ตามปกติแล้ว ผู้เขียนมักจะได้หนังสือการ์ตูนเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยอ่านหรือเคยมองข้ามมาก่อน จากการเดินงานสัปดาห์หนังสือ หรือที่เรียกกันอีกแบบว่าโดน ‘ป้ายยา’ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2020 กับ ปี ค.ศ.2021 นี้ ด้วยผลพวงจากแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงการบริหารปัญหาจากทางฝั่งภาครัฐ ทำให้งานหนังสือช่วงต้นปีโดนระงับเป็นเวลาสองปีติด
ถือว่าเป็นโชคดีเล็กน้อยที่ร้านหนังสือที่แวะเวียนไปซื้อบ่อยๆ ยังเปิดให้บริการ เลยใช้โอกาสที่ไปซื้อหนังสือที่เล็งไว้ แล้วก็ให้ทางร้านป้ายยากันบ้างว่า มีหนังสือเรื่องไหนที่น่าจะถูกโฉลกบ้าง ผลก็คือวันนั้นผมได้มังงะกลับมาหลายเรื่อง แต่มีสองเรื่องที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สุดท้ายทั้งสองเรื่องกลับมีอะไรคล้ายกันมากกว่าที่คิด
มังงะสองเรื่องที่ว่าก็คือ Blue Period กับ เส้นสายลายชีวิต ที่เราจะมาพูดถึงและหวังว่าจะป้ายยาให้ทุกคนได้ติดตามกันต่อครับ
สองเนื้อเรื่อง สองลายเส้น สองแนวศิลป์
ก่อนจะเสวนาถึงจุดคล้ายคลึงกัน เราขอแนะนำมังงะแยกเรื่องกันกอ่น สำหรับ Blue Period เป็นผลงานมังงะของอาจารย์ยามางุจิ สึบาสะ (Yamaguchi Tsubasa) ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Afternoon นิตยสารมังงะแนวเซย์เน็น (Seinen) ของทางโคดันฉะ (Kodansha) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 ถึงปัจจุบัน

ภาพจาก – https://twitter.com/28_3/status/1144594609659498496
Blue Period เล่าเรื่องผ่าน ยางุจิ ยาโทระ เด็ก ม.ปลาย ที่มีภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเด็กเก แต่กลับมีคะแนนการสอบที่ดี ทั้งยังเข้าสังคมได้หลากหลายระดับที่หลายคนอิจฉา แต่ตัวของเขาเองกลับพบว่า ยังมีช่องว่างในใจที่ไม่รู้ว่าจะถมอย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับงานศิลปะ และทำให้เขาได้พบว่าตัวเองอยากเอาจริงเอาจังกับสิ่งใดกันแน่
ผลงานเรื่องนี้ถือว่าเป็นมังงะที่มาแรงในหลายๆ ประเทศ และกำลังจะถูกสร้างเป็นอนิเมะออกฉายในช่วงปี ค.ศ.2021 ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของ Gunjou วง Yoasobi ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ ตัวเรื่องชวนคนอ่านให้คิดตามอย่างมาก นับตั้งแต่การเปิดหน้าแรกของเรื่องด้วยคำพูดว่า ‘รูปของปิกัสโซ (Pablo Picasso) มีดีตรงไหน’ ตัวเอกที่เป็นนักวาดมือใหม่ก็น่าจะวาดภาพแบบนี้ได้ ทั้งยังพาไปพบความจริงหนักๆ ที่ว่าการเรียนศิลปะในญี่ปุ่น แพงกว่าหลายประเทศ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีตลาดศิลปะที่ค่อนข้างใหญ่ก็ตาม

ภาพจาก – https://shonenmagazine.com/info/entry/20190619senha
ส่วน เส้นสายลายชีวิต หรือ Sen Wa, Boku Wo Egaku เป็นผลงานมังงะที่ได้อาจารย์โฮริอุจิ อัตสึโนริ (Horiuchi Atsunori) เป็นผู้วาดภาพ ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากผลงานนิยายชื่อเดียวกันของอาจารย์โทกามิ ฮิโรมาซะ (Togami Hiromasa) นักเขียนนิยายและนักนักวาดพู่กัน (ภาพวาดสุมิเเอะ (Sumi-E) หรือ ภาพวาดล้างหมึก แต่ขออนุญาตใช้คำว่า นักวาดพู่กันตามคำแปลของมังงะฉบับภาษาไทย) ตัวมังงะเคยตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารโชเน็นแมกกาซีนรายสัปดาห์ นิตยสารมังงะแนวโชเน็น (Shonen) ของทางโคดันฉะในช่วงปี ค.ศ.2019 – 2020
เส้นสายลายชีวิต เริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงชีวิต อาโอยามะ โซสุเกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน หลังจากเขาไปทำงานพิเศษแล้วเจอคุณลุงคนหนึ่งชักชวนให้ไปกินข้าวและเดินรับชมงานวาดภาพพู่กัน ก่อนที่จะพบว่าลุงคนนั้นคือ ชิโนดะ โกะซัง นักวาดภาพพู่กันชื่อดังที่ต้องชะตาและชักชวนให้โซสุเกะมาเป็นลูกศิษย์ ทำให้ชีวิตที่เหมือนจะมีปมปัญหาบางอย่างของเด็กหนุ่มคลี่คลายผ่านการวาดลายเส้นลงบนกระดาษ ที่มีอะไรมากกว่าการใช้เทคนิคในการวาดเท่านั้น

อาจารย์โทกามิ ฮิโรมาซะ ผู้แต่งนิยาย เส้นสายลายชีวิต และเป็นผู้ตรวจสอบภาพงานพู่กันในฉบับมังงะ / ภาพจาก – https://www.sankei.com/article/20200309-T4ZJMBR2UBP4ZLEI72HJSMELIE/
ด้วยความที่ว่า เส้นสายลายชีวิต เป็นการดัดแปลงมาจากนิยาย รวมไปถึงว่าตัวมังงะตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารแนวโชเน็น เราเลยได้เห็นตัวเอกอย่าง อาโอยามะ โซสุเกะ มีความเป็นอัจฉริยะโดยธรรมชาติออกมาอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นหลักของเรื่องคือการนำให้คนอ่านที่ไม่คุ้นเคยกับการวาดภาพพู่กันแบบสุมิเอะ ได้เข้าใจอย่างรวดเร็วว่า การวาดภาพแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ล้าสมัย และยังต้องใช้เทคนิคกับการใส่พลังต่างๆ ลงไปในตัวผลงานอย่างมาก
จะเห็นได้ว่านอกจากที่ผลงานทั้งสองเรื่องอยู่ในสังกัดโคดันฉะ และเล่าเรื่องงานศิลปะเหมือนกัน แถมเรื่องหนึ่งยังอวสานไปแล้วด้วย อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านหนังสือสองเรื่องนี้คู่กันก็ทำให้เห็นว่า งานทั้งสองชิ้นมีจุดร่วมกันมากกว่าที่คิด
จุดร่วมที่ 1: ไม่ต้องปีนบันไดตอนอ่านเนื้อหา
มังงะทั้งสองเรื่องหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวข้องกับงานศิลปะที่ดูเข้าถึงยากสักหน่อย เพราะตัวเรื่องไม่ได้คุยถึงแค่ความสวยงามหรือคุณค่าของงานศิลป์ต่าง แต่เล่าเรื่องการสร้างผลงานออกมาโดยตรง ทั้งงานจิตรกรรมสีน้ำมันใน Blue Period และงานวาดภาพพู่กันใน เส้นสายลายชีวิต ที่ดูเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตของผู้คนโดยส่วนใหญ่ แถมยังเหมือนว่าจะมีมาตรฐานอะไรบางอย่างเกี่ยวกับงานศิลปะแบบนั้นที่คนทั่วไปอาจเข้าไม่ถึง

ภาพจาก – https://twitter.com/blueperiod_PR/status/1407624478692036613
ผู้แต่งเรื่องของผลงานทั้งสองนำเสนอให้คนอ่านได้เห็นโดยตลอดว่า ‘งานศิลปะไม่ได้เข้าถึงยากขนาดนั้น’ นับตั้งแต่การสร้างให้ตัวเอกของทั้งสองเรื่องเป็นมือใหม่ในโลกศิลปะทั้งสองคน และแนะนำแนวทางให้คนนอกวงการศิลปะได้ดูภาพต่างๆ ประหนึ่งการไปซื้อของใช้ของกิน อย่างในฝั่ง Blue Period มีตอนหนึ่งที่ ยาโทระไปรับชมภาพในหอศิลป์ แต่ด้วยความรู้ด้านภาพที่ไม่เยอะ ในเรื่องจึงมีการแนะนำให้ลองเดินดูภาพแล้วคิดว่าถ้ามีเงินซื้อจะอยากได้ภาพไหนให้มาอยู่ร่วมในชีวิตประจำวัน

ภาพจาก – https://pocket.shonenmagazine.com/article/entry/senboku_20190917
ทางฝั่ง เส้นสายลายชีวิต เปิดเรื่องตอนแรกด้วยการให้ โซสุเกะไปเดิมชมนิทรรศการภาพวาดพู่กันแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มิหนำซ้ำตัวละครที่เป็นปรมาจารย์ภาพวาดพู่กันกลับบอกกล่าวด้วยว่าภาพวาดพู่กันนั้นเป็นอิสระ ไม่ได้มีแค่ภาพทิวทัศน์หรือพฤกษาประเภทต่างๆ ตามที่คนนอกวงการเข้าใจเท่านั้น และเมื่อตัวโซสุเกะเกิดความไม่เข้าใจมากขึ้น ก็มีคำพูดระบุว่า ‘ความสนุกอยู่ตรงที่เราได้เข้าใจสิ่งที่เคยไม่เข้าใจนี่ล่ะ ความไม่เข้าใจแท้จริงแล้วจึงวิเศษนัก’
การสื่อสารในลักษณะนี้ที่แทรกมาเป็นระยะๆ ในช่วงต้นของเรื่อง เป็นเหมือนเป็นการสะกิดใจคนดูว่า ต่อให้คุณไม่เข้าใจการสะบัดฝีแปรง คุณก็ยังสนุกไปกับงานศิลปะได้ ในการอ่านของคุณเอง
จุดร่วมที่ 2: แม้จะมีพรสวรรค์ แต่อยากให้ดูพรแสวง
ถึงมังงะทั้งสองเรื่อง จะมีตัวเอกที่ชัดเจนว่ามีพรสวรรค์ในมุมหนึ่งมุมใดของพวกเขา ยาโทระ ใน Blue Period แทบจะเป็นนักเรียนในอุดมคติของสังคมญี่ปุ่นเลยทีเดียว ส่วนโซสุเกะของเส้นสายลายชีวิต ก็ถูกนำเสนอว่าเป็นคนที่มองงานศิลปะได้ค่อนข้างลึก อันเป็นผลพวงจากการเลี้ยงดูที่เขาเคยได้รับมาก่อน
แต่ไม่ได้แปลว่าผลงานทั้งสองจะให้คุณค่ากับ ‘พรสวรรค์’ ของตัวละครในเรื่องจนกลายเป็นศึกการดวลกันระหว่างหมู่มวลอัจฉริยะ แทบจะตรงกันข้ามทั้งสองเรื่องทำการป้อนกำแพงสูงชันให้กับตัวละครในเรื่องเป็นระยะๆ

ภาพจาก – https://youtu.be/ZckNTyRH-Fg
ในกรณีของ เส้นสายลายชีวิต แม้ว่าจะมีพื้นฐานในการเขียนอักษรจีนด้วยพู่กัน ได้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ชื่อดัง จึงทำให้เขาเป็นตัวเอกที่มีทักษะการวาดภาพที่พัฒนาเร็วมากตามท้องเรื่อง แต่เขาก็ค่อยๆ รับรู้ว่า การวาดภาพพู่กัน ไม่ได้จบแค่การวาดภาพแล้วได้อารมณ์ที่ถูกต้องก็เพียง แต่ยังมีเรื่องการฝนหมึก, การควบคุมความเข้มของน้ำหมึก และที่ถูกบอกเล่าผ่านการเล่าเรื่องเป็นประจำก็คือ การที่โซสุเกะทำการวาดภาพซ้ำไปซ้ำไป อย่างหลงลืมเวลา ระดับที่ทำให้คนใกล้ตัวเป็นห่วงเป็นระยะว่าโซสุเกะยังมีชีวิตหรือไม่

ภาพจาก – https://nlab.itmedia.co.jp/nl/articles/1902/23/news004_3.html
ส่วนฝั่ง Blue Period ด้วยความเป็นมือใหม่ในโลกศิลปะของยาโทระ ทำให้เขาประสบต้องพยายามเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องเทคนิคการวาดภาพ อย่างการเรียนรู้ด้านวงจรสี ทัศนมิติ (Perspective) การจัดองค์ประกอบศิลป์ การแรเงา ฯลฯ (ไม่ต้องห่วงครับในเรื่องอธิบายจนเข้าใจได้ง่ายเลย) และเมื่อวาดภาพไปถึงจุดหนึ่ง ยาโทระก็จะรู้ตัวว่ายังวาดภาพได้ด้อยกว่าคนอื่นๆ ที่เริ่มฝึกฝนมาก่อน นอกจากนี้ ยาโทระยังต้องรับมือกับเรื่องราววุ่นวายในชีวิตอย่างการที่ต้องเสวนากับพ่อแม่ที่บ้านว่า การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะ ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นอาทิ
จะเห็นได้ว่าผลงานทั้งสองยังอยากให้คนอ่านเห็นเสมอๆ ว่า ตัวเอกที่ดูเป็นตัวละครใส่สูตรโกง แต่ความจริงพวกเขาก็แค่พยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หรืออย่างที่ตัวละครอาจารย์สอนศิลปะของยาโทระใน Blue Period กล่าวไว้ว่า ‘คนที่มีความพยายามและลงมือทำในสิ่งที่ชอบนี่ล่ะที่แกร่งที่สุด’
จุดร่วมที่ 3: ผิดพลาดให้เยอะ
ประเด็นนี้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกแปลกๆ สักเล็กน้อย แต่ใช่ครับ ทั้งสองเรื่องคุยเรื่อง ‘การทำงานพลาดให้เยอะ’ ส่วนนี้สำหรับคนที่เคยทำงานศิลปะ ไม่วาจะเป็นแนวไหนก็ตาม ถ้าจะให้เห็นการพัฒนาในผลงานตัวเองได้ ก็ต้องสร้างผลงานออกมาเยอะเสียหน่อย แต่ในการทำงาน อย่างเช่น การเขียนบทความแบบนี้ ก็ไม่ค่อยจะอยากให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเท่าไหร่ เพราะพอเกิดความผิดพลาดขึ้นมากทำให้เกิดปัญหาอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลที่ผิดพลาดไป หรือเหตุผลอย่างความรู้สึกขายหน้าแทรกมาด้วยก็ตาม
แต่สำหรับ Blue Period และเส้นสายลายชีวิต เรื่องราวในผลงานทั้งสองเรื่องกลับบอกกล่าวทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่าตรง ‘ผิดพลาดให้เยอะ’ ไม่ใช่ว่าทั้งสองเรื่องอยากให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์ปล่อยผลงานออกมามั่วๆ นะ แต่อยากให้ทุกคนที่ทำงานสร้างสรรค์อย่ากลัวความผิดพลาดจนไม่ได้ลองปล่อยพลังงานที่อยู่ในตัว จนกลายเป็นการปล่อยผลงานที่ซ้ำซากจนดูน่าเบื่อออกมามากกว่า

ภาพจาก – https://manba.co.jp/topics/17651/comments/70528
ในฝั่ง เส้นสายลายชีวิต เพราะ โซสุเกะเป็นมือใหม่หัดวาดพู่กันแบบสุดๆ แม้จะพอมีพื้นฐานการใช้พู่กันมาบ้าง ดังนั้นภาพวาดแรกๆ ของเขานั้นก็ออกมาในสภาพที่ดูไม่ได้อย่างชัดเจน แต่ตัวปรมาจารย์ที่สอนเขาก็บอกว่าให้ขา ‘ลองทำพลาดดูให้เยอะๆ เลย’ ด้วยความต้องการให้โซสุเกะได้เข้าใจถึงเส้นที่เป็นตัวตนของเขามากที่สุด ซึ่งเนื้อเรื่องในภายหลังก็จะทำให้เราเห็นว่า โซสุเกะได้ทำพลาดอีกหลายครั้ง และเป็นการเสริมให้เห็นว่า โซสุเกะทุ่มเทเวลาในการพรแสวงเพื่อพัฒนางานตัวเองอีกด้วย

