จะดีแค่ไหนหากเราสามารถใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในสื่อบันเทิงที่เรารักได้?
ทันทีที่เทรเลอร์เกมแมวส้มท่องโลกอนาคต Stray สิ่งแรกที่เชื่อว่าทุกคนนึกถึงคือ ‘เราน่าจะเลือกสีแมวของตัวเองได้เนอะ’ และภายในไม่กี่วันที่เกมเกมนี้ออก ผู้เล่นจำนวนหนึ่งก็ออกมาโชว์ฝีมือการปรับแต่งเกมและเปลี่ยนน้องแมวส้มให้กลายเป็นแมวสีอื่นๆ พันธุ์อื่นๆ หรือในบางกรณีกลายเป็นอะไรที่หลุดโลกออกไปเลยเช่น การ์ฟิลด์ หรือ CJ ตัวเอก Grand Theft Auto: San Andreas
เมื่อเราพูดถึงหนัง การ์ตูน หรือหนังสือ การมีส่วนร่วมในโลกเรื่องแต่งเหล่านั้นของผู้ชมหรือผู้อ่านอาจเป็นการวาดแฟนอาร์ต แต่งแฟนฟิคชั่น หรือการสร้างตัวละครของตัวเองในจินตนาการตัวเอง แต่เมื่อพูดถึงวิดีโอเกมแล้วมีอีกสิ่งที่เราทำได้หากรู้วิธี นั่นคือการปรับแต่งวิดีโอเกมหรือการม็อด (Video game modification, Mod) นั่นเอง และการม็อดวิดีโอเกมนั้นไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนตัวละครในเกมเท่านั้น แต่สามารถเป็นการบูรณะเกมเก่าให้หน้าตาเหมือนใหม่ และในบางกรณีก็เป็นจุดเริ่มต้นของเกมยักษ์ใหญ่ที่ก่อร่างอุตสาหกรรมวิดีโอเกมปัจจุบันทุกวันนี้เลยก็เป็นได้
การม็อดอยู่คู่กับวิดีโอเกมมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น
การปรับแต่งวิดีโอเกมเริ่มขึ้นราวๆ ช่วงปี ค.ศ.1980 ตั้งแต่การมาถึงของเกมคอมพิวเตอร์ โดยเกมแรกๆ ที่ถูกปรับแต่งที่เป็นที่รู้จักคือ Castle Wolfenstein เกม stealth ยุคบุกเบิกบนคอมพิวเตอร์ Commodore 64 และ MS-DOS จากปี ค.ศ.1984 โดยการปรับแต่งเกิดขึ้นจากไซลัส วอร์เนอร์ (Silas Warner) หนึ่งในโปรแกรมเมอร์ของเกม ที่เปลี่ยนเซตติ้งของเกมจากการหลบหนีทหารนาซีในปราสาทในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการหลบหนีเสมิร์ฟในปราสาทที่แคนาดาแทน
และเรื่องคล้ายๆ กันก็เกิดขึ้นกับ Pac-man, Space Invader และ Wolfenstein 3D ที่มีการปรับแปลงเลเวลของเกมหรือตัวละครในเกม ในช่วงเวลานั้นแม้การม็อดจะเริ่มเติบโตขึ้น ข้อสังเกตคือมันเกิดขึ้นโดยคนที่มีความรู้ในระบบและโครงสร้างเกมอย่างเช่นโปรแกรมเมอร์ของเกมนั้นๆ หรือในกลุ่มเฉพาะที่สามารถเจาะ source code ของเกมนั้นๆ ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นการนำเกมที่ผู้พัฒนาสร้าง ปรับ asset เล็กน้อย แล้วนำไปขาย
เมื่อข้ามเวลามาสู่ปี ค.ศ.1993 เมื่อเกม Doom เกมยิงปีศาจบุคคลที่หนึ่งโดย Id Software ไปถึงมือเกมเมอร์ เปลี่ยนโลกวิดีโอเกมและนำวิดีโอเกมคอมพิวเตอร์สู่สื่อและวัฒนธรรมกระแสหลักด้วยการออกแบบเกมที่เหนือชั้น และธีมของเกมที่เรียกร้องให้ผู้ปกครองทั่วโลกเป็นห่วงว่าวิดีโอเกมจะเปลี่ยนให้ลูกหลานของพวกเขากลายเป็นมนุษย์ที่รุนแรงหรือเปล่า
ด้วยความนิยมของ Doom เป็นไปไม่ได้เลยที่เหล่านักม็อดเกมจะปล่อยเกมนี้ผ่านไปโดยไม่ผ่านมือพวกเขา แต่แทนที่จะป้องกันการปรับแปลงไม่ให้เกิดขึ้น Id Software เลือกทางเลือกตรงข้าม นั่นคือการสนับสนุนแวดวงการม็อดเกมด้วยการแจก WAD Files ที่ย่อมาจาก Where’s All the Data? ภายในมีทั้งเท็กซ์เจอร์ของเลเวลและตัวละคร ไปจนถึงแปลนของเลเวล เปิดช่องทางให้การปรับแต่งวิดีโอเกมเข้าถึงได้อย่างง่ายดายขึ้นสู่คนหมู่มาก
หลังจากนั้นโลกของการปรับแต่งวิดีโอเกมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ปริมาณของคนที่สามารถเข้าถึงการม็อดได้ ความหลากหลายของสิ่งที่สามารถถูกปรับแต่งในเกม และวิธีการกับมุมมองที่ผู้ผลิตและผู้พัฒนามีต่อการม็อด
ข้อจำกัดอยู่ที่จินตนาการ
เวลาเราเห็นการปรับแต่งวิดีโอเกมขึ้นมาตามโซเชียลมีเดีย เรามักเห็นการเปลี่ยนสกิน (Reskin) ตัวละครที่เราเล่นหรือ NPC เช่น เปลี่ยนตัวเอก GTA 5 ให้กลายเป็นชัชชาติอมตะและมีพลังเหนือมนุษย์ หรือเปลี่ยนซอมบี้ทั้งเกม Resident Evil 8 ให้กลายเป็นไดโนเสาร์สีม่วงบาร์นี่ แต่การม็อดวิดีโอเกมนั้นมีขอบเขตที่กว้างขวาง ไม่ว่าจะป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กหรือใหญ่ ธรรมดาหรือหลุดโลกขนาดไหน ขอบเขตของการม็อดขึ้นอยู่กับจินตนาการและความสามารถของเอนจิ้นเกมนั้นๆ
ถ้าเราจะพูดถึงม็อด เกมหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้คือ The Elder Scroll V: Skyrim เกมอายุ 11 ปีที่หากไม่นับการรีมาสเตอร์นับครั้งไม่ถ้วนโดยผู้ผลิต Bethesda Software ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เกมเกมนี้อยู่ในใจและความทรงจำของคนจำนวนมากในโลกคือความเปิดกว้างต่อการปรับแต่งที่ผู้พัฒนาเกมอนุญาตให้เกิดขึ้นในเกมเกมนี้เวอร์ชั่น PC
เมื่อเรามองย้อนกลับไปเมื่อ Skyrim วางแผงครั้งแรกในปี ค.ศ.2011 เมื่อมองผ่านการออกแบบโลกที่ดึงดูดเราเข้าสู่เกมโดยทันที หรืออิสระที่เกมให้เราไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เราจะเห็นข้อด้อยที่มีอยู่ในทุกเกมของ Bethesda Software นั่นคือเกมเกมนี้มีบั๊กจำนวนมาก มีระบบการฟันดาบที่ค่อนข้างห่วยสำหรับเกมที่อาวุธส่วนมากต้องต่อสู้ระยะใกล้ หน้าอินเตอร์เฟซในการจัดเก็บไอเท็มมึนงง ฯลฯ
แต่ด้วยความสามารถของนักม็อดจำนวนมาก ปัญหาเหล่านั้นถูกแก้ตลอดช่วงเวลาที่เกมเกมนี้มีอยู่ ทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการต่อสู้ใหม่ให้มีน้ำหนักขึ้น เพิ่มระบบการหลบหลีก เปลี่ยนเอไอของศัตรูให้เกมยากขึ้น เปลี่ยนหน้าจอการจัดเก็บไอเท็ม และนอกจากนั้นยังมีการม็อดกราฟิกนับพันจากหลากหลายนักม็อดที่เมื่อใช้ร่วมกันแล้วเปลี่ยนเกมอายุสิบกว่าปีนี้ให้ดูเหมือนใหม่ไม่ต่างจากเกมที่เพิ่งออกในปีสองปีที่ผ่านมานี้เอง
อีกผู้ผลิตที่เราไม่พูดถึงไม่ได้คือ Valve เจ้าของแพล็ตฟอร์ม Steam และผู้ผลิตเกมอมตะมากมายเช่นซีรี่ส์ Half-life ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเล่าเรื่องภายในวิดีโอเกม หรือ Left 4 Dead ที่ก่อร่างรูปแบบเกม PvE 4 ผู้เล่นที่ยังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
แต่เกมที่ยิ่งใหญ่และส่งผลกระทบต่อโลกวิดีโอเกมมากที่สุดหนึ่งเกมในโลกคือ Counter-Strike ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเป็นม็อดเกมจากเอนจิ้น Goldsrc ของ Half-life ภาคแรก โดยในช่วงมหาวิทยาลัย นักศึกษาชายชาวเวียดนาม-แคนาดาชื่อลีมินห์ (Minh Le) ใช้เวลาราวๆ 1 เดือนในการสร้างโมเดลและและเขียนโปรแกรมสำหรับเกมยิงปืนสงครามร่วมสมัยของเขา โดยมีความช่วยเหลือจากเจส คลิฟฟ์ (Jess Cliffe) ผู้ดูแลเว็บไซต์และผู้ประสานงานกลุ่มนักออกแบบเลเวลให้กับเขา
หลังจากปล่อยม็อดเวอร์ชั่นแรกออกไปราวๆ หนึ่งปีก็มีผู้ให้ความสนใจเกมจำนวนมาก และเมื่อปี ค.ศ.2000 แทนที่จะถูกหวงห้าม Valve เดินเข้าหาทั้งคู่เพื่อจ้างงานและซื้อลิขสิทธิ์ของเกม Counter-Strike และตัดภาพมาในปัจจุบัน จากม็อดเล็กๆ สร้างโดยคนไม่กี่หยิบมือ เกมล่าสุดในซีรีส์อย่าง Counter-Strike: Global Offensive กลายเป็นเป็นหนึ่งเกมอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ โดยเกมของ Valve จำนวนมากมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากนี้ตัวอย่างเช่น Team Fortress เริ่มต้นจากการเป็นม็อดของ Quake หรือ Dota 2 เองก็เริ่มซีรี่ส์มาจาก dotA ที่กำเนิดมาจากการเป็นม็อดของเกมวางแผน Warcraft III
ปัจจุบันแวดวงการม็อดเป็นยังไง?
แม้ว่าจะเห็นเรื่องราวของการปรับแต่งวิดีโอเกมอยู่บ้างประปราย ดูเหมือนว่าในปัจจุบันเรื่องราวของม็อดใหญ่ๆ ที่จะกลายร่างเป็นเกมที่เขย่าวงการวิดีโอเกมดูจะน้อยลง หรือหากมองไปที่เกมกระแสหลักปัจจุบันก็มักไม่ถูกม็อดในรูปแบบที่เราเคยเห็น แวดวงการปรับแต่งวิดีโอเกมตายหรือยัง?
คำตอบสั้นๆ น่าจะเป็นยังไม่ตาย แต่อุปสรรคในการปรับแต่งสูงขึ้นมากกว่า ว่าแต่สูงขึ้นยังไง?
หนึ่งในนักม็อดที่มีชื่อที่สุดในการม็อดเกม Dark Souls และ Halo ชื่อ InfernoPlus พูดเกี่ยวกับสภาพของวงการการปรับแต่งวิดีโอเกมในปัจจุบันว่า ‘คุณลองนึกดูว่าเกมที่ออกมาเร็วๆ นี้ที่มีเครื่องมือการม็อดใด้วยมีอยู่กี่เกมกัน? ไม่มากว่าไหม? เวลาที่มีคนพูดถึงการม็อดเรามักต้องยกเกมอายุ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว’ โดยเขาสันนิษฐานว่าเหตุผลที่ผู้ผลิตเกมในปัจจุบันไม่สนับสนุนการปรับแต่งวิดีโอเกมนั้นมาจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมวิดีโอเกมที่เริ่มมองไปทางการเก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ จากคอนเทนต์เสริมในเกมเช่นสกิน อาวุธใหม่ๆ อีโมตใหม่ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของม็อด จุดเดียวที่แตกต่างคือม็อดนั้นฟรี
นอกจากนั้นโฟกัสของการพัฒนาเกมในปัจจุบันมักขึ้นอยู่กับเกมจากคอนโซล ไม่ใช่เฉพาะ PC เท่านั้น และเกมคอนโซลโดยมากไม่อนุญาตให้เกิดการปรับแต่งเกมในรูปแบบใดเลย และยิ่งหากเป็นเกมหลายผู้เล่นแม้แต่ใน PC ก็ยังมีระบบ Anti-cheat ที่สกัดกั้นการม็อดอยู่อีกหนึ่งชั้น
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคของการสร้างม็อดคือเมื่อเรามองไปยังบริษัท Nintendo และผู้ผลิตเกมญี่ปุ่นจำนวนมาก ในขณะที่การม็อดเกมจากผู้ผลิตตะวันตกมักถูกมองโดยผู้ผลิตด้วยสายตาที่ธรรมชาติหรือในหลายๆ กรณีสนับสนุน Nintendo มองนักม็อดว่าเป็นการก้าวล่วงวิดีโอเกมและเป็นการผิดลิขสิทธิ์โดยทั่วกัน
หากติดตามข่าวคราวในวงการวิดีโอเกมในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข่าวว่า Nintendo ฟ้องนักปรับแต่งวิดีโอเกม หรือนักปรับแต่งเครื่องเกมนั้นแทบจะเกิดขึ้นทุกๆ เดือน ตั้งแต่การพยายามปิดตัว Super Mario Full screen ที่ทำให้ Super Mario Brosกลายเป็นเกมที่เลเวลขยายไปเรื่อยไม่ว่าจอคอมพิวเตอร์จะยาวขนาดไหน หรือห้ามมีการสร้างเลเวลเกมด้วยตัวเองนอกจากจะผ่านการซื้อ Super Mario Maker ด้วยเหตุผลว่าเป็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทำให้แวดวงการม็อดเกมของ Nintendo ต้องมุ่งไปสู่วิธีการ Emulation การเล่นเกมใต้ดินที่ทางบริษัทเองก็ไม่สนับสนุนเช่นกัน
มุมมองของผู้ผลิต เทรนด์อุตสาหกรรม ความละเอียดของวิดีโอเกม และอีกหลากหลายปัจจัยสามารถชี้ชะตาแวดวงการปรับแต่งวิดีโอเกมได้ แวดวงการม็อดนั้นเป็นสีสันให้กับวิดีโอเกม แต่ในบางมุมมองก็อาจเป็นศัตรูของผู้ผลิต
ประวัติศาสตร์ของการม็อดวิดีโอเกมนั้นพ่วงกับประวัติศาสตร์ของวงการวิดีโอเกมในตัวของมันเอง เพราะวงการม็อดมีส่วนในการก่อร่างโครงสร้างสำคัญของอุตสาหกรรมวิดีโอเกมในปัจจุบันมาแล้ว ซึ่งนั่นคือหลักฐานว่าความต้องการนำชิ้นส่วนเล็กๆ ของตัวเองเข้าไปอยู่ในเกมนี้อาจเป็นก้าวเล็กๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกมในอนาคตได้
อ้างอิงข้อมูลจาก