เฌอเอม – ชญาธนุส ศรทัตต์ บางคนน่าจะคุ้นหูชื่อของเธอ จากการเป็นนางแบบที่ดูเต็มไปด้วยความมั่นใจ ทั้งยังมีทัศนคติโดดเด่น บางคนอาจจดจำเธอในฐานะหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเวทีนางงาม และบางคนก็เริ่มจดจำเธอในฐานะหญิงสาวที่ร่วมไปแสดงออกความเห็นที่ฉะฉานในเวทีทางสังคม
วันนี้ The MATTER จะชวนมารู้จักอีกมุมหนึ่งของเธอที่หลายท่านอาจจะเคยสังเกตเห็นบ้างแล้ว แต่ในขณะเดียวกันหลายท่านก็อาจจะยังไม่ทราบว่า เธอนั้นเป็นแฟนการ์ตูนตัวยง แถมครั้งหนึ่งเธอยังเคยมีความฝันจะเป็นนักวาดการ์ตูนเสียด้วย แม้ว่าในวันนี้เส้นทางการงานของเธอจะเปลี่ยนมาอีกทิศทางหนึ่งแล้ว แต่การ์ตูนก็ยังให้ความบันเทิงกับเธอ และบางเรื่องก็ให้มุมมองที่ส่งผลให้ เฌอเอมมีทัศนคติที่โดดเด่นจนทำให้หลายคนจดจำเธอได้อีกด้วย
เพราะฉะนั้นวันนี้เราขอเชิญทุกท่านมาติดตามกันว่าเธอคนนี้ รู้จักมักคุ้นกับการ์ตูนมากขนาดไหน
The MATTER : สวัสดีครับ จริงๆ ทางทีม The MATTER กับ Salmon House บางท่านก็ยังไม่เชื่อว่าคุณเฌอเอมเป็นแฟนการ์ตูนเหมือนกัน?
เฌอเอม : อ้าว จริงเหรอคะ (หัวเราะเสียงใส) ก็ดีนะคะ คนจะได้รู้กัน เอมเป็นแฟนการ์ตูนค่ะ เป็นมาประมาณ 12 ปี ได้ แล้วก็น่าจะเรียกว่าเนิร์ดการ์ตูนได้อยู่เหมือนกันค่ะ
The MATTER : เคยเห็นเฌอเอมร้องเพลงเซนต์เซย์ย่าด้วย เลยอยากถามว่า มาชอบการ์ตูนได้อย่างไร?
เฌอเอม : คือเอมเป็นลูกหลงค่ะ ตอนที่เกิดมาพี่ชายพี่สาวก็โตหมดแล้ว พอเล่นในบ้านคนเดียว เราก็จะอ่านหนังสือ แล้วพี่สาวเอมก็จะเป็นคนชอบอ่านการ์ตูน แต่เขาจะอ่านการ์ตูนผู้หญิง อย่างการ์ตูนโชโจงานสำนักพิมพ์บงกชเป็นหลัก เรียกได้ว่าโตขึ้นมากับการ์ตูนตาหวานก่อน แล้วพี่ชายก็จะชอบอ่านการ์ตูนผู้ชาย อย่างเซย์ย่า, คนเก่งฟ้าประทาน, ล่าอสูรกาย, ยอดกุ๊กแดนมังกร อะไรประมาณนั้น หนูก็อ่านตามเขา
แล้วกลายเป็นว่าเรามีเพื่อนเป็นการ์ตูน เพราะพ่อแม่เอมไม่ให้ออกจากบ้าน ด้วยสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราที่มันไม่ค่อยปลอดภัย กลัวออกไปแล้วโดนลักพาตัวอะไรแบบนี้ การ์ตูนก็เลยกลายเป็นโลกเดียวของเราค่ะ เราเรียนรู้โลกภายนอกผ่านหนังสือพวกนี้ เลยกลายเป็นคนชอบอ่านการ์ตูน เพราะถ้าเราไม่อ่านจะเหมือนว่าเราไม่ได้อยู่กับคนอื่นหรือว่าอยู่ในโลกนี้เลย
The MATTER : เคยมีความฝันที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนด้วยใช่ไหม?
เฌอเอม: ใช่ค่ะ พยายามอย่างหนัก พยายามมาก ตอนนั้นพี่สาวหนูก็เขียนนะคะแต่จะเป็นแบบวาดรูปเล่น ไม่ได้วาดเป็นเรื่องเป็นราว แค่วาดตามหนังสือที่เขาอ่าน แล้วเอมก็เลยวาดบ้าง ตอนเด็กๆ ก็พยายามไปเรียนเขียนภาพไทย คือแม่เขาไม่เข้าใจว่าเขียนการ์ตูนคืออะไร ก็เลยส่งเรียนไปทั่วแบบนี้
จนกระทั่งสักประมาณ ม.ต้น ตอนนั้นก็เริ่มวาดเป็นช่อง ตอนนั้นชอบ ดีเกรย์แมน ก็เอามาเปิดทาบเป็นช่องเลย คือเรียกได้ว่ามาเรียน anatomy จากการลอกเส้นอาจารย์โฮชิโนะ (คาสึระ โฮชิโนะ (Katsura Hoshino) ผู้เขียนมังงะเรื่อง ดีเกรย์แมน) เป็นหลัก แล้วพอเข้า ม.ปลาย เอมเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม ตอนนั้นมีเอกอนิเมชั่น เราก็ตัดสินใจที่จะไปเรียนในเอก ซึ่งพ่อแม่ก็ค่อนข้างคัดค้าน (หัวเราะ) เพราะว่ามันคือเอกอะไรก็ไม่รู้
ตอนนั้นก็มุ่งมั่นเต็มที่แต่เราก็เบนเข็มนิดนึง เพราะเราคิดว่าถ้าวาดการ์ตูนญี่ปุ่น มันก็จะเหมือนหยุดได้แค่ตรงนั้น มันก็จะลงลึกไปนิดนึง ตอนนั้นตลาดในไทยมันก็ไม่ค่อยกว้าง
The MATTER : ก็ราวสิบกว่าปีที่แล้ว?
เฌอเอม : ใช่ค่ะ ก็ประมาณ 11 ปีที่แล้ว เหมือนวงการการ์ตูนไทยกำลังบูมและเขาพยายามหาดาวรุ่งในวงการ มีการประกวด มีโครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้น แต่เรายังมองไม่เห็นเส้นทางอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับเราเริ่มชอบอนิเมชั่นต่างชาติ แล้วเรามองว่า ถ้าเราทำงานสเกลใหญ่ไว้ก่อน เราจะมาลงลึกกับด้านอื่นๆ ง่าย เราก็เลยอยากไปในสาย Visual Art / Fine Art ทำฉากหลัง ทำโมเดลสามมิติ
แต่ว่ามาเบนเข็มครั้งใหญ่อีกทีตอนเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยอิทธิพลของหลายๆ คนรอบตัวเรา เขาก็จะบอกว่า ไม่น่าไปเรียนอนิเมชั่นนะน่าจะไปเรียนจิตรกรรม หรือทัศนศิลป์ไปเลย คือไปให้มันลึกแล้วค่อยกลับมา ก็ยอมรับว่า เสียศูนย์ไปนิดนึง แอบรู้สึกว่า เราน่าจะไปไกล ไปในทิศทางที่คนอื่นให้คุณค่า เรามองว่ามันคือทางที่สังคมจะยอมรับ มันอาจจะเป็นอีโก้ หรือการค้นพบตัวเองเอมก็ไม่แน่ใจเพราะตอนนั้นก็ยังวัยรุ่นมาก เราคะนองมาก แล้วเราก็มีความฝันสูงมาก สุดท้ายเราก็ตัดสินใจเข้าคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เราสอบเข้าได้อันดับ 3
แล้วหลังจากนั้นเรื่องการ์ตูนก็หายไปจากชีวิตเลยค่ะ ด้วยส่วนหนึ่งก็คือ เรามุ่งมั่นกับการเรียนศิลปะมากเกินไป จนเราลืมไปว่าเราเริ่มมาจากไหน สุดท้ายเราก็มาเป็นนางแบบ ตอนนั้นมีสภาพหลายอย่างในมหาวิทยาลัยและโอกาสที่เข้ามา เราก็เลยออกมาหาประสบการณ์ด้านอื่นในชีวิตแทน กว่าที่เราจะนึกออกว่า เราชอบการ์ตูน เคยมีความสุขกับมัน ก็ตอนอายุยี่สิบกว่าๆ แล้วค่ะ คือผ่านมานานมากเราลืมช่วงชีวิตที่การ์ตูนเป็นพลังใจให้เราไปเลย เราใส่ใจเรื่องอื่น เรามีเป้าหมายอื่นที่ทุ่มเทกับมันมากกว่า
ก่อนหน้านี้ที่เรากลับมาอ่าน One Piece แล้วก็คิดขึ้นมาว่า เออ ตอนเด็กๆ เราก็มีความสุขกับเรื่องพวกนี้ง่ายนะ แค่เราอ่านการ์ตูนก็มีความสุขแล้ว เราไม่ต้องมองว่า เราได้อะไรในชีวิตกลับมาไหม เราแค่รับรู้ถึงเรื่องราว กลับไปหาความรู้สึกที่เคยได้ ก็เลยกลับมาเป็นเนิร์ดการ์ตูนเต็มตัวเหมือนเดิม อาจจะน้อยลงนิดนึงตรงที่ไม่ได้วาดการ์ตูนอะไรแล้ว (หัวเราะ) แต่กลับมาติดตามเยอะเหมือนเดิมค่ะ
The MATTER : ตอนนี้มีความรู้สึกว่า ได้อะไรจากการ์ตูนมากกว่าเดิมหรือเปล่า?
