องเป็นคนที่ชอบดัดแปลงของเล่นมาตั้งแต่เด็กเหมือนกับเคน แต่ซาโตรุแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำมาตั้งแต่ยังเรียนประถมมัธยมอยู่ เขาเป็นประธานนักเรียน แต่เป็นประธานนักเรียนที่ชอบเล่นเกมมาก และเริ่มพัฒนาเกมของตัวเองตั้งแต่เรียนมัธยมโดยเขียนโปรแกรมเกมง่ายๆ หลายเกม
ซาโตรุมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองครั้งแรกในปี 1978 นั่นเป็นจุดพลิกผันใหญ่ของทั้งตัวเขาและของโลกแห่งเกม เพราะเขาทำแบบเดียวกับที่เคนทำกับของเล่น นั่นคือ ‘ผ่า’ คอมพิวเตอร์ออกมาดูเพื่อศึกษาว่าคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร เขาแยกชิ้นส่วนมัน ประกอบมันกลับเข้าไปใหม่ และทำให้มันมีคุณสมบัติตามที่ตัวเองต้องการ
เมื่อเรียนจบมัธยม ซาโตรุเข้าเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเริ่มทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
ใน 80s ห้วงเวลาเดียวกันกับที่เคนนั่งดูลูกสาวเล่มแฟมิคอมและอยากพัฒนาเกมคอนโซลขึ้นมา ซาโตรุร่วมงานกับ HAL Laboratory ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาวิดีโอเกมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ต่อมา HAL จะทำงานร่วมกับนินเทนโด
นินเทนโดเป็นบริษัทเก่าแก่มาก ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1889 ที่เกียวโต แต่ในยุค 80s นินเทนโดสนใจเกมคอนโซล และคิดค้นระบบที่เรียกว่า Nintendo Entertainment System หรือ NES ขึ้นมา และเป็นซาโตรุจาก HAL นี่เอง ที่เดินทางไปเกียวโต และไปขอทำงานสร้างสรรค์เกมให้กับ NES และนินเทนโดยอมรับเขาเข้าร่วมงานด้วย
สำหรับผม 80s คือห้วงเวลาแสนมหัศจรรย์ของโลกแห่งเกม เพราะในห้วงเวลาเดียวกัน ในทศวรรษเดียวกัน ในขวบปีใกล้กัน เคน คุตารากิ ผู้อยากสร้างสรรค์เกมคอนโซลแต่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บริหารของโซนี่ ก็ได้กระทำการลับๆ ด้วยการเข้ามาร่วมงานกับนินเทนโด
ใช่—เขาแอบรับจ๊อบ!
นินเทนโดอยากได้ซาวด์ชิพสำหรับระบบ 16 บิตรุ่นใหม่ที่กำลังจะผลิตขึ้น จึงสอบถามมาทางเคน ความที่ในตอนนั้นโซนี่ไม่ได้ผลิตเกมคอนโซล จึงไม่ได้เป็นคู่แข่งกับนินเทนโด แต่กระนั้น เคนก็ต้องรับงานออกแบบชิพใหม่ให้นินเทนโดแบบลับๆ
แต่ความลับไม่เคยมีในโลก ไม่นานนัก โซนี่ก็รู้เรื่องนี้และโกรธหนัก แต่โชคดีที่ซีอีโอของโซนี่ในตอนนั้นเห็นความสามารถของเคน และเห็นว่าสองบริษัทไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน จึงยอมให้เคนทำงานนี้จนจบ
ดังนั้น—ในทศวรรษเดียวกัน ทั้งเคน คุตารากิ และ ซาโตรุ อิวาตะ จึงได้ร่วมงานในบริษัทเดียวกัน—คือนินเทนโด, โดยที่ทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ!
