ซีรีส์เรื่อง The Kominsky Method เป็นซีรีส์ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก แต่ในการแจกรางวัลลูกโลกทองคำที่ผ่านมา กลับกวาดรางวัลใหญ่ไปถึงสองรางวัล คือรางวัลซีรีส์ประเภท Musical/Comedy ยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลนักแสดงนำ (คือตัวไมเคิล ดักลาส) และได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมด้วย (คืออลัน อาร์คิน ที่เล่นได้เข้าขากับดักลาสอย่างมาก) แต่ไม่ได้คว้ารางวัลนี้
ฟอร์บส์ถึงกับมีบทความชื่อ ‘Why You’ve Never Heard of ‘The Kominsky Method’’ โดยบอกว่าคนมากมายในโลกโซเชียลพอรู้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้รางวัล ก็ไต่ถามกันเป็นการใหญ่ว่ามันคือเรื่องอะไรหรือ ฟอร์บส์อธิบายว่า ที่คนไม่ค่อยรู้จักเป็นเพราะซีรีส์เรื่องนี้เพิ่งออกอากาศ (ทาง Netflix) ได้ไม่นาน คือเริ่มฉายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีแค่ 8 ตอน ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุด คนเลยไม่ค่อยได้ดูหรือพูดถึงกันมากเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังเป็นซีรีส์ที่นักวิจารณ์ไม่ค่อยเขียนถึงอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเป็น ‘ม้านอกสายตา’ พอสมควร
เหตุผลอีกอย่างหนึ่งของฟอร์บส์น่าสนใจมาก ฟอร์บส์บอกว่า นอกจากนักวิจารณ์จะไม่ค่อยพูดถึงแล้ว คนดูส่วนใหญ่ที่ได้ดูก็ไม่ค่อยเอามา ‘บอกต่อ’ กันด้วย ไม่เหมือนซีรีส์อื่นๆ อย่างเช่น 13 Reasons Why หรือ Stranger Things ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กๆ และวัยรุ่น ทั้งนี้ก็เพราะซีรีส์ The Kominsky Method เป็นซีรีส์ประเภท ‘Aginge Bros’ หรือนำเสนอความเป็นเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อของผู้ชายสองคน แต่ดันเป็นผู้ชายที่ ‘แก่’ อย่างมาก
ไมเคิล ดักลาส นั้น อายุ 74 ส่วนนักแสดงสมทบร่วมกับเขาคืออลัน อาร์คิน อายุมากถึง 84 ปี เพราะฉะนั้นการบอกว่านี่เป็นเรื่องของ Aging Bros จึงถูกเผงเลย
ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่า ซีรีส์ที่คนพูดถึงกันมากๆ คือซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องของเด็กๆ มากกว่า หรือไม่ก็ต้องเป็นซีรีส์ฟอร์มยักษ์ไปเลย (เช่น The Crown หรือ Game of Thrones) เพราะการบอกคนอื่นว่าตัวเองดูอะไร (หรือเสพอะไร) คือการ ‘เข้ารหัสวัฒนธรรม’ แบบหนึ่ง คือเป็นการสร้างเรื่องเล่าในชีวิตเพื่อให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเราเป็นคนอย่างไร ซีรีส์ที่พูดถึงเด็ก วิถีชีวิตแบบใหม่ๆ หรือซีรีส์ฟอร์มยักษ์ที่คนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง จึงเป็นซีรีส์ที่คน ‘บอกต่อ’ กันมาก ทำให้เป็นซีรีส์ที่โด่งดัง แต่พอเป็นเรื่องของคนผู้สูงวัยหรือ ‘คนแก่’ ยิ่งเป็นคนแก่ผู้ชายสองคนยิ่งไปกันใหญ่ เพราะซีรีส์แนวนี้ไม่มี ‘รหัสวัฒนธรรม’ ในการบ่งบอกว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน (เผลอๆ ก็อาจถูกมองว่าเป็นพวกคนแก่ไปได้) คนจึงไม่ค่อยบอกต่อกัน
