The MATTER เองก็เหมือนกับหลายๆ ท่านที่ในวันหนึ่งๆ จะต้องเลื่อนหน้าจอผ่าน Facebook แล้วก็เห็นความดราม่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีดราม่าหนึ่งที่กระแสตอบรับกระจายไปหลายทิศทางกันอย่างมีเหตุและผลของแต่ละฝั่งอีกด้วย
ดราม่าที่ว่านั้นคือ การสปอยล์หนังเรื่อง ‘แฟนเดย์’ ด้วยภาพแนว Infographic ซึ่งมากพอที่จะเล่าสาระหลักของหนังจบในภาพเดียว
ประเด็นที่น่าสนใจคือสิ่งที่คนออกมาถกเถียงกันว่า การสปอยล์นี้สมควรหรือไม่ หลายคนก็ออกความเห็นว่าเพจต้นทางไม่ควรทำแบบนั้น เนื่องจากหนังเพิ่งเข้าฉายไม่นาน การเข้ามาเล่าประเด็นหลักของเรื่องให้คนที่ยังไม่ได้ดูนั้นไม่เหมาะสม อีกกลุ่มก็มาแย้งว่าจุดที่สปอยล์นั้นไม่ใช่จุดใหญ่อะไร เพราะตัวหนังยังมีอะไรอีกมาก ส่วนกลุ่มที่สร้างความแปลกใจให้หลายคนก็คือ กลุ่มที่แสดงตัวว่า ‘จะไม่ยอมเจ็บคนเดียว’ แล้วก็แชร์ภาพนั้นต่อไปพร้อมทั้งก่นด่าต้นทางว่าเลวมากที่สปอยล์แบบนี้ เรื่องราวเดินทางไปไกลจนเกิดกระแสสังคมขนาดย่อม ว่า “ควรหยุดสปอยล์บนโลกโซเชียลกันเสียแต่เดี๋ยวนี้” เลยทีเดียว
จริงหรือที่การสปอยล์นี้จะก่อให้เกิดแต่เรื่องหงุดหงิดแบบเดียวกัน แล้วทำไมในยุคหลังนี้การสปอยล์ถึงรุนแรงขึ้น ถ้าจะพูดเรื่องเหล่านี้เราอาจจะต้องย้อนกลับไปมองกันว่าเหตุใดการสปอยล์จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ของยุคนี้ไปแล้ว
ที่มาของการสปอยล์
ว่ากันตรงๆ แบบกำปั้นทุบดิน การสปอยล์ ในแง่ความหมายว่า ‘เอาเนื้อเรื่องสำคัญมาเปิดเผย’ มีมานานนมแล้วนับตั้งแต่ที่มนุษยชาติมีเรื่องเล่า เรื่องแต่ง หรือการจดบันทึกใดๆ ก็ตาม คือแค่มีคนมาเล่าว่า ‘โมเสสแหวกทะเล’ หรือ ‘องคุลีมารไล่ตัดนิ้วคน’ ก็พอจะนับได้ว่าเป็นการสปอยล์แล้ว
แต่ยุคหลังนี้ โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2000 การสปอยล์บนโลกอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ สังคมการรับชมเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยที่คนดูแยกกลุ่มกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีช่องทางให้มารวมกลุ่มเสวนากัน พูดคุยกันง่ายขึ้น ดราม่ากันง่ายขึ้น เมื่อเทคโนโลยีทำให้ทั่วทั้งโลกสามารถรับชมสื่อบันเทิงได้ใกล้เคียงกัน ความเท่าทันในการชมเกิดขึ้น ก็ส่งผลให้กระทู้พูดคุยกันมาเร็วขึ้น อย่างในเมืองไทยเอง ก็พวกกระทู้ในพันทิป หรือในทวิตเตอร์ตามแฮชแท็กต่างๆ เป็นอาทิ
แค่ความรู้สึกอาจวัดอะไรไม่ได้มาก เจ้าพ่อคอนเทนต์เด็ดในโลกออนไลน์อย่าง Netflix ได้จ้างนักมานุษวิทยาไปสอบถามลูกค้าในหลายๆ ประเทศ ปรากฏว่า 76% ของกลุ่มตัวอย่าง ทำใจได้แล้วกับสังคมที่ต้องพูดเรื่องสปอยล์กันมากขึ้นแบบนี้
มีแต่คนสาปแช่งการสปอยล์จริงดิ?
