ณ ช่วงเวลาที่เขียนบทความอยู่นี้ โลกก็ได้รับมือกับภัยจาก COVID-19 มาราว 4-5 เดือนแล้ว และผลจากไวรัสดังกล่าวไม่ได้กระทบเพียงแค่สุขภาพของผู้ติดเชื้อเท่านั้น ไวรัสตัวนี้ยังรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วทั้งโลก ทำให้การใส่หน้ากากอนามัยกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น
การทำงานต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะหลายประเทศเริ่มขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น หรือให้ทำงานที่สามารถทำได้จากที่บ้านอย่างการ work from home นั่นเอง แต่การทำงานจากที่บ้านก็มีผลกระทบอยู่บ้างเช่นกัน บางทีการทำงานแบบไม่เจอหน้ากันเลยก็จะมีปัญหาการประสานงานกันบ้าง และธุรกิจบางอย่างนั้นไม่อำนวยมากพอจะให้ work from home ได้จนอาจจะต้องหยุดการบริการชั่วคราว
และภาวะลำบากๆ แบบนั้นก็ลามเลียไปทั่วถึงฝั่งอุตสาหกรรมการ์ตูนด้วย แต่ผลกระทบจะมีอะไรกันบ้าง เราจะรวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งมาให้ทราบกัน ณ ที่นี้ครับ
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฝั่งหนังสือการ์ตูน
ส่วนนี้ขอเล่าเรื่องในประเทศไทยกันก่อน ถ้าสังเกตกันจะเห็นว่า นับตั้งแต่ที่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา หนังสือออกวางจำหน่ายตามแผงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหลายท่านอาจจะคาดเดาได้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่ประกาศเคอร์ฟิวที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการทำหนังสืออย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในโรงพิมพ์ หรือพนักงานสายส่ง เพราะหลายๆ ที่ปกติจะมีงาน 2-3 กะ เมื่อมีการจัดเคอร์ฟิวจึงทำให้งานบางส่วนที่ยังค้างอยู่เกิดอาการขลุกขลักขึ้นมา
เมื่อรวมกับการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าในหลายๆ จังหวัด ส่งผลทำให้ร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ตามห้างนั้นปิดให้บริการลง แม้ว่าจะมีร้านหนังสืออิสระที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ เปิดให้บริการอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับยอดรายได้จากการส่งกับเจ้าใหญ่แล้วก็ถือว่าน้อยกว่ามาก ทำให้ทางสำนักพิมพ์ หรือบริษัทที่จัดทำหนังสือเป็นงานหลัก เริ่มมีอาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่มีโอกาสส่งผลร้ายจนทำให้ทางสำนักพิมพ์ในไทยอาจจะต้องชะลอการตีพิมพ์หนังสือที่เคยอยู่ในแผนการออกไป
ส่วน E-Book กับการขายออนไลน์ที่ยังเป็นช่องทางรับรายได้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ารายได้จากทั้งสองทางนี้ ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับการขายหน้าร้านปกติ รวมถึงการขายตามงานอีเวนต์ต่างๆ
จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สำนักพิมพ์การ์ตูนหลายแห่ง จะไม่ทำการวางจำหน่ายออกหนังสือใหม่ในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2020 เพื่อสงวนเงินไว้ดูแลรักษาธุรกิจเอาไว้
ข้ามยาวไปทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น ถ้าเป็นสภาพในช่วงก่อนหน้านี้ ตลาดหนังสือการ์ตูนอาจจะยังไม่กระทบมากนัก แต่ก็มีนักเขียนมังงะบางท่านขอหยุดการทำงานของตัวเองไปก่อน อย่างเช่น อาจารย์โมชิซึกิ จุน (Jun Mochizuki) เจ้าของผลงานเรื่อง บันทึกแวมไพร์วานิทัส ที่ได้ปรึกษาต้นสังกัดอย่าง Square Enix ว่าจะขอหยุดการตีพิมพ์ผลงาน โดยให้เหตุผลว่า การทำงานของอาจารย์ยังเป็นแบบอนาล็อกอยู่มาก และยังจำเป็นที่ต้องให้ทีมผู้ช่วยมานั่งทำงานรวมกัน ณ กรุงโตเกียวทุกๆ เดือน และเพื่อเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจารย์จึงขอหยุดการทำงานเพื่อความปลอดภัยเป็นการชั่วคราว
เหตุการณ์ก็ยังดูไม่ร้ายแรงมากนัก จนกระทั่งช่วงวันที่ 7 เมษายน ปี 2020 นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ (Abe Shinzō) ได้ทำการประกาศภาวะฉุกเฉิน ในพื้นที่หกจังหวัดประกอบไปด้วย โตเกียว, คานากาวะ, ไซตามะ, จิบะ, โอซาก้า และเฮียวโงะ ซึ่งเป็นจังหวัดในญี่ปุ่นที่ช่วงเวลาราวๆ หนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีกิจกรรมสุ่มเสี่ยงให้เกิด super spreader หลายกิจกรรม
ซึ่งผลสุดท้ายสำนักพิมพ์ใหญ่ในญี่ปุ่นก็เริ่มพบกับปัญหาตามมาจนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ทางสำนักพิมพ์ Shogakukan ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2020 ว่ามีพนักงานภายในบริษัทติดเชื้อ COVID-19 และทำให้ทำทางบริษัทต้องปิดบริษัทเพื่อทำการฆ่าเชื้อ และสั่งให้พนักงาน work from home ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมเช่นกัน
ทาง Shueisha อาจจะประสบปัญหาหนักกว่าเมื่อมีการประกาศข่าวช่วงวันที่ 7 เมษายน ปี ค.ศ.2020 ว่าสมาชิกท่านหนึ่งของกองบรรณาธิการนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ มีอาการไข้สูงกะทันหัน และรอผลการตรวจอยู่ว่าจะติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ แม้ว่าจะมีการยืนยันว่าพนักงานท่านดังกล่าวไม่ได้ติดต่อกับนักเขียนท่านใดโดยตรง แต่ทางกองบรรณาธิการนิตยสารเจ้าใหญ่ได้ตัดสินใจยุติการทำงานของกองบรรณาธิการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว และเลื่อนการจำหน่ายนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ ฉบับที่ 20 ไปหนึ่งสัปดาห์
ฝั่งอเมริกา อาจจะไม่ได้มีข่าวชวนตกใจออกมาให้เห็นชัดเจนนัก (ณ ช่วงเวลาที่เขียนบทความ) แต่ก็มีข่าวใหญ่ที่ว่า อุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนคอมิกส์ของอเมริกา ตัดสินใจหยุดการตีพิมพ์การ์ตูนรายสัปดาห์หลายเจ้า เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี ส่วนเจ้าใหญ่ที่คนคุ้นเคยกันในระดับนานาชาติอย่าง Marvel, DC และ Archie ไม่ได้ยุติการตีพิมพ์แบบเล่มโดยสมบูรณ์ แต่ก็จะมีการวางจำหน่ายหนังสือการ์ตูนเล่มพิมพ์น้อยลงในเดือนเมษายน และวางจำหน่ายในแบบดิจิทัลมากขึ้น แต่สุดท้ายก็มีกาคาดว่า อาจจะต้องมีการหยุดตีพิมพ์เช่นกัน เพราะแม้ว่า Marvel, DC และ Archie อาจจะมีสายป่านยาว แต่พวกเขายังต้องให้ความสำคัญกับการขายงานแบบเล่มพิมพ์จริง และการออก E-Book หมดทุกเล่มนั้นจะทำให้ตลาดเล่มพิมพ์หมดความหมายด้วยการโดนสปอยล์ได้