ที่จริงแล้ว ปัจจุบันเราสนใจเรื่องของ bromance หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องมีสัมพันธ์ทางเพศหรือเป็นคนรักเพศเดียวกัน) มากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่หนังฮอลลีวูดกีดกันความสนิทสนมชิดใกล้ของผู้ชายกับผู้ชายออกไป (ถึงมีบ้างก็น้อยเต็มที เช่นหนังอย่าง Butch Cassidy and the Sundance Kid ที่พอล นิวแมน เล่นกับโรเบิร์ต เรดฟอร์ด ว่ากันว่า ชื่อนี้เป็นที่มาของเทศกาลหนังซันแดนซ์ด้วย) แต่กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายในหนังยุคปัจจุบันก็มักเป็นเรื่องของคนวัยหนุ่มมากกว่า เราแทบมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายที่ ‘แก่’ ขนาดนี้
แต่เมื่อ The Kominsky Method ได้รับรางวัล นักวิจารณ์หลายคนก็เริ่มมองว่า หรือชะรอยนี่จะเป็น ‘สัญญาณ’ ของ aging society ที่ได้มาถึงเราแล้ว บางคนก็ถึงขั้นบอกว่า ซีรีส์อย่าง The Kominsky Method ถือเป็น genre ใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยซ้ำ
แต่จะบอกว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือ ‘ใหม่’ ขนาดนั้น ก็ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะที่จริงแล้ว ในปี 2015 มีซีรีส์อย่าง Grace and Frankie ‘กรุยทาง’ มาก่อนแล้ว (และปัจจุบันก็ยังฉายอยู่) เพียงแต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย แต่เป็นความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับผู้หญิง ด้วยเรื่องราวของสองสาว (ใหญ่) ที่นำแสดงโดย เจน ฟอนดา และลิลี่ ทอมลิน (โดยมีมาร์ติน ชีน และแซม วอเตอร์สโตน ร่วมแสดงด้วย)
ใน Grace and Frankie ความสัมพันธ์ของสองสาวเริ่มขึ้นเมื่อสามีของพวกเธอนอกใจทั้งคู่ สองสามีค้นพบว่าที่จริงพวกเขาชอบผู้ชายและที่สุดก็ไปมีสัมพันธ์กันเอง เมื่อเรื่องเปิดเผยขึ้นมาก็ต้องหย่าร้าง ผู้หญิงสองคนจึงหันหน้าเข้าหากัน และเกิดเป็นความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนที่แม้จะจิกกัดกันบ้าง แต่ก็เข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี
เรื่องราวใน The Kominsky Method อาจเริ่มต้นต่างไป แต่โดยเนื้อหาแล้วพูดถึงความสัมพันธ์และ ‘ความเป็นเพื่อน’ ของคนสูงวัยเหมือนกัน กับความสัมพันธ์ของ (อดีต) นักแสดงคนหนึ่งกับเอเจนต์หรือตัวแทนของเขา ที่สนิทกันมากผ่านการทำงาน และเมื่อเกิดความผันผวนกับชีวิต เช่น ภรรยาเสียชีวิต หรือถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังโหดๆ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยิ่งกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น
ใน Grace and Frankie เนื้อหาของซีรีส์เป็นเรื่องตลกๆ แนวคอเมดี้เต็มตัว ส่วนใหญ่แล้วประเด็นที่หยิบมาใช้เป็นเรื่องความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศ ทำให้คนดูสนุกและต้องคอยติดตามการผจญภัยใหม่ๆ ในชีวิตของผู้หญิงสองคนนี้ แต่ใน The Kominsky Method เนื้อหาหนักหน่วงกว่า แม้เป็นคอเมดี้เหมือนกัน แต่พูดถึงประเด็นทางสังคมของคนสูงวัยหลากหลายกว่า และมีวิธีพูดแบบเนียนๆ ผสมกลมกลืนเข้าไปในมุกตลกและการแสดงที่ลื่นไหล
