โลกอุตสาหกรรมและการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ส่งผลกับความรู้สึกของมนุษย์เรา โดยเฉพาะกับสิ่งของที่เราเคยได้สร้างและใช้มันด้วยมือของเราเอง
ท่ามกลางการแข่งขันด้วยการราคาและสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากๆ ปี 2006 PRONTO เริ่มต้นจากการเป็นร้านเล็กๆ ในสยามสแควร์ที่นำเสนอและสะสมสินค้าที่ผลิตด้วยวิธีแบบดั้งเดิม สินค้าจึงไม่ได้เป็นแค่สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นด้วยจำนวนมากๆ ในโลกสมัยใหม่ แต่เป็นสิ่งของที่ถูกผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ผลิตขึ้นด้วยมือ เป็นเสื้อผ้าที่ไม่ได้แค่ถูกผลิตมาเพื่อสวมใส่แล้วรอวันเก่า แต่เป็นมรดกจากกรรมวิธีการผลิตในยุคก่อนหน้าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ถูกสืบทอดต่อๆ ไป
ทุกวันนี้ PRONTO จึงเป็นแบรนด์ที่เรานึกถึงเวลาที่เราอยากได้ของพิเศษๆ เป็นแบรนด์ที่เราเชื่อได้ว่าได้คัดเลือก รวบรวม ‘งานฝีมือ’ ที่ใช้งานสวมใส่ได้จากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน โดยแนวคิดของทางร้านนั้นไม่ได้อยู่แค่สิ่งของหรือแบรนด์ต่างๆ ที่ถูกรวบรวมมา แต่บรรยากาศของร้านก็ได้รับการเติมเต็มด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของที่เป็นเหมือนของสะสม ที่ในตัวมันเอง ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ หรือโคมไฟในสมัยสงครามโลกต่างเป็นสิ่งตกทอดมาจากอดีต เป็นสิ่งที่อาจจะถูกมองว่าพ้นสมัยแล้ว แต่ในตัวของสิ่งของทั้งหลายนั้นต่างมีประวัติศาสตร์ในตัวเอง
สินค้าหรือสิ่งของที่ PRONTO ให้ความสำคัญและรวบรวมมาไว้จึงเป็นการสะสมและรักษามรดกตกทอดในการผลิตแบบดั้งเดิมของเรา เป็นวิถีการผลิตก่อนที่จะถูกยุคอุตสาหกรรมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงไป การผลิตที่เราผลิตข้าวของต่างๆ ด้วยมือ เป็นการทำหรือสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อใช้เองเป็นส่วนใหญ่ ในกระบวนการที่เราสร้างของต่างๆ ขึ้น มือของเราที่ค่อยๆ สัมผัส ขัดเกลา ประกอบ ถักทอสิ่งของต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือของใช้ต่างๆ ในกระบวนการที่ประณีตพิถีพิถันนั้นย่อมประกอบขึ้นด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้สร้างได้บรรจุลงไปด้วย
การที่เราสร้างหรือผลิตสิ่งต่างๆ ด้วยมือนี้เองที่นักปรัชญาเช่น คาร์ล มาร์กซ์เห็นว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ก่อนที่เราจะเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การผลิตของเราเปลี่ยนรูปแบบไป การผลิตที่ถึงจะมีประสิทธิภาพ แต่กลับทำให้เราสูญเสียธรรมชาติบางอย่างของเราไป
ปัญหาและค่าใช้จ่ายของการผลิตครั้งละจำนวนมากๆ (Mass Production)
ความคำนึงของ PRONTO ที่มีต่อการผลิตในปัจจุบัน คือการผลิตแบบจำนวนมากหรือ Mass Production ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และวิทยาการมาทำให้การผลิตสินค้า ‘มีประสิทธิภาพ’ มากขึ้น คำว่ามีประสิทธิภาพแบบอุตสาหกรรมก็คือการที่ผลิตสิ่งของที่จำนวนมากๆ หน้าตาเหมือนๆ กันด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด ซึ่งในการผลิตรูปแบบอุตสาหกรรมก็นำมาซึ่งปัญหาและราคาที่เรามองไม่เห็น
‘สายพานการผลิต’ หรือ Assembly Line เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ถูกคิดค้นขึ้นจากการใช้ความรู้ต่างๆ เช่นวิศวกรรมและการจัดการเพื่อทำให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุ้มทุนที่สุด การผลิตของในโลกสมัยใหม่เลยถูกผลิตขึ้นในโรงงาน สินค้าชนิดเดียวถูกประกอบขึ้นจากมือคนหลายๆ คนผ่านสายพานการผลิต อุตสาหกรรมการผลิตยุคแรกๆ ที่สายพานการผลิตถูกเอามาใช้ก็ได้แก่พวกผ้าทอ นาฬิกา ส่วนประกอบรถยนต์
ฟังดูก็เข้าท่า เพราะ ‘มีประสิทธิภาพ’ ดีนี่นา เป็นการลดต้นทุนการผลิต และได้ของจำนวนมากๆ ให้เราได้ซื้อหากันในราคาที่ถูกลง แต่จริงๆ แล้ว ในการผลิตที่ดูคุ้มค่ามันมีปัญหาบางอย่างแอบแฝงอยู่
ค่าใช้จ่ายของ ‘ความมีประสิทธิภาพ’
ปัญหาสำคัญของการผลิตสินค้าแบบจำนวนมากๆ เป็นการทำลายการผลิตแบบดั้งเดิมของมนุษย์เราในหลายระดับ PRONTO จึงหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่ต้องแลกด้วยราคาในการรักษาการผลิตแบบดั้งเดิมด้วยมือเอาไว้ เป็นการผลิตในจำนวนที่ไม่มาก
คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาเยอรมันชี้ให้เห็นว่า การผลิตในโรงงานทำลาย ‘ธรรมชาติ’ สำคัญของมนุษย์เราลงไป
มาร์กซ์บอกว่าธรรมชาติของมนุษย์คือการผลิตสิ่งต่างๆ ด้วยมือของตัวเอง แต่การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยกระบวนการที่ไปยืนๆ แล้วใส่ชิ้นส่วนๆ ในที่สุดแล้วแรงงานที่ผลิตของ เช่นเสื้อผ้าที่เย็บกันคนละที นาฬิกาที่ประกอบกันคนละส่วน คนที่ผลิตมันไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับสินค้าปลายทางว่า เอ้อ ของชิ้นนี้นี่เป็นสิ่งที่เราทำขึ้นมานะ ไม่เหมือนกับการผลิตแบบดั้งเดิมที่ผู้ผลิตมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองผลิตขึ้นมา
ในระดับที่เป็นรูปธรรมขึ้นคือ ไอ้การผลิตแบบอุตสาหกรรมมันไม่ได้แค่ทำลายธรรมชาติที่จะต้องสร้างของต่างๆ ด้วยมือเท่านั้นหรอก แต่สภาพการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมยังมีสภาพที่แสนย่ำแย่อีกด้วย แรงงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำคัญๆ ของโลก เช่น บังกลาเทศ จีน กัมพูชา หรือเวียดนาม มีรายงานถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กและสตรีที่มีปัญหาเรื่องค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินตลอดจนปัญหาเรื่องความปลอดภัยในทำงาน ดังนั้นในสินค้าโรงงานเช่นในการผลิตเสื้อผ้าจึงมีราคาของความไม่เป็นธรรมจากแรงงานที่ถูกกดขี่อยู่ในนั้นด้วย
การรื้อฟื้นและความหมายในการผลิตแบบดั้งเดิม
แม้ว่าการผลิตแบบสมัยใหม่และโรงงานอุตสาหกรรมจะผุดขึ้นทั่วโลก และสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นอย่างมหาศาลท่วมท้นเข้าสู่ตลาด PRONTO จึงคัดเลือกสินค้าและสนับสนุนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามรักษาการผลิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ เป็นการผลิตนอกโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำด้วยมือและการลงแรงแบบดั้งเดิม
การรักษาการผลิตแบบดั้งเดิม หรือการผลิตแบบที่ไม่ใช้จำนวนมากๆ ต้องแลกมาด้วยราคา เพราะเป็นการผลิตแบบดั้งเดิมไม่เน้นเรื่องการลดต้นทุน แต่ส่วนหนึ่งเน้นการรักษาการผลิตและวัฒนธรรมการผลิตด้วยมือหรือ artisan เอาไว้
