คุณยังจำหนังสือเล่มแรกที่อ่านได้ไหม? หนังสือที่เปิดโลกกว้าง และเติบโตภายในตัวคุณ ทำให้คุณเป็นคุณอย่างทุกวันนี้ หนังสือที่พาคุณท่องไปในโลกจินตนาการและเป็นความหวังในการใช้ชีวิตบนโลกแห่งความจริง
ร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนยะหริ่ง จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นมาจากความรักในหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเด็กหรือวรรณกรรมเยาวชนที่ เอ๋—อริยา ไพฑูรย์ หลงใหล จนนำไปสู่การเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ตุ๊กตา ของเล่นจากตัวละครในหนังสือเยาวชน
จุดเริ่มต้นของร้านหนังสือเล็กๆ แรกเริ่มเดิมทีเคยตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ในชื่อเดียวกันซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ก่อนจะปิดตัวลงไปและกลับมาเปิดใหม่ที่ย่านเมืองเก่าสงขลาเมื่อ 4 ปีก่อน และยังคงเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่อบอุ่นและเป็นมิตรกับชุมชนและผู้คนที่เดินทางมาท่องเที่ยว
“พี่ตั้งใจะย้ายมาอยู่สงขลาอยู่แล้ว เพราะเติบโตที่นี่ แล้วพอช่วงหนึ่งที่การงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงเทพ สามารถส่งงานทางเน็ตได้ ก็เลยย้ายมาอยู่สงขลา จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้าน แต่เพื่อนที่เขาทำร้านหนังสือเล็กๆ ที่กรุงเทพชวนว่าน่าเปิดนะ”
“ตอนแรกคิดจะไปเปิดที่เกาะยอ ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้พื้นที่ที่สวยงามมาก แต่เราต้องสร้างอาคารเอง และมันไกลจากเมือง ก็เลยคิดว่าหาทำเลใหม่ดีกว่า แล้วช่วงนั้นในเมืองเก่าสงขลาเขาฟื้นฟูขึ้นมาพอดี เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็มาเจอร้านนี้ซึ่งแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เอาโต๊ะตู้มาลง ติดโคมไฟบนเพดาน ก็จบ”
จากร้านหนังสือเล็กๆ ณ ถนนพระอาทิตย์ จึงเดินทางมาอยู่ที่ถนนยะหริ่ง สงขลาแทน และเติบโตมาได้เป็นเวลา 4 ปี โดยแต่ก่อนอาคารที่เป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบันเคยเป็นบ้านเก่าที่ปิดอยู่เป็นปี และอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เจ้าของตึกกำลังบูรณะซ่อมแซมในช่วยที่เธอกำลังตามหาพื้นที่ทำเป็นร้านหนังสือ
โดยปกติร้านหนังสือเล็กๆ จะเปิดในช่วงบ่ายเป็นต้นไป และปิดในวันจันทร์หรืออังคาร ด้วยความที่ดูแลร้านคนเดียว พี่เอ๋จึงแนะนำให้ทักมาถามทางเพจก่อนจะมาเยี่ยมเยียนที่ร้านได้
ชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลาเรียกได้ว่าเป็นเมืองเล็กๆ ทำให้มีผู้คนบางตาและไม่พลุกพล่านเท่าตอนอยู่กรุงเทพ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าแล้วร้านหนังสือจะอยู่รอดได้ไหม แต่พี่เอ๋ก็บอกว่าด้วยความเป็นเมืองเล็กๆ และเงียบสงบ ทำให้เธอตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่นี่
“ชอบสงขลาตรงที่ว่ามันไม่ต้องเร่งรีบ ชีวิตตอนเช้าขับรถจากบ้านไปร้านสิบนาทีก็ถึง ความที่ตอนนี้ออนไลน์มันสะดวก ก็เลยไม่รู้สึกว่ามาอยู่สงขลาจะถูกตัดจากโลกภายนอก แต่กลับรู้สึกสงบและสบายกว่า”
“ชุมชนสงขลาค่อนข้างเล็ก คนในสงขลามีจำนวนน้อยอยู่แล้ว คนที่อ่านหนังสือก็เลยน้อยไปด้วย และหนังสือในร้านเราก็เฉพาะทางด้วย มันก็ยิ่งมีคนอ่านกลุ่มเล็ก แต่โชคดีที่เรามีกลุ่มคนอ่านที่ซื้อออนไลน์ ตอนนี้กลุ่มนี้จึงเป็นรายได้หลักของร้าน โชคดีอีกอย่างคือ เรามาอยู่ในชุมชนที่น่ารัก เวลาจัดกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาร่วม มาช่วยสนับสนุน เช่น บางครั้งเราจัดกิจกรรมในร้าน คนแน่นจนออกไปนอกร้าน เขาก็ช่วยหาร่ม หาโต๊ะมาเสริมให้ ส่วนคนในสงขลาที่ไม่ได้อยู่แถวนี้ เมื่อเราจัดกิจกรรม หรือมีงานอะไร ก็มักจะมาร่วม หรือเสนอตัวเข้าช่วย จนกลายเป็นชุมชนย่อยๆ ที่เรารู้ว่าปกติอาจไม่ได้มาสัมพันธ์กัน แต่เมื่อมีงาน พวกเขาก็จะปรากฏตัว”
“ตอนนี้พี่พยายามกระจายหนังสือไปยังร้านต่างๆ อยากให้สงขลาเป็นเมืองที่สามารถหาหนังสือได้ไม่ยาก แต่ละร้านมีหนังสือตามแนวที่เจ้าของร้านชอบและถนัด สามารถแนะนำหนังสือในร้านของตัวเองได้ อย่างร้านประภาคาร ฝั่งตรงข้าม เจ้าของเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบ ร้านนั้นก็จะมีหนังสือที่เอาไปจากร้านเรา ซึ่งเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบเป็นหลัก พวกกราฟิกโนเวล หรือหนังสือที่เล่าเรื่องด้วยภาพ ก็จะไปอยู่ที่นั่น”
“อีกร้านหนึ่งเป็นร้านซ่อมหนังสือ ที่ถนนยะลา ตัวเจ้าของเขาสนใจบทกวี ที่ร้านนั้นก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับบทกวีไปวางเป็นชั้นเล็กๆ แล้วก็มีร้าน dot ร้านกาแฟที่ถนนนครนอก เจ้าของชอบอ่านหนังสือ เขาก็มีชั้นหนังสือให้คนอ่านที่ร้าน และมีชั้นหนังสือเล็กๆ สำหรับร้านเรา โดยหมุนเวียนเป็นธีมของแต่ละช่วง อย่างตอนนี้ก็เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับร้านหนังสือและร้านกาแฟ แล้วสองสามเดือนก็จะเปลี่ยนที พยายามสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้มีหนังสืออยู่รอบตัว มีร้านกาแฟอีกหลายร้านเสนอตัวว่า เขาพร้อมจะให้พื้นที่สำหรับชั้นหนังสือ เพื่อให้เราเข้าไปวางหนังสือขายได้”
จากคำบอกเล่าของพี่เอ๋ ชุมชนสงขลาแห่งนี้จึงค่อยๆ เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่ชุมชนการอ่านค่อยๆ กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้
ถึงอย่างนั้นในวันที่ผู้คนซื้อของผ่านทางออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่ ‘หนังสือ’ การมีข่าวร้านหนังสือปิดตัวลงแทบทุกปีก็ชวนเราสงสัยว่าร้านหนังสือจริงๆ จะยังมีอยู่ได้มั้ย หรือร้านหนังสือจะสามารถเติบโตไปพร้อมกับโลกออนไลน์ได้รึเปล่า
“ร้านพี่หลักๆ เลยตอนนี้อยู่ได้ด้วยออนไลน์ แต่ถ้าเราไม่มีหน้าร้าน พี่ว่าคนก็อาจจะไม่มาซื้อ เพราะขาดเสน่ห์ แม้ว่ารายได้หลักจะมาจากออนไลน์ แต่เหตุผลที่เขาซื้อออนไลน์กับเรา ก็เพราะเขาอยากให้ร้านทางกายภาพยังอยู่ได้”
“อย่างพี่ลงภาพเด็กๆ มาวาดรูป มายืมหนังสือกลับบ้าน ก็มีคนสั่งซื้อหนังสือในร้านนี่แหละ แต่เอาไว้ให้เด็กๆ ที่นี่ยืมกลับบ้านได้ มีเด็กมายืมทุกวัน พอร้านเปิดปุ๊ป วิ่งมากันแล้ว มาวาดรูปเล่นบ้าง อ่านหนังสือบ้าง บางวันมีคุณแม่ที่เขามาอ่านให้ลูกฟัง ก็พลอยอ่านให้เด็กคนอื่นๆ ในร้านฟังด้วยเด็กๆ ตอนนี้กำลังคิดว่าจะฝึกให้เด็กรุ่นโตหน่อย ป.3 ป.4 อ่านให้เด็กอนุบาลฟัง”
“พี่ว่าคนที่อ่านหนังสือ ถ้าเขาสะดวก เขาก็ยังอยากจะเข้ามาเลือกหนังสือก่อน ได้จับต้องได้สัมผัสก่อน แต่บางคนที่เขามาซื้อออนไลน์กับเรา ทั้งที่ความจริงเขาจะซื้อกับที่ไหนก็ได้เพราะเขาอยากสนับสนุนร้านหนังสืออิสระ หมายถึงร้านหนังสืออิสระอื่นๆ ก็ด้วย ที่คนเขาหันมาสั่งออนไลน์ ก็เพราะว่าเขาอยากให้ร้านหนังสืออิสระอยู่รอดได้”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ จึงอาจพอพิสูจน์ได้ว่าความเป็นออนไลน์อาจไม่ได้เข้ามาทำลายความเป็นร้านหนังสือไปเสียทั้งหมด แต่เป็นอีกหนทางที่นักอ่านจะช่วยสนับสนุนร้านหนังสือให้อยู่ต่อไปได้ ซึ่งร้านหนังสืออิสระของแต่ละแห่งอาจมีความท้าทายตรงที่จะสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างไร เพราะเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระอยู่ที่เอกลักษณ์ของร้านนั้นๆ ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านี้ก็มาจากเจ้าของร้านเองด้วย
“ร้านหนังสืออิสระส่วนใหญ่เจ้าของจะทำเอง เลือกหนังสือที่ตัวเองชอบ ส่วนใหญ่คนที่จะเปิดร้านอันดับแรกก็คือ ต้องชอบอ่านหนังสือก่อน ทีนี้หนังสือมีหลายแนวก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกแนวไหน ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละร้าน เป็นจุดเด่นของแต่ละร้าน คนอ่านก็เหมือนกัน ถ้าเขาชอบแนวนี้ เขาก็จะเลือกร้านตามแนวที่เขาชอบ”
