มีวันหนึ่งเราไปมหา’ลัย ขณะเดินผ่านคณะเพื่อนบ้าน สายตาก็เหลือบไปเห็นร้านหนังสือเล็กๆ ซุกตัวอยู่ ด้วยความที่ชอบร้านหนังสืออิสระอยู่แล้ว เราจึงพุ่งตัวเข้าไปดูทันที
นั่นคือครั้งแรกที่เราได้รู้จัก Li-Zenn Bookshop ร้านหนังสืออายุอานามไม่กี่เดือนจากสำนักพิมพ์ลายเส้น สำนักพิมพ์ที่คร่ำหวอดในวงการมากว่าสิบปี
คนนอกแวดวง’ถาปัตย์อย่างเรา (และคุณผู้อ่านบางท่าน) อาจไม่คุ้นกับชื่อสำนักพิมพ์ลายเส้น แต่เชื่อว่าสถาปนิกสาขาวิชาต่างๆ รวมไปถึงอินทีเรียดีไซน์เนอร์ หรือใครก็ตามที่ชอบดูสถาปัตยกรรมสวยๆ ต้องรู้จักสำนักพิมพ์นี้อย่างแน่นอน
เพราะนี่คือสำนักพิมพ์ด้านสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะที่มุ่งมั่นรวบรวมองค์ความรู้และผลงานสถาปัตยกรรมไทยไว้ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ ซึ่งเจ้าของก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกชื่อดัง A49 และเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปีพ.ศ. 2545 อย่าง นิธิ สถาปิตานนท์ นั่นเอง
หลังจากวันนั้น เรากลับไปที่ร้านอีกครั้ง เพื่อคุยกับ หนึ่ง-พิสุทธิ์ เลิศดำริห์การ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์ลายเส้น ผู้มาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ Li-Zenn Bookshop ให้ฟัง
“เราอยากโชว์หนังสือให้ครบหัว เวลาส่งไปร้านหนังสือใหญ่ๆ เค้ามักโชว์ไม่ครบ” คุณหนึ่งกล่าว โดยในตอนแรกทางสำนักพิมพ์ได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ออฟฟิศ (ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนพอดี) ไว้เป็นบริเวณขายหนังสือ ต่อมาเมื่อเห็นว่ามีพื้นที่ว่างที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเปิดร้านหนังสืออย่างจริงจัง
แน่นอนว่าภายใน Li-Zenn Bookshop ย่อมมีหนังสือจากสำนักพิมพ์ลายเส้นวางอยู่จำนวนมาก ตั้งแต่หนังสือข้อมูลด้านสถาปัตยกรรม พ็อคเก็ตบุ๊กรวมบทสัมภาษณ์สถาปนิกไทย (มีเล่มหนึ่งคุยกับคนจบ’ถาปัตย์ที่ไม่ได้ทำงาน’ถาปัตย์ด้วยนะ เช่น นิ้วกลม) หนังสือรวมภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสุดไอคอนนิกในประเทศไทย ไปจนถึงไกด์บุ๊กพาเที่ยวประเทศต่างๆ อีกทั้งในร้านยังมีหนังสือจากสำนักพิมพ์อื่นๆ ทั้งไทยและเทศด้วย เช่น คัดสรรดีมาก วงกลม Open Books เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกหรือคนในแวดวงออกแบบ ก็สามารถเข้าร้านนี้ได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ในร้านยังมีของกุ๊กกิ๊กจุ๊กจิ๊ก เช่น โปรดักต์ที่ทำจากไม้อย่างไม้บรรทัด ดินสอ ตัวปั๊ม ของแบรนด์ ‘carpenter สมุดจาก Mola รวมทั้งโปสการ์ดลายเส้นฝีมือคุณนิธิ
เมื่อถามถึงความสำคัญของร้านหนังสืออิสระและร้านหนังสือเฉพาะทาง เราได้คำตอบจากคุณหนึ่งว่า “ผมว่าร้านหนังสือมันน้อยไปหน่อย แล้วเปิดมาก็เพิ่งรู้ว่าระบบของร้านหนังสือใหญ่จะต่างจากร้านหนังสือเล็กๆ โดยสิ้นเชิง เขาไม่สนหนังสือที่ไม่ขาย แต่ก่อนเวลาผมเข้าร้านหนังสือ ผมจะอยากได้หนังสือใหม่ แต่พอไปเห็นร้านหนังสืออื่นๆ มากขึ้น ก็รู้สึกว่ามันไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือเราหาหนังสือเล่มที่ต้องการเจอ แล้วมันไม่ต้องห่อพลาสติก หรือใหม่ 100% ก็ได้”
และนั่นคือจุดยืนของร้านหนังสือสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ถ้าคุณต้องการหนังสือ’ถาปัตย์หรือดีไซน์สุดนิชที่หาที่ไหนไม่เจอ Li-Zenn Bookshop อาจช่วยคุณได้ 🙂
Li-Zenn Bookshop / จันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-18.00 น. / ด้านหน้าตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท