คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
ทุกวันนี้เราอาจเห็นความขัดแย้งแบบจ้องจะทำร้ายกันอย่างเดียว ไม่ประนีประนอม ไม่ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน แต่ทว่าภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘แสงกระสือ’ ที่เพิ่งเข้าโรงได้ไม่นานนี้ อาจกลายเป็นแสงแห่งความหวังที่โผล่ขึ้นมาเพื่อเรียกให้เราลองหายใจเข้าลึกๆ แล้วคิดว่ามันจะมีบ้างไหม วิธีที่เราจะอยู่ร่วมกันกับสิ่งที่แตกต่างไปจากเราได้
‘แสงกระสือ’ เป็นผลงานกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ (เคยกำกับเรื่อง Last Summer) และเขียนบทโดย มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ผู้กำกับและเขียนบท 13 เกมสยอง บอดี้ ศพ 19 รวมถึงรักแห่งสยาม ) เป็นการนำตำนานผีไทยมาเล่าผ่านหนังอีกครั้ง โดยพยายามแสดงให้เห็นว่ามนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งที่แตกต่างไปจากเราได้อย่างไร ผ่านโปรดักชั่นที่งดงาม รวมถึงนักแสดงที่เล่นได้สมบทบาทจนใครหลายๆ คนอินตามไปด้วยได้อย่างง่ายดาย
แต่หากใครคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะกระตุ้นอะดรีนาลีน ชวนเราใจเต้นด้วยความน่ากลัวของกระสือ ก็อาจจะทำให้บางคนผิดหวังอยู่หน่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น นี่คือหนึ่งในหนังที่เราอยากชวนทุกคนมาดูเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะออกโรงไปก่อนเวลาอันควร
แสงกระสือเล่าถึง ‘สาย’ (มินนี่—ภัณฑิรา พิพิธยากร) ที่ได้รับการสืบทอดการเป็นกระสือผ่านจุมพิตจากกระสือตนก่อน เธอเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองไม่ใช่คนธรรมดา และชีวิตของเธออาจจะลำบากขึ้นหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนรักในวัยเด็กอย่าง ‘น้อย’ (โอบ—โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) ที่เคยหายตัวไปก่อนจะกลับมายังหมู่บ้านอีกครั้ง (พร้อมกับกลุ่มคนที่ตามล่ากระสือ) นอกจากนี้ยังมีตัวละครสำคัญอีกคนคือ ‘เจิด’ (เกรท—สพล อัศวมั่นคง) ที่หลงรักสายเช่นกัน และยังเป็นเพื่อนสนิทในวัยเด็กของน้อยด้วย นอกจากการเล่าตำนานกระสือแล้ว หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังรักสามเส้าเราสามคนไปในตัว เป็น Romantic-Fantacy ที่ชวนติดตาม (นึกถึงหนัง Twilight ฉบับไทยๆ เหมือนกันนะ)
แม้ว่า แสงกระสือ จะเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผีในตำนานไทยอย่าง ‘กระสือ’ (แน่ล่ะสิ!) แต่หากมองชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า ‘Inhuman kiss’ เราจะเห็นมุมมองผ่านตัวผู้กำกับว่าเขาไม่ได้มองกระสือเป็น ‘ผี’ แต่พยายามจะย้ำให้เราเห็นคำคำหนึ่ง คือ ‘อมนุษย์’ ให้ชัดขึ้น เพราะสำคัญตรงที่คำว่า ‘อมนุษย์’ มีนัยหนึ่งหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งสามารถตีความได้กว้างมาก เพราะสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกนี้ที่ไม่ใช่มนุษย์ก็คืออมนุษย์ด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นแล้ว หนังเรื่องนี้คือการพูดถึง มนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการตั้งคำถามว่า มนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมโลกกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ไหมโดยไม่ต้องทำร้ายกัน
ตัวละครสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ‘น้อย’ ซึ่งเป็นคนที่ทำให้เราเห็นว่าต่อให้ สาย จะกลายเป็นอมนุษย์ แต่หากเราเลือกที่จะหยิบยื่นความรักให้กัน พยายามเข้าใจอีกฝ่าย ลองเรียนรู้ ทำความรู้จักอีกฝ่ายให้มากขึ้น เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้การหายตัวไปของน้อยจะยังเป็นสิ่งที่หนังทิ้งค้างเอาไว้กลางอากาศ และเหตุผลที่น้อยกลับมาก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยไปมากกว่า ‘แค่อยากกลับมา’ แต่พัฒนาการของตัวละครนี้อาจเป็นตัวอย่างที่เราจะได้มองเห็นว่า ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับสิ่งที่แตกต่างจากเราได้
จากตอนแรกที่ น้อย เห็น สาย เป็นกระสือจนหวาดกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ จนกระทั่งได้ฟังหลวงพี่พูดให้คำแนะนำว่า “เอ็งจงเชื่อในสิ่งที่ตาเอ็งเห็น แต่ถ้าเอ็งจะทำอะไรก็ทำในสิ่งที่ใจเอ็งเห็น” (ซึ่งกลายเป็นประโยคที่กระทบใจเราจังๆ) จากประโยคนี้เองที่เปลี่ยนให้น้อยเปิดใจและพยายามเข้าไปเรียนรู้ชีวิตของสายในอีกด้าน ทำให้น้อยค่อยๆ ยอมรับสายในเวอร์ชั่นที่เป็นกระสือ ก่อนจะเกิดเป็นฉากน่ารักๆ เช่นการเอาไก่สดๆ มายื่นส่งให้ สาย กับมือตอนเป็นกระสือ ซึ่งก็ชวนให้คนดูหัวเราะและยิ้มตามฉากนี้ไม่น้อย
พอมองจากฉากนี้แล้ว มันก็ช่วยทำให้เห็นว่าหากมนุษย์ยอมรับและพยายามเรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก่อนจะไปหวาดกลัว เราก็น่าจะมีความสุขมากขึ้นรึเปล่า เพราะอาจเป็นมนุษย์เองที่คิดไปว่าสิ่งนั้นอันตราย สิ่งนั้นไม่ใช่พวกพ้อง สิ่งนั้นต้องกำจัดให้สิ้นซาก ดังนั้นเราอาจจะต้องมองย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากจะเป็นอย่างไร อยากจะมีโลกแบบไหน อยากจะเห็นอะไรเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ความสงบสุขหรือเปล่า ความรัก ความหวังดีหรือเปล่า
ตัวละครอีกตัวที่มีบทบาทเด่นไม่แพ้กันคือ ‘เจิด’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เพิ่งมาเฉลยเกือบตอนท้ายๆ เรื่องว่าเขาเองก็รู้เช่นกันว่าสายเป็นกระสือ จึงพยายามปกป้องด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่พยายามตามล่ากระสือเพื่อสืบข้อมูลแผนการของคนกลุ่มนี้ แต่วิธีการของเจิด แม้จะเกิดจากความรักเหมือนกับกับที่น้อยรักสาย แต่มันกลับได้ผลลัพท์ที่ต่างออกไป เพราะเจิดเลือกจะบอกให้สาย ‘ปิดประตู ลงกลอนให้ดี’ ซึ่งหมายความว่า หากอมนุษย์อยากมีชีวิตปลอดภัย ก็ต้องอยู่แต่ในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น อย่าออกมาอยู่รวมกันกับมนุษย์ ท้ายที่สุด เมื่อตัวเองต้องกลายเป็นอมนุษย์ไปเสียเอง สิ่งที่เจิดเพิ่งเข้าใจคือการได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมจากคนอื่น โดยเฉพาะจากคนที่เขารัก
หนังเรื่องนี้จึงเน้นย้ำกับเราเสมอว่า ขอแค่พวกเรายอมรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้เท่าเทียมกับตัวเอง หรือแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองที่มีหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายความคิด หลากหลายวัฒนธรรม ขอเพียงลองเปิดใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน มันอาจจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นก็ได้
อีกฉากที่เราอยากพูดถึง เพราะค่อนข้างสะเทือนใจมากๆ คือฉากตอนท้ายๆ ที่ชาวบ้านรุมแทงร่างของสายที่นอนอยู่แน่นิ่ง (เพราะสายถอดหัวกลายเป็นกระสือไปแล้ว) ทำให้เรานึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ที่กลายเป็นฝันร้ายของใครหลายๆ คน การมองฝ่ายตรงข้ามว่าไม่ใช่คนแล้วเข้าไปรุมทำร้าย แม้กระทั่งผู้เสียชีวิตที่ไร้ลมหายใจก็ไม่เว้นนั้น มันกลายเป็นภาพซ้อนทับที่แทบจะนาบลงไปได้อย่างพอดี หรือการที่ฉากหลังของหนังเป็นช่วงสงคราม มันก็ยิ่งช่วยขยายให้เราสามารถเห็นมิติที่ลึกไปกว่านั้น สงครามที่เกิดจากการเห็นอีกฝ่ายเป็นฝั่งตรงข้าม การไม่ยอมรับในวิถีที่แตกต่าง จนเกิดคนตายจำนวนมาก จนเกิดการสังหารที่ชวนหดหู่ อะไรทำให้เราต้องกลายเป็นศัตรูกันคือคำถามที่หนังชวนให้เราคิดเสมอ