ภาพจาก – https://www.animatetimes.com/news/details.php?id=1619579510
ทางด้าน Blue Period แค่ในช่วงมังงะ 3 เล่มแรก Blue Period พาเราไปให้เห็นว่า ตัวละครที่อยากจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะแทบทุกคน มีจุดผิดพลาดในตัวเองไม่มากก็น้อย อย่างตัว ยาโทระพอรู้สึกว่าตัวเองวาดงานได้ดีพอแล้ว แต่พอพบกับงานของคนอื่นที่มีเป้าหมายเดียวกัน เขาจึงรู้ว่าตัวเองยังพลาดที่มองอะไรตื้นเขินไป เช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ ในเรื่องที่พบปัญหาจนกลายเป็นความผิดพลาดขึ้นมา แต่หลังจากที่ผิดพลาดแล้วจะเลือกทำอะไรต่อนั้น เป็นจุดที่สำคัญกว่ามาก
หลังจากได้ลองผิดลองถูก สไตล์บางอย่างก็จะอยู่กับคนทำงานศิลปะประหนึ่งเป็นอาวุธประจำตัวต่อไป หรือถ้าบอกว่า การผิดพลาดทำให้คนทำงานศิลปะมีการเจริญเติบโต ก็อาจจะไม่ผิดนัก
จุดร่วมที่ 4: ศิลปะ = การใช้ชีวิต
เชื่อว่าหลายท่านจะได้เห็นนิยามที่ว่า ‘ศิลปะคือชีวิต ชีวิตคือศิลปะ’ กันอยู่หลายครั้ง มังงะทั้งสองเรื่องที่เราหยิบมาพูกถึงกึ่งป้ายยาในวันนี้เองก็ยืนยันคำพูดเหล่านี้เช่นกัน จริงๆ แล้วตัวมังงะออกจะพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องกันเลยทีเดียว
ฝั่งของ เส้นสายลายชีวิตบอกเล่านับตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องว่าการวาดภาพพู่กันนั้น หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการปาดแปรงพู่กันไปได้ไม่กี่ครั้ง แล้วกลายเป็นรูปภาพแบบง่ายๆ กระนั้นเส้นแต่ละเส้นที่อยู่ภายในภาพ ถูกกลั่นมาจากตัวตน บ่งบอกว่าชีวิตเคยผ่านอะไรมา
อย่างที่โซสุเกะจะถูกทักอยู่บ่อยครั้งว่าเขาวาดเส้นที่มีความเศร้าสร้อย เนื่องจากตัวโซสุเกะยังติดหล่มอยู่กับแผลใจที่ได้รับมา และบทเรียนหนึ่งที่นักวาดภาพพู่กันในเรื่องพยายามบอกเล่าให้โซสุเกะฟังตั้งแต่เริ่มเรื่องก็คือ อย่าเพิ่งติดกับชะตาชีวิตอยู่กับอารมณ์ใดเพียงหนึ่งเดียว แม้ว่าแต่ละคนอาจจะมีปัญหาที่ต้องก้าวผ่านแตกต่างกันไป การพบพานกันของผู้คนจะช่วยเสริมให้ชีวิตมีอะไรครบถ้วนยิ่งขึ้น

ภาพจาก – https://nlab.itmedia.co.jp/nl/articles/1902/23/news004_3.html
ฝั่ง Blue Period เล่ามุมมองของชีวิตที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่การบอกกล่าวว่า งานศิลปะเป็นภาษาที่ไร้ตัวอักษร ที่สามารถทำให้ผู้ทำงานศิลปะต้องสังเกตชีวิตของผู้คนรอบด้านมากขึ้น ก่อนจะถ่ายทอดความรู้สึกที่มาจากใจ และการเริ่มต้นใหม่พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อไล่เรียงไปตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอกอย่าง ยาโทระก็จะเห็นว่า งานศิลปะที่มีความหลากหลายก็เหมือนกับชีวิตของผู้คนที่มีอยู่มากมาย และแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเห็นโลกในแบบเดียวกัน แต่พวกเขาสามารถยอมรับกันและกันได้ผ่านงานศิลปะ
นอกจากจุดร่วมที่ผู้เขียนสัมผัสได้นี้ ผลงานมังงะทั้งสองก็ยังมีจุดน่าสนใจอื่นๆ ให้ติดตามกันอยู่ อย่างในฝั่ง Blue Period เองก็มีการใส่เรื่องการยอมรับ LGBTQ หรือการวิพากษ์การศึกษาแบบเอเซียที่โฟกัสความสำเร็จในชีวิตมากกว่าการหาตัวเองของผู้เรียน ไปในเรื่องอยู่ด้วยเป็นอาทิ
ถ้าอย่างไรก็ขอให้ทุกท่านได้อ่านหนังสือการ์ตูนเหล่านี้แล้วได้มาแลกเปลี่ยนกันว่ารู้สึกคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง เพราะศิลปะนั้นไม่มีจุดไหนที่เป็นจุดถูกที่สุดหรือผิดมหันต์ จะมีก็แค่การเปิดใจเรียนรู้ว่าโลกนี้ยังไม่แห้งแล้งจนเกินไปนั่นเอง