ถึงต้นเรื่องของเราจะโดนสาปแช่งไปเยอะว่าการสปอยล์หนังแฟนเดย์เนี่ยทำเอาหลายคนเอ่ยปากว่า ไม่อยากไปดูหนังแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนให้ความเห็นว่า การสปอยล์ของเพจดังกล่าวไม่ได้ทำให้คุณค่าของเรื่องราวสูญเสียไป เนื่องจากรายละเอียดที่ถูกสปอยล์นั้นเป็นเหมือนจุดหมายปลายทาง ส่วนเนื้อหาของเรื่องที่เป็นรายละเอียดในการเดินทางต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญ… อืม ดูเป็นปรัชญาชีวิตดีนะ
แม้ว่าการสปอยล์โต้งๆ ในฝั่งจะถูกต่อว่าอย่างหนัง จนเหมือนว่าไม่มีใครโอเค แต่หลายๆ ครั้งในโลกออนไลน์ ทั้งไทยและเทศ กลุ่มคนเสพสื่อบันเทิงก็แฮปปี้กับกระทู้ที่สปอยล์เนื้อเรื่องในทำนองเย้ายวนอยู่ไม่น้อย อย่างกระทู้บอกเล่าว่าใครอาจจะตายแบบที่เล่าเรื่องราวก่อนหน้าให้คนที่ไม่ได้ติดตามก็ป็อปฮิตจนคนแชร์อยู่บ่อยๆ หรือถ้าแบบกระทู้สปอยล์เพราะเรื่องนี้ยังไม่มีใครในไทยสนใจนี่อาจจะทำให้เกิด ‘ติ่ง’ คนใหม่ของเรื่องนั้นเลยด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปที่การสำรวจของทาง Netflix ปรากฏว่า 96% ของกลุ่มตัวอย่างตอบกลับมาว่า ต่อให้โดยสปอยล์แล้วก็ยังยอมที่จะไปดูสื่อบันเทิงตัวนั้นๆ อยู่ดี ถึงขั้นที่เว็บไซต์ Netflix เปิดเว็บไซต์ส่วนหนึ่งเพื่อให้เห็นว่า การถูกสปอยล์ตอนเด่นบางทีก็ไม่มีผลหรอก เพราะคุณยังไม่รู้เรื่องจริงๆ ทั้งหมดของมันเลย พลางเอาคลิปช็อตเด็ดของซีรีส์ที่มีในเว็บมาโชว์ซะดื้อๆ ทั้งนี้ก็น่าเสียดายที่ไม่มีระบุว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่ทาง Netflix ทำแบบสำรวจมาคนเหล่านั้นไปดูด้วยความตื่นเต้นกับเนื้อหาที่รับทราบ หรือไปดูทั้งน้ำตาเพราะรู้เนื้อหาสำคัญกันแล้วแน่
ดังนั้นคงพูดได้ว่า… การสปอยล์ไม่ได้เป็นโทษเสมอไป ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาตรของเนื้อหาสปอยล์นั้นมากกว่า ว่าประมาณไหนคนดูจึงจะไม่หงุดหงิด
เอาตัวรอดในยุคสปอยล์ครองไทม์ไลน์
นอกจากหนังกับละครแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่กลายเป็นดราม่าระหว่างคนดูได้บ่อยครั้งก็คือ เรียลลิตี้ โชว์ รายการกึ่งถ่ายทอดสดหรือยิงสดมันตลอดเรื่อง อย่าง Academy Fantasia, The Voice, Thailand Got Talent หรือ The Face ที่กำลังจะมีซีซั่นใหม่เร็วๆ นี้ ธรรมชาติของรายการเหล่านี้มักสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูเกิดแรงใจอยากเลือกข้างเชียร์คนเข้าแข่งคนใดคนหนึ่งไว้ ซึ่งในช่วงแรกก็อาจไม่มีปัญหาใดมากนัก เพราะมักเป็นการแนะนำตัวละครในซีซั่นนั้นๆ
แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงการแข่งขันที่มีคนต้องตกรอบ ดราม่าก็มักเกิดขึ้นเสมอ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะไม่ใช่ทุกคนสะดวกดูในเวลาที่รายการถ่ายทอดสด หรือถ้าแย่สุดบางคนที่มีโอกาสไปดูในห้องส่งก็อาจจะสปอยล์โพล่งดีเทลขึ้นมาว่า ใครจะตกรอบ หรือใครจะชนะ
กรณีแบบนี้ดูแล้วปวดกบาลมากกว่าการสปอยล์ละครหนัง การ์ตูน หรือ เกมเสียอีก เพราะสื่อ 4 อย่างนี้ เราอาจจะเสียอารมณ์ในช่วงแรกที่รู้ (ซึ่งอาจจะตัดโอกาสผู้ผลิตบ้าง) แต่ถึงระยะเวลาหนึ่งที่เราอยากย้อนกลับไปสัมผัสอรรถรส เรายังมีโอกาสไปซื้อมันมาสัมผัสความกลมกล่อมนั้นใหม่อีกครั้ง ต่างกับฝั่งรายการเรียลิตี้โชว์ ที่เราเจอสปอยล์แล้วอาจจะพยักหน้าหงึกๆ ด้วยความเซ็งแล้วดูคลิปย้อนเฉพาะรอบสุดท้ายก็พอ การเดินทางตรงกลางอะไรช่างมันละ
เกริ่นมาแบบอ้อมค้อมออกอ่าวไทยแบบนี้ เพราะอยากให้เห็นภาพว่า ถ้าเรายังเลือกอยู่กับสังคมออนไลน์ตลอดเวลา ก็ยากที่จะรอดตายจากการสปอยล์ได้ วิธีการที่พอจะทำให้คุณพ้นสปอยล์ได้ก็มี 2 ข้อ ประการแรกคือเลือกออฟไลน์ในช่วงที่รายการใดๆ กำลังพีคมาก กับประการที่สอง หลีกเลี่ยงเพื่อนที่นิสัยเสียชอบสปอยล์หนักๆ ไปสักระยะ (บล็อกไว้ หรือ Mute ชั่วคราวก็ไม่เลว)
แต่ถ้าว่ากันจริงๆ เราคิดว่า ‘การสปอยล์’ ไม่ได้ผิดอะไร หากเป็นการพูดเพื่อเชิญชวนให้คนอื่นไปรับชม หรือเป็นความผิดพลาดจากการมือลั่นปากลั่นบอกส่วนสำคัญเนื้อเรื่องไป (งอนนิดหน่อยนะแต่ยังทำใจได้)
แต่ถ้าสปอยล์นั้นมาจากบุคคลที่ตั้งใจที่จะทำลายอรรถรสของผู้ชมคนอื่นแต่เริ่มแล้ว อันนั้นคงต้องบอกว่า… นิสัยไม่ดีเลยนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก