หนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและเป็นวงศ์ของสัตว์ฟันแทะ โดยปกติแล้วมักจะมีขนาดตัวไม่ใหญ่นัก มีหางยื่นยาวออกมาชัดเจน และมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือฟันหน้าที่สามารถยืดยาวออกมาได้ตลอดชั่วชีวิต จนทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทนี้จำเป็นต้องขบกัดวัตถุใดๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อให้ฟันถู่ลงไม่งอกเงยจนคับปาก หรือทะลุปาก ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของหนูได้โดยตรง
นอกจากนี้ ‘หนู’ ยังเป็นสัตว์ที่ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย หรือพื้นที่ชุ่มน้ำสกปรกอย่างท่อระบายน้ำ และด้วยสภาพร่างกายที่บีบให้ต้องทำการกินและขับถ่ายบ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้มันจึงมีด้านที่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์อย่างชัดเจนในการบุกเข้ามาขโมยของกินในบ้าน แถมด้วยการกัดจิกเจาะทำลายวัตถุในบ้าน ทั้งโต๊ะตู้ตั่งเตียง ลามไปยันสายไฟ หรือเจาะรู้อยู่ในกำแพง และเลวร้ายสุดๆ คือหนูสามารถเป็นพาหะของโรคร้ายหลายชนิดอีกด้วย
แต่ช้าก่อน เมื่อกี้นี้เป็นเพียงมุมเลวร้ายของหนูเท่านั้น เพราะหนูยังมีอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน อย่างเช่นในด้านวิทยาศาสตร์มักจะนิยมใช้สัตว์จำพวกหนูมาใช้ในการทดลองในสภาพแวดล้อมปิด เนื่องจากหนูมีวงจรชีวิตสั้น เพาะพันธุ์ได้ง่าย จึงมีผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นยาให้มนุษย์อย่างเช่น เพนิซิลลิน ก็มาจากการทดลองในหนูนี่เอง และทำให้มีการสร้างอนุเสาวรีย์อุทิศให้เหล่าหนูทดลองขึ้นที่เมืองโนโวซีบีสค์ (Novosibirsk) ประเทศรัสเซีย (แต่ในช่วงหลังนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามที่ลดละเลิกการใช้สัตว์ทดลองแล้วนะ อ่านรายละเอียดกัน ที่นี่)
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘หนู’ สามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หนูนอร์เวย์ หรือหนูหริ่งบ้าน ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยจากการพบพานกันในครัว ก็มีการเพาะเลี้ยงหนูที่เนื้อตัวสะอาดเพื่อให้มาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ หรือถ้าจะมองข้ามไปญาติใกล้เคียงอย่างหนูแฮมสเตอร์ก็เป็นที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเช่นกัน
และหนูยังสามารถใช้เป็นอาหาร หรือถลกหนังเอามาทำเป็นเครื่องนุ่มห่มได้ด้วย เพียงแค่ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ฮิตเหมือนกับอดีตกาลที่ห่างไกลเท่าใดนัก
เราเสวนาเรื่องหนูกันมานานนม และเห็นได้ว่าหนูมีเรื่องราวมากมาย แต่กลับไม่ค่อยมีวันสำคัญใดๆ อุทิศให้สิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ ด้วยเหตุนี้เลยมีคนกลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งให้วัน 4 เมษายน ของทุกปี เป็น วันหนูโลก (World Rat Day) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 เพื่อเป็นการระลึกถึงความพิเศษของสัตว์ประเภทนี้ที่อยู่เคียงข้างมนุษย์มาอย่างยาวนาน
