กลับมาพบกันอีกครั้งจ้ากับ แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี (ทำไมพูดเหมือนมีคนรอคอย) ปีใหม่คุณผู้อ่านไปเที่ยวไหนกันมาจ๊ะ ส่วนผมก็ไม่อะไรมาก แค่ไปญี่ปุ่นมา 12 วันเอ๊งงงงง (นี่ก็อีก ทำไมต้องพูดให้น่าหมั่นไส้)
“ไปเคานต์ดาวน์ที่ญี่ปุ่น” ฟังดูเป็นประโยคเก๋ๆ แต่ความจริงเป็นทริปที่ปวดหัวไม่หยอกนะเธอ นอกจากค่าตั๋วเครื่องบินแพงหูฉี่ โรงแรมกี่ที่ๆ ก็เต็ม การเผชิญกับนักท่องเที่ยวล้านแปด อีกสิ่งที่เป็นปัญหาพอควรคือ “อะไรๆ ก็ปิดจ้า!” เชื่อว่าคงเคยเจอความนกแบบนี้กันมาแล้ว ประมาณว่าตั้งใจไปมิวเซียมสุดเก๋หรือร้านอาหารชื่อดังในตำนาน แต่พอไปถึงหน้าประตูเจอป้ายแปะว่าปิดค่ะอีโง่ว์! (แถมป้ายยังชอบเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนด้วย)
คราวนี้ผมเลยขอแชร์ประสบการณ์ว่าถ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปีใหม่นี่ควรเอายังไงกับชีวิต
ก่อนคริสต์มาส (23-25 ธันวาคม)
ช่วงนี้แนะนำว่ารีบไปเก็บพวกอาร์ตแกลเลอรี่เล็กๆ หรือลับแลก่อน ส่วนใหญ่แล้วเปิดวันสุดท้ายวันที่ 25-26 ธันวาคม หลังจากนั้นปิดยาว เจอกันอีกทีหลังปีใหม่โลด แถมชอบเปิดวันที่ 4 หรือ 6 มกราคมนู่นเลย แกลเลอรี่พวกนี้หลายที่ฟรี หลายที่ต้องเสียค่าเข้า แต่จะไม่แพงมาก ราวๆ 500 เยน
ข้อระวังหน่อยคือ ด้วยความที่เป็นแกลเลอรี่ขนาดเล็ก การดูงานอาจใช้เวลาไม่นานมาก อาจจะ 15-30 นาที ดังนั้นควรลุยแกลเลอรี่เป็นย่านๆ ไป เช่น วันนี้ลุยแกลเลอรี่แถว Roppongi สัก 4 ที่ อะไรทำนองนี้ จะได้ไม่เกิดอาการ “โห อุตส่าห์นั่งรถไฟมาตั้งไกล งานมีแค่นี้เองเหรออออ”
ความลำบากอีกประการคือ พวกแกลเลอรี่เล็กๆ อาจหาข่าวสารยากสักหน่อย แนะนำให้ติดตามที่เว็บ Tokyo Art Beat , RocketNews24 หรืออีกวิธีบ้านๆ แต่ได้ผลคือ ให้เข้าร้านหนังสือ Aoyama Book Center ตรง Roppongi แล้วพุ่งไปหมวดหนังสือศิลปะ จะมีขายพวกสูจิบัตรหรือหนังสือจากนิทรรศการต่างๆ ซึ่งเขาจะแปะป้ายว่างานนั้นๆ กำลังแสดงอยู่ที่ไหนถึงวันไหน
จากการรวบรวมข่าวสารประหนึ่งเล่นเกม RPG แกลเลอรี่ที่เราไปเก็บแต้มมา ได้แก่…
งานรวมผลงานดีไซน์ 5 ปีของยัย Kyary Pamyu Pamyu ที่ Laforet Museum (Harajuku) ในงานคนโล่งมาก นี่มันหมดยุคของหล่อนแล้วสินะ (ปลง)
นิทรรศการรวมภาพขาอ่อนสาวๆ (Todays Gallery Studio / Asakusabashi) อันนี้ไม่ได้อยากมา แต่พี่นัทคุง ข่มขู่ให้ไปซื้อโฟโต้บุ๊กในงาน
Watari-Um Museum of Contemporary Art มี retrospective งาน Nam June Paik ศิลปินชาวเกาหลีที่เป็นตัวพ่องานวิดีโออาร์ต เสียชีวิตไปเมื่อปี 2006
ไม่เคยรู้จัก 3331 Arts Chiyoda มาก่อนเลย แต่เห็นป้ายแปะอยู่ใน Aoyama Book Center เป็นโรงเรียนประถมที่ดัดแปลงเป็นสเปซทางศิลปะ
แต่พีคสุดคืออันนี้ ดูภายนอกเหมือนร้านซักผ้าหยอดเหรียญ แต่ความจริงคือแกลเลอรี่ชื่อ Asakusa-O ซึ่งแสดงงานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช กับ Yoko Ono (!!!)
