ผมเติบโตมาโดยถูกปลูกฝังว่า ‘หนี้’ คือสิ่งไม่ดี หากไม่จำเป็นจริงๆ เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
ความคิดดังกล่าวฝังหัวตั้งแต่เด็กจนโต มองย้อนกลับไปก็อดแปลกใจตัวเองไม่ได้เพราะเป็นบัณฑิตสาขาการเงินแท้ๆ แต่กว่าจะมีบัตรเครดิตของตัวเอง เริ่มก่อหนี้ และหัดผ่อนชำระ อายุก็ปาเข้าไปใกล้ 30 แล้ว
การมีบัตรเครดิตใบแรกทำให้ผมเป็นอิสระจาก ‘ภาพจำ’ ว่าการก่อหนี้เป็นเรื่องเลวร้าย ความจริงแล้วหนี้สินเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ส่วนการผ่อนชำระก็เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างที่เคยเข้าใจ ตราบใดที่เราบริหารจัดการได้ก็ไม่มีปัญหา
‘หนี้สิน’ คือเครื่องมือทางการเงินที่หยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อนในปัจจุบันเพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ เรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือนำไปใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นในวันที่เงินขาดมือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยมีค่าใช้จ่ายคือดอกเบี้ยในแต่ละปี ดังนั้น หนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือดีงาม แต่เป็น ‘เครื่องมือ’ ซึ่งจะสร้างประโยชน์หรือโทษก็ขึ้นอยู่กับคนที่นำไปใช้
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลคือราว 85 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเป็นระดับที่เสี่ยงสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม อีกทั้งยังสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ใกล้เคียงกับประเทศสวีเดน เดนมาร์ก และฮ่องกง แต่แตกต่างกันคือไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจไม่ได้มีเสถียรภาพเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงลิ่วเกิดจากการที่คนไทยสุรุ่ยสุร่ายหรือ ‘ชอบผ่อน’ เพราะแนวโน้มหนี้ครัวเรือนทั่วโลกต่างสูงขึ้นทั้งสิ้นเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยวิกฤตค่าครองชีพจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตัวเลขหนี้ที่สูงลิ่วจึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อน ‘ผลลัพธ์’ ของนโยบายรับมือวิกฤตและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี
ภูมิทัศน์ลูกหนี้ไทย
‘คนไทยเป็นหนี้เร็ว’ คือหนึ่งในข้อสรุปที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ จากการวิเคราะห์ภาพการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทย โดยระบุว่ากว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 25 ถึง 29 ปี เริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ และหนี้มอเตอร์ไซค์
อ่านจบแล้วคนจำนวนไม่น้อยอาจสรุปได้ทันทีว่านี่ไง คนรุ่นใหม่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณตนเอง แต่ผมขอชวนมองในมุมที่ต่างออกไป การก่อหนี้ของคนอายุยังน้อยก็ถือเป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ ในเมื่อรายรับจากการทำงานตำแหน่งแรกเริ่มไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ พวกเขาก็ต้องเลือกก่อหนี้พร้อมกับหวังว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับชำระหนี้ที่ก่อไว้ ส่วนการก่อหนี้ซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่อายุยังไม่มากก็อาจตีความได้อีกมุมหนึ่งว่าขนส่งสาธารณะของเราไร้ประสิทธิภาพและราคาแพงจนการซื้อรถอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
‘คนไทยเป็นหนี้เกินตัว’ รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมีหนี้มากกว่า 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมสูงกว่ารายได้ต่อเดือนประมาณ 10 – 25 เท่าตัว
ผมไม่ปฏิเสธว่าในกรณีข้างต้นลูกหนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่คนจำนวนไม่น้อยมักมองข้ามอีกตัวการที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้เกินตัวนั่นคือ ‘ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ’ ก่อนการอนุมัติสินเชื่อในแต่ละครั้ง ธนาคารจะมีทั้งข้อมูลรายได้ วงเงินสินเชื่อปัจจุบันของลูกหนี้ และประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรอยู่แล้ว คำถามคือธนาคารในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อและความเสี่ยงปล่อยปละละเลยจนลูกหนี้ก่อหนี้รวมกันจนมีมูลค่า 10 – 25 เท่าตัวของรายได้ในแต่ละเดือนได้อย่างไร
ความรับผิดชอบเบื้องต้นที่สุดของธนาคาร คือการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบัตรเครดิตจนมั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจถูกต้องตรงกันกับธนาคาร แต่รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า 8 จาก 10 คนระบุว่าขั้นตอนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน ยังไม่นับสารพัดเทคนิคจูงใจและการโฆษณาเพื่อจูงใจให้คนเป็นหนี้ จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาเรื้อรังเนื่องจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และระยะเวลาผ่อนชำระที่เพียงพอ
ก่อนการระบาดของโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับราว 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก่อนที่จะกระโดดขึ้นเป็นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เพราะจีดีพีลดและหนี้ครัวเรือนเพิ่ม ตัวเลขดังกล่าวแม้จะน่ากังวล แต่ก็ยังพอทำให้ใจชื้นเนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินในระบบได้
รายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 พบว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินในระบบเฉลี่ยราว 200,000 บาท แต่มีการกู้ยืมเงินนอกระบบเพียง 3,600 บาท อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดนี้ดูจะไม่สอดคล้องกับการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่าครัวเรือนเฉลี่ยมีหนี้นอกระบบราว 54,000 บาท กระนั้นสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งนอกระบบก็ยังน้อยกว่าหนี้ในระบบอยู่ดี
ข้อดีของการที่หนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระบบคือการเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ และการประนีประนอมกับภาคเอกชนผู้ปล่อยสินเชื่อ สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มประสบปัญหาผิดนัดชำระ ผมเองในฐานะที่เคยทำงานภาคการเงินมาก่อนขอแนะนำว่าให้ยกหูเข้าไปพูดคุยกับธนาคารและหาทางออกร่วมกัน เพราะซุกปัญหาไว้ใต้พรมราวกับไม่มีปัญหาจะนำไปสู่การฟ้องร้องที่สิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเวลาทั้งสองฝ่าย
กฎจำง่ายก่อนตัดสินใจเป็นหนี้
สำหรับใครที่ยังไม่เคยเป็นหนี้ ผมขอแนะนำกฎจำง่าย 2 ข้อเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการเป็นหนี้ คือเราจ่ายไหวไหม และของที่เราจะซื้อมีความจำเป็นแค่ไหน
‘จ่ายไหวไหม?’ มีคำตอบแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่นักวางแผนทางการเงินจะแนะนำว่าค่าผ่อนหรือค่าเช่าบ้านไม่ควรเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และเมื่อรวมกับหนี้สินต่างๆ แล้วไม่ควรเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่กฎดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะแต่ละคนมีรายได้และภารค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป
สำหรับมนุษย์เงินเดือนการคำนวณสัดส่วนดังกล่าวก็ตรงไปตรงมา ถ้าภาระการผ่อนปัจจุบันอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์แล้วยังมีเงินเหลือเก็บบานเบอะ จะใช้จ่ายตามใจตัวเองเพิ่มสักหน่อยก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับฝั่งอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ การสร้างภาระผูกพันระยะยาวก็อาจต้องระมัดระวังสักหน่อยเพราะรายได้มีขึ้นมีลง ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดในวันที่รายได้หดหายแบบไม่คาดฝันด้วย
ส่วน ‘จำเป็นแค่ไหน’ ก็ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง บางคนจำเป็นต้องมีรถขับเพราะหน้าที่การงาน บางคนฝันอยากมีบ้านตั้งแต่เด็กๆ บางคนชอบไปเที่ยวต่างประเทศ หรือบางคนแค่ได้ถือสินค้าแบรนด์เนมก็สุขใจ แต่ละคนย่อมมีรสนิยมและสิ่งจำเป็นไม่เหมือนกัน สิ่งเดียวที่ต้องระมัดระวังคือการซื้อเพราะลดราคาหรือซื้อเพราะเห็นโฆษณาออนไลน์แล้วอยากได้แบบฉับพลันทันที หากเกิดความรู้สึกเช่นนี้ผมแนะนำให้รอเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ถ้าไม่สามารถสลัดความอยากให้ออกไปจากหัวได้ค่อยกลับมาคิดใหม่ แต่อย่าลืมกฎข้อแรกด้วยนะว่าจ่ายไหวหรือเปล่า
แทบทุกครั้งที่มีข่าวคราวปัญหาหนี้ครัวเรือน คนส่วนใหญ่มักชี้นิ้วว่ารากของปัญหาเกิดจากนิสัยส่วนบุคคล แต่ความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น มนุษย์ปุถุชนไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกครับ การเห็นรายได้หดหายไปกับการผ่อนจ่ายไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ แต่หลายคนยอมเป็นหนี้เพราะมองอนาคตแล้วตอบไม่ได้เลยว่าต้องเก็บหอมรอมริบไปอีกกี่สิบปีกว่าจะได้ ‘ของชิ้นใหญ่ในฝัน’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง
เอกสารประกอบการเขียน
หนี้ครัวเรือน : ปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้
Why Debt Isn’t Always Such a Bad Thing