เสียงลอยมาตามสายลมโซเชียลฯ มีทั้งด้านบวกและลบ ในแวดวงวรรณกรรมไทย
ภายหลังชื่อ ‘ศิริวร แก้วกาญจน์’ ถูกประกาศว่าได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2564 จากนวนิยาย เดฟั่น : เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี ที่เล่าเรื่องการก่อตั้งชุมชนท้องถิ่นในอดีตเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานของคนในภาคใต้บริเวณเทือกเขาบรรทัดและลุ่มทะเลสาบ โดยใช้ตำนานวีรบุรุษในท้องถิ่นภาคใต้เป็นตัวเดินเรื่อง ร้อยเหตุการณ์จริงในสังคม
ด้านบวกคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง แต่ด้านตรงข้ามเกิดจากคาแรกเตอร์เฉพาะของนักเขียนคนนี้ ทว่าชั่วๆ ดีๆ เราก็ไม่อาจหมิ่นแคลนฝีไม้ลายมือที่ประทับด้วยตราเข้ารอบสุดท้ายรางวัลใหญ่นี้ถึง 8 ครั้ง
“ทำไมผมถึงจะเลือกท่าทีกวนตีนแบบนั้นไม่ได้ล่ะ ประชาธิปไตยแบบไหนกันที่จะต้องทำตัวให้ไหลไปในร่องรางเดียวกันและเป็นแบบเดียวกันหมด” เขาว่าในบางช่วงของการสนทนา (เดี๋ยวเราค่อยมาลุยกันเต็มๆ)
นี่ยังไม่นับรวมข้อครหาต่างๆ นานาที่รางวัลใหญ่นี้ถูกแปะป้าย (คุณสามารถหาอ่านได้จากกูเกิ้ล)
แต่ด้วยสายตานักอ่านทั่วไปซึ่งมีจำนวนมหาศาล ทั้งนักอ่านสายวาย สายไลท์โนเวล กระทั่งแพลตฟอร์มอื่นๆ เมื่อเอ่ยชื่อศิริวร กระทั่งรางวัลซีไรต์ อาจอยู่นอกขอบเขตของพวกเขาเหล่านั้น
ขณะที่ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ โพสต์สเตตัสบน เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงปัญหาของการร่วมงานกับคนเขียนบทรุ่นใหม่ว่า จับประเด็นไม่ค่อยได้ ซึ่งอาจเป็นผลจากวัฒนธรรมการเสพงานนิยายออนไลน์ หรือพวกจอยลดาที่เล่าด้วยบทสนทนาล้วนๆ
แต่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตั้งใจแล้วว่าจะชำแหละตัวตนของศิริวรอย่างไม่บันยะบันยัง รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับแวดวงการเขียนการอ่าน ดังนั้น ขอเรียนเชิญคนทั้ง 2 กลุ่มด้านบนเข้าสู่คำถามที่ 2 ด้วยกัน และขออภัยล่วงหน้า หากไม่ถูกใจใคร
ก่อนคำถามแรก ขออนุญาตถามในสิ่งที่สังคมส่วนหนึ่งคาใจ ทำไมนักเขียนไทยบางคน ถึงต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่นักเขียนควรวิพากษ์สังคม ผู้มีอำนาจ เป็นปากเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อย
ผมว่าคำถามนี้ดูรวบรัดตัดความมากไปสักหน่อย ในศตวรรษที่นิยามความหมายของหลายสิ่งหลายอย่างพร่าเลือน เคลื่อนถ่าย ย้ายมุม คลุมเครือ แม้แต่คำว่าประชาธิปไตย ที่มีแห่งหนต้นทางมาจากกรีก โรมัน ณ ศตวรรษไกลโพ้นก็ยังซ่อมสร้างตกแต่งตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา หรืออย่างปรากฏการณ์การลุกขึ้นสะพรึบสะพรั่งของฝ่ายขวาแทบทั่วทั้งยุโรป ข้ามมหาสมุทรไปยังฝั่งอเมริกา สอดคล้องกับหลักการเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย
ถามว่า ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่คือฝ่ายขวา เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเผด็จการเสียงส่วนใหญ่ หรือประชาธิปไตยฝ่ายขวาได้ไหม กลับมาสู่คำถามของเรา การต่อต้านประชาธิปไตยที่ว่าคืออะไร แค่มีความเห็นบางส่วนเสี้ยวไม่ลงร่องลงรอยกับกลุ่มที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือเปล่า? การไม่กระโดดออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการในพื้นที่สาธารณะหรือเปล่า?
