การยืน นั่ง นอน หรือกระทั่งปรากฏตัว ในหลายบริบทที่มีการห้าม หรือเป็นการฝืนการบังคับ กฎเกณฑ์บางอย่าง แน่นอนว่าการกระทำธรรมดาดังกล่าว ย่อมกลายเป็นการต่อต้านประท้วง หรือกระทั่งตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ถูกตั้งไว้
ราวๆ สัปดาห์ที่แล้วที่มีกรณีป้าตบเด็กจากการไม่ยืนในสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นก็เลยมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงต่อเด็กดังกล่าว รวมตัวกันในเวลาเคารพธงชาติ และพร้อมใจกันนั่งแทนการยืนอันเป็นเหตุที่ป้าตบเด็กใช้เป็นเหตุผลกระทำความรุนแรงต่อเด็กหญิงคนนั้น
การรวมตัวกันนั่งเฉยๆในบริบทเช่นนี้ก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งคำถามกับความรุนแรง อาจรวมถึงเรื่องความถูกต้องของระบบระเบียบในสังคม และจากการนั่งประท้วงในปี ค.ศ.2020 ก็ทำให้เรามองย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ.1960 ที่สหรัฐอเมริกาเอง ก็มีการประท้วงของคนผิวดำที่ใช้การ ‘เข้าไปนั่ง’ ในนาม ‘Sit-In Movement’ เช่นกัน
การประท้วงด้วยการเข้าไปนั่งเฉยๆ ดังกล่าวนั้น ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์ และเป็นวิธีการประท้วงที่ได้รับการนิยามและจดจำว่า เป็นวิธีการประท้วงที่ทั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นการต่อสู้ของนักศึกษาปัญญาชนต่อความอยุติธรรม ที่ทั้งทรงพลัง มีความเป็นอารยะ (civil disobedient) และเป็นการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง (non-violence)
The Sit-In Movement พลังของการปรากฏตัว
Sit-In Movement คือการกระแสการประท้วงในอเมริกาช่วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ ในช่วงก่อนปี ค.ศ.1960 นั้นแน่นอนว่ายังมีการแบ่งแยกคนผิวดำและผิวขาวอยู่ ในตอนนั้นจริงๆ ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น คนผิวดำได้รับการศึกษามากขึ้น ทีนี้ ในการบริการแบบแบ่งแยก โดยเฉพาะร้านค้าและร้านอาหารที่มักจัดพื้นที่บริการเฉพาะคนขาว พวกนักศึกษาผิวดำก็เลยใช้วิธีเข้าไปนั่งในร้านอาหารเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็แต่งตัวเต็มตามแบบปัญญาชน แล้วก็นั่งอยู่หน้าเคาเตอร์นั้นไปยาวๆ
กระแสการประท้วงด้วยการนั่งเฉยๆ ถ้าพูดด้วยภาษาบ้านเรา คือการนั่งแช่ในร้านเริ่มต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1960 ที่เมือง Greensboro รัฐ North Carolina วันนั้นอยู่ๆ นักศึกษาผิวดำจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและการเกษตร North Carolina A&T ก็เข้าไปนั่งที่เคาท์เตอร์บริการคนผิวขาวที่ร้าน the Woolworth store แน่นอนว่าทางร้านปฏิเสธการให้บริการ แต่นักศึกษาทั้งสี่ก็นั่งอยู่ตรงนั้นเฉยๆ จนกระทั่งปิดร้าน
หลังจากวันแรกของการประท้วง นักศึกษาทั้งสี่ก็ปรากฏตัวขึ้นที่ร้านเดิม นั่งที่เคาท์เตอร์บาร์แบบเดิม หลังจากการประท้วงในสองวันแรกก็มีผู้เข้าร่วมประท้วง ทั้งเพิ่มจำนวนและเข้ามานั่งในร้านสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป จากการประท้วงในร้านๆ เดียว คนผิวดำโดยเฉพาะนักศึกษา และตอนหลังก็มีนักกิจกรรมเข้ามาร่วมด้วย กระแสเข้าไปนั่งในร้านเพื่อประท้วง คือแบ่งแยก ไม่อยากเห็นนักใช่มั้ย ก็จะทำตัวแบบเวรี่อารยะ ไปนั่งสวยๆ ใช้บริการ และนั่งลากยาว ขวางหูขวางตาให้สาใจไป
แน่นอนว่าผลการประท้วงก็มีหลายแบบ บ้างก็มีการตอบโต้จากร้านค้าอย่างรุนแรง ใช้กำลังทำร้าย หรือแจ้งตำรวจจับกุม แต่ด้วยความที่การประท้วงจากฝ่ายผู้ประท้วงก็ถือว่า ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร พอมีการปราบปราม จำนวนคนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แถมการประท้วงก็ขยายตัวไปทั่วพื้นที่ทางตอนใต้อันเป็นพื้นที่ของการเหยียดผิวและการค้าทาส
กระแสการประท้วงด้วยการเข้าไปนั่ง ถือเป็นการประท้วงที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือเป็นทั้งวิธีการต่อต้านที่เป็นรูปธรรม ทำได้ง่าย และการประท้วงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ก็เลยกลายเป็นการแสดงออกที่คนผิวดำทำร่วมกัน เป็นการแสดงออกที่เหมือนกับรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อสู้เรียกร้องบนเส้นบางอย่างร่วมกัน มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ถึงกับชื่นชมว่า การต่อสู้นั้นเป็นพลังของนักศึกษา และนำไปสู่การจุดประกาย รวมถึงตั้งคำถามกับทั้งโฉมหน้าการกดขี่ที่มีอยู่ในชุมชนรอบๆ รวมถึงในวิทยาเขตการศึกษาด้วย ทั้งยังเชิดชูว่า เป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ริเริ่มและหล่อเลี้ยงโดยนักเรียนนักศึกษา
คำถามต่อกฏ และผลของความไม่รุนแรง
การประท้วงใดใด มันคือการแสดงออกทั้งเพื่อตั้งคำถาม และสร้างแรงกระเพื่อมต่อสิ่งใดใดในสังคม กรณีการเข้าไปนั่งเฉยๆ ที่แน่นอนว่าไปนั่ง ไปรับบริการที่เขาสงวนไว้ให้คนผิวขาวเท่านั้น ด้านหนึ่งการต่อสู้นี้ก็ได้รับการชื่นชมว่า เป็นการแสดงออก ที่เอ้อ ไม่เห็นเป็นคนใช่มั้ย ไม่อยากบริการใช่มั้ย ก็ปรากฏตัวขึ้น นั่งแยงตา กินกาแฟ กินข้าวในร้านงี้แหละ จะทำไม หลายครั้งการไปนั่งคนผิวดำหรือพวกนักศึกษาก็จะแต่งตัวอย่างภูมิฐาน ก็เลยทำให้เกิดคำถามต่อเส้นแบ่งความเป็นมนุษย์
ด้านหนึ่งความเปลี่ยนแปลง คือการเหยียดผิวนั้นก็ค่อยๆ เกิดขึ้น และสัมพันธ์กับการเรียกร้อง เข้าถึง ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเอง พื้นที่ตอนใต้ของอเมริกาแน่นอนว่าเป็นพื้นเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งในโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่นั้นก็ต้องการวิทยาการ ต้องการแรงงานมีฝีมือ มีการเปิดวิทยาลัยการอาชีพต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ พวกวิทยาลัยการเกษตร เทคโนโลยี ขุดเหมือง ช่างอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานมีฝีมือไปจนถีงช่างเทคนิคจำนวนมากก็มาจากครอบครัวคนผิวดำนั่นแหละ
และแน่นอนตัวเร่งต่อความเปลี่ยนแปลงคือการประท้วง และการไม่สยบยอมต่อกฎระเบียบที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผลนี่แหละ มันไม่ใช่ว่า นี่ไงร้านบอกว่าจะทำแบบนี้ๆ ก็เป็นสิทธิของร้าน กฏเขาตั้งแบบนี้ก็ต้องทำตามแต่อย่างเดียว ซึ่งกฏในที่นี้ที่ว่าจะถูกหรือไม่ถูก ทำตามหรือต่อต้านก็หมายรวมกฎทั้งหมดอันเป็นข้อตกลงที่ไม่ใช่ว่าจะตั้งยังไงก็ได้ แต่คนในสังคม ผู้ใช้บริการก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถาม หรือกระทั่งต่อต้าน
กระแส Sit-In Movement แน่นอนว่าได้รับการนิยามว่าเป็นการต่อสู้โดยสงบ ทีนี้สิ่งที่เราจะเห็นได้คือ จริงๆ มันก็คือการต่อต้าน ซึ่งก็มีความขัดแย้ง หรือสร้างความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง การประท้วงก็คือการประท้วง มันคือการแสดงความไม่พอใจ และแน่นอนนำไปสู่ความคับข้องอึดอัดบางอย่าง ในกรณีนี้เบื้องต้นเลยก็สร้างความคับข้องใจใก้กับร้านค้าที่แบ่งแยกการให้บริการ
แต่ นอกจากร้านที่ไม่ขายให้คนดำ แล้วมีคนดำไปยืนไปนั่งเฉยๆ นอกจากจะอึดอัดใจแล้ว ในด้านหนึ่งการที่ร้านมึงบอกว่ากูไม่ขายให้คนดำมันก็ทั้งส่งเสริมการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบ และทำให้คนผิวดำอึดอัดใจอยู่แล้วด้วยจริงไหม และนอกจากความคับข้องรำคาญใจ การปรากฏตัวของการนั่งประท้วงนั้น ยังหวังผลทางเศรษฐกิจด้วย พูดง่ายๆ คือเข้าไปนั่งแช่ให้ขายไม่ได้ การประท้วงนั้นจริงๆ ใหญ่โต มีผู้เข้ามาร่วมมากจนขนาดที่ว่าร้านค้านั้นให้บริการลูกค้าคนอื่นไม่ได้ มีรายงานว่าในเดือนแรกนับจากการประท้วงในวันที่หนึ่ง หลังจากนั้นในเดือนเดือนเดียวมีการประท้วงแบบเดียวกันใน 7 รัฐ กว่า 30 พื้นที่และมีผู้เข้าร่วมประท้วงกว่า 50,000 คน
ชัยชนะสำคัญ และแน่นอนการประท้วงนั้นก็นำไปสู่ผลบางอย่าง กรณีการนั่งในร้านเพื่อประท้วง จุดเริ่มต้นที่ร้าน Woolworth store ในที่สุดก็นำไปสู่การเข้าไปนั่งประท้วงในอีกหลายๆ สาขาของรัฐและเมืองใกล้เคียง จากต้นเดือนกุมภาพันธ์ นั่งประท้วงกันจนขายไม่ได้ ในที่สุดจนปลายเดือนพฤษภาคม ห้าง Woolworth store โดนประท้วงนั่งแช่จนเกิดอาการจวนเจ๊ง เกือบเข้าขั้นล้มละลาย ในที่สุดร้าน Woolworth สาขา Greensboro อันเป็นจุดเริ่มของการปฏิเสธการให้บริการและกระแสการนั่งประท้วงก็เลยยกเลิกการให้บริการเคาเตอร์อาหารโดยแบ่งแยกสีผิว และค่อยๆ ยกเลิกต่อเนื่องจนมีผลทุกสาขาทั่วประเทศในเวลาต่อมา
กระแสการประท้วงด้วยการเข้าไปนั่งเฉยๆ เป็นหนึ่งในการต่อสู้โดยเน้นการประท้วงโดยสันติปราศจากความรุนแรง มีการรับมือกับความรุนแรงที่จะถูกต่อต้านอย่างระมัดระวัง ซึ่งความไร้ความรุนแรงในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ความขัดแย้ง และด้านหนึ่งก็หวังผลในการสร้างผลกระทบบางอย่าง เช่น ผลทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความชะงักงัน ถ้าจะให้มันเรียบร้อย อยู่ในกรอบที่อำนาจวางไว้ ไม่เข้าก็ไม่เข้า ไม่ขายก็แล้วแต่ ก็ไม่ทราบว่าการประท้วงนั้นจะมีเสียงได้อย่างไร
เจ้าการเข้าประท้วงด้วยการนั่งเฉยๆ แน่นอนว่ากลายเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การต่อสู้ เป็นภาคปฏิบัติสำคัญของ Civil Rights Movement และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เช่น กลายไปเป็นปกอัลบั้ม We Insist! ของ Max Roach อัลบั้มประวัติศาสตร์ที่นักดนตรีแจ๊ซและค่ายเพลงระดับตำนานใช้ผลงาน เพื่อส่งเสียง ยืนหยัดต่อความไม่ถูกต้อง ตัวปกอัลบั้มใช้ภาพของการนั่งที่เคาเตอร์บาร์ร้านอาหาร รวมถึงใช้เพลงต่างๆ เพื่อประกาศหมุดหมายการต่อสู้และความสำคัญของเสรีภาพของพี่น้องผิวดำ
อ้างอิงข้อมูลจาก