หลังคริสต์มาส (26-28 ธันวาคม)
พอเลยวันคริสต์มาสแล้วน่าไปพวกมิวเซียมขนาดกลางถึงใหญ่จ้ะ โดยมากมิวเซียมจะปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมเป็นต้นไป แต่ต้องเข้าไปเช็กวันหยุดในเว็บไซต์ทางการของแต่ละมิวเซียมอีกที เพราะแต่ละที่หยุดไม่เหมือนกัน บางที่หยุด 29 ธันวา – 2 มกรา บางที่หยุดแค่วันที่ 1 มกราวันเดียว ขอบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ปวดกบาลมาก แต่ก็ต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดความเด๋อไปเจองานปิด
ช่วงที่ผมไปโชคดีว่ามีงาน Ghost in the Darkness ของพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พอดี แต่ว่างานก็คล้ายกับเคยแสดงที่ใหม่เอี่ยมแกลเลอรี่ เชียงใหม่ นอกจากนั้นก็ไป Snoopy Museum ตอนแรกปรามาสว่าคงเป็นมิวเซียมมุ้งมิ้งหลอกล่อให้ซื้อของน่ารักในช็อป แต่ปรากฏว่าตัวงานให้ความรู้ที่ดีมาก เช่นว่า ทำไม Snoopy ถึงยืนสองขาหรือทำไมมันถึงนอนบนบ้านหมาได้โดยไม่หล่นลงมา
ทว่าแม้จะวางแผนมาดีแค่ไหนก็พลาดจนได้ ในวันที่ 28 ธันวาคมไปเมือง Shizuoka วาดหวังว่าจะเยี่ยมชม Shizuoka City Museum of Art ที่กำลังแสดงงานเกี่ยวกับ Ghibli Studio เพียงเพื่อพบว่ามันปิด 28 ธันวาคม – 1 มกราคม โว้ยยยยยยยยยยย //ทึ้งหัว
ปิดค่า
ช่วงสิ้นปี (29-31 ธันวาคม)
ถึงตอนนี้แกลเลอรี่/มิวเซียมจะพากันไปปิดเหี้ยนหมด (ยกเว้น Mori Art Museum แถว Roppongi ที่เปิดตลอดช่วงปีใหม่) ถ้าจะไปทางโหมดอาร์ตนี่คงไม่ค่อยรุ่ง แต่ชีวิตมีทางเลือกเสมอ ฉีกไปโหมดแมสเลยจ้า นั่นคือการตามล่า Illumination หรือการจัดแสดงไฟ ซึ่งจะมีตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ยิ่งถ้าอยู่โตเกียวนี่มีเป็นสิบกว่ารายการ เพียงแค่ค้นกูเกิลว่า illumination, japan, tokyo ข้อมูลก็ขึ้นมาเพียบทั้งภาษาอังกฤษและไทย
สิ่งพึงระแวงสำหรับการล่า Ilumination
– บางอันจัดยาวตั้งแต่คริสต์มาสยันวาเลนไทน์ บางอันหมดวันคริสต์มาส บางอันอินดี้ปิดตอนวันปีใหม่ซะงั้น ก็ต้องเช็กเป็นรายๆ ไปอีกเช่นเคย
– Ilumination บางที่อลังการดาวล้านดวงมากๆ แต่บางที่ก็เฉยๆ เหมือนไฟตามตลาดนัด
– คนมาชมส่วนมากมักจะเป็นคู่รักหนุงหนิง (หึ)
นี่ไม่ใช่แถวเข้าฟังสัมมนา แต่คือขบวนเข้าชมไฟที่ Tokyo Midtown พอดีว่าไปวันรองสุดท้าย คนเลยมหาศาล
หลังจากเดินแถวอยู่ครึ่งชั่วโมงก็พบว่าคุ้มค่าอยู่ แม้ตอนดูจะนึกถึงอะไรบางอย่างในไทย (หืม…)