ทั้งนี้ตัวนักเขียนการ์ตูนหลายประเทศอาจจะปลอดภัยดี เพราะ work from home กันเป็นหลัก แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ขายของไม่ได้ก็จะทำให้ไม่มีรายได้เพื่อเดินงานตัวเอง หรือส่งผลต่อการจ่ายค่าจ้างผู้ช่วยในอนาคต
ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็เป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็นการไม่มีการ์ตูนเล่มใหม่ออกวางขายเลยในช่วงเวลาระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเพื่อรักษาชีวิตคนทำงาน หรือเพื่อรักษาสภาพคล่องของอุตสาหกรรมให้กลับมายืนใหม่ได้ในวันพรุ่งก็ตามที
ปัญหาที่เกิดกับงานอนิเมชั่น
ฝั่งอนิเมชั่นนั้น ความจริงแล้วมีผลกระทบออกมาให้เห็นกันบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2020 จากการที่มีการ์ตูนอนิเมะบางเรื่องในญี่ปุ่นต้องเลื่อนฉายไปบ้าง อันเป็นผลจากที่งาน outsource ส่วนหนึ่งจากประเทศจีนไม่สามารถส่งมาทันตามกำหนดได้จากการประกาศปิดเมืองหลายเมือง
กระนั้นเมื่อเวลาผ่านมาถึงเดือนเมษายน ที่ COVID-19 กระจายตัวไปหลายทวีปทั่วโลกมากขึ้นก็เกิดผลร้ายชัดเจนกว่าเดิม เพราะกลายเป็นว่าคนป่วยเริ่มลามมาถึงบุคลากรอุตสาหกรรมอนิเมะโดยตรงในประเทศญี่ปุ่นแล้ว แม้ว่าตัวอนิเมะที่ยังฉายในช่วงเดือนเมษายนกับพฤษภาคม อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากงานเหล่านี้ถูกจัดทำไว้ล่วงหน้าก่อนหนึ่งแล้ว
แต่ถ้ามองตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปอาจจะมีปัญหาเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ละม้ายคล้ายกับฝั่งละครทีวีและภาพยนตร์ในหลายประเทศ ที่การ work from home ไม่สามารถรันให้งานเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ หรือถ้างานเดินก็จำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อรองานให้เสร็จสมบูรณ์ที่สุดก่อนจะนำไปฉายได้ก็ตามที
ปัญหาข้างต้นนั้นทำให้มีตัวอนิเมะแบบทีวีซีรีส์ประกาศเลื่อนกำหนดฉายออกไปบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อนิเมะเรื่องชีวิตรักวัยรุ่นของผม ไม่สดใสเลยสักนิด ซีซั่นที่สามได้เลื่อนการฉายออกไปก่อน โดยระบุชัดเจนว่าเป็นผลจาก COVID-19 แต่ยังไม่ระบุว่าจะฉายตอนใหม่เมื่อใด ซึ่งในช่วงกลางเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2020 น่าจะมีการประกาศวางตัวของสตูดิโอผู้ผลิตอนิเมะต่อสถานการณ์ COVID-19 ชัดเจนขึ้น เพราะส่วนใหญ่งานของสตูดิโอยังต้องวิ่งวนไปทำงานกับบุคคลอื่นในบริษัทตัวเอง