เฌอเอม : อย่างแรกเลยก็ต้องเป็นความสุขนะคะ เอมคิดว่า งานอดิเรก หรือสิ่งที่เราชอบต้องให้ความสุขอยู่แล้ว เราถึงได้ชอบมัน แต่ที่มากกว่านั้นก็คือมันทำให้เราจัดระเบียบชีวิตค่ะ บางคนที่ไม่ได้มีงานอดิเรกเป็นจริงเป็นจัง เขาอาจจะรู้สึกว่าเวลาว่างก็พักผ่อน เอนจอยความสุข ให้เวลาไหลไป คือมันก็ไม่ได้แย่นะคะ ถ้าชอบพักผ่อนก็พักผ่อน (เอมก็เป็นคนขี้เกียจ)
แต่ว่าพอมีอะไรสักอย่างที่เราจะต้องตาม จะต้องคืบหน้ากับมัน เป็นงานอดิเรกที่มันเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีสองด้าน คือด้านที่มีเป้าหมายทางอาชีพ ที่เป็นการหาเงิน กับอีกด้าน คืออะไรสักอย่างที่เป็นการกำหนดเป้าหมายทางความสุข หมายถึงว่า เราจะพัฒนาความสุขของเราได้อย่างไรให้มันลึกซึ้งแล้วก็ยั่งยืนไม่ใช่แค่ว่าเสพแล้วจบ
เรารู้สึกว่าเสพแล้วเราต่อยอดจากความสุข แบบที่คนต้องไปทำโดจิน ทำแฟนเมด ทำของขาย ทำไมต้องทำโปรเจ็กต์คอสเพลย์ คือเราต้องการสร้างความสุขของเราให้เป็นรูปร่างขึ้นมา และพอเราทำตรงนั้นขึ้นมาได้ เราก็รู้สึกประสบความสำเร็จ พอใจในชีวิตมากขึ้นอีก แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือด้านอื่นๆ ก็ตาม
The MATTER : ได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับการ์ตูนนอกจากการร้องเพลงหรือการอ่านหนังสือไหม?
เฌอเอม : ว่าไงดีอะ (หัวเราะ) ก็คือพยายามจะรันวงการค่ะ เพราะรู้สึกว่าถ้าเราไม่เข้าไปมีส่วนร่วม อุตสาหกรรมของสังคมเรามันก็จะหยุดนิ่ง ‘สังคม’ ในที่นี้หมายถึง แฟนด้อม ต่างๆ ถ้ามันไม่มีการจัดงานใหญ่ มันก็จะมีจัดงานเป็นด้อมใช่ไหมคะ ถ้าเรายังอยากให้ด้อมเรายังมีคนครื้นเครงและบริษัทที่ทำลิขสิทธิ์ยังลงทุนต่อไปได้ เราก็ต้องอัดเม็ดเงินเข้าไป ในเมื่อเราพอมีเราก็จะต้องอัด
The MATTER : เคยไปงานการ์ตูนอย่างงาน Comic Avenue (อีเวนท์งานขายหนังสือทำมือที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนชอบการ์ตูนของประเทศไทย) หรือเปล่า?
เฌอเอม : (คิดสักครู่) Comic Avenue จะใหม่ไปหน่อยค่ะ เคยไปสมัยงาน Capsule ที่ยังจัดงานที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ค่ะ
The MATTER : แอบถามได้ไหมว่า เมน (ชอบ) ใครในเรื่องเซนต์เซย์ย่า?
เฌอเอม : เมนชากะค่ะ อืม เซย์ย่านี่พูดไม่ถูก คือมันไม่ได้เป็นการ์ตูนตลกหรอก แต่หนูรู้สึกว่ามันเป็นโชเน็นที่ตลก (หัวเราะ) มันก็เลยกลายเป็นว่าชอบไปหมด ชอบในความสัมพันธ์ของตัวละครน่ะค่ะ แต่ก็มีชากะเป็นหลัก แฝดเจมินี่ก็ชอบ คามิวก็ชอบ มิโรก็ชอบ ยิ่งถ้าภาค Lost Canvas ก็จะชอบฮาเดส เพราะรู้สึกเป็นภาคที่ฮาเดสเท่มาก และตัวละครเวอร์โก้ อัศมิฐา ก็กวนดีค่ะ
The MATTER : ซึ่งความชอบเซย์ย่าก็เลยนำพาไปร้องเพลงเซย์ย่าด้วย?
เฌอเอม : ใช่ค่ะ เอมแค่คิดว่า ถ้าเราร้องเพลงอื่นที่เฉพาะกลุ่ม เดี๋ยวคนจะงงกว่านั้น มีเรื่องความยากด้วย เพลงของเซย์ย่ามันเหมือนแค่ ขอแค่ใจถึง เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ ช่วงนั้นอดนอนอยู่แล้ว จะเป็นลมก็จะเป็นลม แล้วต้องพยายามเค้นลมออกมา หายใจก็ไม่ทัน ก็เลยร้องออกมาแบบนั้น
ทุกคนก็จะคิดว่าหนูร้องเพลงเพี้ยน (เอามือกุมหน้า) ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำ cover ดีๆ ลงยูทูบสักคลิปนึง เหมือนเป็นการกู้ศักดิ์ศรีสักครั้งค่ะ คือเขาบอกเย็นวันก่อนหน้านั้นว่าจะมีการแสดงความสามารถพิเศษหนึ่งนาที เอมก็เลยหา Backing Track เผื่อไว้ ในใจก็กะว่าจะไม่ร้องแหละ แต่สถานการณ์มันบังคับ สุดท้ายเอมก็ตัดสินใจไปตายดาบหน้า
The MATTER : ในอินสตาแกรมของคุณเฌอเอม มีการโพสท์ภาพตัวละคร ลูลูช จากเรื่อง Code Geass แล้วก็ รีไวล์ จากเรื่อง Attack On Titan อยู่บ่อยๆ ไม่ทราบว่ามีนัยยะใดๆ หรือเปล่า?
เฌอเอม : (หัวเราะ) เป็นตัวละครที่ชอบอยู่แล้วค่ะ และ Code Geass ให้ติดอันดับการ์ตูนที่ดีที่สุดตลอดกาลสำหรับเอมเลยค่ะ แม้ว่า acting มันจะโอเวอร์ไปหน่อยในหลายๆ ฉาก มันมีอะไรที่คนธรรมดาน่าจะเข้าถึงยาก แต่แก่นเรื่องมันทั้งเชิงปรัชญา, การเมือง และศีลธรรม เอมคิดว่าเรื่องสื่อได้ดี เป็นการ์ตูนที่ตีความพลวัติการเมือง ความแตกต่างในหลักการของตัวละครแต่ละตัว จุดมุ่งหมายที่มีร่วมกัน แต่วิธีการมุ่งไปหาเป้าหมายอาจต่างกัน เราจะคงบรรทัดฐานในวิธีการ หรือจะทำให้เป้าหมายสำฤทธิ์ผลไม่ว่าต้องใช้ทางไหน จะเน้นอรรถประโยชน์ของคนส่วนมาก หรือรักษาศีลธรรมของตัวเอง
การตีความดีความเลวก็ตรงไปตรงมาดี แต่ไม่ได้บอกว่าดีเลวนั้นถูกหรือผิด ลูลูช ก็น่าจะเป็นพระเอกที่เป็น Anti-Protagonist เราจะมีความรู้สึกว่า สุซาคุ (ตัวละครเอกอีกตัวในเรื่อง Code Geass) จะมีความเป็นพระเอกในหลักความเป็นสากลนิยมมากกว่า ตัวละครหลายตัว จะมีปมที่เปรียบเทียบได้เยอะ คือเป็นการ์ตูนที่สามารถสร้างคำถกเถียงได้
ส่วนตัวละคร รีไวล์ ถ้าคนดู Attack On Titan ก็เป็นขวัญใจประชาชนอยู่แล้ว เป็นตัวละครที่เหมือนจะแหวกทุกกฎในโลกการ์ตูนไปแล้วสำหรับเอม รู้สึกเขามีเสน่ห์แบบแปลกๆ ค่ะ
The MATTER : จากการไปเดินแบบในหลายประเทศ เคยใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการสร้างสัมพันธ์กับชาวต่างชาติไหม?
เฌอเอม : ที่จริงต่างประเทศชอบมังงะกับอนิเมะมาก อย่างในไทยถ้าเราถามว่า ‘ชอบอนิเมะไหม’ คนถูกถามอาจจะตกใจนิดนึง แต่ว่าต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ อาจจจะจำชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ลึกบ้างไม่ลึกบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกติมาก การ์ตูนที่เขาตามก็จะเป็นเรื่องดังแบบ One Piece หรือนารูโตะ ก็เรื่องที่เราคาดกันได้ค่ะ คือพอคุยปุ๊ป เขาจะไม่มีความเขินอายที่จะพูด คือเหมือนดูเป็นสื่อบันเทิงทั่วไป บางทีก็ทำให้เราได้เพื่อนต่างชาติมาเยอะเหมือนกัน
The MATTER : ถ้าเฌอเอมจะเลือกหนังสือการ์ตูน หรืออนิเมชั่นสักเรื่องหนึ่งมาเป็นงานนอกเวลาสำหรับเด็กและเยาวชน จะเลือกเรื่องไหน?
