ชูป้าย เดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียม และการปฏิรูประบบยุติธรรม คือการประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ถูกฆาตรกรรมด้วยน้ำมือของตำรวจ
แต่ตอนนี้ ประเด็นหลักของการชุมนุม ได้ไปไกลกว่าแค่เรื่องของจอร์จ ฟลอยด์ ลงลึกไปถึงเรื่องสิทธิของคนดำ และการหยิบยกประวัติศาสตร์ที่คนดำ เคยถูกกดขี่ในอดีตมาพูดถึงกันด้วย
ซึ่งเมื่อหยิบเรื่องราวในอดีตมาพูดกันนั้น การชุมนุมเหล่านี้จึงได้ขยายประเด็นไปถึงบุคคลสำคัญ ที่เคยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์หลายคน ที่ถูกโค่นล้ม ทำลายรูปปั้น ทั้งของพ่อค้าคนสำคัญ นายพล นักการเมือง ไปถึงกษัตริย์ในหลายประเทศ เนื่องจากอดีตที่พวกเขาเคยสนับสนุนการกดขี่ และการเหยียดสีผิว จนมีการมองว่าเป็นการนำประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน มาเล่าใหม่ด้วย
อนุสาวรีย์ของใครที่เป็นเป้าหมาย และถูกโค่นบ้าง ?
กระแสการถกเถียงเรื่องการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ หรือรูปปั้นบุคคลสำคัญไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในครั้งนี้ประเด็นเรื่องนี้มีขึ้นอย่างจริงจัง จนถึงขั้นมีการโค่นรูปปั้น รื้อถอน ทำลายให้เสียหายกันในหลายที่ ซึ่งในบางที่ก็ลงมือโดยประชาชน และผู้ชุมนุมเอง
อนุสาวรีย์ที่ถูกโค่นเป็นแห่งแรกๆ จากกระแสการชุมนุม Black Lives Matter นี้ ได้แก่ อนุสาวรีย์ ‘เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน’ ในเมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ที่ถูกผู้ชุมนุมโค่นลงมา และกลิ้งรูปปั้นนี้ไปตามพื้นถนน ก่อนจะโยนลงบริเวณอ่าวบริสตอล ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ ตั้งอยู่มายาวนานหลายร้อยปี ตั้งแต่ปี 1895
โคลส์ตัน ถูกผู้ชุมนุมมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดสีผิว จากอดีตที่เขาเป็นพ่อค้าทาส และร่ำรวยจากการค้ามนุษย์ในยุคที่ชาวแอฟริกาถูกขาย และกดขี่เพื่อใช้แรงงานอย่างทารุณจนเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ รูปปั้นนี้ก็มีกระแสเรียกร้องให้ถอดออก และมักถูกพ่นสีเป็นคำว่า ‘พ่อค้าทาส’ มาเป็นเวลานาน โดยนอกจากการโค่นอนุสาวรีย์ในครั้งนี้ ชื่อของโคลส์ตันที่ถูกตั้งเป็นชื่อตึก ก็ยังถูกเปลี่ยนและถอดออกด้วย
นอกจากโคลส์ตันแล้ว ในอังกฤษยังมีกระแสโค่นอนุสาวรีย์อีกหลายแห่ง เช่น โรเบิร์ต มิลลิแกน พ่อค้าทาสชาวสก็อต ที่ถูกถอดจากบริเวณพิพิธภัณฑ์ท่าเรือเก่า ในลอนดอน ไปถึงตอนนี้ยังมีความพยายามที่จะถอดรูปปั้นของ โรเบิร์ต ไคล์ฟ นายพลที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิอาณานิคมด้วย
ในประเทศอื่นๆ อย่างเบลเยียมเอง ก็มีการถอดอนุสาวรีย์ของกษัตริย์เลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ที่มีอายุกว่า 150 ปี ไปจากจัตุรัสสาธารณะในเมืองแอนต์เวิร์ป ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ ได้ใช้กองกำลังยึดครองประเทศคองโกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ใช้ระบอบการปกครองที่เอาเปรียบ ซึ่งนำสู่การเสียชีวิตของคนผิวดำหลายล้านคน ซึ่งนอกจากอนุสาวรีย์ที่แอนต์เวิร์ปแล้ว อนุสาวรีย์ในสถานที่อื่นๆ ทั่วประเทศก็ถูกทำลาย เช่นจุดไฟเผา และพ่นสีด้วย
ด้านอเมริกาเอง ประเด็นนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และมีการโหวตกันในรัฐ ถึงการย้ายรูปปั้นเหล่านี้ออกไปด้วย ได้แก่รูปปั้นของเหล่าผู้นำสมาพันธรัฐอเมริกาสมัยยุคสงครามกลางเมือง ซึ่งสนับสนุนการค้าทาส ใช้แรงงานชาวแอฟริกัน และเหยียดผิว ทั้งนายพลโรเบิร์ต อี ลี และเจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นต้น ไปถึงหนึ่งในบุคคลที่ถูกโจมตีมากที่สุด ได้แก่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจคนสำคัญผู้คนพบทวีปอเมริกา ที่อนุสาวรีย์ของเขาถูกโค่น ตัดหัว เผา และพ่นสีเป็นถ้อยคำต่างๆ ซึ่งเขาถูกมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการกดขี่ชนพื้นเมือง ค้าทาส และเปิดทางให้เกิดการล่าอาณานิคมในอเมริกา
ซึ่งจะเห็นว่าบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ ที่ถูกกระแสเรียกร้องให้รื้อ และถอด ล้วนแต่เป็นชนชั้นนำที่มีหน้ามีตา มีบทบาทในสังคมสมัยนั้น และต่างก็เคยสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติสีผิวไม่ทางใดทางหนึ่ง เช่นการค้าทาส คุกคามด้วยการใช้แรงงาน หรือแม้แต่รูปปั้นของนักข่าวที่มีชื่อเสียงในอิตาลี ก็เป็นเป้าหมายเช่นกัน จากการที่เขาบังคับให้เด็กสาวชาวเอริเทรียวัย 12 แต่งงานกับตนเอง
การรื้อถอน โค่น และทำลายอนุสาวรีย์ ทำให้ประวัติศาสตร์ถูกพูดถึงอีกครั้ง
กระแสการรื้อถอน และทำลายรูปปั้นที่เกิดขึ้นไปทั่วพร้อมๆ กับการชุมนุมเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ โดยผู้ที่ต้องการให้รื้อถอนรูปปั้นเหล่านี้ต่างมองว่า เป็นการมีอยู่ของสัญลักษณ์ของการเหยียดเชื้อชาติ และสีผิว ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองระบอบทาส ซึ่งไม่เพียงแค่ต้องการประนามการกระทำของบุคคลในอดีตเหล่านั้น แต่ยังเป็นการรื้อให้มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ จากที่ในอดีตเคยถูกบิดเบือน และกลบไป
สมาชิกรัฐสภาของบริสตอล ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน เคยกล่าวว่า “การมีรูปปั้นของคนที่กดขี่เราไม่ใช่สิ่งที่ดี” และการถอดรูปปั้นนั้นเป็นโอกาสสำหรับเรา ในฐานะพลเมืองที่จะพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้น และช่วงเวลาของการถอดรูปปั้น หรือเปลี่ยนชื่อสถานที่ ยังมีประชาชนมองว่า เป็นช่วงเวลาสัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถให้อนุสาวรีย์เป็นความทรงจำของคนเหล่านั้นอีกต่อไปได้
อย่างโฆษกของโคลส์ตันฮอลล์ สถานที่ที่เปลี่ยนและถอดชื่อโคลส์ตันออก ก็กล่าวว่า “เราไม่ต้องการที่จะลืมอดีต” และต้องการพัฒนาอาคารนี้ให้เป็นสถานศึกษาที่ดีที่ต้องรับทุกคน
ขณะที่ในริชมอนด์ เมืองที่มีการเรียกร้อง และถอดอนุสาวรีย์ของผู้นำสมาพันธรัฐอเมริกา ไมเคิล โจนส์ สมาชิกของสภาเมืองริชมอนด์เองก็กล่าวว่า เขาคิดว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา และเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก ที่ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ของสมาพันธรัฐถูกนำไปเล่าในเชิงโรแมนติก เล่าถึงความสูงส่ง ซึ่งยิ่งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม และพฤติกรรมการแบ่งแยกเชื้อชาติ และส่งเสริม White supremacist ด้วย
ทั้งผู้คนที่สนับสนุนรูปปั้นเหล่านี้ ต่างก็สรรเสริญ และสนับสนุนความทรงจำของผู้นำเหล่านี้ แต่เลือกจะลบความโหดร้ายบางส่วนที่ผู้นำเหล่านี้เคยทำ ซึ่งคนส่วนใหญ่เองไม่ได้ตระหนักถึงการกระทำของพวกเขา และความหมายของการมีรูปปั้น จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ที่กระแสเรียกร้องให้ถอดถอนสัญลักษณ์ของการเหยียดสีผิวเริ่มเกิดขึ้น
แต่แม้ว่าจะมีการมองว่า การถอดถอนรูปปั้นเป็นการได้ชำระประวัติศาสตร์ แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนรูปปั้นเช่นกัน โดยมองว่าประวัติศาสตร์ก็ควรต้องถูกจดจำ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยบอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษเอง ก็พูดถึงการถอดรูปปั้นว่า เป็นการโกหกประวัติศาสตร์ และแม้ว่าเขาจะเข้าใจสถานการณ์การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนรูปปั้นต่างๆ ด้วย
“ตอนนี้เราไม่สามารถแก้ไขหรือเซ็นเซอร์อดีตของเราได้” และ “เราไม่สามารถทำเป็นว่ามีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไป รูปปั้นเหล่านี้ถูกตั้งโดยคนรุ่นก่อน ที่มีมุมมองและความเข้าใจเรื่องความผิด ความถูกที่แตกต่าง แต่รูปปั้นเหล่านั้นสอนเราเกี่ยวกับอดีต และความความผิดพลาดทั้งหมดด้วย การโค่นรูปปั้นลง คือการโกหกเกี่ยวกับประวัติของเรา และเป็นการทำให้การศึกษาของคนรุ่นต่อๆ ไปเสื่อมไป” เขากล่าว เช่นเดียวกับอิมมานูเอล มาครง ปธน. ฝรั่งเศสที่ก็มองว่า รูปปั้นเหล่านี้ถอดทิ้งไม่ได้ด้วย
ด้านโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ เอง ก็แสดงความเห็นคัดค้านการรื้อถอนมรดกของสมาพันธรัฐเช่นกัน จากการลบชื่อแม่ทัพของสมาพันธรัฐออกจากอาคารต่างๆ ของฐานทัพสหรัฐฯ โดยเขาทวีตว่าฐานทัพเป็นอนุสรณ์อันทรงพลัง และเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกัน “ดังนั้น รัฐบาลของผมจะไม่แม้แต่จะพิจารณาการเปลี่ยนชื่อฐานทัพที่สง่างามและเป็นตำนานเหล่านี้”
การเก็บรักษาประวัติศาสตร์ กับราคาที่ต้องจ่าย
การทำลายอนุสาวรีย์ และรูปปั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจในการประท้วง และต่อต้านเหล่านี้ โดยอีริน แอล ทอมป์สัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยจอห์นเจย์ แห่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้กล่าวถึงการทำลายสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นธรรมเนียมที่รูปปั้นของคนสำคัญต่างๆ มักถูกทำลายเมื่อมีสงคราม หรือการกบฏ ดังนั้นกระแสที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ทั้งในประวัติศาสตร์ เรามักเห็นรูปปั้นโรมันโบราณที่ถูกควักตา ตัดหูออก ซึ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้เช่นกัน จากการตัดหัวรูปปั้น โยนลงน้ำ ซึ่งทอมป์สันมองว่า วิธีทำลายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิเสธตัวคนนั้นๆ แต่เป็นการทำให้อับอายด้วย
ทั้งแม้การถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จะมีคนบางกลุ่มที่มองว่า แม้จะถอดถอนรูปปั้น แต่ก็ควรมีการเก็บรูปปั้นเหล่านี้บางส่วนไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือรักษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้ได้รับการจดจำไว้ อย่างรูปปั้นของกษัตริย์เลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ที่ทางรัฐก็ระบุว่าจะนำเข้าไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แทน
แต่ทอมป์สัน ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็ระบุว่า การเก็บรักษานั้นมีราคาแพง และค่าใช้จ่ายสูง โดยเธอเล่าถึงรายงานในนิตยสารสมิธโซเนียน ของนักข่าว 2 คน ในปี 2018 ที่ตรวจสอบพบว่า ในช่วง 10 ปีสิบปีที่ผ่านมา มีการใช้ภาษีอย่างน้อย 40 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ1.2 พันล้านบาท) เพื่ออนุรักษ์อนุสาวรีย์ด้วย หรืออย่างในปี 2018 เมื่อมีการรื้อรูปปั้น Silent Sam ของสมาพันธรัฐ ก็มีการเสนอสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อรักษารูปปั้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 5 ล้านดอลลาร์ และต้องมีค่าบำรุงรักษาอีกกว่า 1 ล้านดอลล่าร์ต่อปี
ทำให้แม้จะมีการมองว่าประวัติศาสตร์ก็ควรเก็บรักษา แต่ก็มีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้แพงเกินไป และควรนำเงินเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ด้วย
ดังนั้นเรื่องของการถกเถียงเกี่ยวกับการจดจำประวัติศาสตร์ จึงยังคงเป็นที่ถกเถียงไปพร้อมๆ กับกระแสการถอดรูปปั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำลายอนุสาวรีย์ และรูปปั้นในครั้งนี้ ยังถูกมองว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมในประเทศต่างๆ ถูกอำนาจของการเหยียดผิวหยั่งรากในโครงสร้างลึกมากเพียงใด และควรจะใช้เหตุการณ์นี้ตั้งคำถามถึงวิธีที่จะเข้าใจโลกจากอดีต เพื่อจะไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/culture/article/20200612-black-lives-matter-protests-why-are-statues-so-powerful (2)