รูดปรื๊ด รูดปรื๊ด บัตรเครดิตก็เหมือนดาบสองคม จะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ถ้าใช้ไม่ดี รูดโดยไม่คำนวณอะไร สิ่งมีตามมาอาจกลายเป็นหนี้พอกพูนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราคำนวณการใช้งานและศึกษามาอย่างดีแล้วการใช้บัตรเครดิตก็มีประโยชน์เหมือนกัน
The MATTER จึงไปเหล่าคนที่ถือบัตรเครดิตมาว่า พวกเขามีวิธีการใช้บัตรเครดิตอย่างไรให้พอดี มีเงินจ่ายค่าบัตร เช่นการเช็คเงินสดของตัวเอง เช็คความคุ้มค่าระหว่างเงินสดกับบัตรเครดิต ไปจนถึงการโอนเงินไปเก็บไว้อีกบัญชี เผื่อว่าใครจะเอาไปประยุกต์ใช้กับวิธีการของตัวเองเราก็ไม่ว่ากัน
สุภัทริณี ศรประดิษฐ์
อาชีพ : Senior Proofreader at a day magazine
“เรามีบัตรหลายใบ พอถึงกลางเดือนก็จะเอายอดแต่ละใบมาบวกกัน ถ้ามีแววจะเกินก็จะเพลาๆ ค่าใช้จ่ายลง แต่ถ้าเดือนไหนใช้ไปเกินเบอร์จริงๆ ก็จะรูดบัตรเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน แล้วเอาเงินสดที่เพื่อนให้มาต่อชีวิตไปก่อน แล้วเดือนหน้าค่อยหามาโปะ เคลียร์เงินที่ใช้เกินในเดือนที่แล้ว จะได้ไม่เป็นหนี้ค้างต่อไปเรื่อยๆ”
รัชชาภา ดีประจง
อาชีพ : Project Manager
“ปกติเราใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดอยู่แล้ว ถ้าต้องการซื้อของที่มีราคาสูง จะไม่เลือกการผ่อน แต่จะดูว่าเรามีเงินพอที่จะจ่ายสิ่งของนั้นไหม ทำให้ไม่มีปัญหาในการจ่ายค่าบัตรเครดิต เพราะแต่ก่อนเป็นคนแอนตี้บัตรเครดิต คิดว่าการใช้เงินอนาคตมันไม่น่าจะดี แต่พอมีพวก cashback ก็ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังใช้เงินสดโดยไม่ได้ผลประโยชน์ก็เลยทำให้สนใจไปใช้บัตรเครดิตมา เพื่อให้ได้ผลตอบแทน”
เขมนัฐ รัตนาภรณ์พิพัฒน์
อาชีพ : พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
“เราใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด ถ้าไม่มีเงินสดอยู่กับตัวก็ไม่ควรใช้บัตรเครดิต ใช้บัตรเครดิตเพื่อสะสมคะแนน สิทธิพิเศษต่างๆ ไม่ยืมเงินในอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่มาใช้”
จินดารัตน์ โสภาศรีพันธ์
อาชีพ : PR & Marketing communication
“เราจะเริ่มจากการคำนวนเงินตัวเอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายหลักๆ ประจำแต่ละเดือน เช่นค่า BTS รายเดือน เราก็คิดเลยว่าจะใช้บัตรใบไหนในการจ่ายบีทีเอสทุกๆ เดือน เพื่อสะสมแต้ม และยอดการใช้ เพื่อไว้รับสิทธิ์จากบัตรเมื่อคะแนนถึง หรือครบยอดรายปีที่เพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เราจะหักค่าใช้จ่ายที่ใช้บัตรเครดิตจากเงินรายได้ประจำต่อเดือน ไปไว้อีกบัญชีนึงที่เปิดไว้เพื่อออมเงินเพื่อจ่ายบัตรโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายซื้อของมีราคา ฟุ่มเฟือยหน่อย ก็จะเลือกใช้บัตรที่สามารถรวมยอดแล้วทยอยแบ่งจ่าย 3 เดือน 0% ได้เพื่อจะได้หมุนเงินได้คล่องขึ้น”
Pukhoon
อาชีพ : Creative Organizer
“ปกติเราใช้บัตรเครดิตแค่ตอนรูดของที่ราคาแพง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พักเวลาไปเที่ยว ค่าตั๋วคอนเสิร์ต หรือค่าอะไรก็แล้วแต่ที่รูดบัตรสะดวกกว่าจ่ายสด แล้วก็จ่ายเคลียร์หมดตอนสิ้นเดือน ยกเว้นบางอย่างที่เห็นว่าควรผ่อน หรือผ่อนแล้วคุ้มกว่า ก็จะผ่อน แต่ให้ไม่เกิน 1000 บาทต่อเดือน ไม่งั้นเงินเดือนออกก็ไม่รู้จะเอาไรกิน แต่ถ้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่รู้ว่าเงินสดไม่พอ เราก็ไม่รูดเด็ดขาด”
พันธ์นิฉาย โป่งแยง
อาชีพ : ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
“เราใช้บัตรเครดิตเป็นประจำอยู่แล้ว เวลาใช้แต่ละครั้งก็จะต้องคำนึงด้วยว่า ถ้ายอดบิลมาในสิ้นเดือนเรามีกำลังจ่ายเพียงพอไหม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วจะใช้บัตรเครดิตเฉพาะเวลาซื้อของในห้างสรรพสินค้า ซื้อของออนไลน์ และที่สำคัญเลยคือมักใช้ซื้อสินค้าที่ได้รับเครดิตเงินคืนหรือมีโปรโมชั่นสำหรับบัตรเครดิตที่เราถืออยู่ โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ด้วย ไม่ใช่รูดซะเต็มวงเงินแต่ชีวิตติดลบ ควรใช้ให้พอดีและสอดคล้องกับรายได้ในแต่ละเดือนด้วย”
Arm
อาชีพ : Auditor
“เราตั้งวงเงินเอาไว้ในบัญชีตัวเอง ถ้าจะใช้บัตรเครดิตจ่ายก็ต้องเช็คก่อนว่าตัวเองมีเงินในบัญชีพอจ่าย พยายามไม่คิดว่าเดี๋ยวเดือนหน้าก็มีเงินจ่าย เพราะมันจะทำให้เราติดอยู่ในลูปหนี้บัตรเครดิต และไม่เหลือเงินสดใช้ในอนาคต”
พุฒกรอง ชะวาลา
อาชีพ : video editor
“เราเลือกใช้บัตรเครดิตตามการใช้งานของบัตรต่างๆ เช่น บัตรใบนี้ใช้สะสมแต้มหรือแลกเครดิตเงินคืนได้ถ้าใช้ซื้อตั๋วรถไฟฟ้า แทนที่เราจะใช้เงินสดจ่าย เราก็จะใช้บัตรเครคิตจ่ายแทน แล้วเก็บเงินสดส่วนนั้นไว้จ่ายค่าบัตรเครดิตในรอบบิลต่อไป บัตรเครดิตใบที่สามรถใช้ในต่างประเทศแล้วค่าเงินพอๆ กับเรตแลกเงินสด เราก็จะแลกเงินสดไม่เยอะมาก แล้วใช้บัตรเครดิตในการจ่ายเงินแทน ส่วนเรื่องการจ่ายค่าบัตรในแต่ละเดือนนั้น เวลาเรารูดจ่ายอะไรไป เราจะเก็บเงินสดเท่ากับจำนวนเงินที่รูดไป แล้วนำไปจ่ายในรอบบิลต่อไป แต่ถ้าเดือนไหนที่ช็อตจริงๆ เราก็เลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำของรอบบิลนั้นๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีเงินเหลือพอ เราจะพยายามจ่ายเต็มจำนวนวงเงินที่ใช้ไป หรือจ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวในเดือนนั้น แล้วมีเงินเหลืออยู่ ถ้าคิดที่จะใช้บัตรเครดิต ก็ต้องใช้ให้เป็น อย่าทำให้ตัวเองเสียเครดิต ?”