“ข้าทำมันทุกอย่างเพื่อให้ท่านภูมิใจ”
เมื่อวัยเด็กเราอาจรักการ์ตูนสักเรื่องเพียงเพราะความสนุกขำขันที่มันให้เรา หรือจากซีนต่อสู้ที่คิดขึ้นมาอย่างดี เนื้อหาบางอย่างที่เรารู้เรื่องอยู่บ้างในวัยเด็กอาจจะยังไม่พูดคุยกับเรามากนัก แต่ในวันที่เราเริ่มสำรวจความเป็นเรา และตัวตนของตัวเองมากขึ้นเมื่อเราเติบโต คำพูดข้างต้นโดย ‘ไต้ลุง’ หนึ่งในตัวร้ายของเรื่องกังฟูแพนด้า กลับทำงานกับเรามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะว่าความเจ็บปวดในคำพูด และน้ำเสียงซึ่งสะท้อนความจริงที่เราหลายๆ คนเข้าใจได้ และพอลองมองไปยังตัวละครอื่นๆ เราจะเริ่มเห็นรูปแบบที่ชัดเจนว่า กังฟูแพนด้า มีเรื่องเล่าถึงปมเกี่ยวกับพ่อ (Daddy Issues) เยอะมากๆ
เบื้องหลังเรื่องราวการตามหานักรบมังกร การต่อสู้เพื่อกอบกู้ประเทศจีน หรือการเติบโตของ ‘โป’ หากจับเส้นเรื่องจำนวนมากของการ์ตูนเรื่องนี้จะพบว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องย้อนกลับไปยังการเลี้ยงดู และปมเกี่ยวกับบุพการีของตัวละครไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง แม้ว่าบางตัวละครจะมีปมที่เริ่มจากจุดเดียวกัน แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ พวกเขาแสดงออกถึงผลกระทบของมันอย่างแตกต่างกันอยู่เสมอ
วันนี้ The MATTER จึงขอพาทุกคนไปสำรวจถึงปมเกี่ยวกับพ่อผ่านตัวละครในกังฟูแพนด้ากัน
ปมเกี่ยวกับพ่อหรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า Daddy Issues คือเมื่อใครสักคนมองตัวเองแล้วพบว่า วิธีที่เราคิด วิธีที่เรารู้สึก หรือความสัมพันธ์ของเราหลายอย่างเริ่มมาจากความสัมพันธ์กับพ่อในวัยเด็ก นั่นอาจหมายความถึงการใช้พ่อของตัวเองเป็นมาตรวัดเพื่อตัดสินผู้ชายในชีวิต ความต้องการความรัก นิสัยผูกติดกับคนรอบตัว ความกลัวในการอยู่คนเดียว ฯลฯ เช่นเดียวกันกับที่ความสัมพันธ์ของเราแต่ละคนต่างกัน หน้าตาของปมเกี่ยวกับพ่อนั้นก็หลากหลายพอๆ กัน
กังฟูแพนด้าเล่าถึงเรื่องปมเกี่ยวกับพ่อยังไงบ้าง? งั้นเราอาจมาเริ่มกันจากเรื่องราวของตัวละครที่ทำหน้าที่ ‘พ่อ’ ให้หลายตัวละครที่สุดในเรื่อง นั่นก็คือ อาจารย์ชิฟู
แม้เราจะไม่ได้เห็นในหนังภาคหลัก แต่ในภาคแยก เราได้เห็นเศษเสี้ยววัยเด็กของอาจารย์ชิฟูว่า เขาถูกพ่อของตัวเองทอดทิ้งไว้ ณ วังหยก ก่อนที่อาจารย์อูเกวจะรับมาเลี้ยงและฝึกวิชากังฟูให้ เมื่อชิฟูเติบโตขึ้นก็ไม่แปลกเลยที่เขาจะรับเลี้ยงลูกศิษย์มากมาย และลูกศิษย์เหล่านั้นก็มองเขาเป็นตัวแทนของพ่อเช่นกัน เช่น พยัคฆ์ผู้เติบโตมาในบ้านเด็กกำพร้า หรือไต้ลุงผู้ถูกทิ้งเอาไว้ที่หน้าวังแบบเดียวกับชิฟู
อย่างไรก็ตาม การขาดหายไปของความสัมพันธ์กับพ่อในวัยเด็กของชิฟูเอง ก็อาจทำให้เขามีความห่างเหินในการเลี้ยงดู บ่อยครั้งเขาจึงไม่อาจเติมเต็มความต้องการเชิงความรู้สึกให้ลูกศิษย์ที่ได้ ในขณะที่ไต้ลุงเป็นลูกรักของเขา การกระทำบางอย่างจึงทำให้เสือดาวหิมะหนุ่มรู้สึกว่า ตัวเองดีไม่พอเสียที และหลังจากการพลัดพรากจากลูกรักคนนั้นเองก็ทำให้ชิฟูห่างไกลจากลูกคนอื่นๆ ที่ตามมา เช่น พยัคฆ์ผู้ถูกเปรียบเทียบกับไต้ลุงอยู่ตลอดเวลาที่เธอฝึกกังฟู จนทำให้พยัคฆ์ต้องแข่งขันกับความคาดหวังของชิฟูด้วยเสมอ เพื่อให้ได้มาซึ่งเศษเสี้ยวความสนใจจากชิฟู
ทั้งนี้ประเด็นที่เราสามารถหยิบยกออกมาจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้คือ การพบว่าหนึ่งให้สิ่งที่ปลูกฝังปมเกี่ยวกับพ่อให้แก่ใครสักคนได้คือ ความไม่พร้อมทางอารมณ์ (Emotional Unavailability) เมื่อผู้มีอำนาจ เช่น บุพการีไม่ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของเรายามจำเป็น ทั้งอาจเกิดจากการปลูกฝัง หรือในประเด็นของชิฟูนั้นคือเกิดขึ้นมาจากแผลใจในอดีต
เหตุที่ความไม่พร้อมทางอารมณ์มักถูกเชื่อมโยงกับพ่อ เนื่องจากความเป็นพ่อมักถูกผูกเอาไว้กับความเป็นชาย และบ่อยครั้งความเป็นชายยังมักถูกครอบงำไว้ซึ่งการไม่แสดงออกทางความรู้สึก และนั่นอาจส่งต่อไปหาลูกได้หลากหลายแบบ เช่น อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนเก็บงำความรู้สึกของตัวเองเสมอเหมือนที่พยัคฆ์เป็น หรือการเรียกร้องการตอบสนองทางอารมณ์ที่เขาขาดอยู่เสมอ จนอาจพัฒนาไปเป็นปมด้อย (Inferiority Complex) หรือความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าผู้อื่น โดยอาจเกิดได้เพราะถูกเปรียบเทียบจากผู้ที่มีอำนาจเหนือเรา ซึ่งในกรณีนี้คือ พ่อ
ต่อมาที่ชัดเจนในเรื่องปมเกี่ยวกับพ่อคือ ตัวละครหลักของเราอย่างโป และความสัมพันธ์กับเตี่ยปิงผู้รับเลี้ยงแพนด้าน้อยในกล่องลังใส่ผัก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา สำหรับปิง ร้านก๋วยเตี๋ยวและลูกคือสิ่งสำคัญไม่กี่อย่างในชีวิต ในภาคแรกเขาผูกติดกับโปมากเสียจนเกือบลืมมองความฝันและการเติบโตของลูกไปชั่วขณะ และการผูกติดนั้นก็เปลี่ยนแปลงเป็นความกลัวการสูญเสียเมื่อโปรู้ว่า ตัวเองถูกรับมาเลี้ยง
ความสัมพันธ์ของเตี่ยปิงและโปแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่หลากหลาย อย่างแรกคือการกลัวถูกทอดทิ้ง (Abandonment Issues) หรือความวิตกกังวลในการจะสูญเสียคนใกล้ตัว ซึ่งอาจทำให้พวกเขายึดติดกับผู้คนเหล่านั้น และสามารถพัฒนาไปถึงระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพใจได้ โดยปิงแสดงออกมาอย่างชัดเจน เมื่อโปของเขาเติบโตขึ้นและพบเจอกับพ่อร่วมสายเลือดของเขา
ในส่วนของโป ปัญหาตลอดเรื่องราวทั้งหมดของหนังคือ ปัญหาด้านตัวตน (Identity Issues) ความวิตกกังวลในตัวตนของตัวเอง เมื่อชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในภาคแรกคือความเติบโตของโปเรียกร้องให้เขาต้องไปเรียนรู้กังฟู แต่ประเด็นดังกล่าวที่เผยตัวกลับเป็นปมเกี่ยวกับพ่ออย่างชัดเจนในภาค 2 โปจึงต้องตามหาคำตอบเกี่ยวกับที่มาที่ไปของตัวเอง ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นพ่อของปิงว่ามีความหมายเท่ากับการตามหาสายเลือดของตัวเองหรือไม่
ในแง่หนึ่ง นกยูงขาวตัวร้ายของภาค 2 อย่างอ๋องเชนก็มีความเจ็บปวดร่วมกับโป แม้อ๋องเชนจะเป็นผู้ที่ทำให้โปต้องพลัดพรากกับเผ่าพันธุ์จากการฆ่ากวาดล้างหมู่บ้านแพนด้า เพราะความกลัวคำทำนาย แต่ความรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะการพลัดพรากจากครอบครัว ก็คือความเจ็บปวดร่วมกันของทั้งคู่ ซึ่ง ณ ขณะนั้น โปไม่รู้จักพ่อจริงๆ ของตัวเอง ส่วนอ๋องเชนเองก็ถูกทอดทิ้งจากพ่อแม่ของเขาเพราะการกระทำที่ทำกับเหล่าแพนด้า
นอกจากความเป็นพ่อ ธีมสำคัญของกังฟูแพนด้า ยังพูดเรื่องชะตากรรม คำพยากรณ์ และวิธีที่มันส่งผลกระทบต่อใครสักคน เรื่องนี้ชัดเจนที่สุดเมื่อเรามองไปยังตัวร้ายอย่างไต้ลุงและอ๋องเชน แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้ร่วมจอกันตอนมีชีวิต แต่กลับเป็นตัวละครที่มีจุดร่วมกันตรงที่ว่า ความโหดร้ายของทั้งคู่ลึกๆ แล้วมาจากความโหยหาการยอมรับ
เพราะอ๋องเชนถูกเนรเทศโดยพ่อแม่ของตัวเองหลังจากก่อโศกนาฏกรรมที่ตัวเขาเชื่อว่า จะสามารถเลี่ยงคำทำนายที่นำไปสู่ความตายของเขาได้ ทั้งๆ ที่พ่อและแม่เคยสัญญาว่าจะมอบอำนาจให้เมื่อถึงเวลา ส่วนทุกอย่างที่ไต้ลุงทำนั้นคือเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับจากชิฟู ผู้ปลูกฝังความฝันในการเป็นนักรบมังกรให้แก่เขา โดยชื่อไต้ลุงมีความหมายว่า มังกรผู้ยิ่งใหญ่ เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อแสดงถึงความหวังซึ่งถูกวางไว้บนบ่าตั้งแต่เด็ก แต่กลับถูกปฏิเสธเมื่อเติบโตขึ้น
อาจเรียกได้ว่า เส้นทางชีวิตของพวกเขาในการเข้าสู่การเป็นวายร้าย มาจากการถูกปฏิเสธในเส้นทางที่ถูกทำให้เชื่อว่า เป็นชะตากรรมของตัวเอง ซึ่งนั่นเองอาจเป็นปมที่เรียกว่า การขาดการยืนยันเชิงความรู้สึก (Validation Issues) เป็นความรู้สึกว่า เราต้องการให้ผู้อื่นยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกเหมือนตัวเองถูกปฏิเสธอยู่เรื่อยไป ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อไม่ได้รับคำชม หรือการผลักดันที่มากพอในวัยเด็ก หรือในเรื่องกังฟูแพนด้านี้ยังมองไปอีกมุมหนึ่งได้ว่า การยอมรับไม่ได้มาจากภายนอกเสมอไป
“ไม่มีสูตรลับอะไรหรอก มีแต่ตัวเรา”
ความนึกคิดของโปเกิดขึ้น หลังจากเตี่ยปิงเปิดเผยว่าสูตรลับของร้านก๋วยเตี๋ยวนั้นไม่ได้มีอะไรเลย นอกเสียจากความเชื่อมั่นว่า สิ่งนั้นพิเศษในตัวของมันเอง เช่นเดียวกันกับที่โปไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ความลับอะไรที่จะทำให้นักรบมังกรแข็งแกร่งกว่าใคร หากแต่คือความเชื่อมั่นว่าตัวเองแกร่งจากการดำเนินฝึกมาจนถึงขั้นนี้ได้
ในแง่หนึ่งโปและตัวร้ายหลายๆ คนในกังฟูแพนด้ามีปมเดียวกัน แน่นอนว่าเราแต่ละคนเองก็พบเจอความเจ็บปวดอยู่เสมอ แต่ข้อแตกต่างระหว่างเหล่าวายร้ายกับโป คือโปสามารถก้าวข้ามสิ่งที่ทิ้งแผลเอาไว้ให้เขาได้ ไม่ใช้ความเจ็บปวดของตัวเองเป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้ผ่านการเผชิญหน้ากับมันเมื่อพร้อม และปรับความเข้าใจระหว่างเขากับพ่อๆ ในชีวิตของเขา
พอมองอย่างนี้แล้ว กังฟูแพนด้าเป็นเหมือนในนิทานที่บอกเราว่า ชีวิตนี้มีอนาคตและทางออกเสมอ แม้แต่กับเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเราจะรู้ความ
อ้างอิงจาก