เราอยู่ในโลกที่เหมือนจะเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ แต่บางครั้งเราก็ยังมีอคติหรือเงื่อนไขบางอย่างอยู่ เช่น เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี ภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอาจจะยังกำจัดอยู่ที่ความตลก การให้สีสันความบันเทิง
ล่าสุด ใน Netflix ก็ได้มีซีรีส์ Heartstopper โดยเรื่องหยุดหัวใจไว้ที่นาย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่สร้างจากนวนิยายว่าด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ ในภาพรวมตัวเรื่องค่อนข้างเป็นซีรีส์ดูสบายๆ มีฉากน่ารักๆ และที่สำคัญตัวเรื่องค่อนข้างพูดเรื่องความเข้าใจ ทั้งการเข้าอกเข้าใจกันและที่สำคัญคือการทำความเข้าใจตัวเอง รวมไปถึงการต่อสู้ ต่อรองกับขนบหรือกรอบของสังคมที่กดทับกลุ่มเพศและความรักที่ผิดมาตรฐานเอาไว้
ตัวเรื่องว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างคลาสสิก พูดถึง ชาร์ลี เกย์หนุ่มที่เปิดเผยตัวเองและประสบปัญหาเลิกร้างกับแฟนเก่าที่ต้องการปกปิดความสัมพันธ์ของทั้งคู่เอาไว้ ในชีวิตโรงเรียนชายล้วนชาร์ลีดันได้ไปใกล้ชิดและนั่งข้างๆ กันกับ นิก หนุ่มสุดฮอตนักรักบี้ ที่สุดท้ายนิกเองค่อยๆ เรียนรู้ความสัมพันธ์ของตัวเองกับชาร์ลีและเพศสถานะของตัวเอง
การค้นหาตัวเองและการยอมรับ รวมถึงการเปิดเผยตัวตนและความสัมพันธ์ จึงเป็นแกนสำคัญในเรื่องวัยรุ่นที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กซ์หรือฉากฟินจิกหมอน เราได้เห็นการต้องเผชิญหน้ากับความกดดันทางสังคม การค้นหาความรู้สึกและการยอมรับทั้งจากตัวเองและการคนรอบข้าง การมีราคาที่ต้องจ่ายจากการ ‘ผิดไปจากมาตรฐานของสังคม’ ที่ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้ขมขื่นหรือร้าวรานจนเกินไป
Heartstopper จึงเป็นซีรีส์วัยรุ่นที่ว่าด้วยความรักในความหลากหลายทางเพศ เป็นซีรีส์ที่เราสามารถนำมาอธิบายในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ การค้นหาและยอมรับตัวตนได้ โดย The MATTER ชวนไปรู้จักทำความเข้าใจความซับซ้อนของความเป็นเพศผ่านสำคำคัญ (key word) ที่จะพาเราไปเข้าใจความลำบากทั้งของนิกและชาร์ลี ในโลกที่เราอาจจะบอกว่าความรักไม่จำกัดเพศ แต่อันที่จริงเพศก็อาจจะยังมากำกับความรักของเราอยู่
Biological sex VS. Gender
ประเด็นพื้นฐานที่สุดในมิติความเข้าใจเรื่องเพศและเพศสถานะคือการแยกระหว่างเพศทางชีววิทยาคือ sex ออกจากเพศสถานะหรือ gender ทำให้เรามองเห็นความซับซ้อนของความเป็นเพศ เช่น การเป็นชายและการเป็นหญิงนั้นไม่ได้มีแค่มิติความแตกต่างทางร่างกายเท่านั้น แต่การเป็นผู้ชายและหญิงมีปัจจัยทางสังคมเข้ามากำกับและวางให้เป็นคู่ตรงข้ามกัน เรามีความเป็นชายและความเป็นหญิงที่มาบังคับกะเกณฑ์ตัวตนของเพศนั้นๆ ให้ปฏิบัติตาม ในยุคก่อนหน้าเราอาจจะเห็นการแบ่งแยกทางเพศซึ่งมากำหนดตำแหน่งแห่งที่ (เช่น ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงทำงานในบ้าน) ผู้ชายต้องไม่ชอบสีชมพู ทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างตามครรลองที่ความเป็นชายหรือหญิงควรจะเป็น ใน Heartstopper เราก็จะเห็นตัวละครสำคัญคือนิกที่มีความเป็นชายสูง อยู่ในครรลองแบบผู้ชาย คบเพื่อนแมนๆ เป็นเหมือนจ่าฝูงในโรงเรียน เล่นรักบี้ แต่เราก็เห็นถึงความยอกย้อนบางอย่างเช่นความอ่อนโยน หรือกระทั่งตัวชาร์ลีที่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ แต่ชาร์ลีเองก็มีบางลักษณะที่พอจะอ้างอิงกับความเป็นชายได้ เช่น การเล่นดนตรี หรือการที่เล่นวิดิโอเกมเก่ง จะมีบางช่วงที่นิกบอกว่าชาร์ลีก็มีความเจ๋งในตัวเองมากกว่าตัวนิกเองด้วยซ้ำ