“เปิดร้านหนังสือ ก็ต้องรักหนังสือก่อน ต้องอยู่กับหนังสือให้ได้ เพราะแม้ว่าจะดูเหมือนขายได้ แต่จริงๆ ขายหนังสือได้เปอร์เซ็นต์นิดเดียว ไหนจะค่าเช่า ค่าอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นอันดับแรกถ้าอยากเปิดร้านหนังสือ คือ ต้องมีต้นทุนข้างในตัวเรา ว่าเรารักหนังสือแค่ไหน เนื่องจากต้องใช้ความอดทนมากหน่อย อย่างที่นี่ไม่ใช่ทุกวันที่มีลูกค้าเยอะ บางวันก็มีน้อย กว่าจะเป็นที่รู้จักก็ต้องใช้เวลา กว่าที่คนจะมาสนับสนุนเรา มันใช้เวลา พี่ว่าต้นทุนข้างในตัวเราสำคัญ การมีหัวใจนั้นสำคัญ”
“แต่จริงๆ ก็ต้องมีทุนอยู่ด้วย เอามาใช้ตกแต่งร้าน เงินประกันหนังสือ แต่ก็ได้คืนนะ แต่ถ้าไม่ต้องเช่าก็ยิ่งสบาย แต่อย่างที่บอกต้องอดทนและรักมัน”
พี่เอ๋ยกตัวอย่างร้านหนังสือเล็กๆ ที่เสน่ห์อยู่ที่การรายล้อมไปด้วยตัวละครและตุ๊กตาจากวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งเป็นของสะสมที่เธอเก็บมาตลอดชีวิต และที่สำคัญคือที่ร้านหนังสือแห่งนี้เต็มไปด้วยหนังสือภาพมากมายที่เรียงรายอยู่บนชั้น
“พี่อยากเปิดร้านหนังสือเด็ก เพราะพี่ก็ทำหนังสือเด็กมาตลอด ทำวรรณกรรมเยาวชนของแพรวเยาวชน พี่คิดว่าพี่สามารถแนะนำหนังสือเด็กให้กับหลายๆ คนได้ ถ้าใครเข้ามาแล้วบอกว่า ลูกอายุเท่านี้ต้องอ่านหนังสือแบบไหน หรือบางทีมีคนทักอินบ็อกซ์มาว่า ลูกไม่ชอบกินข้าว ควรจะอ่านหนังสือเล่มไหนที่ให้ลูกกินข้าวได้ หรือ หนังสือของเด็กแต่ละช่วง เราสามารถให้คำแนะนำได้ “
ร้านหนังสือแห่งนี้ได้กลายเป็นร้านหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ เข้ามาหยิบจับและแวดล้อมไปด้วยหยังสือต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับหนังสือและรักที่จะอ่านหนังสือมากขึ้น หรือแม้แต่ในเฟซบุ๊กก็ได้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนหนังสือเด็กของคนที่เป็นพ่อแม่ หรือคนที่สนใจในวรรณกรรมเยาวชน กลายเป็นสังคมเล็กๆ ที่ช่วยกันผลักดันวรรณกรรมเยาวชนให้เติบโตมากขึ้น
และด้วยความที่ พี่เอ๋ อยู่กับแวดวงวรรณกรรมเยาวชนมานานตั้งแต่เป็นบรรณาธิการให้แพรวเยาวชนจนกระทั่งมาเปิดร้านหนังสือ ชีวิตของเธอจึงอยู่กับหนังสือมาตลอด และมองว่าหนังสือต่างมีช่วงวัย ให้คนอ่านแต่ละกลุ่ม แต่วรรณกรรมเยาวชนนั้นมีเสน่ห์บางอย่าง
“ตอนเด็กๆ ยังอ่านหนังสือตามพ่อ เป็นวรรณกรรมผู้ใหญ่ จนกระทั่งโตขึ้น ได้ซื้อหนังสือเอง ก็มาลองซื้อวรรณกรรมเยาวชน เล่มแรกๆ น่าจะเป็น โต๊ะโตะจัง แล้วพออ่านเรื่อยๆ ก็เลยรู้ว่าแนวนี้คือหนังสือที่เราชอบ ช่วงปี พ.ศ.2524 เป็นช่วงที่วรรณกรรมเยาวชนกำลังบูม มีสำนักพิมพ์ผีเสื้อ มีสำนักพิมพ์ดอกหญ้า มีสำนักพิมพ์ต้นหมาก พี่ซื้อเอาไว้ทุกเล่ม แล้วตอนนี้คนก็เริ่มกลับมาตามหากัน แต่ช่วงนั้นก็คือยอมกินน้อย แต่ซื้อหนังสือเยอะ”
“วรรณกรรมเยาวชนบ้านเราเด็กมักจะอ่านที่มันต่ำกว่าวัยของตัวเอง อย่างปกติหนังสือสำหรับเด็ก 6-7 ขวบ บ้านเราอาจจะ 10-12 ขวบถึงมาอ่าน อีกกลุ่มคือผู้ใหญ่ เพราะมันสามารถอ่านได้หลายระดับ”
“วรรณกรรมเยาวชนที่พิมพ์ซ้ำต่อเนื่องมาหลายยุคสมัย อันดับแรกเลยคือสนุก สองคือมีหลายเลเยอร์ในการอ่าน ตอนเด็กๆ เราอาจจะอ่านแบบหนึ่ง ก็สนุกแบบหนึ่ง แฟนตาซี สู้รบกัน พอโตขึ้นก็จะมีแง่อื่นให้เราคิด เช่นเราได้รู้เบื้องหลังของเรื่องนี้ อาจจะมีเบื้องหลังทางการเมือง สงคราม ประวัติศาสตร์ประเทศนั้น หรือประสบการณ์ร่วมของเราเองเมื่อเติบโตขึ้น มันก็สนุกขึ้นอีกแบบ แต่ถึงอย่างนั้นต่อให้อ่านแบบไม่รู้เบื้องหลังอะไรเลย มันก็จะสนุกอีกแบบ สนุกแบบเด็กๆ”
“ตอนนี้หนังสือเด็กจะเป็นแนวที่ขายดีของร้าน มีถามมาทุกวัน หลายเล่มพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดหลายสิบปี เพราะพ่อแม่รุ่นใหม่ๆ เขาจำได้ว่าเขาเคยอ่านตอนเด็กๆ แล้วชอบ อยากให้ลูกได้อ่านบ้าง เขาก็จะย้อนกลับมาซื้อให้ลูก หลายเล่มก็เลยกลับมาพิมพ์ซ้ำได้เรื่อยๆ เด็กโตก็ยังชอบอ่านหนังสือภาพ บางเล่มพอย้อนกลับมาอ่านอีกรอบ ตอนแรกเราอาจไม่เห็น แต่อ่านซ้ำแต่ละครั้งมันจะเห็นอะไรใหม่ๆ ตลอด”
“คือหนังสือเด็ก บางคนคิดว่าแค่ให้เด็กอ่าน ซึ่งเด็กก็อ่านเท่าที่เขาเข้าใจแหละ แต่มันจะมีบางสิ่งที่เขารับไปแล้วฝังอยู่ข้างในโดยที่เขาไม่รู้ และมันแสดงออกมาตอนที่เขาโต และในขณะเดียวกัน วรรณกรรมเยาวชนพี่ว่าสิ่งสำคัญคือ มันให้ความหวัง สังเกตได้ว่าทุกเรื่อง ท้ายที่สุดก็จบแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะเด็กพออ่านหนังสือจบ เขายัง มีอนาคต เขายังมีความหวังข้างหน้ารอยู่”
“เวลาอ่านวรรณกรรมเยาวชน สังเกตว่ามันจะมองเห็นแสงสว่าง แม้ว่าในโลกจริง หรือในหนังสือผู้ใหญ่ ตอนจบอาจจะเศร้า หรือหดหู่ แต่ตอนจบของวรรณกรรมเยาวชนเราจะมองเห็นแสงสว่าง โลกยังมีทางใหม่ให้เดิน เพราะเด็กยังต้องเติบโตต่อไป”
การมีอยู่ของหนังสือเด็กหรือวรรณกรรมเยาวชนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพราะในโลกที่พวกเขาจะเติบโตไปนั้น พวกเขาคงต้องพึ่งพาความหวังให้หล่อเลี้ยงหัวใจเอาไว้ และความหวังจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ดีที่ทำให้โลกของเขาน่าอยู่มากขึ้น
ดังนั้นแล้ว วรรณกรรมเยาวชนจึงสำคัญต่อการเติบโตของเด็กๆ และการมีอยู่ของ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ แห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังด้วยเช่นกัน