ปาโบล ปิกัสโซ และ อ็องรี มาร์ติส สองศิลปินตัวพ่อต่างยกย่อง ปอล เซซานน์ ว่าเป็นพ่อในพ่อ “The father of us all” เพราะงานของเซซาน์ เป็นรูปแบบของงานที่เชื่อมต่อระหว่างศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ในศตวรรษที่ 19 สู่คิวบิสม์ในต้นศตวรรษที่ 20
แล้วงานของศิลปินคนไหน ที่นักวาดต่อไปนี้ยกให้เป็นตัวพ่อตัวแม่ แลทำให้พวกเขาอยากลงมือวาดภาพ หรือเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักวาด และเพราะอะไร…ให้พวกเขาเล่าให้ฟัง
ยอดฉัตร บุพศิริ
“นักวาดที่ทำให้เรามีไฟในการวาดภาพ (แต่ว่าไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักวาด) เช่น Jean-Jacques Sempé, Jesús Cisneros , Kitty Crowther, Eva Lindström , Anna Höglund, Valerio Vidali , Violeta Lópiz (จริงๆ ยังมีอีกเยอะเลย) จุดร่วมคือ ทุกคนเคยทำหนังสือภาพ หรือไม่ก็เคยวาดภาพประกอบเรื่องสำหรับเด็ก แต่ละคนวาดภาพและเขียนเรื่อง (บางคนเขียนเนื้อเรื่องเอง) ด้วยความลึกและความกว้าง มีผู้ชมงานท่านหนึ่งเคยพูดถึงผลงานของหนึ่งในศิลปินเหล่านี้ เธอบอกว่า “You make my heart sing.” สำหรับเรา รู้สึกแบบเดียวกันนี้กับผลงานของทุกคนที่กล่าวมาเลยค่ะ”
www.facebook.com/yodchattinylines
Patsachon
“Braulio Amado จริงๆ เขาเป็นกึ่งๆ ศิลปินที่ทำงานไฟน์อาร์ตซะมากกว่า ชอบดูความผสมผสานในการเอาภาพกับตัวหนังสือมารวมอยู่ในภาพเดียวออกมาเป็นโปสเตอร์ texture ที่ศิลปินเลือกใช้ในแต่ละงานก็ใช้ไม่เหมือนกันเลย แต่กลับมีเอกลักษณ์ และทำให้เราอยากตามดูงานเขาทุกงาน”
น้ำใส ศุภวงศ์
“คนที่ทำให้เริ่มอยากวาดรูปจริงจังน่าจะเป็นเพื่อนสมัยประถมที่นั่งข้างๆ และวาดรูปเก่งมาก ดูบ่อยๆ ก็เลยซึมซับมาวาดตาม พอเริ่มวาดก็เริ่มดูงานศิลปินต่างๆ และก็ชอบไปทั่ว แต่ถ้าตอบแบบเร็วๆ ให้เวลา 1 วินาที ชื่อแรกที่โผล่มาคือ Christoph Niemann อาจจะเพราะได้รู้เบื้องหลังเยอะกว่าคนอื่นๆ (จากการดูซีรีส์ Abstract ใน Netflix) และรู้สึกว่าเขาเพียบพร้อมไปซะทุกด้าน สกิล ไอเดีย อารมณ์ขัน วินัย และแอดติจูดในการทำงาน 3 ด้านแรกทำให้ดูงานเขาด้วยความโอ้โหปนอิจฉาตลอดว่าคิดได้ไง แถมลายเส้นยังเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เพื่อซัพพอร์ตไอเดีย ส่วน 2 ด้านหลังก็ทำให้เห็นงานอัพเดทอยู่เรื่อยๆ จนลืมเขาไม่ลง”
ศุภณัฐ สุริย์ฉาย
“ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เราวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้เลย ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นคือตรงไหนเราก็จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ตอนเด็กคลั่งโดราเอมอนมากจนทำให้เราอยากสอบเข้าโปรดักต์ดีไซน์ เพราะอยากออกแบบไอเทมจากโลกอนาคตแบบโดราเอมอน จนพอลองติวสอบเข้าโปรดักต์ก็ทำให้รู้ว่าเออยังไม่ใช่แฮะ เราไม่ได้อยากออกแบบเพื่อตอบสนองหรือแก้ปัญหาความต้องการใคร เราแค่อยากจินตนาการอะไรก็ได้แล้ววาดมันออกมา เลยเบนเข็มมาที่ออกแบบนิเทศศิลป์แทน ดังนั้นคงตอบได้ว่าคนเขียนโดราเอมอนนี่แหละ เป็นคนพาฉันมารู้จักงานออกแบบ”
gamm
“ตอนเด็กๆ ก็วาดรูปมาตลอด รู้แค่ว่าเป็นคนชอบศิลปะ พอโตขึ้น ต้องติวเข้ามหา’ลัย เริ่มต้องเสพงานมากยิ่งขึ้น เลยชอบ Mark Ryden มาก เริ่ม copy สไตล์ของ ดูว่าเขาวาดอะไรแบบไหนบ้าง แล้วเอามาเป็นต้นแบบ พอเราวาดตามมากๆ มันก็หล่อหลอมให้เรามีสไตล์ของตัวเอง สุดท้ายศิลปินที่ชอบที่สุดก็ไม่ใช่ Mark Ryden หรอก เป็นคนอื่นแทน แต่ก็ต้องขอบคุณเขานะ ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองลึกมากขึ้น มากกว่าแค่ว่าเราชอบศิลปะ แต่เราโคตรรักการวาดรูปเลยต่างหาก”
www.instagram.com/the.pigeon.post
ธนภรณ์ สุขถาวร
“ช่วงนี้เลยน่าจะเป็น Aisha Franz เป็นศิลปินชาวเยอรมัน ทำงานภาพประกอบและเขียนการ์ตูน รู้จักงานเขาเพราะสนใจภาษาเยอรมันเลยอยากอ่านหนังสือเยอรมัน เลยเริ่มจากอ่านการ์ตูนเรื่อง Shit is real ซึ่งเราอ่านแล้วชอบ มันมีความดิบหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องและลายเส้น เลยชอบค่ะ”
Jeep Kongdechakul
“จุดเริ่มต้นการวาดรูปของเราน่าจะเกิดจากการ์ตูน ครอบครัวเราเป็นคนจีน ค้าขายรองเท้า มีร้านอยู่ในห้าง ทุกวันจะมีหนังสือพิมพ์มาส่ง คุณแม่มักจะให้เค้าส่งการ์ตูนติดมาด้วย ก็คือขายหัวเราะ เราว่าขายหัวเราะเป็นการ์ตูนที่โคตรไทย เป็นสิ่งพิมพ์ที่บอกยุคสมัยของไทยได้ดี มีล้อข่าว ล้อการเมือง ล้ออะไรฮิตๆ แต่ละสมัย เราจะวาดตามการ์ตูนในเล่ม ต่อมาเริ่มดูทีวี วิดีโอ มีค่าย Disney Nickelodeon ชอบมา เห็นคาแรกเตอร์การ์ตูนน่ารัก ก็วาดๆ ตาม
“ส่วนการออกแบบ อาจจจะสะสมจากการอยู่ในห้างสรรพสินค้าทุกวัน ชอบเดินไปดูของ Sanrio อยากมีของใช้และมีรูปการ์ตูนอยู่ด้วย การ์ตูนของเขาจะไม่ได้อยู่เพียงแค่ในหนังสือ หรือในทีวี มันถูกผลิตออกมาเป็นของใช้ ดินสอ ยางลบ เลยชอบ Sanrioในยุค 90s มากๆ”