การเชียร์เผด็จการนั้นชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว และนั่นแหละ น่าจะต้องนิยามให้ชัดให้รัดกุมกว่านี้ว่าใครกันแน่คือนักเขียนผู้ต่อต้านประชาธิปไตย จะว่าไป มันก็มีกวีนักเขียนบางคนบางกลุ่มที่สังกัดอนุรักษนิยมเข้มข้น ทั้งยังยกย่องสรรเสริญสถาบันศรัทธาดึกดำบรรพ์ แต่วันดีคืนดีวิธีก็ย้อนแย้งจนแทบเข้าใจไม่ได้ เช่น บางวาระพวกเขาเหล่านั้นเขียนถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเชิงโครงสร้าง หลายครั้งพวกเขาก็สะทกสะท้อนใจต่อชะตากรรมของคนตัวเล็กๆ
และเท่าที่ผมพอจะแกะร่องรอยติดตามความคิดลงไปได้ พบว่าพวกเขาบางคนไม่เข้าใจโครงสร้างหรือต้นตอของปัญหาที่แท้จริงซึ่งแผ่พังพานครอบงำประเทศนี้อยู่ ครั้นพอลองไล่เรียงลึกลงไปอีก ผมกลับพบร่องรอยปัญหาอีกอย่างอันเกิดจากความเชื่อความศรัทธาต่อสถาบันอันเก่าแก่ฝังลึกอยู่ในไขกระดูก เช่น ต้นตระกูลบางคนเคยใกล้ชิดหรือเคยโยงใยบางอย่างอยู่กับสถาบัน จึงส่งต่อศรัทธาและเรื่องเล่าต่อๆ กันมาจากยุคสู่ยุค จากรุ่นสู่รุ่น จนความศรัทธากลายเป็นกระดูกสันหลัง
ต้องไม่ลืมว่า ศรัทธาที่มืดบอดมักอยู่เหนือผิดถูก เหนือข้อเท็จจริง ไร้เหตุผล ไม่ว่าศรัทธาต่อพระเจ้า หรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด ความศรัทธาที่ไม่ถูกกำกับด้วยปัญญาความรู้นับเป็นเรื่องอันตราย ยิ่งในทางการเมือง
เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะความศรัทธาต่อบุคคล ต่อองค์กร ต่อความเป็นภูมิภาค หรือต่อสถาบันต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแทบไม่ต่างกัน ใครแตะต้ององค์อธิปัตย์แห่งศรัทธาของข้าไม่ได้ ทุกชนชั้นล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตนเองที่จะต้องปกป้อง
ดูงานเขียนชั้นดีอย่าง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่มีปัญหาเมื่อหลายปีก่อน กระทั่งกลายเป็นหนังสือต้องห้าม นั่นคือศรัทธารวมหมู่ของกลุ่มคนภูธร พวกเขาไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อข้อถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับรูปเคารพประจำเมือง หนังสือก็ถูกเก็บจากแผง นักเขียนเองก็เสียผลประโยชน์ สำนักพิมพ์ของค่ายที่เป็นหัวขบวนเรียกร้องการพูดความจริงก็ไม่กล้าส่งเสียง ไม่กล้าเสี่ยงพิมพ์ นักอ่านก็เสียโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์บางชุด
ซึ่งความรู้ชุดนั้นอาจนำไปต่อยอดกับประวัติศาสตร์ความรู้ชุดอื่นๆ แม้กระทั่งปรากฏการณ์ทัวร์ลงในโลกออนไลน์ นั่นไม่ต่างอันใดกับปฏิบัติการของอำนาจนิยม ใครกล้าปฏิเสธบ้างว่านั่นไม่ใช่การคุกคามไล่ล่าความเห็นต่าง ไม่ต้องพูดถึงความอดทนอดกลั้น ถามว่าทุกอย่างเหล่านี้คืออุปสรรคสำหรับพัฒนาประชาธิปไตยหรือเปล่า
งั้นมาว่าเรื่องการเขียนกัน ซีไรต์เปลี่ยนแปลงอะไรคุณบ้าง
อาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนอื่นๆ พูดจริงๆ ก็คือ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยนะ ทั้งภายนอกภายใน อาจเป็นเพราะผมคลุกคลีอยู่กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ได้รางวัลนี้อยู่เป็นปกติ ยังไม่ต้องพูดว่า หนังสือรางวัลซีไรต์หลายเล่มผมเองก็มีส่วนร่วมอยู่ในฐานะบรรณาธิการ ทั้งผลงานกวี เรื่องสั้น หนังสือของผมเองก็เคยเข้ารอบลึกๆ อยู่หลายครั้ง ทุกประเภท
พูดกันตรงๆ ซึ่งฟังแล้วอาจชวนหมั่นไส้ หลายครั้งที่เข้ารอบซีไรต์ แม้ผมจะไม่ได้คาดหวังจนท้อแท้เหมือนบางคนที่พลาดรางวัลนี้ แม้ไม่ได้แสตมป์ให้ผ่านด่านพรมแดน แต่ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ผลงานที่ผ่านๆ มาของผม โดยภาพรวม ไม่ได้ด้อยค่ากว่างานที่ได้รางวัลสักกี่มากน้อย ไม่ว่าเล่ม กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด กับเล่ม ความสุขของกะทิ หรืออะไรแบบนั้น
อีกอย่าง ผมเป็นคนวรรณกรรม รักชุมชนนี้ พูดได้ว่าวรรณกรรมคือชีวิต หรือชีวิตคือวรรณกรรม มันกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว นั่นจึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะต้องท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่ และไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะหยุดพัฒนาตนเองตามกำลังและสติปัญญา อาจเพราะเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ มันเลยไม่ได้รู้สึกแปลกหน้าต่อสถานะของความเป็นซีไรต์
รางวัลคือโบนัสจากการทำงานหนัก เป็นเกียรติของหนังสือและคณะกรรมการที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมองเห็นคุณค่าของกันและกัน
ที่สำคัญ ผมเชื่อมั่นในการพยายามฝึกฝนเรียนรู้ของตนเอง และผมเองก็ไว้วางใจว่าประวัติศาสตร์ฉลาดมากพอที่จะไม่แสร้งหลงลืมหรือทำชื่อผมตกหล่นจากบรรทัดของมันในห้วงเวลาที่ผมเดินผ่านมา
การต้องบริหารสำนักพิมพ์ผจญภัยด้วย มีความยากง่ายอย่างไร
จะว่าไปแล้ว ปรัชญา จุดยืน และการปรากฏตัวของผจญภัยสำนักพิมพ์ มันไม่เหมือนสำนักพิมพ์ทั่วๆ ไป หมายถึงว่าตัวมันเองไม่ได้ตั้งใจจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ต้องเอื้อมคว้าหากำไรจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เหตุเพราะว่าผจญภัยเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่เปิดรับต้นฉบับของกวีหรือนักเขียนคนอื่นๆ แต่หากเห็นว่ามีกวี นักเขียนคนใดที่น่าสนใจ พวกเราจะเดินไปหาพวกเขาเอง
ผจญภัยมีความฝันเล็กๆ เบื้องต้นคือพวกเราต้องการพื้นที่สำหรับจัดการต้นฉบับของพวกเรากันเอง โดยส่วนตัว ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นต่อบรรณาธิการรับจ้างอ่านต้นฉบับซึ่งเป็นพนักงานประจำของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็เลยต้องสร้างพื้นที่รองรับผลงานของตนเองและเพื่อนฝูงที่สนิมสนมกัน เราