ถ้าโดนก็อปถือว่าประสบความสำเร็จใช่ไหม—เราถามเหล่าดีไซน์เนอร์ที่นั่งอยู่ตรงหน้า
“สำหรับเรานะ—เออ” ชายหนุ่มหนึ่งเดียวในกลุ่มพยักหน้าตอบ
ถ้าอยู่ในบริบทอื่น เราคงคิดว่าคำตอบนี้เป็นเพียงการมองโลกด้วยความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ แต่ในเมื่อเรานั่งอยู่กับตัวแทน 3 คนจากกลุ่มดีไซน์เนอร์และนักสร้างสรรค์ผู้อยู่เบื้องหลัง BET*TALED (เบ็ดเตล็ด) ร้านขายของชำออนไลน์สุดเฟี้ยว เราจึงเชื่อว่าเขาหมายความตามนั้นจริงๆ
เป็นเรื่องยากที่จะจำกัดความ BET*TALED ให้จบในประโยคเดียว เพราะโปรเจกต์นี้เป็นทั้งงานทดลอง งานออกแบบ ร้านขายของ หรือจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยหรืองานศิลปะก็ยังได้ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากความสงสัยใคร่รู้ของ พิม จงเจริญ แห่ง Teaspoon Studio และเพื่อนกราฟิกดีไซน์เนอร์ แชมป์—วิธวินท์ ลีลาวนาชัย ที่สังเกตเห็น ‘รถสติกเกอร์’ ในซอยออฟฟิศที่ทั้งคู่ทำงานอยู่
“เราสนใจวิธีที่เค้าวิ่งออกไปขาย เอาสติกเกอร์มาจากไหน ไปขายของที่ไหนบ้าง ทำไมมันยังอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน” แชมป์เล่า
“เราว่ามันเป็นอะไรที่ไทยมากและมันเจ๋งมากที่ยังมีสิ่งนี้อยู่ เพราะเราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ” พิมเสริม “และนอกจากเวอร์ชั่นสติกเกอร์ มันจะมีเวอร์ชั่นที่เป็นไม้กวาด เวอร์ชั่นที่มีตั้งแต่รองเท้าแตะ ขัน เสื้อยืด”
ทั้งคู่จึงไปชักชวนเพื่อนๆ อีกสามคน จิ้ง—สุพิชญา รักษ์ปัญญา ปุ้ย—พิชาญ สุจริตสาธิต และหนึ่ง—สมชัย ธรรมธรานุกูล มาร่วมเป็นตัวตั้งตัวตี รวมทั้งชวนดีไซน์เนอร์จากหลากหลายสตูดิโอมาทดลอง ออกแบบ และขายของไปด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อบรรดานักสร้างสรรค์มาเจอกัน ของที่ขายนั้นต้องไม่ธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น สบู่ของ Seriously Hobby ที่หน้าตาเหมือนสก็อตไบรต์สีเขียวเหลืองไม่มีผิด พระเครื่อง สีชมพูสดฝีมือ This.Means.That. ที่จริงๆ แล้วเป็นรูปนางกวักสะพายกระเป๋า Hermes และ ‘กระเป๋าพุ่มพวง’ ถุงผ้าแบบมีหูรูดจาก Wide and Narrow ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างถุงก็อปแก็ปและถุงแกงรัดหนังยางที่ร้านขายของชำสมัยก่อนใช้ใส่น้ำอัดลม
“ตอนแรกเราคิดว่าอยากเอาของดีไซน์ไปวางบนรถให้เต็ม แล้วก็เข็นรถไปอยู่ในพื้นที่หนึ่ง เช่น ที่สำเพ็ง แล้วลองดูว่ามันเกิดปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่อย่างไร” แชมป์อธิบาย “ถ้าเขาเห็นว่าเพิ่มเงินอีกนิด แต่ได้ของที่ดีกว่า เขาจะสนใจของดีไซน์มากขึ้นหรือเปล่า แล้วจะเป็นไปได้ไหมถ้าวันรุ่งขึ้นร้านในสำเพ็งก็อปของแบบนี้ไปขายเต็มเลย”
