แกงกันครั้งแล้วครั้งเล่า สาปขนาดนี้ทำไมคนยังดู? แล้วทำไมยังทำต่อ?
เคยหรือเปล่าเวลามองรายการ หนัง ซีรีส์ หรือการแข่งขันอะไรสักเรื่องที่ป๊อปมากๆ แต่ในความป๊อปก็ไม่เห็นมันมีเสียงตอบรับในด้านบวกมากขนาดนั้นเลย? ถ้าเสียงแฟนคลับเบากว่าคนสาปแล้วทำไมผู้สร้างยังทำต่ออยู่? แล้วทำไมถ้าสาปขนาดนั้นถึงยังหมกมุ่นกับมันในระดับที่เราอาจเรียกได้ว่ามันเป็นแฟนด้อมใหม่ที่เพ่งเล็งไปยังจุดด้อยของสื่อนั้นๆ?
สิ่งที่เกิดขึ้นมีชื่อเรียก และชื่อนั้นคือ ‘Hate watching’ หรือการรับความอรรถรสการเสพหนังหรือรายการสักประเภทจากการวิพากษ์วิจารณ์ การเยาะเย้ย หรือการละเมียดหาจุดบกพร่องของเรื่องนั้นๆ
เกิดก่อนมีโทรทัศน์ด้วยซ้ำ
หนึ่งในตัวอย่างแรกๆ ของพฤติกรรมคล้ายคลึง hate watching คือที่ฟิลาเดลเฟียช่วงปี ค.ศ.1900 นักเปียโนหญิงผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักแสดงดนตรีตั้งแต่วัยเด็กคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุบนแขนของเธอ ทำให้ฝันการเป็นนักเปียโนอาชีพของเธอจบลง เธอย้ายออกไปที่นิวยอร์ก แล้วมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางของนักร้อง ชื่อของเธอคือฟลอเรนซ์ ฟอสเตอร์ เจงกิ้นส์ (Florence Foster Jenkins) และการร้องเพลงของเธอนั้นไม่มีส่วนไหนที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ผู้ฟังตอนนั้นจะเรียกว่า ‘ดี’ ได้เลย
ในความคิดเห็นของนักวิจารณ์ในสมัยนั้น ตั้งแต่การร้องที่ไม่ตรงจังหวะ ผิดคีย์ การใช้ลม เสียงแหลมปรี๊ด การร้องเพลงของเธอมักโดนวิพากษ์ในแง่ลบแม้กระทั่งในการร้องเพลงแบบธรรมดา แต่เพลงแบบที่ฟลอเรนซ์เลือกที่จะร้องคือโอเปรา โดยคำวิพากษ์วิจารณ์จากการสัมภาษณ์โค้ชเสียงชื่อดังบิลล์ ชูมาน (Bill Schuman) กล่าวว่า ‘ผมทึ่งที่เธอคิดแม้แต่จะลองเพลงแบบนี้ด้วยซ้ำ’
แย่ขนาดนี้แปลว่าเธอไม่ดังถูกไหม? ผิด ในขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบอย่างมาก ฟลอเรนซ์กลายเป็นหนึ่งในนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่างมากแม้จะมีการแสดงเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ ของเธอ ความนิยมของเธอมากในระดับที่ ‘แฟนๆ’ เรียกร้องให้เธอจัดงานแสดงสาธารณะ และเธอยอมแพ้ให้กับการเรียกร้องเหล่านั้นใน ค.ศ.1944 แล้วจัดแสดงที่คาร์เนกีฮอลล์ หนึ่งในคอนเสิร์ตฮอลล์ที่เลื่องชื่อที่สุดในโลก และพบเข้ากับการวิจารณ์เสียดสีนับร้อยบนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันถัดมา
5 วันหลังจากนั้นฟลอเรนซ์เข้าโรงพยาบาลจากโรคหัวใจกำเริบ และไม่กี่เดือนหลังจากนั้นฟลอเรนซ์เสียชีวิตในวัย 74 ปี
Hate Watch กับ Guilty Pleasure ต่างกันตรงไหน?
