หนังสือเล่มโปรดก็เปิดอ่านมาเป็นพันครั้ง พออยากซื้อเล่มใหม่ๆ ก็ไม่รู้จะเลือกยังไงดี เล่มนี้จะถูกจริตไหม ที่เขาว่าดีจะถูกใจเราหรือเปล่า
Alex Morris นักเขียนชาวอังกฤษ เขียนบทความชื่อ 17 Ways To Find Good Books To Read ในบทความก็ตามชื่อเลย คือ พี่แกแนะนำวิธีเลือกหนังสือดีๆ มาอ่าน ตั้ง 17 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ถามเว็บไซต์ bookseer.com วิธีการทำงานของเว็บนี้ คือ จะแนะนำเล่มใหม่โดยเบสจากเล่มที่เราเพิ่งอ่านจบไป
2. ลองเช็กคะแนนเล่มที่เราเล็งไว้จากชุมชนคนรักวรรณกรรมทั่วโลกใน www.goodreads.com
3. เลือกหนังสือรางวัล Nobel Prize ไปเลย
4. เอาลิสต์นี่ไป! The top 100 books of all time
5. Whichbook ก็ดี มีให้เลือกตามหมวดหมู่ จะ happy หรือ sad จะ funny หรือ serious คลิกเลยค่ะ
6. แม้หลายคนจะเลือกหนังสือจากอันดับขายดี แต่ Alex แนะนำว่า ให้เลี่ยงหนังสือแนวนี้จะดีกว่า ก็แล้วแต่คนเนอะ เพราะหนังสือขายดีและมีคุณภาพก็เยอะน้า
7. เข้า Penguin Classics
8. เดินไปร้านหนังสือ ลองหยิบๆ จับๆ พลิกดูเรื่องย่อ เปิดๆ ดูไม่กี่หน้าก็รู้แล้วว่าเขียนดีถูกใจเราไหม
9. ถามพนักงานร้านหนังสือเลยจ้า ไม่มีใครรู้ดีไปกว่านี้แล้ว เล่มไหนออกใหม่ เล่มไหนคุณภาพ วานบอกที
10. ลองถามคนที่บ้านและเพื่อนๆ ดู ต้องมีสักคนแหละน่าที่ชอบอ่านหนังสือ ดีไม่ดีได้ยืมมาอ่านฟรีด้วย
11. คนจริงต้องลงเรียนวรรรณกรรมไปเลยจ้า จะได้รู้ว่าหนังสือเล่มไหนดี
12. ไปห้องสมุดสิ เหมือนร้านหนังสือทุกข้อ แต่ฟรี แถมไม่รู้สึกกดดันเวลาที่เรากำลังเอนจอยกับการเลือกหนังสือ ถูกใจเล่มไหนค่อยยืมกลับบ้านไปนอนอ่านต่อ
13. เลือกหนังสือเล่มที่ขึ้นชื่อว่าคลาสสิก
14. กำเงินไปงานหนังสือ
15. หนังหลายๆ เรื่องก็สร้างมาจากหนังสือดีๆ ทั้งนั้น เห็นชื่อแล้วก็ลองซื้อมาอ่าน จะก่อนหรือหลังดูหนังก็ได้ แล้วจะได้มุมมองใหม่ๆ จากการอ่าน
16. เข้าร่วม Book Club หรือถ้าเป็นบ้านเราก็ไปงานเสวนาดีๆ มีนักอ่านนักเขียนมาร่วมพูดคุย
17. สำหรับข้อสุดท้าย Alex บอกว่า เขียนเองโลด แล้วมันจะเป็นหนังสือที่ดีและมีความหมายสำหรับคุณ…โห
นอกจาก 17 ข้อที่ว่าไป The MATTER ไปถามมาให้ ว่าหนอนหนังสือแต่ละคน มีวิธีเลือกหนังสือดีมาอ่านยังไง ลองเลือกไปใช้กัน
ขวัญประภา อุนารัตน์
อาชีพ : กราฟิกดีไซนเนอร์
“ส่วนตัวเป็นเน้นตามกระแส ต้องถูกชี้นำจากคนอื่น แบบเพื่อนแนะนำมา หรือโฆษณา ในกรณีไม่มีใครแนะนำอะไร แต่อยากซื้อมักจะใช้วิธีดังนี้แล้วคิดว่าได้ผลพอสมควร
1. เดินวนๆ ในร้านหนังสือมือสอง หรือร้านใหญ่ๆ จะได้เปรียบเรื่องความหลากหลาย ดูจากปกก่อนเป็นอย่างแรก ถ้าเรื่องมันดีสำนักพิมพ์ก็น่าจะอยากดันเต็มที่ ปกดีก็มีแนวโน้มว่าเขาใส่ใจทำ
พอเจอหนังสือที่ชอบแล้วค้นชื่อหนังสือใน Goodreads ดูคะแนน และเข้าไปสุ่มดูคอมเมนต์แบบคร่าวๆ บางเรื่องคะแนนดี แต่คอมเมนต์ชี้ไปทางหนังสือที่เราไม่ค่อยอยากอ่านก็จะตัดไป ถ้ามีเวลาจะไปหาใน twitter ต่ออีกว่าอ่านแล้วเป็นยังไงกัน
2. อีกข้อที่ดูเป็นวิธีเพิ่มโอกาสเจอหนังสือดี คือ กด subscribe เว็บบทความออนไลน์ ไทยก็ได้ ต่างประเทศก็ดี นักเขียนจะ quote คำอ้างอิงถึงกระแสที่เกิดของหนังสือเล่มนั้นๆ ทำให้เราเอาไปค้นต่อได้ ส่วนใหญ่ก็เจอเล่มที่น่าสนใจ และล้ำๆ เยอะ เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีมากกับหนังสือประเภท non-fiction”