อีกส่วนที่เราอยากจะพูดคุยกันในวันนี้ก็คือ ถึงหนูในชีวิตจริงอาจจะน่ากลัวไปบ้าง แต่หนูที่อยู่ในโลกการ์ตูนนั้นกลับถูกจดจำในฐานะตัวละครน่ารักน่ากอด น่าฟัด และเราจึงอยากจะบอกเล่าหนูที่โดดเด่นในโลกเห็นการ์ตูนเป็นที่ระลึกรับวันหนูโลกกัน
Hamtaro
กองทัพหนูน่ารักจากญี่ปุ่น เป็นหนังสือการ์ตูนที่เขียนโดยอาจารย์ ริตซึโกะ คาวาอิ (Kawai Ritsuko) ที่เดิมทีเธอเอาประสบการณ์การเลี้ยงแฮมสเตอร์มาแต่งเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กก่อนจะปรับมาตีพิมพ์ในลักษณะมังงะสำหรับเด็ก หลังจากนั้นจึงถูกสร้างเป็นอนิเมะออกฉายครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.2000 โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากตัวมังงะไปบ้าง เพื่อจูงใจคนดูกลุ่มใหม่มากขึ้น และนั่นทำให้ก๊วนหนูป่วนจะโด่งดังเป็นพลุแตกในหลายๆ ประเทศ จนมีสินค้าข้างเคียงออกมามากมายที่ทำให้หลายท่านต้องเปย์เงินมานับต่อนับเพราะความน่ารักของแฮมทาโร่กับผองเพื่อน
อีกอย่างหนึ่งที่มาจากอนิเมะเรื่องนี้ก็คือเพลง ‘แฮมทาโร่’ ที่มีท่วงทำนองติดหัวได้อย่างง่ายๆ แต่ทำไมไม่รู้ในช่วงหลังเพลงแฮมทาโร่กลายเป็นที่นิยมในการยิงมิกซ์ หรือการเต้น Wotage ที่เป็นการเชียร์ตามจังหวะเพลงไอดอลของญี่ปุ่นไปเสียได้
Remy
บอกเป็นชื่ออาจงงๆ สักหน่อย แต่ถ้าบอกว่าเจ้าหนูตัวนี้คือ ตัวเอกของภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Ratatouille ของทาง Pixar นั่นเอง ตามท้องเรื่อง Remy เป็นหนูที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มาพร้อมกับทักษะการรับรู้กลิ่นและความชื่นชอบอาหารชั้นดี ทำให้เจ้าหนูตัวนี้อยากจะเป็นเชฟ ติดอย่างเดียวคือ สำหรับร้านอาหารที่จริงจังในเรื่องความสะอาดแล้ว หนูถือเป็นสิ่งต้องห้าม แม้ว่าเจ้า Remy จะพยายามทำความสะอาดตัวเองเท่าที่ทำได้แล้วก็ตาม จนกระทั่งวันหนึ่ง Remy ได้เจอกับ Alfredo Linguini เด็กฝึกงานในร้านอาหารชื่อดังแต่ฝีมือทำอาหารไม่เอาอ่าว ทั้งคู่พบว่าสามารถสื่อสารกันได้ Remy จึงมีโอกาสเข้าไปทำอาหารในครัว โดยการที่ให้หนูอย่าง Remy ควบคุมร่างของ Linguini ด้วยการดึงผม และการทำอาหารของหนึ่งคนกับหนึ่งตัวก็ได้เริ่มขึ้น โดยมีเรื่องราวอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ สุดท้ายแล้วความฝันของคนกับหนูจะลงเอยแบบไหนกัน
Pixar มักจะหยิบเรื่องใกล้ตัวมาใช้เป็นโครงเรื่องเพื่อสร้างความประทับใจ และที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือการให้ตัวละครอย่าง Remy กับ Linguini ต้องสื่อสารกันด้วยภาษากายเป็นหลัก บวกกับความท้าทายในการสร้างอาหารที่ปรากฏในเรื่องให้ดูน่ากินจริงๆ อีกต่างหาก แต่ก็ยังคงความเหนือจริงของการ์ตูนไว้ อย่างการที่ตัว Remy นั้นจริงๆ ควรจะล้างทำความสะอาดตั้งแต่หัวจรดเท้า
ความจริงแล้ว ภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายเรื่องใช้หนูเป็นตัวเอกที่เรายกผลงานเรื่องนี้มาเพราะหลายคนน่าจะคุ้นตามากที่สุด แต่ถ้าสนใจภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ที่มีหนูเป็นตัวเอกก็ยังมีเรื่อง American’s Tale หรือ The Secret of NIMH ที่น่าจดจำแต่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยรับชมกัน
Speedy Gonzales
แฟนการ์ตูนฝั่ง Looney Tunes น่าจะคุ้นเคยกับ ‘เจ้าหนูที่เร็วที่สุดในเม็กซิโก’ ตัวนี้ที่จะมาพร้อมกับคำพูดประจำตัวอย่าง ‘อันดาเล่ อันดาเล่ อันดาเล่ อารีบ้า ยิปป้า ยิปป้า ยิปป้า ยีฮ่าห์! (จริงๆ แล้วเป็นภาษาสเปนที่เขียนว่า ¡Ándale! ¡Ándale! ¡Arriba! ¡Arriba! ¡Epa! ¡Epa! ¡Epa! Yeehaw ที่แปลได้คร่าวๆ ว่า มาเลย! มาเลย! ทางนี้! ทางนี้! เฮ้! เฮ้! ยี้ฮาห์!) และเจ้าหนูตัวนี้มีประวัติยาวนานพอสมควร
แรกเริ่มเดิมที Speedy Gonzales ปรากฏตัวในอนิเมชั่นชุด Cat-Tails for Two ที่ออกฉายในปี ค.ศ.1953 แต่ Speedy เวอร์ชั่นนี้ ไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นที่หลายคนคุ้นเคยในปัจจุบัน จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ.1955 ฟริซ เฟรเลิง (Friz Freleng) กับ ฮาวลีย์ แพรตต์ (Hawley Pratt) ได้นำเอาดีไซน์เดิมของ โรเบิร์ต แมคคิมสัน (Robert McKimson) มาแก้ไข ด้วยการปรับหน้าให้เข้ารูปน่ารัก หดฟันยื่นสไตล์หนูลงไป เปลี่ยนเสื้อเป็นสีขาว ใส่ผ้าพันคอแดง และจับใส่หมวกซอมแบร์โร (Sombrero) สไตล์เม็กซิโก กับนิสัยห้าวหาญที่พร้อมวิ่งข้ามพรมแดนเข้าไปในโรงงานชีสของอเมริกา เพื่อช่วยเหลือหนูเม็กซิโกที่หิวโหย
เมื่อภาพลักษณ์ชัดเจนแล้ว Speedy Gonzales ก็กลายเป็นหนึ่งในตัวละครขาประจำของ Looney Tunes โดยในช่วงแรกมักจะเป็นคู่ปรับกับเจ้าเหมียว Sylvester The Cat ก่อนที่จะมีโอกาสได้แจมกับ Daffy Duck หลายต่อหลายครั้งในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามตัวละครตัวนี้ออกแบบด้วยภาพลักษณ์เหมารวมชาวเม็กซิโก จนทำให้คนอเมริการู้สึกว่าไม่ควรเอาภาพจำเก่าๆ กลับมาใช้เท่าไหร่นัก ตัวละครจึงมีบทเด่นๆ น้อยลง และมักจะกลายเป็นตัวละครรับเชิญมากกว่า แม้ว่าในเม็กซิโก หรือสเปน กลับชื่นชอบเจ้าหนูตัวนี้ก็ตามที
อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าหนูในการ์ตูนจะชื่นชอบชีส แต่สำหรับฝั่ง Speedy Gonsales นั้นเป็นการพยายามการสะท้อนสังคมของชาวเม็กซิโกที่นิยมชีสมากกว่า ส่วนหนูในชีวิตจริงนั้น โดยส่วนใหญ่จะเลี่ยงชีสเพราะมันแข็งเกินไป ยกเว้นว่าเจ้าหนูตัวนั้นจะหิวโซจนยอมแทะชีสนั่นเอง
Pinky and the Brain
เราพูดถึงหนูทดลองไปแล้วในช่วงต้นของบทความ แต่หลายท่านอาจจำสองหนูในห้องทดลองอย่าง Pinky and the Brain ได้แม่นยำกว่า แรกเริ่มเดิมที Pinky and the Brain เป็นหนึ่งใน Skit ที่ฉายในอนิเมชั่นชุด Animaniacs ที่ฉายครั้งแรกในปี ค.ศ.1993 แต่ไม่รู้ว่าเพราะแผนของ Brain หรือความน่ารักของ Pinky ทำให้ทั้งสองตัวออกมามีซีรีส์แยก Pinky and the Brain ในปี ค.ศ.1995-1998 ตามด้วย Pinky, Elmyra & the Brain ในช่วงปี ค.ศ.1998-1999
เจ้าหนูทั้งสองตัวนี้เป็นหนูทดลองภายใน Acme Labs ที่ทำการทดลองเพื่อเพิ่มสติปัญญาความรู้ให้กับเหล่าหนู ซึ่งแผนงานนี้ถือว่า สำเร็จในทางเทคนิค เมื่อ Brain (ที่เจ้าตัวเคยเคลมว่าชื่อของตัวเองมาจาก ‘Biological Recombinant Algorithmic Intelligence Nexus’ แต่เหมือนจะเป็นการโมเมขยายชื่อตัวเอง) มีสติปัญญาที่เฉียบแหลมมากพอจนคิดว่าเจ้าตัวควรจะครองโลก และมี Pinky เป็นเพื่อนร่วมกรงขัง ที่เหมือนจะทดลองสำเร็จเหมือนกันแต่ทำตัวต๊องๆ บ๊องๆ หน่อย ซึ่งการใช้ชีวิตของหนูสองตัวในแต่ละวันก็แทบจะไม่มีอะไรมากนอกจากพยายามวางแผนยึดครองโลก