‘เน กอ ยา เน กอ ยา เน กอ ยา กก เน กอ มัล เร จุล เร Pick me up’
ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับ K-Pop หรือ J-Pop ตอนนี้หลายคนคงได้ติดตามรายการ Idol Survival Audition สุดฮอตในตระกูล Produce อย่าง ‘Produce 48’ ที่มีสาวๆ ในชุดนักเรียน กระโปรงชมพู หน้าตาน่ารัก ละลานตา ท่าเต้นติดตา เนื้อเพลงติดหู และรูปแบบรายการที่ให้ผู้ชมได้ลุ้น เป็นโปรดิวเซอร์แห่งชาติคอยเชียร์ผู้เข้าแข่งที่ชอบ
รายการที่ให้เราได้ลุ้น เชียร์เด็กฝึกหัด ต่อสู้ ผ่าฟันภารกิจเพื่อหนทางเดบิวต์เป็นไอดอล ไม่ได้เพิ่งมามีขึ้นในเกาหลีเร็วๆ นี้ แต่จริงๆ แล้วมีรายการแบบนี้ตลอดทศวรรษ K-Pop ที่ผ่านมา พร้อมรูปแบบรายการใหม่ๆ ที่เข้มข้น ยิ่งใหญ่ และอลังการขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงที่เรากำลังอินกับ Produce 48 (ร้องเน กอ ยาทั้งวันพร้อมรอดูรายการคืนวันศุกร์) จึงน่าติดตามและค้นหาว่า ทำไมถึงมีรายการ Idol Survival Audition ในเกาหลีใต้อยู่ตลอด ตลอดหลายปีที่ผ่านมารูปแบบเปลี่ยนไปยังไง รายการพวกนี้มีผลต่ออาชีพไอดอล ความฝันของเด็กฝึกหัด หรือแม้แต่วงการเพลงในเกาหลียังไง
รูปแบบรายการ และการเปลี่ยนแปลง
รายการ Idol Survival Audition ในเกาหลีใต้ เปิดโอกาสให้ผู้ชมโหวตผู้เข้าแข่งที่ชื่นชอบ เพื่อปูทางสู่การเดบิวต์มีมานานแล้ว เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบรายการมาเรื่อยๆ ให้ตื่นเต้น ยิ่งใหญ่ เข้มข้นและสเกลที่กว้างขึ้น
ในยุคแรกของรายการ Idol Survival Audition ในเกาหลี มักจะเป็นรูปแบบที่ค่ายเพลงเป็นคนริเริ่มรายการ ก่อนจะไปร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์เพื่อออกอากาศ และผู้แข่งขันก็คือเด็กฝึกหัดในค่ายที่ต้องแข่งขันผ่านภารกิจต่างๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ซึ่งบางรายการก็ตัดสินจากแค่การพิจารณาของกรรมการเท่านั้น บางรายการก็มีสัดส่วนจากการโหวตของแฟนคลับที่ชมรายการด้วย ก่อนจะฟอร์มเป็นสมาชิกวง และได้เดบิวต์
ไอดอลยุคแรกๆ ที่ผ่านรายการ Survival ฟอร์มวง และเดบิวต์ในรายการแรกๆ คือรายการ Let’s Coke Play! Battle Shinhwa! (ออกอากาศ 2005) ที่เดบิวต์ ‘Battle’ บอยแบนด์ 6 คน ที่ถูกเลือกโดยสมาชิกของวง Shinwha และถูกมองไว้ว่าจะมาเป็นทายาทของวงนี้ ซึ่งนอกจาก Battle แล้ว ก็มีไอดอลอีกมากมาย ที่ผ่านรายการ Survival มาก่อนจะเดบิวต์ ทั้งบอยแบนด์อย่าง Bigbang กับรายการ Big Bang Documentary (2006) วง 2PM และ 2AM กับรายการ Hot Blood Men (2008) หรือเกิร์ลกรุ๊ป Twice กับรายการ Sixteen (2015)
แต่ในระยะหลัง มีรูปแบบของรายการ Idol Survival Audition ใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่รูปแบบที่ค่ายเพลงเป็นผู้ริเริ่ม แต่เป็นทางสถานีโทรทัศน์ที่เริ่มทำรายการเอง โดยเปิดรับผู้แข่งขันจากค่ายเพลง หรือเด็กฝึกหัดอิสระแทน ซึ่งทำให้รายการยิ่งใหญ่มากขึ้น จากจำนวนผู้เข้าแข่งที่ไม่เกิน 20 คน มาเป็นครึ่งร้อย และบางรายการถึงหลักร้อยคนเลยทีเดียว
โดยมีเป้าหมายเพื่อแข่งขัน แย่งชิงตำแหน่งวงไอดอล และเดบิวต์ ซึ่งเมื่อรับผู้แข่งขันเป็นเด็กฝึกจากค่ายเพลงต่างๆ เมื่อเดบิวต์ก็จะมีปัญหาเรื่องสัญญาจากค่ายเดิมที่ผูกมัดเด็กฝึกหัดไว้ ทำให้วงของผู้ชนะ มีระยะเวลาการทำงาน โปรโมทร่วมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้น ก่อนจะต้องแยกย้ายกลับค่ายเดิม
เมื่อรายการ Idol Survival Audition แนวนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะ Produce 101 ที่มี 3 ซีซั่น และกำลังออนแอร์ซีซั่น 3 อยู่ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เพิ่มความแปลกใหม่ให้มากขึ้น อย่างในซีซั่นนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Produce 48’ และรับผู้เข้าแข่งขันต่างชาติ จากไอดอลกรุ๊ป48 ของญี่ปุ่นมาร่วม ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ให้ผู้ชมได้เป็นผู้โหวต และเป็นโปรดิวซ์แห่งชาติ หรืออย่างรายการ The Unit (ออนแอร์ปลายปีที่แล้ว) ที่มีคอนเซ็ปต์รับผู้แข่งขันจากวงไอดอลที่เคยเดบิวต์ มีผลงานแต่ไม่ประสบความสำเร็จให้ได้รับโอกาสเดบิวต์ใหม่อีกครั้ง ด้วยชื่อโปรเจ็กต์ว่า ‘Rebooting Project’
ทำไมต้องมีรายการ Idol Survival Audition
จากความสำเร็จของรุ่นพี่ไอดอลในวงการ ทำให้กระแส Hallyu K-pop โด่งดังและขยายความนิยมไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อาชีพไอดอล และเด็กฝึกหัดกลายมาเป็นความฝันของเหล่าวัยรุ่นเกาหลีรวมถึงต่างชาติ ที่อยากทำงานในวงการบันเทิงกันมากขึ้น จนเกิดไอดอล การเดบิวต์ที่ถี่มากขึ้นในวงการ เห็นได้จากตัวเลขของวงไอดอลที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละยุค ในยุค 90 มีไอดอลเดบิวต์อยู่ที่ 1-7 วงต่อปี และในช่วงทศวรรษ 2000 เริ่มเพิ่มมามากขึ้นที่สุดในปี 2009 ที่ 12 วง ในขณะที่ปี 2017 ที่มากขึ้นถึง 37 วง
ยิ่งเป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการแย่งชิงพื้นที่ ให้เป็นที่รู้จักในวงการนี้ ซึ่งการส่งเด็กฝึกหัดจากค่าย หรือการที่ค่ายสร้างรายการ Idol Survival Audition ขึ้นมา ยังเป็นการเปิดตัวเด็กฝึกหัด ในฐานะว่าที่ไอดอล ให้ได้เป็นที่รู้จักและได้รับฐานเสียงแฟนคลับตั้งแต่อยู่ในรายการ ก่อนเดบิวต์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แฟนๆ ที่ติดตามตั้งแต่ในรายการ ให้รอติดตามผลงานในการเดบิวต์จริงด้วย ซึ่งแม้บางคนจะไม่ได้เป็นผู้ชนะ ที่ได้เดบิวต์ในตอนจบ แต่เมื่อกลับค่ายของตัวเอง หรือย้ายไปอยู่ค่ายใหม่ ก็จะมีผลงาน ผ่านตาให้ได้รู้จักในรายการเหล่านี้เหมือนกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้คือ ‘จองเซอุน’ จากค่าย Starship Entertainment หนึ่งในผู้เข้าร่วมรายการ Produce 101 ซีซั่น 2 ที่แม้จะไม่ได้ติดอันดับผู้ชนะ เดบิวต์กับรายการ แต่ภายหลังเขาก็ได้เดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยว ซึ่งก็มีฐานแฟนคลับติดตามตั้งแต่ในรายการ และได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลศิลปินหน้าใหม่ แถมประสบความสำเร็จกับการจัดแฟนมีตติ้งเดี่ยวทั้งในเกาหลี และในไทยบ้านเราด้วย
และเมื่อรายการเหล่านี้ สร้างไอดอลได้ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ค่ายเพลง หรือช่อง ผลิตรายการเหล่านี้ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2017 ที่ผ่านมา ก็มีรายการแนว Idol Survival ออนแอร์ตลอดทั้งปี รวมถึง 5 รายการ
สำหรับค่ายเพลง ที่สร้างรายการขึ้นมาเอง นอกจากต้องการให้เด็กฝึกหัดเป็นที่รู้จักผ่านรายการแล้ว ยังต้องการใช้รายการเป็นเครื่องทดสอบ และสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กฝึกหัดก่อนเดบิวต์เช่นกัน เช่นในเหตุการณ์ในรายการ WIN ของค่าย YG ที่ผู้เข้าแข่งคิมจินอู ลืมเนื้อเพลง และร้องผิดพลาดในการแข่ง ยางฮยอนซอก เจ้าของค่าย ได้บอกว่าเค้ารู้สึกหงุดหงิด แต่ก็หวังว่าความผิดพลาดนี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเป็นศิลปินที่มือาชีพในอนาคต
หรืออย่างในรายการ Stray Kids ของค่าย JYP ที่แม้จะมีการคัดออก แต่สุดท้ายสมาชิกที่เข้าแข่งทุกคนก็ได้เดบิวต์ แต่ก่อนเริ่มรายการทางค่ายก็ตั้งเป้าหมายนอกจากให้เด็กฝึกหัดเป็นที่รู้จักว่า ให้พวกเขามีประสบการณ์ทำมิชชั่น รวมถึงฝึกฝนทั้งเรื่องทีมเวิร์กและความสามารถด้วย
ความสำเร็จและอุปสรรค เส้นทางเดบิวต์หลัง Survival Audition
เราเห็นความสำเร็จ และความนิยมอย่างชัดเจนในรายการ Produce 101 ที่ผู้ชนะจาก 2 ซีซั่นอย่างวง I.O.I และ Wanna One กลายเป็นวงที่โด่งดัง และได้รางวัลวงเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์หน้าใหม่ไปในหลายเวทีในปีที่พวกเขาเดบิวต์ แต่ก็ใช่ว่าทุกรายการ Idol Survival Audition ในเกาหลีจะได้รับความสนใจ และผู้ชนะจะโด่งดังผ่านการเดบิวต์เหมือนกัน
รายการ Boy24 รายการที่รวมตัวเด็กฝึกหัด 49 คน เพื่อค้นหาไอดอลกรุ๊ปฝ่ายชาย ที่มีช่อง M-Net เป็นผู้ผลิตเหมือนกับรายการในตระกูล Produce แต่รูปแบบรายการ เรตติ้ง และความนิยมของกลุ่มผู้ชนะกลับไม่ได้รับความสนใจ หรือประสบความสำเร็จเหมือนกัน โดยสำนักข่าวบันเทิง K-pop Seoulbeat เคยวิเคราะห์ไว้ว่าเพราะรูปแบบรายการที่ซับซ้อน และเพลงเปิดตัวที่ไม่ติดหู รวมถึงข่าวฉาวของผู้เข้าแข่งบางคน จึงทำให้รายการไม่ได้รับความสนใจ จนวงผู้ชนะที่ได้รับการเดบิวต์ด้วย
แต่ถึงอย่างงั้น นอกจากรายการเหล่านี้ จะยื่นโอกาส มอบความฝันในการเข้าสู่วงการให้กับเด็กฝึกหัด ได้ก้าวมาเป็นไอดอลแล้ว บางครั้งมันยังเป็นพื้นที่ให้ไอดอลที่เคยเดบิวต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จได้กลับมามีพื้นที่โชว์ฝีมือ ให้เป็นที่รู้จัก และโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่เล่าไปก่อนหน้ากับรายการ The UNIT ที่มีคอนเซ็ปต์นี้โดยตรง หรือในรายการ Produce 101 ซีซั่น 2 ที่สมาชิกวง NU’EST ซึ่งเดบิวต์ตั้งแต่ปี 2012 ผันตัวกลับมาเป็นเด็กฝึกหัด และออกรายการอีกครั้งในปี 2017 ด้วยความฝันว่าจะได้เดบิวต์ใหม่ หรือเป็นที่รู้จักมากขึ้น และหลังจบรายการ ก็มีสมาชิกที่เป็นผู้ชนะ ได้เดบิวต์ ส่วนตัววงเองก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งจริงๆ
ผลกระทบของรายการ Idol Survival Audition ต่อวงการเพลงเกาหลี
รูปแบบรายการ Survival แบบเดิม อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวงการเพลงในเกาหลีมาก เพราะเด็กฝึกหัดที่เป็นผู้ชนะ ก็เดบิวต์กับค่ายของตัวเองเลย แต่รูปแบบรายการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวมเด็กฝึกหัดหลากหลายค่าย หรือเด็กฝึกอิสระมาไว้ด้วยกัน โดยสถานีโทรทัศน์นั้น กลับสร้างความกังวลให้กับผู้ที่อยู่ในวงการเพลง
ในปี 2017 หน่วยงานในวงการดนตรีเกาหลี อย่างสมาคมจัดการศิลปิน, สมาคมจัดการลิขสิทธิ์เพลง และ สมาคมอุตสาหกรรมเพลง ได้รวมตัวกันต่อต้านการผลิตรายการ Idol Survival Audition จากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เพราะสมาคมเหล่านี้มองว่าจะเป็นการทำลายความสมดุลของวงการเพลงในเกาหลีอย่างรุนแรง และยิ่งมีรายการออกมามาก ก็จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของศิลปินในการโปรโมท ทั้งยังมองจะเกิดความเหี่ยวเฉาในวงการ และส่งผลกระทบต่อค่ายเพลงขนาดกลางถึงเล็ก ที่อาจทำหน้าที่ได้แค่เป็นนายหน้าหาเด็กฝึกหัด เพื่อส่งเข้าไปในรายการออดิชั่น ให้สถานีโทรทัศน์สร้างไอดอลกรุ๊ปที่ตัวเองต้องการ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผลกำไร การแบ่งสัดส่วนที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม และรูปแบบของธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป ที่สถานีโทรทัศน์กลายมาเป็นผู้ร่วมผลิต มีส่วนในผลกำไร ทำให้รายได้ของศิลปินลดลง เช่นวง Wanna One ผู้ชนะรายการ Produce 101 ซีซั่น 2 บริษัท CJ E&M ที่เป็นผู้ผลิตรายการจะได้รายได้จากศิลปิน 25% ส่วนเดิม YMC Entertainment ต้นสังกัดของวงได้ไปอีก 25% (ตอนนี้ย้ายมาอยู่ในสังกัดค่าย Swing Entertainment แล้ว) ส่วนที่เหลือแล้วแต่ศิลปินจะตกลงกับค่ายของตัวเอง ซึ่งปรากฏว่าสมาชิก 7 คนในวง มาจากค่ายเพลงที่ทาง CJ E&M เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอย่างน้อย 50% ทำให้ได้รายได้จากทั้ง 2 ทาง จึงเป็นเหมือนการสร้างความผิดปกติของอุตสาหกรรมเพลงจากสถานีโทรทัศน์ที่มีค่ายเพลงของตัวเอง
ถึงอย่างนั้น กระแสของรายการ Idol Survival Audition ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเกาหลีเลย ทั้งยังโด่งดัง และเป็นที่นิยมออกไปนอกประเทศ มีประเทศจีนมาซื้อลิขสิทธิ์รายการไปจัดทำ พร้อมด้วยซีซั่นใหม่ของ Produce 48 ที่กำลังออนแอร์ด้วยเรตติ้งผู้ชมที่สูง ซี่งจะมีการผสมผสานวัฒนธรรม J-pop ขยายเป้าหมายของผู้ชนะจากแค่ในเกาหลี เป็นการโปรโมทในญี่ปุ่น และเป็น Global Idol
น่าสนใจว่าโมเดลของรายการแบบนี้อาจจะไม่ได้อยู่คู่แค่ในวงการ K-Pop แล้ว แต่อาจจะกลายเป็นต้นแบบ และขยายไปเป็นโมเดลการหาไอดอลของประเทศอื่นๆ ด้วยในอนาคตก็ได้
อ้างอิงจาก
Illustration by Naruemon Yimchavee