ณวรา หิรัญกาญจน์
อาชีพ Foreign Rights Agen
“ส่วนใหญ่เราเลือกจากเรื่องย่อเป็นหลัก หรือไม่ก็ถ้ามีคำนิยมบทนำ หรือคำตามจากนักเขียนที่ชอบก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น”
ธีรภัทร์ เจนใจ
อาชีพ : กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์
“เป็นคนซื้อหนังสือประเภทมีงบจำกัด ก็เลยพยายามเลือกหนังสือจากความชอบความสนใจเป็นหลักก่อน อย่างน้อยถ้าเลือกจากเรื่องที่สนใจหรือแนวที่ชอบ ก็ยังมั่นใจได้ว่ามีโอกาสสูงที่เราจะสนุกไปกับหนังสือเล่มนั้น ส่วนหนังสือดีๆ ที่คนเชียร์กันในโซเชียล ถ้ายังไม่มั่นใจว่าจะใช่ทางที่เราชอบหรือเปล่า ก็ไปยืนเปิดอ่านในร้านหนังสือเลย จะได้รู้ว่าเล่มนี้จะคลิกกับเรามั้ย”
Orangoing
อาชีพ : Illustrator
“ถ้าต้องการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ จะศึกษาก่อนเลือก อย่างเช่น อ่านรีวิวจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรู้สาขานั้นๆ ส่วนถ้าเป็นหนังสืออ่านเล่น บางทีเราก็กดเลือกตามเว็บไซต์ แต่ถ้าอยากให้สนุกกว่านั้นจะเดินทางไปที่ร้านหนังสือแล้วก็สุ่มเลือก คือคำว่าหนังสือดีๆ สักเล่ม ดีหรือไม่ดีนั้นอยู่ที่ความชอบส่วนตัว แล้วก็อยู่ที่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะทัชกับเราในช่วงเวลาไหนด้วย หนังสือที่เราว่าดีวันนี้อาจจะไม่ดีวันหน้า หนังสือที่เราไม่ชอบวันนี้ เราก็อาจจะชอบในวันข้างหน้า เรียกว่า ‘เปิดใจ’ มั้ง ถึงจะได้หนังสือดีๆ สักเล่มมาอ่าน”
เพชรไพลิน จึงสงวนสิทธิ์
อาชีพ : Online content editor
“เลือกหนังสือจากการอ่านรีวิวหนังสือ เพื่อนแนะนำ อันดับ best seller ถ้าเป็นหนังสือแนวที่สนใจอยากอ่านเองก็จะลองอ่านตัวอย่างหนังสือดูก่อนว่าถูกจริตไหม แต่ถ้าเป็นนักเขียนที่ชอบก็จะซื้อโลดดดด”
สิริกัญญา กาญจนประกร
อาชีพ : แม่บ้าน, รับทำหนังสือ บางทีก็ขายอาหาร
“หลายครั้งเราเลือกหนังสือจากหน้าปก แว้บแรกรู้สึกว่าปกที่ถูกใจ ข้างในมักจะถูกใจเราด้วย แต่เดี๋ยวนี้มีเฟซบุ๊ก ร้านหนังสือหรือคนที่ได้อ่านแล้วก็จะเขียนรีวิว ถ้าอ่านรีวิวแล้วโอเค ก็จะตามไปซื้อ อีกวิธีคือไปเลือกที่ร้านแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย ลองสัมผัสหน้าปก กระดาษเนื้อใน อ่านดูสัก 1-2 หน้า เผื่อเจออะไรที่ชอบและใช่สำหรับช่วงเวลานั้น
“จริงๆ คำถามนี้ตอบยากมาก เพราะหนังสือบางเล่มที่คนชอบกันทั้งเมือง แต่เราอ่านแล้วไม่ชอบ ก็มี ดังนั้นเราจะอ่านแบบไม่ตั้งความหวัง แต่เชื่อลึกๆ ว่าหนังสือที่ดีคือหนังสือที่ทำให้เราสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ก็ต้องลองอ่านไปเรื่อยๆ ใช้ความรู้สึกของตัวเองเลือกไปเลย
“แต่ถ้าให้แชร์ในมุมมองของคนทำหนังสือ ที่ช่วงหลังมีโอกาสอ่านต้นฉบับหลายประเภทโดยไม่ได้เลือก ต้องทำทุกเล่มที่สำนักพิมพ์ส่งมา ทำให้รู้สึกว่าคนเราต้องลองสลับหมวดหมู่การอ่านบ้าง เพื่อเรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือความสนใจ ทำแต่ละเล่มก็รู้สึกว่าดีหมด”