ก่อนที่แผนจะล่มด้วยเหตุอะไรบางอย่าง และเมื่อ Elmyra Duff มาร่วมแสดงในเรื่อง ความเป็นเด็กที่อยากจะแสดงความรักต่อหนูทั้งสองตัว อย่างไม่ลดละ ทำให้ Pinky นั่นแฮปปี้แต่ Brain ต้องคิดแผนซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นเพื่อรับมือความความเวียนเฮดที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าชะตาชีวิตจองหนูทดลองสองตัวนี้อาจจะดีกว่าหนูทดลองตัวอื่นๆ ตรงที่ถูกรับเลี้ยงในภายหลัง แต่หลายคนคงจดจำประโยคในเรื่องที่บอกว่า “วันนี้เราจะทำอะไรดี เบรน” “ก็เหมือนเดิมล่ะพิงกี้ ยึดครองโลก” มากกว่าวีรกรรมที่หนูสองตัวนี้เคยทำได้เสียอีก
Jerry (& Tom)
อีกหนึ่งหนูจากโลกการ์ตูนที่หลายคนน่าจะนึกถึง Jerry Mouse หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ Hanna-Barbera สร้างให้ทาง MGM และมีอายุอานามเข้าหลัก 80 ปีไปแล้ว
เดิมทีแล้วเจ้าหนูตัวนี้ปรากฏในฐานะตัวละครสองตัวที่ก่อความป่วนต่อกันและกัน ในภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง Puss Gets The Boot ในปี ค.ศ.1940 และก็เหมือนกับตัวการ์ตูนในช่วงเวลาดังกล่าวที่มักจะโดนปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมขึ้น และเจ้าหนูในเวอร์ชั่นแรกที่ วิลเลี่ยม ฮันน่า (William Hanna) ระบุว่าชื่อ Jinx แต่ โจเซฟ บาเบร่า (Joseph Barbera) บอกว่าไม่ได้ตั้งชื่อไว้ จึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนดีไซน์มาเล็กน้อย และได้มีการเปลี่ยนชื่อเจ้าหนูเป็น Jerry แทน และตัวละครแมวก็ถูกพัฒนามาเป็น Tom ส่วนการนำเสนอยังคงเป็นตลกเจ็บตัวเหนือจริงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin)
Jerry กับ Tom กลายเป็นตัวละครคู่หูคู่กัดในโลกการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากการที่อนิเมชั่นขนาดสั้นของ Tom & Jerry สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ 7 ครั้ง และตัว Jerry ยังเคยแสดงภาพยนตร์สั้นร่วมกับคนจริงในภาพยนตร์ Anchors Aweigh และปรากฏตัวร่วมกับ Tom ในภาพยนตร์ Dangerous When Wet
เมื่อเวลาผ่านไป Jerry กับ Tom ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา อย่างเช่น ส่วนใหญ่แล้ว Jerry มักจะเป็นผู้ชนะในการต่อสู้ระหว่างแมวกับหนู ก่อนที่ภายหลังจะมีตอนที่ Tom ชนะ ก่อนจะมีตอนที่ทั้งสองตัวร่วมมือกัน หรือแพ้ด้วยกันเช่นกัน และเมื่อถึงยุคโทรทัศน์รุ่งเรืองก็มีการปรับเปลี่ยนให้เรื่อง Jerry กับ Tom ให้รุนแรงน้อยลง รวมถึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ไปอีกเล็กน้อยตามยุคสมัย นอกจากนี้ในช่วงต้นปี ค.ศ.1990 Jerry กับ Tom ก็มีภาคแยกที่ใช้ชื่อว่า Tom & Jerry Kids ที่เจาะผู้ชมยุคใหม่มากขึ้น
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว ทั้ง Jerry และ Tom จะเป็นตัวละครใบ้ตามวิสัยที่ผู้สร้างดั้งเดิมตั้งใจไว้ แต่ก็มีบางครั้งที่ตัวละครทั้งสองจะออกมาพูดภาษาอังกฤษด้วยเสียงเข้มขัดกับหน้าตาอยู่บ้าง
สถานะล่าสุดของ หนูกับแมวคู่นี้คือ การถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ผสมกันระหว่างฉากคนแสดง กับฉากอนิเมชั่นที่ โคลอี เกรซ มอเรตซ์ (Chloë Grace Moretz) รับบทเป็นเด็กหญิงที่ทำงานในโรงแรมจนได้เจอกับ Jerry จนต้องพา Tom มาไล่หนูอีกครั้ง และจะได้ ไมเคิล พีน่า (Michael Peña) มารับบทเป็นหัวหน้าในโรงแรม ที่ทำหน้าที่ตัวร้ายของเรื่อง ตัวภาพยนตร์เคยวางกำหนดฉายในช่วงปลายปี ค.ศ.2020 แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนการเข้าฉายในอนาคต
Mighty Mouse
ไม่ใช่นก ไม่ใช่เครื่องบิน แต่นี่คือ Mighty Mouse ตัวละครหนูที่แค่เห็นก็พอจะรู้ได้ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับ Superman แน่ๆ นั่นเพราะเดิมที พอล เทอร์รี (Paul Terry) จาก Terrytoons ออกแบบตัวละครตัวนี้มาให้เป็น ‘Super Mouse’ เมื่อปี ค.ศ.1942 ในฐานะตัวละครล้อเลียน Super Man กระนั้นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครไม่ได้มาจากทางที่ DC Comics มาฟ้องร้องแต่มาจากการที่มีตัวละคร Super Mouse อีกตัวที่ใช้ชื่อไปก่อนแล้ว ทำให้ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนรายละเอียด ทั้งชื่อและเครื่องแต่งกาย ส่งผลให้ซูเปอร์ฮีโร่หนู ใส่ชุดเหลืองผ้าคลมแดงตามมาในที่สุด
ปกติแล้วเนื้อเรื่องของ Mighty Mouse ก็จะใกล้เคียงกับ Superman ที่เป็นต้นฉบับ แต่จะต่อสู้กับสัตว์ หรือมนุษย์ที่ทำร้ายเหล่าหนู รวมถึง Pearl Pureheart หนูสาวที่ตัวเอกชื่นชมอยู่ด้วย เนื่องจาก Terrytoons โดนซื้อสิทธิ์ตัวละครไปค่อนข้างเร็ว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของ Mighty Mouse อยู่มาก ทั้งต้นกำเนิดพลังที่มีฉบับหนึ่งระบุว่าหนูตัวนี้มีพลังมาตั้งแต่เริ่มแล้ว แต่ฉบับหนึ่งบอกว่าเป็นพลังจากยาวิเศษ และในฉบับหลังๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยม
Mighty Mouse หายหน้าหายตาไปจากสื่อกระแสหลักเนื่องจากสิทธิ์ของตัวละครแยกย้ายไปตามบริษัทผู้ถือครองสิทธิ์จนกระทั่งปี ค.ศ.2019 ที่มีการประกาศคร่าวๆ ว่า ทาง Paramount Animation ตั้งใจจะชุบชีวิตหนูจอมพลังให้คืนชีพอีกครั้ง รวมถึงทาง CBS กับ Viacom ที่ถือสิทธิ์ของตัวละครนี้ได้มารวมบริษัทกันแล้ว ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นหนูตัวนี้บินกลับมาโลดแล่นกันในอนาคต
Splinter
ถึงจะไม่ใช่ตัวเอก แต่อาจารย์ Splinter จากการ์ตูนชุด Teenage Mutant Ninja Turtles ก็เป็นตัวละครหนูในโลกการ์ตูนที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร ตัวละครตัวนี้รับหน้าที่เป็นทั้งอาจารย์และพ่อเลี้ยงของเหล่านินจาเต่า ถือว่ามีความวุ่นวายในเชิงรายละเอียดอยู่มาก
ในหนังสือการ์ตูนคอมิกส์ฉบับปี ค.ศ.1984 (รวมถึงฉบับภาพยนตร์คนแสดงปี ค.ศ.1990) ระบุว่า Splinter เป็นสัตว์เลี้ยงของนินจาญี่ปุ่นนาม Hamato Yoshi ที่ฉลาดมากพอจะจดจำวิชานินจาที่อาจารย์ฝึกฝน ก่อนที่จะกลายพันธุ์และอาศัยอยู่ภายในท่อระบายน้ำของกรุงนิวยอร์กร่วมกับนินจาเต่า แต่ถ้าในเวอร์ชั่นการ์ตูนอนิเมชั่นฉบับปี ค.ศ.1987 จะระบุว่าจริงๆ Splinter ก็คือตัว Hamato Yoshi นั่นล่ะ แต่ถูกทำให้กลายพันธ์รวมร่างเข้ากับหนูจนกลายเป็นมนุษย์หนูไป และถ้าเอาคอมิกส์เวอร์ชั่นของ IDW กับภาพยนตร์ชุดที่ออกฉายในปี ค.ศ.2014 จะตีความว่า ทั้ง Splinter และนินจาเต่า ถูกจับตัวมาทดลองก่อนที่จะกลายพันธุ์อีกทีหนึ่ง (มึนจังค่ะพี่ชาย!)
