ถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ‘Love Sick รักวุ่นวัยรุ่นแสบ’ คือ ‘ซีรีส์วาย’ เรื่องแรกของไทยที่ได้เข้ามาโลดแล่นอยู่ในสื่อช่องหลัก จนกลายเป็นการเปิดม่าน-ปูทางการเข้ามาของซีรีส์แนวรักใสใส ที่มีนักแสดงชายของคนเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งแตกต่างจากซีรีส์ที่สามารถเห็นได้ทั่วไปในสมัยนั้น
เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี ‘ซีรีส์วาย’ ในประเทศไทยก็ได้กลายเป็นหนึ่งใน ‘วัฒนธรรมวาย’ ที่ถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น ยังรวมไปถึงการไปตีตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย (ถ้าถามว่าโด่งดังขนาดไหน ก็ถึงขั้นที่นักแสดงหลายคนสามารถไปจัดแฟนมีตติ้งในต่างประเทศเลยล่ะ อ่านเพิ่มเติมที่นี่) แน่นอนว่า ในการพูดถึงซีรีส์สักเรื่องนอกจากนักแสดงแล้ว ‘ผู้กำกับ’ ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างซีรีส์ออกมาสักเรื่องเหมือนกัน
วันนี้ The MATTER เลยอยากพามาชวนคุยกับ นิว—ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล ผู้กำกับซีรีส์วาย เจ้าของสตูดิโอ Wabi Sabi ถึงความเป็นไปของอุตสาหกรรมซีรีส์วายในปัจจุบันและอนาคต
อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลือกทำซีรีส์วาย
ครั้งแรกไม่ได้ตั้งใจที่จะทำซีรีส์วายหรอก คือตอนสมัยเรียนเคยได้ดูซีรีส์เรื่อง Hormones ที่เป็นซีรีส์วัยรุ่น เรารู้สึกว่า ชอบจังเลย ถ้ามีโอกาสหลังจากที่เราเรียนจบก็อยากทำซีรีส์วัยรุ่นดูบ้าง พอดีจังหวะที่เรียนจบเราได้เจอ พี่แอนดี้—ราชิต กุศลคูณสิริ จะทำ Love Sick พอดี
แล้วพอเริ่มทำมาหนึ่งเรื่อง มีเรื่องที่ 2 ต่อก็เป็นซีรีส์วายอีก พอเรื่องที่ 3 ก็มาเป็นวายอีก มันก็เลยเหมือนรู้ ว่าคนที่ดูซีรีส์วายเป็นยังไง เริ่มชินกับคนดู เริ่มรู้จักคนดูและกลุ่มคนดูของเรามากขึ้น มันก็เลยทำให้ทำต่อมาเรื่อยๆ ความรู้สึกคือมันง่าย มันคือทาง เราเข้าใจว่าคนดูวายอยากดูแบบไหน คนดูต้องการอะไร
ในฐานะผู้ผลิตซีรีส์วายอะไรคือวัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่อยากสื่อสารกับผู้ชม
นิวแค่อยากจะนำเสนออะไรบางอย่าง ที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าได้อะไรกลับไปบ้าง โอเค หลักๆ มันคือความบันเทิง แต่ว่าพอบันเทิงแล้วคนดูได้อะไรต่อ เขาได้เห็นอะไร ได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตไหม ทำแบบนี้ผิด ทำแบบนี้ถูก ถ้าทำแบบนี้จะเป็นแบบนี้ นิวพยายามหาคอนเทนต์ที่มันมีอะไรแบบนี้ สื่อออกไป
อย่าง ‘ด้ายแดง’ ก็เรฟเฟอเรนซ์จากการได้ดู ‘Side by side’ แล้วรู้สึกว่า เห้ย! เขาทำได้ไงวะ ให้คนดูอิน ร้องไห้ได้ทุกตอน นั่นคือจุดเริ่มต้นอีกอันที่คิดว่า ชั้นอยากทำซีรีส์ที่ทำให้คนดูร้องไห้ได้ ด้ายแดงก็ตอบโจทย์ข้อนั้นได้เหมือนกัน แล้วก็ด้ายแดงมีความน่าสนใจตรงเรื่องขนมไทย เราก็อยากสื่อสาร คือต้องบอกก่อนว่าซีรีส์วายไทยได้รับความนิยมในต่างประเทศค่อนข้างมาก แล้วพอมีเรื่องของขนมไทยเข้ามารู้สึกว่า น่าจะเป็นซีรีส์เรื่องแรกที่ทำให้ต่างชาติรู้จักขนมของเรามากขึ้น
และทุกๆ เรื่องของนิว นิวจะไม่ค่อยเน้นเรื่องเพศ คือเราพยายามมองว่าเขาเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ได้มองว่าเป็นผู้ชายกับผู้ชาย นอกจากนี้ทุกๆ เรื่องนิวก็จะพยายามแทรกเรื่องครอบครัวเข้าไป เช่นในเรื่องด้ายแดง ที่มีฉากพูดเรื่องการ coming out กับครอบครัว จริงๆ ในนิยายมันไม่มีนะ เราก็พยายามเพิ่มเข้าไปให้รู้สึกว่า มันมีประเด็นนี้ด้วยนะ เพื่อบอกกับคนดู เหมือนเป็นตัวแทนมากกว่าว่า ถ้าชั้นบอกกับครอบครัว ชั้นอยากได้การตอบรับจากครอบครัวแบบไหน และความโชคดีของด้ายแดงคือ มันมีเปรียบเทียบว่าในเมื่อก่อนครอบครัวไม่ได้ยอมรับ กับปัจจุบันที่สังคมเปิดกว้างมากขึ้นอะไรแบบนี้ ก็เลยพยายามหาอะไรแบบนี้สอดแทรกไปตลอด
แล้วหลังจากนี้ก็ยังจะพยายามสื่อสารกับคนดู หรือหาเรื่องที่จะบอกกับคนดูไปเรื่อยๆ ใช่ไหม
ก็ประมาณนั้นครับ คืออันดับแรกเราตั้งใจทำให้ซีรีส์วายไม่ถูกมองเป็นภาพลบก่อน คือมันก็ถูกมองในภาพลบมาหลายปีแล้ว ต้องพูดจริงๆ ถูกไหม (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นมันก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะนึงที่ทำให้คนดูค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการคิด หรือมุมมองที่มีต่อซีรีส์วายให้เป็นว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่อง sex นะ
ทุกวันนี้ก็พยายามที่จะหาเรื่องที่มันจะสามารถไปสู้กับ ซีรีส์แมสแล้วซึ่งเราก็พยายามดูซีรีส์แมส ซีรีส์ต่างประเทศ แล้วเราเป็นคนชอบดูซีรีส์นอกเสียส่วนใหญ่ เราก็จะรู้สึกว่า เราลองเอาสิ่งที่เขาทำแล้วดี มาทำกับซีรีส์ของเราบ้าง เพื่อให้คนดูรู้สึกว่า ซีรีส์วายมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ สามารถไปสู้กับซีรีส์ชาย-หญิง หรือไปสู้กับเมืองนอกได้
คุณนิวเลือกนิยายที่มาทำซีรีส์จากอะไร
เรารู้สึกว่าซีรีส์วายมันถูกเผยแพร่มาประมาณ 5-6 ปีแล้ว และทุกอย่างมันเริ่มวงลูปเดิม เป็นแนวรักใสใส ในโรงเรียน มหาลัยฯ วิศวะฯ จนเรารู้สึกว่า เราเบื่อพล๊อตพวกนี้ อยากทำอะไรที่มันมากกว่าซีรีส์วายปกติบ้าง แล้วพอดีว่ากระแสนิยายวายที่เป็นดราม่ามันค่อนข้างดัง คนเริ่มพูดถึงกันเยอะขึ้น คนไม่ได้พูดถึงแค่ความรักวัยรุ่นใสใส มีมือที่สามแล้วจบ ก็เลยไปเห็น ‘ด้ายแดง’ เลยติดต่อเขาไปกว่าจะได้ทำก็นานอยู่เหมือนกัน