ไฟที่ Shibuya ฟ้าได้อีก อยู่นานๆ แล้วปวดตาเลย
อันนี้หน้าห้าง Caretta Shiodome เปลี่ยนสีไปมาได้ด้วย
อุโมงค์ที่ Tokyo Dome City จะพาฉันไปมิติไหนคะซิส
คืนข้ามปี (31 ธันวาคม)
คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่าคนญี่ปุ่นที่เขาไม่ได้เคานต์ดาวน์กันใหญ่โตเลย เพื่อนเคยไปข้ามปีตรง Tokyo Tower พบว่ามีแต่นักท่องเที่ยวมานับถอยหลังกัน หลังจากนั้นก็จบ แยกย้ายกันแบบงงๆ (วงวาร…) หรือตรงแยก Shibuya มีปิดถนนรวมตัวเคานต์ดาวน์ ทว่ามีแค่จอนับถอยหลัง ไม่มีจุดพลุใดๆ ทั้งสิ้น คืนข้ามปีคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาอยู่กับครอบครัวที่บ้าน นั่งดูรายการเพลงขาวแดงทาง NHK หรือไม่ก็ไปขอพรที่วัด
เพื่อนได้เตือนมาว่าวัดในวันสิ้นปีผู้คนจะทะลักทลาย และผมเองก็ไม่ได้อยากไปอยู่แล้ว หลังจากรีเสิร์ชอยู่พักใหญ่ก็ได้กิจกรรมทางเลือกในคืนสุดท้ายของปี
ดูคอนเสิร์ตครับ
ที่ญี่ปุ่นมักมีคอนเสิร์ตในวันที่ 31 ธันวาคม เรียกว่า Countdown Live มีหลายสเกลทั้งจัดในโดมระดับห้าหมื่นคน, สนามกีฬา, ฮอลล์คอนเสิร์ต, ไลฟ์เฮ้าส์เล็กๆ หรือพวกคลับตื๊ดๆ ทั้งหลาย จะเริ่มกันประมาณสี่ห้าทุ่ม จบที่ตีสองตีสามตีสี่ ถ้าอยากรู้ว่าช่วงนั้นมีอีเวนต์อะไรเช็กได้จากพวกเว็บขายบัตร เช่น pia (แน่นอนว่าเว็บญี่ปุ่นล้วน) ส่วนบัตรคอนเสิร์ตญี่ปุ่นซื้อยังไงนี่ขอข้ามไป เพราะซับซ้อนมาก เขียนแยกได้เลยอีกตอนเลย
30 ธันวาคมแล้ว ศิลปินยังทำมาหากินต่อไป อันนี้คอนเสิร์ตพี่เจ มือเบสวง Luna Sea
31 ธันวาคม ผมไปดูคอนเสิร์ตของ Ayumi Hamasaki อดีตซูเปอร์สตาร์ยอดขายหลักล้าน ปัจจุบันหลักหมื่น
ทั้งนี้ถ้าท่านเลือกหนทางดูคอนเสิร์ตหรือออกไปสังสรรค์ในคืนข้ามปี โปรดเตรียมรับชะตากรรมตอนขากลับด้วยนะจ๊ะ ในคืนปีใหม่แม้รถไฟจะวิ่งตลอดคืน แต่ความถี่จะน้อยลงมาก บางสายนี่กลายเป็นมาทุก 25 นาที หรือรุ่นพี่ผมเจอสายที่มาชั่วโมงละคัน! ผู้คนนอนรอที่ชานชาลากันเป็นเบือ แถมยังมีฝรั่งเมาล้มทำเบียร์หกใส่คนอื่นอีก
ส่วนผมถือว่ามีแต้มบุญ ไอ้สายที่ต้องนั่งกลับโรงแรมมันมาถี่หน่อย ต่อแรก Yamanote Line มาทุก 12 นาที ส่วนต่อที่สองนั่ง Ginza Line มาทุก 15 นาที ไอ้ที่ระแวงว่าจะมีใครเมาแล้วมาอ้วกใส่ก็ไม่เจอ มีแต่คนเมาแล้วล้มพับไปเลยสองราย เป็นภาระของนายสถานีต่อไป
หลังปีใหม่ (1-3 มกราคม)