อีกส่วนที่เห็นภาพชัดเจนก็คงเป็นภาพยนตร์อนิเมะจำนวนมาก ที่ปกตินิยมเข้าฉายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่ตามปกติแล้วจะเป็นช่วงท้ายของปิดเทอม แต่เมื่อเกิดการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้โรงภาพยนตร์ในเมืองใหญ่อย่าง โตเกียวต้องปิดทำการและไม่สามารถจัดอีเวนต์อื่นใดควบคู่ได้โดยง่าย เลยมีภาพยนตร์ดังๆ หลายเรื่องที่ประกาศเลื่อนฉายไปอย่างไม่มีกำหนดไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์โดราเอมอน ภาค Nobita No Shinkyoryu, ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ภาค Hiiro No Dangan, แม่มดน้อยโดเรมี ภาค Majo Minarai O Sagashite, เครยอนชินจัง ภาค Gekitotsu! Rakuga Kingdom To Hobo Yonin No Yusha, Fate/Stay Night: Heaven’s Feel ภาค III spring song ฯลฯ
สตูดิโออนิเมชั่นในโลกตะวันตกอาจจะโชคดีกว่าสักหน่อย ตรงที่งานผลิตแบบกระโดดข้ามไปด้านดิจิทัลค่อนข้างชัดเจนมาหลายปีแล้ว และการ work from home ไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก (ตราบเท่าที่อนิเมเตอร์ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับอนิเมชั่นเรื่องต่างๆ ยังเก็บความลับไว้ได้) แต่จะมีผลกระทบบ้างในเงื่อนเวลาที่งานจะเสร็จช้ากว่าปกติและมีการเลื่อนฉายอนิเมชั่นบางเรื่องไปบ้างเป็นต้น
กระนั้นงานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับอนิเมชั่น ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ก็คืองานพากย์ ที่ห้องบันทึกเสียงหลายแห่งได้ปิดทำการชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของห้องบันทึกเสียงเอง หรือเป็นผลจากการปิดเมืองก็ตามที เพราะในการพากย์นั้น มีทั้งส่วนที่นักพากย์จะต้องเข้ามาร่วมให้เสียงพร้อมกันหลายคน หรือต่อให้ทำการพากย์เสียงทีละคนแยกกัน สภาพห้องปิดและมีวัสดุกันเสียงรวมถึงตัวไมค์พากย์ อาจจะติดเชื้อไวรัสได้โดยง่ายอยู่นั่นเอง
ปวดเศียรเวียนเกล้ากับการ งด/เลื่อน จัดงานอีเวนต์ต่างๆ
อีกส่วนที่ถือว่าเป็นงานสร้างรายได้ให้กับบริษัทที่เกี่ยวดองกับอุตสาหกรรมการ์ตูนหลายๆ บริษัทก็คือการออกงานอีเวนต์ต่างๆ ที่สามารถทำรายได้เข้าสู่บริษัทที่ร่วมงานเหล่านั้นโดยตรง หรืออย่างน้อยที่สุดก็สร้างการรับรู้ว่า ณ เวลานี้ บริษัทต่างๆ มีผลงานอะไรที่กำลังจะออกมาให้ติดตามกัน
เมื่อพูดถึงงานอีเวนต์ย่อมตามมาด้วยการรวมตัวของผู้คนมหาศาล ซึ่งเป็นตัวสร้างความเสี่ยงสูงปรี๊ดในการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 นั่นเอง ทำให้มีงานอีเวนต์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการ์ตูนและสื่อบันเทิงอื่นๆ โดนยกเลิกไปหลายงานแล้วตั้งแต่เเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ยกตัวอย่างเช่น งาน AnimeJapan งานแสดงสินค้าของอุตสาหกรรมการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น ที่ปกติแล้วมักจะเป็นงานเปิดตัวผลงานน่าสนใจของปีนั้นๆ ในงานนี้ และมีการติดต่อซื้อขายลิขสิทธิ์จากหลายประเทศทั่วโลกในตัวงานได้เลยเช่นกัน ซึ่งงานประจำปี ค.ศ.2020 ก็ถูกประกาศยกเลิกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2020 และทำให้การ์ตูนหลายเรื่องต้องออกมาประกาศเปิดตัวผ่านรายการออนไลน์จนมีความเงียบเหงาไปสักเล็กน้อย
งาน Comic Market หรือ COMIKET งานโดจินชิ (สินค้าทำมือ) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ก็อยู่ในภาวะก้ำกึ่งว่าจะจัด หรือไม่จัดงานอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ความสบายใจก็มาถึงทั่วทุกฝั่ง เมื่อทีมผู้จัดงานตัดสินใจยกเลิกการจัดงานครั้งที่ 98 แต่ก็แจ้งตรงๆ กับผู้สนใจงานทุกคนว่าอยากจะให้อุดหนุนแคตตาล็อกเพื่อเป็นรายได้ในการจัดการงานต่อไปในอนาคต
ฝั่งโลกตะวันตกนั้น ณ เวลานี้งานแนว ‘คอมิคคอน’ (Comic-Con / Comic Convention) ที่รวมสรรพสิ่งเกี่ยวกับการ์ตูนมาไว้ในงาน ก็มีการประกาศเลื่อนการจัดงานไปแล้ว อาทิ งาน WonderCon Anaheim 2020 ที่เดิมที่มีกำหนดจัดงานในช่วงวันที่ 10-12 เมษายน ปี ค.ศ.2020 ก็ถูกยกเลิกไป หรืองาน Denver Pop Culture Con ที่มีกำหนดจัดงานช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.2020 ก็ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการจัดงานไปอยู่ที่ช่วงเดือนพฤศจิกายนแทน
ส่วนงานใหญ่ที่มีทั้งค่ายหนัง, ค่ายเกม, ดารา และสื่อมวลชน มาร่วมงานแบบคับคั่งอย่าง San Diego Comic-Con International ก็ยังคาดหวังว่าจะสามารถจัดงานได้เพราะยังเหลือเวลาราว 4 เดือนก่อนที่งานจะจัดขึ้นและช่วงนั้นสถานการณ์อาจจะดีขึ้นแล้ว
ในประเทศไทยเอง ก็มีการยกเลิกงานอีเวนต์ที่สายการ์ตูนเข้าไปแทรกซึมอยู่ไปหลายงานแล้ว ที่โดดเด่นคงจะไม่พ้นการยกเลิกการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวมถึงงานอื่นๆ อีกหลายงาน ที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นแม่งาน โดยไปโฟกัสการจัดอีเวนต์บนโลกออนไลน์กันแทน
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกอันที่จะกระทบอุตสาหกรรมการ์ตูนในไทยอย่างแน่นอนก็คือ การปรับเปลี่ยนวันเปิดเรียนของนักเรียนทั่วประเทศ ที่ทางคณะรัฐมนตรีของไทยอนุมัติการปรับเวลาให้ไปเปิดเทอมในช่วงเดือนกรกฎาคม และจะงดการปิดเทอมในเดือนตุลาคมไปแทน
การขยับปิดเทอมนี้ นอกจากที่นักเรียนจะร้องเหวอกับการเรียน คุณครูต้องสะพรึงกับการวางแผนการสอนให้ต่อเนื่อง ส่วนคนทำงานในอุตสาหกรรมการ์ตูนก็ได้แต่อ้าปากค้างเพราะปกติแล้ว เดือนตุลาคม จะเป็นเดือนที่จัดอีเวนต์หลายอันรับช่วงปิดเทอมนั่นเอง ดังนั้นก็คาดการณ์ได้คร่าวๆ ว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิบของปี (หากสถานการณ์กลับเป็นปกติ) ก็ย่อมจะพร่องลงจากที่เป็นปกติอยู่ทีเดียว
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่การ์ตูนใหม่ๆ อาจออกมาให้เห็นลดลงไปจากเดิมไปบ้าง แต่ในทางกลับกันเกือบจะทุกธุรกิจสายการ์ตูนทั่วโลกต่างก็เปิดคลังของตัวเองให้เปิดอ่าน หรือรับชมการ์ตูนกันแบบฟรีๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง ราวกับนัยยะที่อยากจะบอกทุกคนที่ชื่นชอบการ์ตูนว่า หากทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว เราจะมาร่วมกันแบ่งปันความสนุกสนานกันอีกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Anime News Network 1, 2, 3, 4, 5