เฌอเอม : อันนี้ยากเลยค่ะ (หยิบกระดาษที่จดรายชื่อการ์ตูนออกมา) มันต้องคัดหลายอย่าง เราก็มองว่า มันเป็นสื่อที่ให้ความรู้ แต่ถ้าเราอยากให้เป็นสื่อสำหรับการศึกษา นี่เอมต้องขอคัดรายชื่อว่ามีเรื่องอะไรบ้าง คือจริงๆ มีบางเรื่องที่คิดว่าจะได้แล้ว แต่ก็จะติดเรื่องเพศ ความรุนแรง หรือค่านิยมบางอย่างที่มัน non pc ค่ะ
คงเป็นเรื่อง Spirited Away ค่ะ การที่มันดูง่ายเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราจะต้องมี เพราะเด็กอาจจะยังไม่มีรสนิยมที่จำเพาะเจาะจง เราต้องเอาอะไรที่รู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ อีกอย่างก็คือ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีความต่อเนื่องมากนัก และที่สำคัญมันมีแก่นหลายอย่างที่เราดูซ้ำผ่านกาลเวลา แล้วเราสามารถกลับมาดูและตกตะกอนได้ ด้วยวัยที่ต่างกันออกไป เราสามารถเข้าใจเรื่องนั้นใหม่ได้ โดยไม่ใช่ เรื่องที่ว่ามันผิดหรือถูก มันเป็นเรื่องที่ว่าเราตีความชีวิตในรูปแบบไหน
เพราะ Spirited Away มันมีทั้งเรื่องของโลกความเป็นจริง โลกความแฟนตาซี มีเรื่องของความโดดเดี่ยว ความแปลกแยก ซึ่งเด็กหลายคนมักจะเจอในหลายช่วงวัย แต่มักจะเป็นความรู้สึกที่ต่างกัน มีเรื่องของการได้พบความสัมพันธ์ที่รู้สึกสำคัญและตราตรึงใจ แล้วก็แยกขาดจากกัน เหมือนเรื่องของ ฮาคุ กับ จิฮิโระ
แม้แต่เรื่องของตัวละคร คาโอนาชิ อันนั้นเอมก็ชอบนะคะตอนเด็กๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลเลย แต่หลายๆ อย่าง หลายๆ เหตุการณ์ในชีวิตก็พุ่งเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล แต่สุดท้ายเราจะอยู่กับมันอย่างไร เราจะจัดการกับมันอย่างไร ก็เหมือนกับ จิฮิโระ ที่เดินทางไปกับมันได้
เอมกลับรู้สึกว่าปัญหาหลายอย่างในเรื่องนี้ มันสะท้อนกับปัญหาในชีวิตจริง บางที Spirited Away มันอาจจะเป็นแค่ มุมหนึ่งที่เรามองชีวิต มองปัญหา เปรียบเทียบกับความแฟนตาซีของมัน เราอาจจะแค่วางชีวิตเราให้มันเหนือจริงก็ได้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากความเจ็บปวด หรือเพื่อที่จะรู้สึกว่ามันเป็นแค่เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ถ้าเทียบกับชีวิตคนแล้วเรื่องนี้อาจจะเป็นคำตอบที่ดีค่ะ
คืออยากแนะนำหลายเรื่องเลยนะคะ อย่าง One Piece ก็ดีนะคะ แต่มันยาวไปหน่อย หรืออย่าง Code Geass ก็เข้าถึงยากไปหน่อย หรือ Re:Creator ก็ต้องมีพื้นฐานในการดูการ์ตูนระดับหนึ่ง Card Captor Sakura ก็ดีมีความหลากหลาย แต่อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจสำหรับบางคน
มีหลายเรื่องแหละค่ะที่เอมคิดมา เราต้องขีดว่าเอาอะไรเข้าหรือเอาอะไรออก จริงๆ เอมชอบ No.6 มากนะคะ เอม ไม่ได้คิดว่าการเป็นการ์ตูน Y แล้วจะเป็นปัญหาอะไร แต่เนื้อเรื่องที่ดีดันอยู่ในภาคนิยายไป
Yuri On Ice ก็เหมือนกัน เอมชอบมากเลย เอมคิดว่ามันมีแก่นสารของเรื่องมากกว่าความรัก เพราะตอนดู เราลุ้นกับการแข่งมากกว่าเลยนะ (หัวเราะ) คือไม่ได้ลุ้นว่าคู่ลงเอยไหม แต่ลุ้นว่าตัวละครจะชนะไหม เอมมองว่าความกลมกล่อมของความสัมพันธ์ มันก็ดำเนินไปตามสมควร
แต่พอจบแล้วมันกลมนะคะ มันก็จะมีเรื่องของเส้นแบ่งทางหน้าที่การงาน เส้นแบ่งทางความสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้นในตัวละครวิคเตอร์กับยูริ เขาก็เป็นโค้ชกับนักกีฬา มันก็จะมีเรื่องของเส้นแบ่งทางหน้าที่การงาน เส้นแบ่งทางความสัมพันธ์ คือมันกลมทั้งในแง่ความสัมพันธ์และเส้นทางอาชีพ
หรืออย่างพริกขี้หนูสีรุ้ง ก็ดีนะคะ แต่จะมีเรื่องของ Polyamory (การมีคนรักหลายคน) ที่คิดว่าคนไทยยังไม่ได้เข้าใจมากนัก ด้วยความที่พ่อ (ของกลุ่มตัวเอก) เป็นโชกุนเนอะ ความจริง Polygamy มันไม่ใช่เรื่องดีหรือเรื่องแย่ ถ้าอยู่ในสังคมที่มี Polygamy อยู่แล้ว แต่เมืองไทยมักจะเอาไปทับกับเรื่องศีลธรรมทางพุทธเป็นพิเศษ ทำให้ลังเลที่จะแนะนำเรื่องนี้ เพราะคิดว่าถ้าแนะนำเรื่องนี้อาจจะต้องคุยกันอีกเรื่องเฉพาะ Polygamy ไปเลยค่ะ
ส่วน Re:Crator เอมชอบความที่เราเอาโลกเสมือนจริงออกมา แล้วตัวละครตอนแรกจะมีความแบนอยู่ เหมือนที่เรามองคนอื่น โดยเฉพาะมองคนที่เราเกลียด เรามักจะมองเขาไม่ครบทุกด้าน กับคนที่แปลกแยกก็เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนตัวการ์ตูนในเรื่องค่ะ ที่เรารับรู้เพียงแค่บางช่วงบางตอนในชีวิตของเขาแต่ไม่ได้รู้ชีวิตของเขาทั้งหมด เมื่อมันออกมาสู่โลกจริง มันก็มีความแบน กว่าที่มันจะเรียนรู้ว่าจะเรียนรู้ว่ามันมีหลายแง่มุม ก็ต้องผ่านหลายเรื่อง คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าอาจจะต้องมีพื้นฐานการดูการ์ตูนมาเยอะค่ะ
The MATTER : คิดว่าสื่อบันเทิงสายการ์ตูนมีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง?
เฌอเอม : ถ้าเป็นในไทย อาจจะไม่ได้เกี่ยวโดยตรงนะคะ ส่วนหนึ่งคือ เราถูกปิดกั้นทางสื่อ เราแสดงออกด้วยสื่อต่างๆ ได้ไม่มาก และเอมคิดว่า เราหาเงินกับอาชีพนักเขียนการ์ตูนในไทยได้ยากมาก ทีนี้พอจะ ครีเอทอะไรสักอย่าง ก็ต้องเป็นสิ่งที่นักเขียน หรือสำนักพิมพ์มั่นใจว่าได้กำไร เอมก็หวังว่า วงการนี้จะมองเห็นทิศทางในการแสวงกำไรที่ตอบสนองสภาพสังคมเช่นเดียวกัน
ถ้าเราจะทำอะไรจำเพาะเจาะจงเลย วงการคงต้องเจริญค่อนข้างมากแล้ว คือมองว่า การ์ตูนสามารถเป็นสื่อให้กับทุกอาชีพ แต่ตอนนี้มันอยู่ได้แค่บางอาชีพ เพราะฉะนั้น การ์ตูนไทย เอมรู้สึกไม่ค่อยเกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่ เกี่ยวน้อยมาก ได้แค่การแสดงออกของตัวนักเขียนก็เท่านั้น
แต่การเมืองไทยเกี่ยวกับการ์ตูนอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะบอกได้ว่า วงการการ์ตูนไทยจะเติบโต หรือว่าเราจะสามารถขยายขอบเขตของ Sub culture ในไทยไปได้มากกว่านี้ไหม หรือจะมีอนิเมะไทยไหม Pop Culture การ์ตูนไทยไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับการเมือง คือพลวัตของสองสิ่งนี้มันหลั่งไหลมาจากทางการเมืองมากกว่าฝั่งการ์ตูนที่จะไปหาการเมือง
The MATTER : คิดว่าเป็นเพราะการเมืองทำให้การ์ตูนไทยไม่โตรึเปล่า?