เราแค่รู้สึกว่าอยากทำอะไรใหม่ๆ ให้ซีรีส์วาย และจากที่เห็นคอมเมนท์ หรือฟีดแบ็คที่มีต่อภาพซีรีส์วายที่ค่อนข้างเป็นภาพลบ เพราะคนนอกมองเข้ามา เขาจะมองว่าซีรีส์วายขายจิ้น ขายเพศ ขาย sex ซึ่งเรารู้สึกว่างานเรามันไม่ใช่แบบนั้น ก็เลยมาลองดูกับด้ายแดง
เพื่อพิสูจน์ว่าซีรีส์วาย มันไม่ได้มีแค่นั้น
มันมีอะไรมากกว่าที่คนนอกจะพูดถึงแค่นั้น
การเลือกนักแสดงในแต่ละคาแรกเตอร์คัดจากอะไรบ้าง
ก็ดูจากอิมเมจของนิยาย คือบางเรื่องเขาจะบอกเลยว่าตัวละครตัวนี้อายุเท่าไหร่ ส่วนสูงเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ รูปร่างเป็นยังไง เราก็จะเลือกจากตรงนั้นเป็นหลัก แต่ถ้าเรื่องไหนไม่มีเราก็จะถามนักเขียนว่าภาพในหัวตอนเขาเขียนเป็นแบบไหน ก็จะเลือกมาให้ตรงตามอิมเมจก่อน แล้วค่อยมาเรียนการแสดง หรือ workshop กันทีหลัง
ในการทำซีรีส์คุณนิวยึดภาพในหัวของใครเป็นหลักในการเลือกโปรดักชั่น
จะใช้เป็นการทำงานร่วมกับนักเขียนมากกว่า โดยให้นักเขียนเป็นคนเขียนบทเอง พอเราอ่านบทเราก็จะคิดภาพแล้วทำงานจากภาพในหัวของเราก่อนว่า โลเคชั่นภาพในหัวเราเป็นแบบนี้ แล้วค่อยส่งกลับไปให้นักเขียนดูว่าสถานที่เป็นประมาณนี้นะ โอเคไหม ชอบไม่ชอบ ตรงไหนยังไง แบบนี้มากกว่า
แล้วอุปสรรค์ในการทำซีรีส์วายคืออะไร
ปัญหาใหญ่สุดคือสปอนเซอร์ เพราะมันเป็นภาพลักษณ์แบรนด์ สังเกตได้ว่ามีน้อยมากที่จะมาลงซีรีส์วาย ทำให้ซีรีส์วายส่วนใหญ่แถบจะไม่มีสปอนเซอร์เลย นอกจากเครื่องสำอาง (หัวเราะ) อันนี้เรื่องจริงนะ อย่างแบรนด์น้ำดื่มจะลงเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ หรือลง 1 เรื่องในปีนี้แล้วเว้น 1 ปี เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ติดว่าเป็นวายนะ
ส่วนใหญ่คนที่เข้าใจผิดเรื่องซีรีส์วาย เขาจะมองแค่เรื่อง sex ใช่ไหม
ใช่ครับ เพราะว่าถ้าสังเกตจากคัตซีนส่วนใหญ่ที่ถูกแชร์ไป ก็จะเป็นซีนอย่างว่าหมดเลย ซึ่งมันก็เข้าใจได้ว่า มันเป็นซีนไฮไลต์ของคนที่ดูซีรีส์ประเภทนี้ แต่ว่า เวลาแชร์จริงก็อยากให้แชร์เต็มๆ มากกว่า เพราะส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีที่มาที่ไปว่า เป็นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงไปจบกันตรงนั้น
แล้วในเมื่อไม่อยากให้มีคนแชร์เฉพาะซีนนี้ไปเยอะ เราทำให้มันน้อยลงได้ไหม