เคยได้ยินเขาบอกต่อๆ กันมาว่าช่วงปีใหม่ตามเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นจะเหมือนเมืองร้าง ไอ้นู่นไอ้นี่ปิดหมด ผู้คนพากันกลับบ้านต่างจังหวัด ตอนแรกจินตนาการว่าจะเหมือนหนังแนววันสิ้นโลก แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้หลอนขนาดนั้น พวกห้างสรรพสินค้านี่ปิดจริง ร้านอาหารปิดหลายร้านอยู่ แต่มินิมาร์ทหรือร้านแฟรนไชส์ (ประมาณข้าวหน้าเนื้อ Matsuya, Yoshinoya) จะเปิด สรุปว่าใช้ชีวิตได้ตามปกติจ้า
แล้วพวกกิจกรรมจะทำอะไรดีล่ะเนี่ย หลายคนเน้นช็อปแหลก เพราะตามห้างร้านจะมี lucky bag เป็นถุงที่เราไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร ซื้อแล้วไปเปิดลุ้นเอาเอง แต่ถ้าไม่ชอบช็อป (หรือจน) จะทำไงดีหว่า… ทางออกคงเป็นสถานที่ประเภทแบบเปิดตลอดปีตลอดชาติ อย่างแรกคือสวนสนุก เห็นเพื่อนบางคนไม่มีที่ไปเลยจบที่ Disneyland อย่างไรก็ดี สวนสนุกบางแห่งจะเป็นแนวว่าคืนสิ้นปีเปิดโต้รุ่งถึงเช้า (เช่น เปิดถึง 8.00 ของวันที่ 1 มกราคม) หลังจากนั้นปิดไปทั้งวัน แล้วเปิดอีกที 2 มกราคมเลย อันนี้ก็ต้องไล่เช็กกันไป (อีกแล้ว…)
Chibi Maruko-chan Land ที่เมือง Shizuoka เปิดตลอดปีไม่มีวันหยุด
ชิงช้าสวรรค์ Cosmo Clock 21 แลนด์มาร์คสำคัญของสวนสนุก Cosmoworld (Yokohama) ช่วงปีใหม่คนเยอะ เจอต่อคิวไปเลย 45 นาที
อีกสถานที่ที่ไม่ค่อยจะมีวันหยุดก็คือพวกอควอเรียม ค่าเข้าอาจจะแพงหน่อย (ประมาณ 2000 เยนอัพ) และต้องทำใจว่าช่วงปีใหม่จะมีครอบครัวกันมาเยอะมากกกกกกก นั่นก็หมายถึงมวลหมู่เด็กน้อยผู้น่ารักกกกกกกนั่นเอง ปลาเปลออะไรนี่ไม่ต้องดูกันละ เห็นแต่เด็กวิ่งเต็มไปหมด แต่มีทริคว่าทุกอควอเรียมมักจะมีโชว์ที่เป็นไฮไลท์ (โดยมากเป็นโชว์โลมา) จังหวะที่ทุกคนจะแห่ไปดูโลมา โซนอื่นของอควอเรียมจะโล่งมาก เดินดูได้อย่างสบายใจ
เพนกวินที่ Sumida Aquarium
แทงค์ปลาที่เห็นแต่หัวคน (Enoshima Aquarium)
ดิสโก้แมงกะพรุน (Aqua Park Shinagawa)
จะเห็นได้ว่าช่วงปีใหม่ที่ญี่ปุ่นมีอะไรให้ทำเยอะแยะมากมาย จะอินดี้ก็ได้ จะแมสก็มี เพียงแต่ต้องหาข้อมูลให้ถี่ถ้วนสักหน่อยว่าอะไรเปิด / ปิดวันไหน
ก่อนจากกัน ขอส่งท้ายด้วยการ Happy New Year ย้อนหลังผู้อ่านทุกท่าน ขออภัยที่ช้าไปหน่อยนะครับ (ก็แกส่งต้นฉบับช้าไง…) แล้วพบกับ แอดเวนเจอร์ ออฟ เมอฤดี ใหม่คราวหน้าเด้อ (ถ้า บ.ก. เขายังให้เขียนอะนะ)