Heteronormativity
คำว่า heteronormativity เป็นแนวคิดสำคัญและค่อนข้างต่อเนื่องกับประเด็นเรื่องเพศและการแบ่งแยกเป็นออกเป็นสองคือชายและหญิง โดย heteronormativity หมายถึงการทำให้ความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ (heterosexual) ให้กลายเป็นมาตรฐาน (normative) หมายถึงวิธีคิดที่เราเองรู้สึกว่าเมื่อเราเกิดมาเป็นชายหรือหญิงแล้ว ปลายทางของเราคือการมีความรักความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามจนเกิดเป็นครอบครัวและสืบสานทายาทต่อไป ความสำคัญของการสร้างมาตรฐานสังคมนี้ทำให้เส้นทางชีวิตแคบลง โดยที่สำคัญคือการทำให้สิ่งที่เป็นมาตรฐานสังคมกลายเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ทำให้เรามองไม่เห็นเส้นทางชีวิตและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย
ใน Heartstopper เองแม้ว่าจะบริบทของเรื่อง—คือบริบทปัจจุบันจะมองเห็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นชาร์ลีแล้ว แต่สังคมเองก็ไม่ได้ยอมรับวัยรุ่นที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย กลุ่มตัวละครต้องเลือกที่จะปกปิดตัวตนของตัวเองเอาไว้ สำหรับนิกเองก็ค่อนข้างชัดเจน ด้วยความที่ตัวนิกมีลักษณะสอดคล้องกับความเป็นชาย สังคมจึงคาดหวัง—และค่อนไปทางบังคับให้นิกไปตามครรลองของรักต่างเพศ เช่น บีบให้ตกลงตอบรับการเดตกับผู้หญิงทั้งๆ ที่ตัวเองมีใจให้กับชาร์ลี หรือที่นิกเองก็สับสนว่าตัวเองเป็นอะไรเพราะมองไม่เห็นเส้นทางแบบของตัวเอง เช่น ผู้ชายมีอัตลักษณ์ที่มีความเป็นชายแต่อาจจะรักได้ทั้งชายและหญิง
Queer
คำว่าเควียร์ในความหมายเดิมมักหมายถึงการนิยามในทางเพศสถานะ คือ คนที่ไม่มีรสนิยมเป็นรักต่างเพศไม่ว่าจะเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน ภายหลังคำว่าเควียร์ถูกใช้นิยามในความหมายกว้างคือตรงข้ามกับบรรทัดฐาน (norm) ในระดับทฤษฎีเช่นทฤษฎีเควียร์หรือ Queer Theory ความเป็นเควียร์จึงกินความไปถึงลักษณะหรือตัวตนที่ผิดไปจากมาตรฐานโดยทั่วไปของสังคมซึ่งกินความกว้างขึ้นโดยรวมนอกจากเพศ ไปจนถึงชนชั้น ช่วงวัย และลักษณะทางกายภาพเช่นความพิการ เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้แปลกแยกโดยมีมาตรฐานของสังคมมาวัด
ดังนั้น ถ้าเราดูกลุ่มเพื่อนในเรื่อง นอกจากชาร์ลีที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศแล้ว กลุ่มเพื่อนของชาร์ลีที่ถูกนิยามอย่างกว้างๆ ว่าเป็นพวกไม่ป๊อป หรือเป็นพวกขี้แพ้ ในแง่หนึ่งเราก็อาจจะนับได้ว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่อาจจะมีลักษณะไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมวางไว้ก็นับว่าเป็นเควียร์ได้ นอกจากการตกมาตรฐานของสังคมจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งทำร้ายแล้ว ความเป็นเควียร์อาจนำไปสู่การรวมกลุ่มและการโต้กลับได้ เช่น เพื่อนของชาร์ลีที่ดูหงอยๆ แต่ด้วยความรักเพื่อนก็กลับยืนหยัดอย่างเข้มแข็งและเอาชนะข้อครหาเรื่องการเป็นคนขี้แพ้ หรือกระทั่งเพื่อนผู้หญิงที่มีลักษณะทั่วไป แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ของผู้หญิงด้วยกันก็อาจจะแฝงไปด้วยมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าความเป็นเพื่อน
Coming out (of the closet)