แต่ไม่ว่าที่มาที่ไปของ Splinter จะเป็นอย่างไร หน้าที่การเป็นพ่อกับอาจารย์ที่มีความฉลาด และเฮี้ยบในการฝึกฝนนินจาเต่าเพื่อต่อสู้กับภัยร้าย หรือจะล้างแค้นก็ตามแต่เช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว Splinter มักจะใส่เสื้อคลุมละม้ายคล้ายจอมยุทธ์จีน หรือโรนินจากญี่ปุ่น และในบางเวอร์ชั่น Splinter จะกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีกด้วย
Micky Mouse
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเราจะลืมไป แต่เปล่านะครับ Micky Mouse เป็นการสร้างตัวละครของ Walt Disney ร่วมกับ Ub Iwerks เพื่อมาทดแทนตัวละคร Oswald the Lucky Rabbit และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งการเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ใส่เสียงไป ก่อนจะมีโอกาสได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์กว่า 130 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้น หรือ ภาพยนตร์ขนาดยาวก็ตามที
Mickey Mouse ยังกลายเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ ที่มีมูลค่าอย่างยิ่งกับทาง Disney อย่างการเปิดสวนสนุก Disneyland ที่มี Mickey Mouse กับผองเพื่อนเป็นตัวละครแกนกลางหลัก จนรู้ตัวอีกทีหนูตัวนี้ก็ส่งผลต่อธุรกิจของสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อย ในระดับที่ประเทศอเมริกาต้องออกกฎหมาย ‘Sonny Bono Copyright Term Extension Act 1998’ หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘กฎหมายมิคกี้เม้าส์’ (Mickey Mouse Act) เพื่อยึดขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของหนูชื่อดังจากเดิม 50 ปี ไปเป็น 70 ปี ก่อนจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมว่า Mickey Mouse จะถูกคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์อย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ.2023
เหตุผลหนึ่งในการออกฎหมายขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เชื่อว่ามาจากความเกรงกลัวว่า ถ้าหาก Mickey Mouse กลายเป็นสาธารณสมบัติ รายได้ก้อนใหญ่ในธุรกิจหลายตัวที่ Disney ข้องเกี่ยวด้วยจะกลายเป็นศูนย์ เพราะใครก็สามารถผลิตของสินค้าออกมาขายได้นั่นเอง
ผลพวงหลายประการทำให้มีคนส่วนหนึ่งเชื่อว่า ช่วงเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา Disney ยอมทุ่มเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินทางปัญญาหลายตัว อาทิ Pixar, Marvel หรือ Star Wars เป็นการกระทำเพื่อขยายธุรกิจไม่ต้องพึ่งพาเพียงตัวละครยุคเก่าเท่านั้น และด้วยการกว้านซื้อสิทธิ์รวมถึงแสดงความชัดเจนในการรักษาสิทธิ์ของตนเองอย่างยิ่ง จึงทำให้มีหลายคนมอง Mickey Mouse เป็นตัวร้ายมากขึ้น
แต่สำหรับเราแล้ว เราคิดว่า Mickey Mouse เพียงแค่พัฒนาตนเองเป็น ‘เสี่ยหนู’ โดยไม่พึ่งพาพืชสมุนไพร หรือแป้งก็เท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก