มังงะ หรือ หนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสื่อบันเทิงที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว และด้วยความที่ปัจจุบันนี้ มังงะ ได้พัฒนาตัวมาเป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มเติม จึงทำให้มีคนเข้าถึงสื่อบันเทิงประเภทนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงว่ายังมีงานแปลแบบละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง
แต่ไม่ว่าตัวมังงะจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นำเสนอมาเป็นแบบอื่น แต่ก็ยังมีอาชีพหนึ่งที่ยังเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับงานมังงะอย่างต่อเนื่อง และในช่วงหลัง ก็ตกเป็นเป้าพาดพิงอยู่หลายต่อหลายครั้ง อาชีพดังกล่าวก็คือ นักแปล ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงคำพูดในภาษาญี่ปุ่น ให้กลายเป็นศัพท์ภาษาไทย ที่รู้เรื่องกันมากขึ้น
ในครั้งนี้ The MATTER ก็ได้รับเกียรติจากนักแปลมังงะ สามท่าน สามสไตล์ มาพูดคุยกับเราครับ แม้ว่าทั้งสามท่านจะขอสงวนชื่อจริง และพูดคุยกับเราด้วยนามปากกา เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว แต่ทุกท่านน่าจะคุ้นชื่อผลงานที่พวกเขาเคยทำงานมาบ้างไม่มากก็น้อย มาลองรับฟังมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานของนักแปลแต่ละท่านกันครับ
สวัสดีและขอขอบคุณนักแปลทุกท่านที่มาร่วมสนทนากันในวันนี้ ต้องขอรบกวนให้ทุกท่านแนะนำตัวกันเล็กน้อย
น้ำหวาน : น้ำหวาน ค่ะ เริ่มมาทำงานเพราะเห็นเพื่อนสมัย ม.ปลาย แปลการ์ตูน เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยลองมาสมัครดูค่ะ แต่ก่อนเคยทำงานอยู่สำนักพิมพ์แห่งหน่ง แต่ที่นั่นเลิกรับงานการ์ตูนญี่ปุ่น เลยย้ายมาทางสยามอินเตอร์คอมิกส์ ก็แปลงานกับสยามฯ มาน่าจะเกิน 10 ปีได้ค่ะ เรื่องที่เคยแปล ตัวอย่างก็จะมี ดาบพิฆาตอสูร, ยามเมื่อเหล่าจั๊กจั่นกรีดร้อง (แว่วเสียงเรไร), Drrr!! โลกบิดเบี้ยวที่อิเคะบุคุโระ และ Again!! ย้อนเวลากลับมาป่วนค่ะ
ลูกหมูสีชมพู : ผมลูกหมูสีชมพูครับ ผมเป็นนักแปลแบบ All-In-One ได้หมดครับ แนว Boy-Love หรือแนววิทยาศาสตร์หนักๆ ก็แปลมาแล้วครับ งานที่คนจำได้เยอะจะเป็น กินทามะ, ดีเกรย์แมน หรือ Initial D แล้วก็พวก Big Book จะมี ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ กับ ชาแมนคิง ถึงประมาณเล่ม 12 และ I Am Hero แล้วถ้าย้อนไปช่วงเริ่มต้นเลย ก็จะเป็นเรื่องโลกใบเล็กของโทริยาม่าครับ
เอื้อย : เอื้อยค่ะ เป็นนักแปลที่แปลทั้งมังงะและอนิเมะค่ะ แปลงานทั้งแบบโชเน็น แอคชั่น กีฬา แล้วก็มีแปลมังงะแนวโชโจด้วยค่ะ งานที่เคยแปลแล้วคนน่าจะคุ้นหน่อยจะเป็น My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก, สัมผัสรักจากฟากฟ้า และ มิรุโมะ ภูตจิ๋วจอมยุ่ง ค่ะ
ทางคุณน้ำหวานนี่ส่วนใหญ่จะแปลงานสายโชเน็นใช่ไหม ?
น้ำหวาน : ใช่ค่ะ จริงๆ อยากได้งานไม่เครียดแบบการ์ตูนโชโจ สัตว์เลี้ยงบ้าง อย่างตอนที่แปลเรื่อง ‘ยามเมื่อเหล่าจั๊กจั่นกรีดร้อง’ เครียดมาก ฝันร้ายตลอด หลังจากนั้นเวลาทัก บ.ก.ขอเรื่องใหม่ คือจะบอกเลยว่า ‘มีเรื่องไม่มีเลือด ไม่มีคนตาย ไม่มีคนโรคจิตมั้ยคะ?’
แบบว่าเวลาเวลาแปลมันจดจ่อกับคำพูด บางทีเลยทำเครียดไปด้วย คนแปลน่าจะอินกับบทกับเนื้อหาง่ายด้วยแหละค่ะ แต่ถึงจะทำฝันร้าย ยามเมื่อเหล่าจั๊กจั่นกรีดร้อง ก็สนุกดีค่ะ เป็นงานที่รักมากเลย ส่วน ดาบพิฆาตอสูร นี่บทพูดดีมาก ก็เลยบรรเทาความปวดใจได้บ้างค่ะ
ทางคุณเอื้อยที่ได้แปลงานสายโชโจมา ไม่ทราบว่าการแปลงานแนวนั้นมีความแตกต่างอย่างไรกับแนวโชเน็น ?
เอื้อย : งานแนวโชโจจะเน้นบรรยายอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวละครที่ค่อนข้างละเอียดออกมาเป็นตัวหนังสือมากกว่าค่ะ อย่างเวลาตัวละครจะคิดอะไร ก็จะมีการลงความคิดมาเป็นตัวหนังสือเยอะกว่า ซึ่งคนแปลต้องจับอารมณ์ตัวละครให้ดี จะได้ถ่ายทอดออกมาตามที่คนเขียนต้องการที่สุดค่ะ
ทางคุณลูกหมูสีชมพู ตัวหนังสือการ์ตูน กินทามะ นี่แปลยากไหมเพราะเรื่องนี้มีมุกตลกอยู่มากเลยทีเดียว ?
ลูกหมูสีชมพู : ตอนเรามานั่งอ่าน สิ่งที่แรกที่คิดในใจก็คือ ‘กูพลาดละ’ แล้วตอนแรกทรงเรื่องมันไม่ใช่การ์ตูนตลก มันออกจะเป็นแนวดราม่า แต่เราก็แปลไปครับ แรกๆ ก็ยังจับประเด็นเรื่องไม่ได้มากนัก ก็แปลตามรูปประโยคไป จนกระทั่งในช่วงที่อาจารย์โซราจิ (โซราจิ ฮิเดอากิ (Sorachi Hideaki) – ผู้เขียนมังงะกินทามะ) แกก็เริ่มเล่นมุกมากขึ้น ก็เห็นว่าอาจารย์จะมาแนวนี้ใช่ไหม ผมก็เอาตามงานแกครับ ก็ไปเช่าพวกหนังตลก, ตลกคาเฟ่ หรือเดี่ยวไมโครโฟน มานั่งดู เพื่อให้ตัวเองจับทางได้ว่า ตลกที่ดีควรเป็นอย่างไร เพราะในหนังสือการ์ตูนไม่สามารถใช้คำหยาบได้เต็มที่ แต่ก็ยังไม่เข้าใจมากนักเพราะเป็นตลกแนวญี่ปุ่น
สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตบ้านเราก็ยังแรงไม่มากพอแต่ก็ต้องเริ่มตามข่าวสารมากขึ้นด้วย เพราะการ์ตูนตลกแบบกินทามะเนี่ยมันจะใช่มุกส่วนตัว หรือเฉพาะกลุ่มก็ไม่ได้ด้วยครับ ก็เลยมานั่งคิดได้ว่าเวลาเล่นมุกจริงๆ ต้องเป็นมุกที่คนไม่ได้อ่านการ์ตูนก็รู้จัก แล้วพูดปุ๊ป ไม่ว่าหลังจากนี้คุณจะอ่านเล่มไหน หรือผ่านไปอีกกี่ปี คุณก็จะจำได้ว่ามันเป็นมุกอะไรครับ ก็ต้องค้นคว้าพอสมควรครับ
คือคนใน Pantip อาจจะคิดว่า เนี่ยคนแปลกินทามะต้องเป็นคนตลกโปกฮาตลอดเวลาแน่ๆ เลย แต่จริงๆ แล้วผมโคตรเครียดกับเรื่องนี้เลยครับ (หัวเราะ) เพราะมันต้องมีการแปลงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นให้เป็นมุกไทยๆ ด้วย ก็เป็นอะไรที่ยากพอสมควรเลยครับ
มีท่านใดได้มีโอกาสแปลงานแบบ Simul-Pub (ตีพิมพ์ตอนใหม่พร้อมญี่ปุ่น) บ้างไหม ?
น้ำหวาน: เกือบจะได้ทำ ดาบพิฆาตอสูร ค่ะ ตอนนั้นทาง บ.ก. ถามว่าอาจจะมีทำตีพิมพ์ลงแอพพลิเคชั่น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำลงแอพฯ ค่ะ
ส่วนของทาง กินทามะ เพราะต้องใช้เวลาในการแปลมาก เลยไม่สามารถทำ Simul-Pub ได้ใช่ไหม ?
ลูกหมูสีชมพู: ทำไม่ได้เลยครับ แล้วมันข้ามเนื้อเรื่องไปมากด้วย
การทำงานกับมังงะที่มีชื่อเสียงเยอะ มีผลกดดันอย่างไรบ้าง ?
น้ำหวาน : มีบ้างค่ะ งานทุกงานเราพยายามหมด ทำเต็มที่ทุกงาน แต่งานดังๆ คนรออ่านเยอะๆ ก็จะเห็นคนกดดันให้แปลเร็วๆ บ้าง แต่ข้อดีของงานดังก็มีค่ะ มันมีคอมเมนต์ มีฟีดแบ็กกลับมา ก็จะได้รู้ด้วยว่า คนอื่นเห็นเป็นยังไง เราจะได้ปรับปรุงในครั้งต่อไป อย่าง ดาบพิฆาตอสูร นี่ได้เห็นฟีดแบ็กเยอะมาก เหมือนได้เห็นข้อด้อยข้อควรระวังของตัวเองหลายๆ อย่างเลย
เอื้อย : ยิ่งเรื่องที่ดังก็จะยิ่งกดดันมากขึ้นค่ะ ยิ่งสมัยนี้ที่คนสามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ เรายิ่งต้องระวัง สมัยนี้เราไม่สามารถอ้างได้แล้วว่า เราหาข้อมูลไม่พอ มันเช็กได้หมด อาจจะมีการพลาดได้แต่ก็ต้องระวังให้มากที่สุด มันยากมากที่จะทำงานให้ถูกใจคนทั้งหมดได้ แต่เราก็พยายามทำให้ถูกต้องมากที่สุดค่ะ
ลูกหมูสีชมพู : สำหรับผม ไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่นะครับ เพราะโดยส่วนใหญ่การ์ตูนที่ผมแปล จะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความพลิกแพลงอะไรมากนักเหมือนกับกินทามะ เพราะโดยส่วนใหญ่ ตัวบทมาอย่างไรเราก็แปลตามนั้น
งานละเมิดลิขสิทธิ์สร้างผลกระทบอะไรต่อนักแปลบ้างไหม เพราะในแง่หนึ่งจะงานแท้ งานเถื่อนก็ยังต้องพึ่งพานักแปลอยู่ดี ?
น้ำหวาน : กระทบค่ะ กระทบมาก (เสียงยาว) ถ้ายอดขายไม่ดีนักแปลก็ตกงานค่ะ ค่าแปลนี่ก็บอกเลยว่า แปลมา 10 กว่าปี ราคาไม่ขยับเลย แถมโดนลดค่าแรงด้วย คือถ้าสำนักพิมพ์ขายไม่ได้ นักแปลก็ตายเหมือนกัน
เอื้อย : กระทบอยู่ค่ะ เพราะงานแปลมีจำนวนลดไปพอสมควรเลย หรือเพื่อนนักแปลบางท่านก็ไม่มีงานเข้าไปเลย
ลูกหมูสีชมพู : ถ้าส่วนตัวเลย ในงานที่ผมรับมา ไม่ค่อยมีผลกระทบครับ เพราะเคยเอางานของเขามาเทียบกัน ผมคิดว่างานฝั่งผมแปลแล้วเข้าใจมากกว่า แต่เราก็ต้องทำงานให้ดีด้วยครับ
ทำไมงานแปลมังงะลิขสิทธิ์ถึงใช้คำแปลที่ค่อนข้างสุภาพ ส่วนนี้อยากจะฟังความเห็นจากนักแปลครับว่า มันสุภาพเกินไปหรือไม่ ?
น้ำหวาน: ในการ์ตูนมันก็ไม่ได้หยาบคายนะคะ ภาษาพูดธรรมดาเลย แปลมาก็ภาษาพูดระดับธรรมดาเช่นกัน มันอยู่ในระดับภาษาพูดกลางๆ ทางต้นทางเค้าก็คัดภาษาให้เป็นภาษาพูดที่ไม่ได้หยาบมากมาย ยกเว้นพวกตัวละครเถื่อนๆ ยากูซ่าอะไรแบบนั้นค่ะ
เอื้อย: ขึ้นอยู่กับตัวเรื่องเลยค่ะ ถ้าต้นฉบับใช้ภาษาซอฟท์เราก็ซอฟท์ตาม ถ้าตัวไหนแรงถึงค่อยใช้คำแรง
อยากจะให้แนะนำกับคนที่สนใจมาทำงานแปลเล็กน้อยว่า ควรเตรียมกาย เตรียมใจอย่างไรบ้าง และจะเข้ามาสู่สังเวียนการแปลอย่างไร ?
น้ำหวาน : งานนี้เงินน้อยและปวดหลัง ให้ทำใจก่อนเลยค่ะ ได้ภาษามันก็ทำได้ แต่การ์ตูนภาษาพูดเยอะ สแลงเยอะ ศัพท์กว้างมาก อย่าง ยามเมื่อเหล่าจั๊กจั่นกรีดร้อง บทสันนิบาตเทศกาล มีหลุดศัพท์ทางการแพทย์ วิธีการรักษาคนป่วยจิตเวชแบบโบราณ ก็ต้องหาเชิงอรรถเพิ่มเติมค่ะ นอกจากนี้ภาษาไทยเองก็ต้องใช้ถูกต้องด้วยค่ะ
ลูกหมูสีชมพู : ในการทำงานแปล หลักๆ ควรจะมีความรู้ภาษาไทย ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องครับ แล้วก็มีใจรักการอ่าน ชอบอ่านอะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็จดจำว่าหนังสือในรูปแบบต่างๆ อย่าง หนังสือแปล, นิยาย หรือหนังสือวิชาการ เขาใช้คำแบบไหนบ้างครับ เพื่อเวลาทำงานแปลแล้วเราจะนึกภาพตามได้ว่า การแปลเรื่องแบบไหน จะได้ใช้คำให้เหมาะสมกับเรื่องแบบนั้น
อย่างของเรื่องกินทามะเอง ตัวละครหลายๆ ตัว ไม่ได้มีกำหนดชัดว่าตัวละครควรพูดลงท้ายแบบไหน เพราะคำภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ลงท้ายมันมีค่อนข้างน้อย แต่ผมใส่คำให้ต่างกัน เพื่อเพิ่มความมีชีวิตให้ตัวละครด้วย อย่างตัวละคร ทามะ ที่เป็นหุ่นยนต์และเป็นตัวละครที่เถรตรง ใช้คำพูดที่เพราะ และเป็นแม่บ้าน ผมเลยเติมคำลงท้ายให้เป็น ‘เจ้าค่ะ’ ให้เข้ากับตัวละครนี้ เป็นต้นครับ ซึ่งการอ่านหนังสือมามากจะช่วยเรื่องพวกนี้ได้เยอะ
เอื้อย : ในการแปล ควรจะมีความรู้ด้านไวยากรณ์ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย, การหาความรู้รอบตัว และการถ่ายทอดเป็นภาษาปลายทางค่ะ อย่างตัวเราเองจะให้น้ำหนักประเด็นหลังมากกว่าหน่อยค่ะ เพราะถ้าเราอ่านออกแต่ถ้าถ่ายทอดให้คนอ่านรู้เรื่องไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ
สุดท้าย มีอะไรอยากฝากบอกอะไรไปถึงผู้อ่านมังงะบ้าง ?
น้ำหวาน : ขอบคุณสำหรับทุกคอมเมนต์ด้วยค่ะ แอบดูคำติชมในทุกช่องทางอยู่นะคะ
เอื้อย : ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่ติดตาม และยังติดตามความเห็นของท่านที่ติดตามงานที่แปลเสมอค่ะ
ลูกหมูสีชมพู : ก็อาจจะซ้ำซากตามบทไปหน่อยนะครับ แต่ก็ฝากสนับสนุนผลงานลิขสิทธิ์ด้วยครับ ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่รวมถึงงานประเภทอื่นๆ อย่างภาพยนตร์ หรืออนิเมะ ก็อยากให้อุดหนุนด้วยครับ ให้คนที่ทำงานได้มีพลังงานและแรงใจในการทำงานอยู่ครับ