ได้นะ เพราะถ้าสังเกตอย่างเรื่องด้ายแดง แทบจะไม่พูดถึงเรื่องอย่างว่า หรือเรื่องบนเตียงเลย คนก็เลยใช้คำว่าเป็นซีรีส์ที่ไม่เน้นเรื่องอย่างว่า ก็เห็นได้ว่ามันมีการพูดถึงในแง่มุมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราก็ค่อนข้างพอใจนะครับ กับสารที่เราสื่อไปแล้วคนดูมองเห็น รู้สึกได้ว่า มันมีการพัฒนา มีการลบจุดด้อยของซีรีส์วาย ไป หรือหลายๆ คนมองว่ามันเป็นมากกว่าซีรีส์วาย
ไม่ได้เป็นเรื่องของชาย-ชายแล้ว
มันเป็นเรื่องของคนที่เขารักกัน
ในฐานะคนทำสื่อควรมีความรับผิดชอบผลงานที่สร้างออกมาขนาดไหน
ส่วนตัวนิวจะรู้สึกว่า ทุกเรื่องเราจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเราเองก่อน เราต้องรู้ว่าอะไรมากไป อะไรน้อยไป เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า สายตาของคนนอกที่มองดูซีรีส์วาย มันไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ตัวเราเองเราพยายามสร้างมาตรฐานซีรีส์วาย ในแบบของเรา ที่มันไม่ได้ขายแค่เรื่อง sex ที่เขามองกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนั้น ซึ่งพอเป็นแบบนั้นมันกระทบหมด เพราะเมื่อคนเขามองเข้ามา เขาเหมาซีรีส์วาย คือซีรีส์วายทุกค่าย
ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีส่วนกลาง หรือมาตรฐานให้รู้ว่าอันนี้คือมากไป อันนี้มีผลต่อคนดู แน่นอนว่าการดูซีรีส์วายไม่ได้ทำให้คนดูเปลี่ยนจากผู้ชายไปเป็นเกย์ได้ นึกออกใช่ไหมครับ แต่มันสามารถเกิดการเลียนแบบได้ คือพอมันเป็นทำให้คนดูรู้แล้ว เราก็ต้องนึกถึงว่า เมื่อคนดูได้ดูแล้วเห็นว่าทำแบบนี้แล้วไม่เป็นไรก็อาจจะมีคนทำตาม ดังนั้นมันควรมีการเซ็นเซอร์ หรือรู้ลิมิตของการผลิตด้วยเหมือนกัน
มีอะไรอยากฝากถึงคนที่อยู่ในวงการซีรีส์วายบ้างไหม
อยากให้ผู้ผลิตอย่าคิดแค่ว่าคนดูมีสิทธิ์เลือก แต่เมื่อไหร่ที่เราปล่อยคอนเทนต์ของเราออกไปแล้วในที่สาธารณะ เราก็ต้องคิดด้วยว่าคนดูจะได้อะไร ดูแล้วไม่ได้อะไร เนื้อหาตรงไหนที่มันส่งผลต่อคนดู มันสุ่มเสี่ยงขนาดไหน อยากให้ช่วยกันพัฒนาวงการซีรีส์วาย ให้มันไปได้ไกลกว่านี้
ล่าสุดเราจะเห็นซีรีส์วาย ของเกาหลีที่คนออกมาชมกันเยอะ แล้วมีคนบอกว่า “ระวังนะ เกาหลีเริ่มทำซีรีส์วายแล้ว ถ้าของไทยไม่พัฒนาจะไม่มีคนดูนะ” นิวมองว่ายังไง
จริง อันนี้คือดีมากๆ ยิ่งมีคู่แข่งมากเท่าไหร่ คนดูก็มีสิทธิเลือกมากขึ้น เมื่อไหร่ที่มีสิ่งที่ดีกว่าเข้ามา คนดูจะเลือกดูคอนเทนต์ และเมื่อคนดูเลือกเมื่อไหร่ ถ้าเราทำไม่ดีคนจะไม่ดู นั่นทำให้ผู้ผลิตต้องพัฒนามากขึ้นเพื่อที่จะให้คนเลือกมาดูงานของตัวเองให้ได้ มันจะเป็นแรงถีบที่ทำให้ผู้ผลิตพัฒนาตัวเอง