กราฟิกดีไซน์เนอร์หนุ่มพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังจนเราต้องถามว่า ถ้าโดนก็อปถือว่าประสบความสำเร็จใช่ไหม
“สำหรับเรานะ—เออ” คือคำตอบจากเขา
แม้สุดท้ายจะต้องพับโครงการรถเข็นเก็บไปด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง (แค่เทศกิจข้อเดียวก็คงเหมือนมีสามข้อแล้ว ฮา) แต่ด้วยข้อมูลที่เก็บสะสมมาได้ กลับกลายเป็นว่า BET*TALED ได้ ‘ขยายร้าน’ จากรถเข็นสู่ร้านขายของชำที่มีทั้งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและสินค้าเบ็ดเตล็ดจุ๊กจิ๊กอื่นๆ ที่ถูกออกแบบมาให้สนุกสนาน มีอารมณ์ขัน รวมทั้งสื่อสาร ‘ความเป็นไทยร่วมสมัย’ ผ่านมุมมองของดีไซน์เนอร์แต่ละคน
“เราว่าคนรุ่นใหม่ติดอยู่กับคำถามที่ว่า ไทยคืออะไร” แชมป์แจกแจง “เราถูกคนที่ใหญ่กว่าบอกว่า วัฒนธรรมไทยคือ Amazing Thaialnd คือขี่ช้าง คือลายกนก คือรำไทย แต่เราไม่เคยนิยามว่าวัฒนธรรมใหม่คืออะไร ไม่เหมือนอังกฤษหรือญี่ปุ่นที่มีการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาตลอด
“บางคนบอกว่าวัฒนธรรมที่เป็นโลคัลไม่ใช่วัฒนธรรม มันถูกเพิกเฉยเพราะมันไม่ใช่วัฒนธรรมในวัง มันไม่มีการเก็บไว้ว่านี่คือวัฒนธรรม ในขณะที่ญี่ปุ่น มาริโอ้ก็กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว”
ว่าแต่ ‘ความเป็นไทยร่วมสมัย’ สำหรับทีมงาน BET*TALED เป็นอย่างไร—เราสงสัย
“จริงๆ ไม่มีคำตอบให้นะ เพราะพวกเราคงไม่มานั่งบอกว่า อันนี้ไทย อันนี้ไม่ไทย” จิ้งตอบตรงประเด็น “ในสายตาพวกเรา ความเป็นไทยคือความหลากหลาย เหมือนจับแพะชนแกะ เหมือนของที่ดูไม่ค่อยเข้ากัน แต่มองอีกทีก็จะรู้สึกว่ามันก็เข้ากันนะ ของใน BET*TALED จึงหลากหลายมาก เหมือนความหลากหลายในวัฒนธรรม ความหลากหลายในสังคมที่เราสนใจมอง”
แม้ประเด็นความเป็นไทยอาจจะฟังดูจริงจัง แต่สิ่งที่ BET*TALED ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ ‘ความสนุก’ ดูได้จากทุกครั้งที่พวกเขาไปออกงานอีเวนต์ ก็มักจะหากิมมิคสนุกๆ ให้คนในงานมาร่วมเล่น เช่น Tattoo Machine ตู้แทททูระบบแมนนวลที่มีคนเข้าคิวยาวเหยียดในงาน Art Ground ครั้งล่าสุด แค่หยอดเงิน 30 บาท แหย่แขนเข้าไปในช่อง รู้ตัวอีกทีคุณก็สามารถเดินเล่นในงานพร้อมกับแทททูสวยๆ จากฝีมือกราฟิกดีไซน์เนอร์ไทยบนร่างกายได้แล้ว
“เรามองว่าเวลาร้านขายของชำหรือรถเข็นจัดของ เขาก็จะปรับไปตัวไปกับพื้นที่นั้นๆ แล้วเวลามีงานสงกรานต์ งานแฟร์ เขาก็จะซื้อของตามเทศกาล มันจะมีความอยู่กับเวลา กับสถานที่ เวลา BET*TALED ออกไป เราก็อยากอยู่กับคนบนพื้นที่นั้น ในเวลานั้น” จิ้งอธิบาย
“จริงๆ ตู้นี้จะคล้ายการเล่นกิจกรรมที่ร้านขายของชำสมัยก่อน เขาจะมีตู้ไข่ หรือกล่องชิงโชค คือเข้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนตลอด” แชมป์ขยายความ
“อีกอย่าง เราคิดว่า Tattoo Machine เจ๋งเพราะลายมันมาจากกราฟิกจากดีไซน์เนอร์ ซึ่งเราก็ให้ค่า GP เขา” จิ้งเพิ่มเติม “แล้วมันเข้าถึงง่าย เหมือนเป็นป๊อปอาร์ตแบบ Andy Warhol ในเวอร์ชั่นไทยๆ ใครๆ ก็เข้าใจ ใครๆ ก็อยากเล่นกับมัน”
BET*TALED ถือเป็นไซด์โปรเจ็กต์ของทุกคนที่ต่างก็มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ทีมงานต่างก็ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาลงไปกับมันมาก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็อยากเห็นมันประสบความสำเร็จในหลากหลายแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป
“เราอยากเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสวยงามของคนไทย อยากเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ของที่ผลิตมาจากแม่พิมพ์เดียวกันหมด” แชมป์พูด “บางคนชอบพูดว่า ข้าวยังไม่มีจะกิน อย่าไปพูดเรื่องความสวยงามเลย แต่เราว่ามันต้องทำควบคู่กันไป เราไม่ได้บอกว่าต้องไปเข้าแกลเลอรี เพราะ BET*TALED คือของใช้ในชีวิตประจำวัน คือศิลปินและนักออกแบบต้องเข้าไปหาคนเองด้วย”
“เราอยากให้ร้านเป็นเหมือน Muji แต่มู้ดภาพคนละอย่างนะ ของเราจะเป็นไทยๆ ที่หลากหลายอย่างที่บอกไป” คือคำตอบของจิ้ง “แต่ที่เปรียบเป็น Muji เพราะว่าเวลาไป Muji เราก็ซื้อของให้ตัวเองนี่แหละ ซื้อของในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราอยากซื้อของฝากให้คนอื่น เราก็ไป Muji ได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นภาพแทนของความเป็นญี่ปุ่น เราอยากเห็น BET*TALED ไปถึงตรงนั้น
“แล้วเราไม่เหมือน Select Shop ทั่วไป เพราะเราเป็นดีไซน์เนอร์เหมือนกัน เราเข้าใจว่าเวลาทำของขาย เขาจะโดนร้านหักเยอะ คือตัวเลขมันก็มีที่มาที่ไปแหละ แต่เราก็เลยพยายามทำตัวเลขของเราให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเราอยากเล่าเรื่องราวของโปรดักต์ทุกชิ้น มันคืออะไร ผ่านขั้นตอนอะไรมา ไม่ใช่แค่ไปวางแล้วบอกว่าสวยเฉยๆ เพราะทุกคนตั้งใจผลิตมันมาโดยใช้เวลา ใช้เงิน ทำรีเสิร์ช
“BET*TALED จึงเหมือนร้านขายของชำที่มีความใส่ใจ ใส่ใจทั้งคนที่ส่งของให้ ใส่ใจทั้งลูกค้า” จิ้งสรุป
วันที่ 2-7 พฤษภาคมนี้ BET*TALED ไปออกบูธที่งาน ASA บ้าน บ้าน ถ้าใครอยากไปสัมผัสร้านขายของชำดีไซน์สนุกด้วยตัวเอง ก็ตรงไปที่อิมแพคเมืองทองธานีเลย แต่ถ้าติดภารกิจก็ลองเข้าไปเดินเล่นดูของได้ในเว็บไซต์ www.bet-taled.com รวมทั้งอ่านเรื่องราวของดีไซน์เนอร์และที่มาที่ไปของโปรดักต์แต่ละชิ้นได้ที่เซ็กชั่น BET*TALAB จ้า