การ coming out เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยๆ โดยใน Heartstopper ก็จะพูดถึงชาร์ลีที่มีการ come out ไปในเทอมก่อน การ come out มาจากสำนวนคือ “Coming of the closet.” คือการที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศทำการเปิดเผยตัวตนทางเพศของตัวเอง แต่เดิมมีความหมายว่าการเปิดตัวนั้นคือการเปิดตัวชุมชนเกย์ด้วยกัน นัยสำคัญของการเปิดตัวในฐานะการเลือกเผยอัตลักษณ์ของตัวเองก็สะท้อนให้เห็นการไม่ยอมรับของสังคม หรือการค้นหาตัวตนก่อนที่จะยอมรับและเปิดเผยตัวตนให้เพื่อนฝูงและผู้คนได้รับรู้ คำว่า closet เป็นคำที่ปรากฏตัวเช่นในงานเขียนที่เป็นหมุดหมายของทฤษฎีเควียในปี ค.ศ.1990 ใช้ชื่อว่า Epistemology of the Closet โดยในเรื่องเองการเปิดเผยตัวตนทางเพศก็ยังมีความยากลำบากอยู่ ยังมีอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน มีการครหาไปต่างๆ นานา
Public VS. Private
ประเด็นเรื่องเพศและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อน ความสัมพันธ์ทางเพศหลายครั้งเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของคนสองคน แต่ในที่สุดความสัมพันธ์ของคนสองคนกลับถูกจ้องมอง ตัดสินและกะเกณฑ์โดยสาธารณะชน จากประเด็นเรื่องการเปิดเผยตัวตนอันเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของเรื่อง ในเรื่องก็จะพูดถึงการมีอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ที่คู่ขนานกัน คือมีการเก็บเป็นความลับ เป็นความสัมพันธ์ที่ทำได้ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่ลับตาคนเท่านั้น ในเรื่องเราจะเห็นความกดดันที่สังคมมีผลหรือกระทั่งทำร้ายไปถึงพื้นที่ส่วนตัว คือ ประเด็นเรื่องความรักและความรู้สึก เราเห็นความอึดอัดใจ เห็นความรู้สึกขุ่นข้องใจทั้งกับตัวเอง กับคนที่รักและกับสังคมรอบข้าง
ความสำคัญของเรื่องจึงอยู่ที่การมีบริบทร่วมสมัย คือ เป็นยุคปัจจุบันที่เราบอกว่าสังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ในภาคปฏิบัติ เส้นแบ่งของการแสดงตัวตนและความสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะก็ยังคงถูกจำกัดอยู่ เช่น การแสดงความรัก การจับมือ เป็นสิ่งที่ยังต้องสงวนไว้ในพื้นที่ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่
Becoming
ประเด็นเรื่องเพศและเพศสถานะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแข็งแรงเนื่องจากมีการนำเอาความเป็นธรรมชาติและวิทยาศาสตร์มาร่วมนิยาม เช่น การบอกว่าผู้หญิงผู้ชายโดยเนื้อแท้แล้วเป็นอย่างไร ลักษณะที่ผิดไปจากกรอบ จากคู่ตรงข้ามชายหญิงก็เลยถูกนิยามว่าผิดปกติและผิดธรรมชาติ วิธีการโต้แย้งและแกนสำคัญของการต่อสู้ในมิติการเมืองเรื่องเพศคือการแย้งว่าเพศและอัตลักษณ์มีลักษณะของการกลายเป็น (becoming) คือเราไม่ได้เป็น (being) เพศใดเพศหนึ่ง มีลักษณะตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างตายตัว คำกล่าวสำคัญๆ เช่น “One is not born, but rather becomes, a woman.” มาจนถึงแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับความแก่นสารของสิ่งต่างๆ รวมถึงมิติทางเพศและอัตลักษณ์ที่ตัวตนของเรามีลักษณะที่ไม่แน่นิ่ง ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ
ในมิติของนิก นอกจากเป็นประเด็นเรื่องการค้นหาตัวตนของวัยรุ่น เราก็อาจจะมองเห็นได้ว่ามิติทางเพศเป็นสิ่งที่เราอาจจะได้มาภายหลัง มีการเรียนรู้ ค้นหา และเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวตนทางเพศอื่นๆ การที่นิกบอกว่าเขาเองก็เป็นผู้ชายแหละ ก็ชอบหรือเคยชอบผู้หญิง และบางที ‘อาจจะ’ ชอบผู้ชายด้วย คำว่า ‘อาจจะ’ นี้สัมพันธ์กับความเป็นไปได้และความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่สังคมเคยมองว่าตัวตนทั้งชายและหญิงมีความตายตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan