ซีรีส์วายได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมทั้งนอกและในประเทศ จากทั้งปัจจัยของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ทำให้การเข้าถึงซีรีส์วายเป็นเรื่องง่ายดาย และจำนวนของซีรีส์ที่มากขึ้นตามจำนวนของผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตซีรีส์วาย ยิ่งต้องแข่งขันกันสร้างสรรค์ผลงานมากยิ่งขึ้น
ในวันที่อุตสาหกรรมซีรีส์วายเติบโตขึ้น เรื่องราวของความรักในรั้วโรงเรียนก็ได้ถูกผลิตออกมาหลายต่อหลายเรื่องจนเหมือนเป็นรูปแบบปกติของซีรีส์วาย แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผู้ผลิตรายหนึ่งก้าวเท้าออกมาจากรั้วสถานศึกษา สู่พื้นที่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม
วันนี้ The MATTER เลยอยากจะมาชวนคุยกับผู้อำนวยการผลิตและนักแสดงนำจากซีรีส์วายเรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย (Manner Of Death)’ ถึงเรื่องราวของซีรีส์วายแนวสืบสวน-สอบสวนเรื่องแรกของไทย ในโอกาสที่ได้เข้าไปถึงกองถ่ายซีรีส์ที่จังหวัดเชียงใหม่
‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ซีรีส์วายสืบสวนเรื่องแรกของไทย
พฤติการณ์ที่ตาย หรือเหตุการณ์ที่เป็นที่มาที่ไปของการเสียชีวิต แบ่งออกป็น 5 ประเภท ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตร์ทำร้ายตาย อุบัติเหตุ หรือโรคธรรมชาติ เป็นหลักสำคัญสำหรับการสืบสวน การจะทราบพฤติการณ์ที่ตายได้นั้น ต้องอาศัยข้อมูลมากมายทั้งจากสถานที่และจากตัวศพเอง สิ่งสำคัญคือการ ‘ฟัง’ ในสิ่งที่ศพกำลังพูด
‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ซีรีส์วายแนวสืบสวน-สอบสวนที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของคุณ Sammon หรือ อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร เล่าถึงเรื่องราวของ ‘บรรณ’ นำแสดงโดย ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย นายแพทย์นิติเวชที่ย้ายจากกรุงเทพฯ ที่แสนวุ่นวาย มาพักใจที่เมืองในความทรงจำสมัยเด็กที่แสนสงบสุขอย่าง ‘เวียงผาหมอก’ แต่บางทีเวลาอันสงบสุขของเขาอาจยังมาไม่ถึง
เมื่อการกลับมาครั้งนี้หมอบรรณต้องเข้าไปชันสูตรศพในคดีฆาตกรรมปริศนา ร่วมกับ ‘สารวัตรเอ็ม’ นำแสดงโดย เกรท-สพล อัศวมั่นคง ตำรวจในท้องที่ โดยหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากคดีนี้คือ เจนจิรา เพื่อนสาวคนสนิทของเขาเอง
โดยมีผู้ต้องสงสัยเป็น ‘แทน’ นำแสดงโดย แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ คนรักของเจนจิราเอง และเมื่อยิ่งตามหาความจริงไปเรื่อยๆ เขาพบว่าการตายของเจนไม่ได้เกิดจากการฆ่าตัวตาย แต่เป็นฆาตกรรมอำพราง นั่นยิ่งทำให้เขาต้องไปผัวพันกับกลุ่มอำนาจเบื้องหลังเมืองแห่งนี้
เรื่องราวของ ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ จึงเต็มไปด้วยการตามหาความจริงในคดีฆาตกรรม ท้ามกลางการต่อสู้กับอำนาจที่อยู่เบื้องหลังม่านหมอกในเมืองแห่งนี้ และการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง
โดยซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในออริจินัลคอนเทนต์ ของ WeTV ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง WeTV และ TV Thunder ซึ่งได้ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล มารับหน้าที่กำกับซีรีส์ อีกทั้งยังเป็นการพาคู่จิ้นอย่าง แม็กซ์-ตุลย์ กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง และเสริมทัพด้วยการพาเกรทมาร่วมแสดงเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญของเรื่องอย่างสารวัตรเอ็มอีกด้วย
เนื้อเรื่องที่แตกต่างและนักแสดงที่โตขึ้น
นอกจากสไตล์เรื่องที่แตกต่างออกไปจากซีรีส์วายเรื่องอื่นแล้ว การถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ทาง TV Thunder เองก็ได้ทุ่มทุนสร้างขนาดที่ยกทั้งกองถ่ายไปถ่ายทำกันที่จังหวัดเชียงใหม่เลยทีเดียว
แม็กซ์เล่าถึงเรื่องราวการทำงานในกองถ่ายซีรีส์ ที่ทั้งต้องยกทั้งกองมาทำงานกันที่เชียงใหม่กันเดือนกว่าๆ ร่วมถึงการใช้ชีวิตเป็นรูมเมทกับตุลย์ตลอดการถ่ายทำที่เชียงใหม่ว่า “เป็นการทำงานครั้งแรกที่มาอยู่ต่างจังหวัดยาวๆ ถ่ายเกือบทุกวันแล้วก็เกือบทั้งวันต่อเนื่องกัน ซึ่งก็ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้ไปถึงไหน ไทม์ไลน์ของตัวละครเป็นยังไง รู้สึกว่าเป็นตัวละครได้มากขึ้น
นอกจากนี้การได้มาเล่นซีรีส์ด้วยกันอีกครั้ง ผมว่าด้วยวัยในการทำงานที่โตขึ้น พวกเราจริงจังกับการทำงานมากขึ้น อย่างพออยู่ด้วยกันเราก็จะเอาบทมาอ่าน ว่าตัวละครคิดยังไง ตัวละครทำอะไรกันอยู่ ตลอดการถ่ายทำเราจะมีการคุยกันตลอด เรารู้สึกดีนะ เพราะอย่างเมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้เก่งพอที่จะมานั่งวิเคราะห์ตัวละครแบบนี้ แต่พอรอบนี้เรารู้สึกมั่นใจกับสิ่งที่เราทำมากๆ”
เหมือนกับตุลย์ ที่ได้เล่าถึงการถ่ายทำที่เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม “ผมรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิต ที่ทุกคนจะย้ายขึ้นมาอยู่ด้วยกันแล้วมาทำงานนี้ให้เสร็จลุล่วง
และยังเป็นอะไรที่ชาเลนจ์ตัวเองมาก เพราะตัวละครหมอบรรณมีหลายมิติ หลายแง่มุม มีทั้งการต้องรับบทเป็นหมอ ความยากในซีนแอ็กชั่น และความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ค้นหาความจริง ซึ่งเป็นอะไรแปลกใหม่สำหรับเรา ทำให้รู้สึกว่าเราคงไม่ได้มาทำอะไรแบบนี้ได้ง่ายๆ ในชีวิตจริง
นอกจากนี้ทีมงานเขาถึงขั้นให้ผมไปดูการชันสูตรศพจริง ก็ได้ไปเห็นขั้นตอนทุกอย่างตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ เตรียมการผ่า การผ่าเอาอวัยวะออกมา ถ่ายรูป อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นอีกก้าวนึงที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องศึกษาตัวละครนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกอย่างและทุกคนตั้งใจทำเรื่องนี้มาก เราก็ต้องทำพาร์ทของเราให้ราบลื่นที่สุด ก็กลัวนิดนึงแต่ก็ได้รู้สึกว่าเราโตขึ้นอีกก้าวนึง”
ด้านของเกรทที่เข้ามารับบทบาทในซีรีส์วายครั้งแรก ได้พูดถึงซีรีส์ว่า “ด้วยความที่ซีรีส์เรื่องนี้ที่ไม่เหมือนซีรีส์วายเรื่องอื่นๆ ก็ทำให้มีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น และนักแสดงอย่างเราเองก็ต้องศึกษาแบ็คกราวด์ต่างๆ ของตัวละคร เพื่อให้เข้าใจถึงความคิดและมิติต่างๆ ของตัวละครด้วย”
ด้วยเรื่องราวของการสืบสวน-สอบสวนที่สอดแทรกข้อมูลทางการแพทย์ และตัวละครที่มีมิติ แบ็คกราวด์ และเหตุผลในการกระทำที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าค้นหามายยิ่งขึ้น
“ตัวผมคือสารวัตรเอ็ม เป็นตำรวจในเมืองเล็กๆ เป็นคนที่ค่อนข้างสนุกสนาน พอทำงานก็จะมีความจริงจัง ต้องการความยุติธรรม แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างในเนื้อเรื่องมันทำให้เขาไม่สามารถทำตามอุดมการณ์ของตัวเองได้เท่าที่ต้องการ” เกรทพูดถึงเรื่องของสารวัตรเอ็ม ตัวละครที่ทำหน้าที่สืบสวนคดีในเวียงผาหมอกร่วมกับหมอบรรณ
ซีรีส์วายไทยที่สู้ได้ในตลาดสากล
เวลาผ่านไปทุกคนย่อมโตขึ้น เช่นเดียวกับผู้ผลิตซีรีส์วายที่ต้องเติบโต และเริ่มหาแนวทางอื่นในการทำซีรีส์วาย ที่มากกว่าความรักในรั้วสถานศึกษา
นุ้ย-จารุพร กำธรนพคุณผู้อำนวยการผลิตเรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ผู้ดูแลคอนเทนต์ต่างๆ ของ TV Thunder เล่าถึงโปรเจ็กต์นี้ว่า “เราคิดว่าเราต้องการจะหาเรื่องที่แตกต่างออกไปจากเรื่องแล้วๆ มาที่เราเคยทำ เพราะถ้ายังทำเรื่องแนวเดิมมันคงก็ไม่สนุก และคนดูก็ไม่ได้อะไรใหม่ ก็เลยหาเรื่องที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งทีมงานก็ช่วยกันคัดมาจนเจอเรื่องนี้ ที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจและแตกต่างไปจากเดิม
แม้เราจะรู้สึกว่า การทำซีรีส์วายที่ต่างออกไปจากเดิมมีความเสี่ยง แต่เราต้องคิดว่าเราจะสู้กับเรื่องอื่นได้ ตอนที่ทำก็ต้องคิดว่าจะดังไว้ก่อน เพราะเราก็เชื่อในคุณค่าของซีรีส์วายเรื่องนี้ ที่มีกลิ่นอายของการสืบสวน ตัวเอกเป็นหมอและสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ ทำให้รู้สึกชวนติดตาม อีกทั้งโลเคชั่นที่เปลี่ยนหน้าหนังซีรีส์วาย ด้วยการยกทั้งกองมาถ่ายทำกันที่เชียงใหม่
ในแง่ของคุณค่าของผลงานก็ตอบโจทย์ให้คนดูได้ ทั้งในแง่ความน่ารักก็ได้ หรือในแง่ของโปรดักชั่นที่เป็นมืออาชีพ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ เพราะเมื่อซีรีส์ของเราออกไปสู่สายตาแฟนๆ ต่างประเทศ เราก็เหมือนเป็นตัวแทนของประเทศ ดังนั้นซีรีส์แต่ละเรื่องก็จะต้องมีมิติและคุณค่าของผลงานที่สามารถสู้กับผลงานของประเทศอื่นๆ ได้”
ยิ่งในวันที่หลายๆ ประเทศในเอเชียเริ่มทำซีรีส์วายเป็นของตัวเอง นั่นยิ่งทำให้ทาง TV Thunder เดินหน้าตามแนวคิดในการทำซีรีส์วายที่แตกต่างออกไปจากขนบเดิมๆ เพื่อให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นใบเบิกทางสู่รูปแบบของซีรีส์วายไทยใหม่ๆ
“การที่เกาหลีเริ่มทำซีรีส์วายก็ทำให้เราหวั่นใจมาก เพราะโปรดักชั่นกับบทเขาไปไกลมาก ดังนั้นการที่เราจะมาทำซีรีส์แบบทำบทเดือน 3 เดือนมันไม่ได้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ต่างชาติสามารถเข้าถึงผลงานของเราได้มากขึ้น
ทำให้เราต้องพยายามทำซีรีส์ให้ออกมาดี ไม่ให้ขายหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่ TV Thunder เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ผลิตอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ผู้ผลิตคนไหนเก่งด้านไหนก็ทำตรงนั้น ช่วยกันดันให้ซีรีส์หรือคนดูมีทางเลือกหรือแนวทางมากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มันโตมากขึ้น”