บางครั้งบางคราวเราอาจเอ็นจอยกับหนังประเภทที่เราเดินเข้าโรงแล้วก็ปิดสมองดูได้ อาจจะหนังแอ็กชั่นบู๊ล้างผลาญที่ตัดความเมคเซนส์ทั้งปวงออกจากโลกหนัง แอ็กติ้งแข็งทื่อที่มีสเน่ห์ของนักแสดงขาดประสบการณ์ หรือบทพูดที่ตั้งใจจะดราม่าแต่ทำเอาเราขำได้น้ำตาเล็ด บางครั้งการดูหนังแบบนี้ก็สามารถเป็นความบันเทิงชั้นเลิศได้ เราเรียกความบันเทิงรูปแบบนั้นว่า guilty pleasure
แต่แล้วมันต่างจาก hate watching ยังไง?
ที่มาของอรรถรสในการดูอะไรสักอย่างของแต่ละคนนั้นมาจากคนละที่มา และในขณะที่ความสุขจาก guilty pleasure จะมาจากรอยแผลของตัวหนังเอง ความสุขจากการ hate watch นั้นมาจากการวิจารณ์และการจับผิดล้วนๆ กล่าวคือเราไม่ได้ชอบหนัง รายการ หรือการแข่งขันในความห่วยของมันด้วยซ้ำ แต่ความสุขของมันมาจากการสับมันเป็นชิ้นๆ จากความเกลียดชังในหนังเรื่องนั้น
‘ประสบการณ์การ hate watch ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือเมื่อผู้ชมหัวเราะใส่ผู้สร้าง ไม่ใช่หัวเราะไปด้วยกัน’ อลิซาเบธ โคเฮน (Elizabeth Cohen) รองศาตราจารย์การสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียกล่าว และในกรณีของ
คนดูเพราะเกลียดมาก ก็ยังแปลว่าคนดูมากอยู่ดี
อีกหนึ่งลักษณะของการ hate watch คือความหมกมุ่นของผู้ชมต่อสื่อนั้นๆ บางคนเรียกมันว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเป็นแฟนคลับเลยก็ได้ ‘มันเป็นรูปแบบหนึ่งของความช่ำชอง ความช่ำชองแบบเดียวกันกับที่แฟนด้อมมี…คุณได้รับความสุขจากการมองหาว่าอะไรทำให้คุณไม่มีความสุข’ โจลี เจนเซ่น (Joli Jensen) ศาสตราจารย์นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทัลซากล่าวกับ BBC
ซีรีส์บางเรื่องหรือการแข่งขันบางอย่างตั้งแต่จุดเริ่มของมันตลอดมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมันไม่เคยขาดสาย แต่ทุกครั้งที่มีการเปิดเผยยอดทำเงินเราก็มักถามกับตัวเองว่า ‘คนเกลียดเยอะขนาดนั้นแล้วทำไมยังดูกันเยอะอยู่นะ?’ คำตอบคือคนที่เกลียดนั่นแหละคือหนึ่งในกลุ่มผู้ชมขนาดใหญ่
ในทวิตเตอร์ของดานี่ เฟอร์แนนเดซ (Dani Fernandez) นักแสดงและนักเขียนบทกล่าวว่า “ฉันขอร้องเถอะ เราทุกคนควรหยุด hate watching ซีรีส์เพราะมันส่งผลกับเราทั้งหมด แถมมันส่งผลกับโน๊ตที่สตูดิโอให้เราด้วย” เธอโพสต์เมื่อ Emily in Paris ได้รับเลือกใน 2 สาขารางวัลลูกโลกทองคำ แปลว่าผู้สร้างรู้ดีว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่มาก และพวกเขาเองก็พยายามสร้างสื่อนั้นๆ เพื่อรับใช้ความเกลียดชังนี้ด้วย
Emily in Paris เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ถูก hate watch เป็นอย่างมากนั้นกลับเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดบนเน็ตฟลิกซ์ใน ค.ศ.2020 อลิซเบธ โคเฮนกล่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “คนหนึ่งอาจได้ความรู้สึกดีจากการดูหนังสูตรประจำเทศกาล อีกคนอาจดูไปกลอกตาไป และอีกคนจะมีความสุขกับการกลอกตานั้นๆ…ความแตกต่างอาจอยู่ที่รสนิยมของผู้ชม”
แต่ท้ายที่สุดแล้วก่อนจะมีปฏิกิริยาแบบนั้นได้ก็ต้องดูก่อนถูกไหม?
อ้างอิงข้อมูลจาก