ของที่ถูกผลิตด้วยมือจึงมีความแตกต่างไปจากของที่ถูกผลิตขึ้นในระบบอุตสาหกรรม เป็นสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการผลิตในยุคก่อนอุตสาหกรรม ยุคที่การสร้างสรรค์หรือการผลิตสิ่งของคือชีวิต วัตถุที่ถูกสร้างขึ้นถูกบรรจุความหมายและเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ภายใน เรื่องของผู้สร้างที่ค่อยๆ ถักทอลงไปในสิ่งของถูกทำขึ้นทีละขั้นจนสมบูรณ์เป็นชิ้นงาน
ของ ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยคนที่มีใจรัก ย่อมต้องมีความพิเศษและเรื่องราวของผู้ที่สร้างมันขึ้นถูกถักทอเจือปนลงไปในวัตถุนั้นๆ ด้วย ผ้าบางผืนถูกทอขึ้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถูกทอ ย้อมและตัดเย็บด้วยมือของช่างที่อุทิศตัวให้กับสิ่งของที่ตัวเองผลิตในฐานะงานศิลปะ ยีนส์ญี่ปุ่นบางชิ้นถูกผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ และถูกผลิตขึ้นด้วยมือโดยใช้เวลาในการผลิตนับเดือน การผลิตสิ่งของจึงเป็นการรักษาเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์เฉพาะของตัวเองหรือพื้นที่เอาไว้ภายในกระบวนการการสร้างสรรค์
ดังนั้น การผลิตรูปแบบดั้งเดิมจึงไม่ใช่แค่การผลิต ‘สินค้า’ แต่เป็นการสร้าง ‘ชิ้นงาน’ ขึ้น ชิ้นงานที่ผู้สร้างมันขึ้นได้บรรจุเรื่องราวต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นผ้า สีย้อม กระดุม ที่ผู้สร้างสรรค์คิดและคัดเลือกมาผลิตขึ้น
คุณค่าของการผลิตแบบดั้งเดิมจึงบรรจุความหมายสำคัญบางอย่างไว้ ความหมายของผู้คนที่สืบทอดมรดกการผลิตด้วยมือและวัฒนธรรมการช่าง (craftsmanship) เสื้อผ้าที่ถูกสร้างขึ้นที่ไม่ได้ซื้อไปเพื่อรอวันเก่าและเปลี่ยนเป็นของใหม่ แต่เป็นสิ่งของที่สืบทอดมรดกของการผลิตแบบดั้งเดิม
สิ่งของหรือเสื้อผ้าที่ถูกผลิตขึ้นนั้นจึงไม่ใช่แค่ของสวมใส่ แต่ยังเป็นเสมือนมรดกที่บรรจุกรรมวิธีการผลิตแบบเก่า บรรจุเรื่องราวบางอย่างไว้ในวัตถุดิบ ไว้ในรูปแบบ ไว้ในกระดุม ในโลหะ ในสีย้อม และวิธีการทอ ที่ค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นมาด้วยมือ
สิ่งของจึงไม่ได้เป็นแค่สิ่งของ แต่คือเรื่องราวที่สามารถส่งต่อ สืบทอดต่อไปได้
PRONTO ในฐานะแบรนด์ที่ให้ความสำคัญและเป็นร้านที่รวบรวมชิ้นงานทำมือไว้จากทั่วโลกชวนไปงานฉลองครบรอบ 10 ปีและงานประจำปีของทางร้านในวันที่ 18-19 มีนาคม 2017 นี้ ในวันที่ 18 มีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ ‘Weaving Shibusa’ สารคดีเกี่ยวกับการผลิตยีนส์ญี่ปุ่น ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า งานเริ่มเวลา 18.00 น. และในวันที่ 19 พบกับงาน ‘PRONTO DENIM CARNIVAL 2017’ มหกรรมประจำปีเพื่อคนรักยีนส์ของทาง PRONTO พิเศษ สำหรับผู้ที่มีตั๋ว ‘Weaving Shibusa’ รับสิทธิเข้างานในรอบ VIP ก่อนใคร งานเปิดรอบปกติเวลาเที่ยงตรง ณ ลาน Parc Paragon
ดูรายละเอียดเกี่ยวการซื้อตั๋วและการจัดฉายภาพยนตร์ได้ที่ www.prontoden.im/weavingticket และรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘PRONTO DENIM CARNIVAL 2017’ ได้ที่ facebook.com/prontodenim