อย่างไรก็ตาม โซนี่เห็นว่าเกมคอนโซลเป็นได้แค่ ‘แฟชั่น’ (fad) ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่ของที่ควรลงทุนอะไร แต่เคนสบช่องเห็นโอกาส จึงเสนอกับทางบริษัทให้ลองผลิตเกมคอนโซลขึ้นมา โดยในช่วงแรกนั้น หลายคนในปัจจุบันอาจไม่เชื่อว่าทั้งโซนี่และนินเทนโดต่าง ‘จับมือ’ กันทำเกมขึ้นมา ทำให้เกมคอนโซลยุคแรกเริ่มของโซนี่สามารถเล่นกับระบบของนินเทนโดได้ด้วย แต่แล้วในที่สุด ด้วยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องทางธุรกิจ นินเทนโดกับโซนี่ก็ต้องแยกทางกัน
แล้ว PlayStation เครื่องแรกก็ออกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นในปี 1994
พูดได้เต็มปากว่า—นั่นคือ ‘ลูก’ ของเคน คุตารากิ!
ในส่วนของซาโตรุ เขาโดดเด่นมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักเขียนโปรแกมและเกมเมอร์ทั้งหลาย เขาทำงานแทบทุกวันไม่มีวันหยุด เพราะเขารักงานที่ตัวเองทำมาก
โชคดีหรือร้ายสำหรับเขาก็บอกได้ยาก แต่ในปี 1993 HAL ใกล้ล้มละลาย นินเทนโดที่เป็นลูกค้าสำคัญของ HAL จึงเข้ามาผลักดันให้ซาโตรุได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบริษัท ปรากฏว่าซาโตรุพลิกฟื้น HAL จากที่เป็นหนี้นับพันล้านเยน ให้กลับมามีสถานภาพทางการเงินอันมั่นคงได้ในหกปี ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาไม่รู้เรื่องการบริหารจัดการเลย แต่ซาโตรุเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ผลงานชิ้นใหญ่ของซาโตรุอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ก็คือการที่เขาผลักดันให้นินเทนโดพัฒนาเกมโปเกมอนขึ้นมา เกมอย่าง Pokemon Gold และ Pokemon Silver เป็นเกมที่ผลิตขึ้นโดย Game Freak แต่อยู่ในเครือของนินเทนโด และประธานของโปเกมอนก็บอกในตอนหลังว่า เป็นซาโตรุนี่เองที่ผลักดันต่อเนื่องเพื่อขยายตลาดโปเกมอนเข้าสู่โลกตะวันตก และโปเกมอนก็ประสบความสำเร็จลิบลิ่วอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเริ่มสหัสวรรษใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ซาโตรุจะได้เข้ามาร่วมงานกับนินเทนโด (เสียที) แทบเรียกได้ว่า ในตอนนั้นนินเทนโดเป็นธุรกิจครอบครัว คนที่เป็นประธานบริษัทจะต้องเกี่ยวเนื่องกับตระกูลยามาอุชิ (Yamauchi) เสมอ แต่ในปี 2002 ซาโตรุกลับได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทคนที่สี่ และถือเป็นคนแรกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตระกูลนี้ในทางสายเลือด ทว่าตระกูลยามาอุชิยินดีอย่างยิ่งที่ซาโตรุมารับตำแหน่ง
ในตอนนั้น แม้นินเทนโดจะยังทำกำไรอยู่ แต่กระนั้นนินเทนโดก็ซวนเซอย่างเหลือเกิน
คุณคงเดาได้ใช่ไหม—ว่าใครทำให้นินเทนโดซวนเซ
ใช่แล้ว—PlayStation ของโซนี่ และ Xbox ของไมโครซอฟต์นั่นเอง!
เคนคือผู้ทำให้ PlayStation โด่งดังอย่างยิ่ง ช่วงที่ซาโตรุรับตำแหน่ง PlayStation 2 กำลังเขย่าตลาดอย่างรุนแรงไปทั้งโลก แล้วถ้าตัด Xbox ออกไป ศึกระหว่างนินเทนโดกับ PlayStation คือสิ่งที่คนทั้งโลกจับตามอง โดยทุกคนรู้เหมือนๆ กันกับที่เคนและซาโตรุรู้—นั่นก็คือนินเทนโดกำลังเพลี่ยงพล้ำ และซาโตรุจะต้องทำอะไรบางอย่าง
ในปี 2004 ซาโตรุเคยให้สัมภาษณ์ว่า วงการเกมกำลังมาถึงทางตัน เพราะคล้ายว่ามันไม่มีหนทางพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้อีก แต่ขณะให้สัมภาษณ์เช่นนั้น ซาโตรุกับนินเทนโดก็กำลังซุ่มเงียบพัฒนาเกมคอนโซลใหม่ที่เขาคิดว่าจะเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ วงการเกม
ใช่แล้ว—มันคือ Nintendo Wii นั่นเอง
นินเทนโดเผยข่าว Wii ในปี 2005 และออกวางตลาดในปี 2006 สิ่งที่วิเศษอัศจรรย์ของ Wii ก็คือ ‘จอยสติ๊ก’ (หรือจริงๆ คือ remote controller) ที่เปิดตัวในงานโตเกียวเกมโชว์ปี 2005 และทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึง เพราะสิ่งนี้จะทำให้ Wii เป็นคอนโซลแบบ motion control based เป็นเครื่องแรกของโลก
แน่นอน Wii ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในทันที นอกจากยอดขายแล้ว Wii ยังได้รับรางวัลมากมาย เช่นรางวัล Best Hardware จาก Game Critics Awards รางวัล Most Innovative Products of the Year จากนิตยสาร PC World หรือรางวัล Golden Joystick for Innovation และกระทั่งรางวัลเอ็มมี่ (คือ EmmyAward for Game Controller Innovation) จาก National Academy of Television Arts and Sciences
ครั้งหนึ่ง ซาโตรุเคยพูดไว้ว่า
“On my business card, I am a corporate president. In my mind, I am a game developer. But in my heart, I am a gamer.”
“ในนามบัตร ผมคือประธานบริษัท ในสมองของผม ผมคือนักพัฒนาเกม แต่ในหัวใจ ผมคือเกมเมอร์”
อาจเป็นวิธีคิดแบบนี้ก็ได้ ที่ทำให้ซาโตรุประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกแห่งเกม เพราะเขายังคงเป็นเกมเมอร์ที่เข้าใจเกมเมอร์อยู่เสมอ
ในครึ่งแรกของปี 2007 Wii มียอดขายในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าการนำยอดขายของ Xbox 360 มารวมกับ PlayStation 3 เสียอีก ช่วงนั้น ทั้งไมโครซอฟต์และโซนี่ต่างมียอดขายร่วงผล็อย แต่ Wii กลับพุ่งฉิวและทำกำไรให้บริษัทมหาศาล The Financial Times รายงานว่า เครื่อง Wii หนึ่งเครื่อง จะทำกำไรโดยตรงให้กับนินเทนโด 13 เหรียญ (ในญี่ปุ่น), 49 เหรียญ (ในสหรัฐอเมริกา) และ 79 เหรียญ (ในยุโรป) ซึ่งก็ต้องลองคูณกันเอาเองว่า หากเครื่อง Wii ขายได้ร้อยล้านเครื่อง จะทำรายได้ให้นินเทนโดเท่าไหร่
นับแต่นั้นเป็นต้นมา โลกแห่งเกมคล้ายกำลังเกิดศึกของสองเทพเจ้า ซึ่งก็คือ เคน คุตารากิ และ ซาโตรุ อิวาตะ
มันคือการขับเคี่ยวระหว่างนินเทนโดกับโซนี่ ที่ต่างฝ่ายต่างระเบิดพลังใส่กัน ผลัดกันรับผลัดกันรุก ผลัดกันเป็นผู้ได้เปรียบเสียเปรียบตลอดเวลาหนึ่งทศวรรษหลัง Wii ทำให้นินเทนโดฟื้นตัวกลับมาได้
แต่แล้วในปี 2014 นินเทนโดก็ประกาศว่า ซาโตรุจะไม่ได้เข้าร่วมงานใหญ่ คืองาน E3 2014 หรืองาน The Electronic Entertainment Expo 2014 ซึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการเกมทั่วโลกต้องไปรวมตัวกัน คล้ายงานชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ในโลกของเกม
เขาป่วย
ก่อนหน้านั้นราวปีกว่าๆ ซาโตรุไปตรวจร่างกายธรรมดาๆ แต่เขาพบเนื้องอกในถุงน้ำดี แม้มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่อาการของเขาไม่ได้ดีขึ้น นั่นจึงเหตุผลที่ทำให้ซาโตรุไปไม่ได้ไปร่วมงาน E3
ในช่วงนั้น สิ่งที่ทรุดลงไม่ใช่แค่สุขภาพของซาโตรุเท่านั้น แต่นินเทนโดที่พลิกฟื้นขึ้นมาก็เริ่มเป็นไปตามวัฏจักรแห่งชีวิตอีกครั้ง นั่นคือนินเทนโดกำลังอยู่ในขาลง เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาขึ้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้ Wii ของนินเทนโดค่อยๆ คลายความนิยมลง แม้ Wii จะออกรุ่นใหม่มา แต่กระแสหนึ่งที่ซาโตรุอาจเคยคิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ผลักดันให้นินเทนโดเดินไปอย่างจริงจังนัก—ก็คือโลกแห่งเกมออนไลน์ที่เริ่มเป็นที่นิยม เป็นช่วงที่มี ‘ผู้เล่น’ ทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันมากมาย เกมออนไลน์นั้นซื้อง่ายขายคล่องกว่า เพราะไม่ต้องผลิตฮาร์ดแวร์ คลื่นลูกใหม่นี้ไม่ได้กระทบเพียงนินเทนโดเท่านั้น แต่กระทบทั้งโซนี่และไมโครซอฟต์ด้วย ต่างต้องหาวิถีทางใหม่ๆ เพื่อจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ยากลำบากนี้ให้ได้
แต่ว่ากันเฉพาะนินเทนโด ในปี 2013 กำไรของนินเทนโดลดลงถึง 30% นินเทนโดจึงมีแผนจะเลย์ออฟพนักงาน ทว่าซาโตรุ อิวาตะ ในฐานะประธานบริษัท ได้ตัดสินใจทำเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือเขาเลือกที่จะตัดเงินเดือนของตัวเองและผู้บริหารอื่นๆ ลง 50% เพื่อจะได้ไม่ต้องเลย์ออฟพนักงานระดับล่าง
ในเวลานั้น คล้ายว่าสิ่งที่เคยทำให้นินเทนโดฟื้นตัว กลับย้อนกลับมาทำร้ายนินเทนโดเสียเอง เพราะ Wii U ซึ่งจะมาแทนที่ Wii แทบเรียกได้ว่าล้มเหลวในทางธุรกิจ ทั้งที่นินเทนโดได้ลงทุนลงแรงและลงเงินไปค่อนข้างมาก ประมาณกันว่า นินเทนโดสูญเงินไปราวห้าร้อยล้านเหรียญในปีงบประมาณสุดท้ายที่ซาโตรุทำงานอยู่ที่นั่น
ช่วงเวลาเหล่านั้น คือช่วงเวลาที่ซาโตรุรู้แล้วว่าเขามีเนื้องอกในถุงน้ำดี และกำลังพยายามต่อสู้กับมันด้วยวิถีทางการแพทย์ พร้อมกับต้องต่อสู้กับวิถีทางธุรกิจอันโหดร้ายด้วย
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขา ไม่มีอะไรง่ายดายเลย
ร่ำลือกันว่า ฮิโรชิ ยามาอุชิ ซึ่งเป็นประธานบริษัทคนก่อนหน้าซาโตรุ ผู้มีสายเลือดแห่งตระกูลยามาอุชิ และเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 12 ของญี่ปุ่นที่ยังดูแลนินเทนโดอยู่ห่างๆ ไม่พอใจซาโตรุกับโปรเจกต์ Wii U เป็นอย่างมาก ทั้งที่สิบกว่าปีก่อนหน้านั้นก็เป็นฮิโรชินี่เอง ที่เคยผลักดันสนับสนุนซาโตรุให้ขึ้นมาเป็นประธานบริษัทถัดจากเขา
จากรัก กลายเป็นไม่ จากโอบกอด กลายเป็นผลักไส
ไม่มีอะไรแน่นอนเลย
ซาโตรุต้องผ่าตัดและใช้เวลาพักฟื้น เขาหายหน้าไปจากบริษัทนานหลายเดือน แต่เมื่อกลับมาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2014 เขาซูบผอมลง แลดูซีดเซียว แต่ซาโตรุก็กลับมาทำงาน พร้อมกับอัพเดตตัว Mii ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของเขาเพื่อให้มีรูปลักษณ์ที่ผอมลง จะได้สอดคล้องกับความเป็นจริง
แล้วในเดือนมิถุนายน เขาก็ล้มป่วยอีกครั้ง เขาต้องเข้าโรงพยาบาล ซาโตรุมีแล็ปท็อปอยู่ข้างกาย เขายังคงทำงานจนแทบจะวาระสุดท้ายด้วยการให้ความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเกม Pokemon Go ที่จะเปิดตัวต่อมาในปี 2016 หลังความตายของเขา
ซาโตรุเสียชีวิตในวันที่ 11 กรกฎาคม 2015 ด้วยอายุเพียง 55 ปี ทิ้งให้ เคน คุตารากิ ยืนหยัดเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกแห่งเกมต่อไปเพียงลำพัง ธงของสำนักงานใหญ่นินเทนโดลดลงครึ่งเสา สำนักงานออฟฟิศทั้งหลายให้วันที่ 13 กรกฎาคมของปีนั้นเป็นวันนิ่งเงียบเพื่อระลึกถึงเขา แฟนๆ และผู้คนในวงการเกมต่างพากันไว้อาลัย
กระทั่ง ‘ศัตรู’ สำคัญในวงการเกม อย่างเช่นโซนี่และไมโครซอฟต์ ก็ยังแสดงความเสียใจกับนินเทนโด ทั้งสองบริษัทปรับตัวให้เข้ากับยุคแห่งเกมออนไลน์และเกมมือถือได้ดีกว่านินเทนโด จึงไม่อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เหมือนนินเทนโด
เคน คุตารากิ บอกว่า “ผมพูดอะไรไม่ออกเลย ผมขอแสดงความเคารพให้กับความเป็นผู้นำแสนวิเศษของประธานอิวาตะ ผู้รักในเกมอย่างจริงแท้ และแสดงให้เราเห็นอย่างทรงพลัง ว่าอุตสาหกรรมนี้ควรเดินหน้าไปทางไหน”
คำไว้อาลัยของเคนเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะหลังจากนั้นอีกหนึ่งปี Pokemon Go ก็กลายเป็นเกมที่สร้างชื่อให้นินเทนโดกลับมาดังระเบิดระเบ้ออีกหน ด้วยวิธีการคล้ายกันอย่างยิ่งกับ Wii นั่นคือทำให้ผู้คนไม่ต้อง ‘หมกตัว’ อยู่แต่กับโลกภายในเกม ทว่าได้นำเอาโลกภายในเกมออกมาสู่โลกภายนอก ทำให้ผู้คนต้องกระโดดโลดเต้นตามล่าโปเกมอนไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย
คล้ายว่า—ปรัชญาของซาโตรุไม่เคยเปลี่ยนไป เขารักเกม รักการเคลื่อนไหวของร่างกาย เขารักโลกข้างในเกมนั่น และรักโลกข้างนอกนี้ด้วย เขาจึงพยายามชักชวนให้เราผสานรวมโลกทั้งสองใบนี้เข้าด้วยกัน
เพราะเขาเป็น, และจะเป็นเกมเมอร์อยู่เสมอ—ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
***
ครั้งหนึ่ง ซาโตรุเคยพูดถึงวิดีโอเกมเอาไว้ว่า
“Video games are meant to be just one thing: fun. Fun for everyone.”
“วิดีโอเกมควรมีไว้เพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือความสนุก สนุก—สำหรับทุกๆ คน”
เป็นไปได้ไหม ที่เมื่ออะไรๆ ก็ไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว เขาจึงเลือกที่จะไปสนุกต่อที่อื่น
ที่อื่น—ที่ที่สุดแล้ว เราล้วนจะทิ้งความยุ่งเหยิงและภาระแห่งการมีชีวิตอยู่,
เพื่อตามเขาไปสนุกด้วย—ในสักวันหนึ่ง