เฌอเอม : ค่ะ อย่างที่บอกว่า ถ้าเราเปิดกว้างหรือมีโอกาสในอาชีพมากกว่านี้ ให้ความสนใจ หรือความน่าเชื่อถือที่มากกว่านี้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้พูดถึงนักการเมือง ระบบการเมือง หรืออาชีพต่างๆ ได้ สังเกตว่าญี่ปุ่นมีการ์ตูนเกี่ยวกับทุกอาชีพ ไม่ปิดกั้น แล้วก็ได้รับความนิยม สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้ สามารถใช้พูดถึงได้ หรือใช้เป็นสื่อกลางได้
แต่ในไทยยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะให้คุณค่ากับมันแบบเป็นจริงเป็นจังก็ยังเป็นเรื่องยากระดับหนึ่ง แต่ถ้าการเมืองดี อาชีพอื่นๆ ก็อาจจะได้รับสปอทไลท์ในสื่อการ์ตูนมากขึ้นแน่นอนค่ะ
The MATTER : ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีนักเขียนการ์ตูนวาดงานแก๊กการเมืองเยอะเหมือนกันนะครับ
เฌอเอม : ใช่ค่ะ เป็นสิ่งที่เราส่งเสียงออกไปได้ แม้ว่าจะไม่ได้หวังผลกำไร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดยืนที่การ์ตูนไทย หรือนักเขียนการ์ตูนใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการแสดงความคิดเห็น
เอมไม่ได้คิดว่า ความทุ่มเทของนักเขียนการ์ตูนมันน้อยนะคะ แต่คนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญ ในแบบที่คิดว่ามันสามารถขับเคลื่อนได้ ดังนั้นถ้าเอมมีโอกาส เอมก็อยากจะผลักดันตรงนี้ แล้วเอมก็เชื่อว่า ถ้าหลายคนให้โอกาสที่จะมองการ์ตูน ทั้งแก่นสารของความเป็นการ์ตูนในด้านบันเทิงและความเป็นสื่อ มันจะสามารถทำอะไรให้กับสังคมไทยได้อีกเยอะ
เพราะฉะนั้นก็ดีใจ แล้วก็อยากส่งกำลังใจให้ทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางการ์ตูน แล้วก็นักวาดทุกคนเลยที่แสดงจุดยืนด้วยความเป็นนักวาด เอมก็พยายามที่จะดึงการ์ตูนเข้ามาในสื่อที่เข้ามาสัมภาษณ์ และในเรื่องการเมืองก็พยายามเปรียบเทียบกับการ์ตูนค่อนข้างเยอะ เพราะว่ามันย่อยง่าย เมื่อย่อยง่ายก็จะทำให้คนสนใจการเมืองต่อค่ะ
จริงๆ อยากให้นักเขียนการ์ตูนมีพื้นที่มากขึ้นนะคะ เพราะตอนนี้เหมือนเขาจะอยู่กันแค่เฉพาะในเพจ อันที่จริงเราน่าจะลองจัดงานการ์ตูนกับการเมืองสักครั้ง แต่ทีนี้ไม่รู้ว่ามันจะมีศักยภาพขนาดนั้นไหม แบบการเคลื่อนไหวของ ผู้หญิงปลดแอก หรือคณะราษฏร น่าสนใจที่ว่าการ์ตูนนี่ นอกจากการวิ่งแฮมทาโร่นี่ เราจะสามารถมีงานเสวนาวิชาการหรืองานอะไรที่จะใหญ่ขึ้นมากกว่านี้ได้ไหม ก็ยินดีที่จะช่วยโปรโมทงานเหล่านี้นะคะ
The MATTER : คิดว่ามีการ์ตูนเรื่องอะไรที่อยากให้คนในสังคมไทยช่วงนี้ได้ลองรับชมดู?
เฌอเอม : จริงๆ Full Metal Alchemist ก็ดีนะคะ แต่อ่านช่วงนี้แล้วก็อาจจะยิ่งเครียด
(คิดสักพัก) ยังไงก็ต้องเป็น One Piece คะ ถึงมันจะยาวแค่ไหนก็ตาม เอมว่าถ้าหักลบความยาวของมัน มันเป็นการ์ตูนที่ใช้แรงบันดาลใจค่อนข้างเยอะ แล้วก็ได้รับพลังบวกตลอดเวลา One Piece เหมือนจะเป็นการ์ตูนเด็กนะคะ แต่ปรัชญาหลายอย่างแล้วก็การเปรียบเทียบสถานการณ์ต่างๆ ลึกซึ้งมาก
ที่สำคัญก็คือด้วยความเข้าใจง่าย ย่อยง่าย ทำให้เรารู้สึกว่าบันเทิงที่จะอ่าน มีความสุขที่จะอ่าน แล้วก็ติดตามได้ง่าย การอ่านการ์ตูนที่สำคัญก็คือการไม่ทิ้งกลางทาง เพราะฉะนั้นถ้าให้แนะนำก็เป็น One Piece ค่ะ หนูยอมรับนะว่าบางฉากมันอาจจะ Cliché นิดนึง แต่เราก็ร้องไห้กับหลายฉาก แล้วเราก็รู้สึกโชคดีที่ได้อ่านเรื่องนี้
โชคดีที่เราได้มารับรู้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ มันอาจจะมีบางสิ่งที่เราไม่เจอในชีวิตจริง บางสถานการณ์ที่เราไม่เข้าใจคนในสังคม แต่เราสามารถเข้าใจความหลากหลายของตัวละครในเรื่อง ความรู้สึกที่ตัวเอกหรือตัวละครต่างๆ มีต่อกัน
แล้วด้วยความที่มันยาวมาก เอมคิดว่ามันจะทำให้เราเข้าใจได้หลายประเด็น ทั้งเรื่องชนกลุ่มน้อยค่านิยมต่างๆ ความต่างชั้นของอำนาจ หรือบรรทัดฐานทางศีลธรรม คือใน One Piece หลายคนจะมองว่า ตัวเอกคือคนที่เป็นกลุ่มดี 100% แต่ถ้าเรามองกลับไปหลายคนก็ไม่ใช่คนดีอย่าง โรบิน หรือแฟรงกี้ เอมคิดว่า อญู่ที่การมองทางเลือกในชีวิต One Piece ก็ให้อะไรที่ค่อนข้างเยอะเพราะหลายๆ ทีตัวละครก็อยู่ในการตัดสินใจที่ลำบาก
แต่ถ้าจะมีเรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบ ก็คือเซนส์ของ LGBTQ และมุมมองต่อเพศหญิงของ One Piece ไม่ค่อยดีนัก มันเป็นการ์ตูนโชเน็น เขาอยากจะมองความตื่นเต้นของเด็กผู้ชายวัยที่เพิ่งเป็นหนุ่ม ความตื่นเต้นต่อเพศตรงข้าม แต่บางทีมันรู้สึกจะเยอะไปหน่อย มันเป็นการลดทอนคุณค่าหลายประการของเพศหญิง การตีกรอบว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จำเป็นต้องตลก บ้าผู้ชาย และกลุ่มนี้จะมีแค่กะเทย หรือหญิงข้ามเพศเท่านั้น ไม่มีเพศอื่นๆ อยู่เลย
แล้วก็เป็นการส่งเสริมว่ามุกตลกบางอย่าง ตรงนี้ก็อยากให้หลายคนระวัง ไม่ต้องทำตามการ์ตูนก็ได้ ใช่ มันตลก เราก็มีสิทธิ์ที่จะเล่นมุกตลกทางเพศนะไม่ใช่ไม่มี แต่ทีนี้มันเป็นตลกข้างเดียว เพราะว่าใน One Piece เราไม่ค่อยเห็นมุกแบบนี้กับตัวละครชาย กลายเป็นว่า เราไม่ได้เรียนรู้ หรือสังเกตสถานการณ์ ระดับความสัมพันธ์ การวางตัวของตัวละครที่มีต่อกันว่า เท่าไหร่จึงเหมาะสมที่จะเล่นมุกตลกที่มีความหมิ่นเหม่แบบนี้ เขาตัดองค์ประกอบเหล่านี้ทิ้งไป มันก็เลยกลายเป็นการสร้างชั้นอำนาจ ส่งเสริมระบบปิตาธิปไตยและไปเน้นย้ำแนวความคิด Chivalry ขึ้นมาแทน แต่สุดท้ายแล้วนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักอ่านได้ตระหนักจากเรื่องนี้ค่ะ
คือจริงๆ เอมค่อนข้างชอบตอนช่วงโจรสลัดเงือกค่ะ มันจะมีความแปลกแยกทางเผ่าพันธุ์ แล้วก็ตัวละคร อารอน เราถามว่ามันเป็นตัวละครที่เลวไหม ก็เลวนะ แต่พอมันย้อนความไปตอนกลุ่มโจรสลัดไทโย เราก็จะเห็นว่ามันมีที่มาที่ไป คือเหมือนความดีความเลวของคน มันไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วดีหรือเลว แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์
แล้ว One Piece แทบไม่ทิ้งตัวละครไหนเลย แล้วมักจะเจาะลึกลงไปในอดีตของตัวละครนั้น ซึ่งหลายทีมันทำให้เราเห็นอกเห็นใจ หรือเข้าใจคนในสังคมเราได้มากขึ้น คือมีหลายตัวละครนะคะ อย่างเกาะลอยฟ้าก็มีความต่างของเผ่า ถ้าตอนนี้ถ้าให้อิง ก็เหมือนกับ American กับ Native American อธิปไตยเหนือดินแดนที่เผ่าเราเคยครองครอง การเขียนประวัติศาสตร์ หรือการกลืนกินวัฒนธรรม
คือ One Piece ให้อะไรเยอะมากจริง ถ้าลองใส่ใจดีๆ เราจะรู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะอ่านค่ะ