เรื่องหนึ่งที่ซีรีส์นี้เน้นมาก (แม้ไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ) คือ ‘โรคซึมเศร้าของคนสูงวัย’ ที่เกิดขึ้นเมื่อคู่ชีวิตของตัวเองจากไปและพบว่าสิ่งที่เคยมีความหมายในชีวิตไร้ค่าไปหมด การทำงานไม่ใช่เรื่องชุบชูใจอีกต่อไป เพื่อนก็เหลือน้อยลง (เพราะตายไปหมด) พวกเขาตามโลกตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน และไม่รู้สึกเลยว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกนั้นสลักสำคัญอะไร เลยคิดจะฆ่าตัวตาย
“ไม่เอาน่า นายไม่ฆ่าตัวตายหรอก”
“นายกำลังเสนอว่าจะฆ่าฉันให้งั้นเหรอ แบบนั้นต้องบอกว่าดีมาก”
“นายมีคนรักเยอะแยะ คนอื่นๆ จะเสียใจนะ”
“ฉันไม่ใช่ทอม แฮ็งคส์ เว้ย เดี๋ยวคนก็ลืม”
บทสนทนาทำนองนี้ฟังดูเศร้า แต่การแสดงของทั้งคู่กลับตลก เชือดเฉือน แม้จะปวดร้าวแต่ก็หัวเราะ หรือกระทั่งประเด็นทางการแพทย์ เช่นการป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นมากกับผู้ชายสูงวัย ซีรีส์นี้ก็นำมาใส่เอาไว้ด้วย และบอกเป็นนัยๆ ว่า คนวัยนี้อาจจะ ‘ตาย’ ด้วยโรคอื่น ก่อนที่มะเร็งต่อมลูกหมากจะกำเริบร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตเสียอีก เรื่องนี้มีสถิติทางการแพทย์ยืนยัน ในทางสาธารณสุข มีงานวิจัยข้อมูลเชิงประจักษ์บอกว่า เราเสียเงินไปกับการพยายามรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมหาศาล แต่ที่จริงแล้ว ต่อให้ปล่อยไว้ไม่ได้รักษาให้หายขาด คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เสียชีวิตด้วยมะเร็งชนิดนี้
ซีรีส์นี้ยังน่าสนใจตรงที่แม้พูดถึงความตาย แต่ตัวละครหลักทั้งคู่กลับไม่ได้พูดถึงมันแบบคนที่ตระหนักว่าตัวเองกำลังจะตาย คือไม่ได้ครุ่นคิดใคร่ครวญอะไรถึงความตายเหมือนที่เรามักคิดว่าคนแก่ๆ จะต้องเป็นกัน พวกเขายังใช้ชีวิตเหมือนปกติ รับมือกับอาการป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้าหรือมะเร็งด้วยลักษณาการเดียวกับคนหนุ่มสาว นี่น่าจะเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนสูงวัยในสังคมสมัยใหม่ คือไม่ได้คิดแม้สักนิดว่าตัวเองกำลัง ‘แก่ตัว’ อยู่ ทว่ายังใช้พลังในการขับเคลื่อนชีวิตและโลกต่อไปในแบบที่เคยทำมา ซึ่งอาจส่งผลดีหรือร้ายให้กับตัวเองและสังคมก็ได้
ซีรีส์นี้ (รวมถึง Grace and Frankie ด้วย) ยังแสดงให้เห็นการปะทะกันของคนรุ่นต่างๆ หลากหลายรุ่นด้วย ตั้งแต่ตัวละครหลักสูงวัย ไล่มาถึงรุ่นลูกของพวกเขาที่อยู่ในเจนเนอเรชั่น X หรือ Y ตอนต้นๆ คืออายุราวๆ สามสิบกว่าๆ ไปจนถึงสี่สิบ และมีคนที่อายุน้อยกว่านั้นอีก เช่นใน The Kominsky Method มีลูกศิษย์ในชั้นเรียนการแสดงของไมเคิล ดักลาส ที่คอยปะทะกันทางความคิดผ่านการแสดงละคร หรือใน Grace and Frankie ก็มีตัวละครรุ่นเด็กที่ไม่เข้าใจตัวละครวัยดึก (และกลับกัน ตัวละครสูงวัยก็ไม่เข้าใจบางความคิดหรือการกระทำของตัวละครที่อ่อนวัยกว่า)
การผุดขึ้นของซีรีส์ (ที่ว่ากันว่าเป็น) genre ใหม่นี้ บอกอะไรกับเราบ้าง?
อย่างแรก นี่คือการบอกเราว่าโลกกำลังก้าวสู่ aging society อย่างเต็มตัวแล้ว เราจะได้เห็นสื่อ ละคร การแสดง ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคำว่า ‘เกี่ยวข้องกับคนสูงวัย’ นั้น ไม่ได้แปลว่าแค่มีเรื่องของคนสูงวัยปรากฏเท่านั้น ทว่าคนสูงวัยเป็นศูนย์กลางหรือกลไกหลักของเรื่องเลย
ที่จริงเทรนด์นี้ในไทยก็เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วนะครับ เช่นก่อนหน้านี้ไม่นาน มีละครอย่าง ‘ริมฝั่งน้ำ’ ที่เป็นเรื่องของบ้านพักคนชรา แสดงโดยคุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่เพิ่งล่วงลับไป, คุณสุประวัติ ปัทมสูต, คุณเศรษฐา ศิระฉายา และคุณพิศมัย วิไลศักดิ์ (แต่กระนั้น ตัวละครหลักก็ยังเป็นคนหนุ่มสาวอยู่) หรือมีรายการประกวดร้องเพลงบางรายการกำลังจะรับสมัครผู้สูงวัยที่อายุมากกว่าหกสิบปีมาแข่งกัน เป็นต้น
อย่างที่สอง ซีรีส์ทำนองนี้กำลังบอกเราให้เห็นชัดๆ ว่า การเป็น ‘คนแก่’ ในโลกสมัยใหม่นั้น ไม่เหมือนภาพของ ‘คนแก่’ ที่เราเคยคุ้น
สำหรับคนในสังคมไทย คนที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ มักจะมีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกคือผู้ใหญ่น่ารักอบอุ่น เป็นผู้ใหญ่ประเภทที่ ‘เข้าวัดเข้าวา’ แบบคุณย่าคุณยายที่ให้ความรักใคร่เอ็นดูกับลูกๆ หลานๆ กับผู้ใหญ่อีกประเภทหนึ่งที่ ‘ใหญ่’ ทั้งวัยและอำนาจ คือเป็นคนที่อยู่บนยอดสุดของพีระมิดสังคม คอยใช้อำนาจกำกับควบคุมในด้านต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่การใส่เครื่องแบบของนักเรียนไปจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการกำหนดวันเลือกตั้ง
ผู้ใหญ่ทั้งสองแบบคือผู้ใหญ่ตามแบบฉบับดั้งเดิม ก่อนหน้าที่สังคมจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งเทรนด์การย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง จนกลายเป็น ‘คนเมือง’ ที่ทีความหลากหลายสูง หรือต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารขนานใหญ่ เทรนด์ ‘เป็นเมือง’ หรือ urbanization และเทรนด์ยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนโครงสร้างประชากรลึกลงไปถึงวิถีชีวิต วิธีคิด และวัฒนธรรมของผู้คน
วัยรุ่นเปลี่ยน คนทำงานเปลี่ยน และแน่นอน ‘คนแก่’ ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
ผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่จำเป็นจะต้องมี ‘ภาพ’ ของ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ แบบที่เราเคยคุ้นทั้งสองแบบข้างต้นอีกแล้ว แต่จะหลากหลายเหลือคณานับ เราจะมีผู้สูงวัยได้หลายแบบ ตั้งแต่ผู้สูงวัยที่ยังอยากมีเซ็กซ์ ยังอยากออกเดท ยังอยากมีวันไนท์สแตนด์ ผู้สูงวัยฉุนเฉียวเป็นอาจินต์ ปากร้ายยิ่งกว่าวัยรุ่น อารมณ์รุนแรง ผู้สูงวัยที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้สูงวัยที่อกหักรักคุด ผู้สูงวัยที่ชอบออกเดินทางท่องโลก หรือผู้สูงวัยที่ยังแอ็กทีฟทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ยอมหยุด และอื่นๆ อีกมากมาย
แน่นอน ผู้สูงวัยดั้งเดิมทั้งสองแบบจะยังคงอยู่ แต่ที่เพิ่มขึ้นก็คือความหลากหลายของผู้สูงวัยแบบต่างๆ ซึ่งซีรีส์อย่าง The Kominsky Method และ Grace and Frankie ได้แสดงให้เราเห็นถึงเสี้ยวหนึ่งของความหลากหลายนั้นแล้ว
ในอนาคต เราน่าจะได้เห็นซีรีส์แนว Aging Bros (หรือ Aging Sis รวมไปถึง Aging อื่นๆ) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งซีรีส์เหล่านี้จะแสดงให้เราเห็นว่าคนสูงวัยมีความหลากหลายได้มากขนาดไหน
ด้วยเหตุนี้ จึงอยากบอกคุณว่า—อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับผู้สูงวัยบางแบบที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในบ้านเมืองของเราไปเลยครับ เพราะปรากฏการณ์ผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่ กำลังบอกเราว่าในอนาคตข้างหน้า จะมีผู้สูงวัยแบบอื่นๆ เกิดขึ้นมาอีกมาก
เราจึงไม่จำเป็นต้อง ‘ทน’ อยู่กับผู้สูงวัยแบบใดแบบเดียวอีกต่อไป แต่จะมีผู้สูงวัยอีกหลายแบบเกิดขึ้นมาให้เราได้ทั้ง ‘ทน’ และ ‘ชื่นชม’ นับไม่ถ้วน
The Kominsky Method บอกเราไว้อย่างนั้น