ความเงียบแบบไหนเงียบที่สุด?
ในโลกที่ถูกครองโดยสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ ซึ่งมีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา น้อยสถานที่เหลือเกินที่จะให้ความเงียบแก่เราโดยบังเอิญ เพราะความเงียบมักถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเสมอ อาจเป็นความเงียบสำหรับการใช้งานในห้องอัดเสียง ความเงียบเพื่อสร้างความจดจ่อ และสร้างบรรยากาศการใช้พื้นที่ส่วนรวมโดยไม่รบกวนกันและกันในห้องสมุด หรือความเงียบในศาสนสถานที่ถูกออกแบบ เพื่อให้เราสามารถครุ่นคิดเกี่ยวกับตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม ความเงียบบางรูปแบบก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความเงียบทางกายภาพเลย บางครั้งในวันที่เสียงรอบตัวของเราดังราวกับโลกจะถล่มลงมา แต่ความเงียบบางประการกลับเกิดขึ้นได้ เช่น การผิดใจกันกับแฟน แทนที่จะเราคุยกันให้รู้เรื่อง ทำไมกลับพบแต่ความเงียบ? เพื่อนทั้งห้องเรียนคุยกัน แต่ทำไมเขาไม่คุยกับเรา? หรือความผิดหวังของพ่อแม่ที่แสดงออกเป็นคำตอบไร้เสียง เงียบงันเสียจนได้ยินแค่ความคิดของตัวเอง
ตัวอย่างที่กล่าวมามีชื่อเรียกว่า Silent Treatment คือความเงียบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเช่นกัน แต่เป็นจุดประสงค์ที่นำมาซึ่งแผลบางอย่างภายในใจของใครสักคน
การลงโทษผ่านความเงียบ
Silent Treatment คือการที่ใครคนหนึ่งในความสัมพันธ์เงียบใส่อีกฝ่าย ด้วยจุดประสงค์เพื่อลงโทษคนคนนั้น โดยการกระทำรูปแบบดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ในความสัมพันธ์ต่างๆ หรือเกิดขึ้นจากการสื่อสารแบบไหนก็ได้ ซึ่งแต่ละสถานการณ์ แต่ละความสัมพันธ์ ก็นำไปสู่ชื่อเรียกของความเงียบที่แตกต่างกัน เราอาจจะเรียกมันว่า การถูกแบนจากเพื่อนหรือที่ทำงาน หากเป็นคนคุยที่อยู่ดีๆ ก็หายตัวไปโดยไม่บอกกล่าว เราก็อาจเรียกว่า Ghosting หรือการถูกเงียบใส่จากกลุ่มผู้คนที่เคยสนับสนุนเรา ก็อาจเรียกด้วยชื่อว่าการ Cancel
ความเงียบและการไม่สนใจไยดีในฐานะเครื่องมือการลงโทษ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกของเรา เพราะหากย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 6 ในยุคกรีกโบราณ เราจะเห็นการลงโทษรูปแบบดังกล่าว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ณ กรุงเอเธนส์ นั่นคือ Ostrakismos วิธีการที่ถือเป็นรากศัพท์ของคำว่า Ostracism ซึ่งแปลว่า การเนรเทศหรือการขับออกไปนั่นเอง โดยวิธีการนี้ คือการเปิดให้ประชาชนเขียนชื่อใครก็ได้ (แทนการส่งเสียงเรียกชื่อ) ที่พวกเขาคิดว่าควรถูกขับออกไปจากกรุงเอเธนส์ แล้วใส่ลงไปในเครื่องปั้นดินเผา หากใครมีชื่อปรากฏมากที่สุด ก็จะถูกเนรเทศออกจากเมืองเป็นเวลา 10 ปี
เมื่อเวลาผ่านไป โลกของเราทั้งเล็กลงและใหญ่ขึ้นไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับวิธีการของการขับออกจากสังคม (Social Ostracism) จนในปัจจุบันมันก็ยังเกิดขึ้นตั้งแต่หน่วยสังคมที่เล็กที่สุด ไปจนหน่วยที่ใหญ่ที่สุด และเกิดขึ้นบ่อยมากพอที่จะมีงานวิจัยมาเสาะหาผลกระทบของมัน ต่อความรู้สึกและพฤติกรรมจากหลากหลายงานวิจัย ซึ่งหนึ่งในการรวบรวมงานวิชาการเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวคือ The Silent Treatment: What We Need To Know More About Ostracism โดย Büşra Müceldili นักวิจัยจากคณะบริหาร มหาวิทยาลัย Gebze Technical University
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวพูดถึงการขับออกจากสังคมในแง่มุมขององค์กรการทำงาน แต่ส่วนที่เราสามารถโฟกัสเข้าไปดูได้ คืองานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการถูกขับออกในระดับบุคคล โดยผู้วิจัยวาดภาพให้เราเห็นว่า การใช้ความเงียบเพื่อการลงโทษนั้น กระทบกระทั่งจิตใจมนุษย์ได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นการโจมตีหนึ่งในความต้องการสำคัญที่สุดของมนุษย์ นั่นคือการต้องการมีส่วนร่วม (Belongingness) ซึ่งนำไปสู่การทำลายการเคารพในตัวเอง (Self-esteem) จนทำให้เราขาดการควบคุมในชีวิต (Sense of Control) และกระทบต่อความหมายในตัวตน (Meaningfulness)
พูดกันโดยสรุปคือ เมื่อคนคนหนึ่งถูกใช้ Silent Treatment เพื่อการลงโทษ ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม มันสามารถสร้างความรู้สึกว่า พวกเขาถูกขับออกและตัดขาดจากสังคมที่เขามีความต้องการเป็นส่วนร่วม ซึ่งเป็นความต้องการสำคัญของสัตว์สังคม จนนำไปสู่ความรู้สึกล้มเหลวในตัวเอง ด้วยธรรมชาติของการกระทำดังกล่าวนั้น ก็แทบจะเหมือนว่าคนคนนั้นทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรไป สิ่งที่ตอบแทนคืนมามีเพียงความเงียบ และด้วยมุมมองของผู้อื่นที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองและความหมายในตัวตนของเราเอง เราย่อมตั้งคำถามต่อตัวเองเสมอ เมื่อถูกขับออกไปจากสังคมเช่นนี้ ดังนั้นดูจากผลกระทบของมันแล้วจึงไม่แปลกเลย หากเราจะนับว่า การเงียบรูปแบบนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการก่อความรุนแรงทางใจ (Emotional Abuse)
อย่างนั้นแปลว่า นี่คือการลงโทษที่ ‘ได้ผล’ ที่สุดหนึ่งอย่างเลยหรือเปล่า? นั่นก็ต้องพิจารณาว่า ‘ได้ผล’ คืออะไร และปลายทางของการกระทำดังกล่าวคืออะไรกันแน่? หากบอกว่าปลายทางคือการทำร้ายจิตใจของอีกฝ่ายจนเกิดเป็นแผลที่ไม่หาย การกระทำเช่นนี้ย่อม ‘ได้ผล’ เหนือวิธีการอื่นใด แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องการจากความสัมพันธ์แน่หรือเปล่า? เพราะอย่าลืมว่ามันไม่ใช่วิธีการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือการปลอบประโลมใครเลยในความสัมพันธ์ แม้แต่ผู้ที่ทำเองด้วยก็ตาม
ความเงียบอันเสพติด และความเจ็บปวดที่ไม่จบสิ้น
“การตัดขาดนั้นเปลี่ยนลูกชายของผม จากเด็กน้อยผู้สดใส กลายเป็นแมงกะพรุนไร้กระดูกสันหลัง และผมรู้ดีว่า ผมนี่แหละคือสาเหตุ” คิปลิง วิลเลียมส์ (Kipling Williams) นักวิจัยได้ยกคำพูดของกลุ่มตัวอย่างคนหนึ่ง ในการศึกษาเรื่องการขับออกจากสังคมเป็นเวลากว่า 30 ปีของเขาขึ้นมา จากบทสัมภาษณ์กับนิตยสารออนไลน์ The Atlantic คำพูดที่แม้จะไม่ได้ยินเสียง แต่ก็มีกลิ่นความเศร้า ความขมขื่น และความเสียดายอยู่ในทุกตัวอักษร
ไม่ว่าจะเป็นคู่แต่งงานที่สามีตัดขาดการพูดคุยในช่วงเริ่มต้นชีวิตแต่งงาน เนื่องจากการทะเลาะกันเล็กน้อย ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเป็นเวลา 40 ปี แต่ความเงียบสูญสลายไป เมื่อสามีเธอเสียชีวิต หรือหญิงสาวที่พ่อไม่พูดคุยด้วยเป็นเวลา 6 เดือนต่อครั้ง เมื่อเธอทำผิดอะไรสักอย่าง พ่อผู้เสียเวลาในชีวิตไปกับการทำโทษเหล่านั้น ก่อนจะปฏิเสธการพูดกับลูกสาวแม้ในวาระสุดท้าย วิลเลียมส์เล่าเรื่องราวใจสลายต่างๆ ที่เขาได้รับฟังมา เป็นเรื่องที่พาเราตั้งคำถามว่า
คนที่เงียบใส่เมื่อมีปัญหา เขาไม่ทุกข์เองบ้างหรือ?
“มันเป็นทรายดูดทางจิตวิทยา” โดยวิลเลียมส์เปรียบเทียบว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยการสื่อสารในการใช้ชีวิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม นั่นคือสัญชาตญาณของเรา เช่นนั้นแล้วการจะใช้ Silent Treatment กับใคร ต้องอาศัยพลังงานในการฝืนธรรมชาติของมนุษย์สูงมากๆ เพราะเราต้องคอยหาข้ออ้างและเหตุผลต่อการตัดสินใจเงียบอยู่เสมอ นั่นแปลว่าเราต้องเล่นซ้ำความคิดแง่ลบและความโมโหที่เรามีในหัวของตัวเองไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะไม่ปริปากพูดกับคนคนเดียว และเราอาจเสพติดการทำเช่นนี้อย่างไม่รู้ตัว คนบางคนเก็บคำพูดของตัวเองเอาไว้นานเกินจนไม่รู้อีกต่อไปว่า จะเริ่มกลับไปพูดกันยังไง “โดยมากพวกเขาไม่ได้ตั้งใจให้ความเงียบคงอยู่นานขนาดนั้นหรอก แต่การจะหยุดมันยาก”
เราเชื่อว่า คนจำนวนหนึ่งคงเข้าใจความรู้สึกของความพยายามอันเจ็บปวดนั้นได้ทันที เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากๆ ที่เราแต่ละคนอาจเคยกระทำ Silent Treatment ต่อใครสักคนโดยที่เราไม่รู้ตัว
ไม่ได้ตั้งใจ แต่ความเงียบก็คือความเงียบ
หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจของวิลเลียมส์คือ เขาค้นพบว่าราวๆ 2 ใน 3 ของผู้คนที่เขาพบเจอ เคยใช้ Silent Treatment ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ทั้งความเงียบของเราต่อคนแก่ในบ้าน การหลีกลี้หนีหน้ากลุ่มเพื่อนที่เรามีปัญหาด้วย หรือการใช้ความเงียบเพื่อดัดนิสัยใครสักคน ฯลฯ เราแต่ละคนล้วนมีเหตุผลในการทำอะไรสักอย่าง บางกรณีก็มีเหตุผลที่ใช้การกระทำเหล่านั้น เราอาจจะมองว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว เพราะไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิดในกรณีนี้ แต่ความนิ่งเงียบเหล่านั้นกลับนำไปสู่การกดขี่ทางความรู้สึกได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
การเงียบอาจจะเป็นวิธีการที่เราคิดว่า มันหลีกเลี่ยงการปะทะได้มากที่สุด อาจจะเพราะเราบอกว่า ตัวเองมีลักษณะนิสัยแบบหลีกเลี่ยงสังคม (Avoidant Personality) หรือจะบอกว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพราะอีโก้ของเรา อาจจะเป็นการขอ Time out เพื่อคิดทบทวนตัวเอง แต่หากต้องการความเงียบจริงๆ สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้ คือการบอกเหตุผลอย่างชัดเจน และระบุเวลาว่าเราต้องการจะเงียบไปถึงเมื่อไร อย่างไรก็ดี ความเงียบเหล่านั้นอาจยังทิ่มแทงเราอยู่เสมอ
เราหลายคนคงเผลอใช้ความเงียบโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันในผลกระทบของมันที่อาจเกิดขึ้นต่อใครอีกคนไว้ในใจ และเก็บความคิดในฐานะมนุษย์ที่เคยเป็นเหยื่อของความเงียบมาก่อนว่า เรารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกเงียบใส่
แล้วเราอยากให้คนที่รักต้องเจอแบบนั้นหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก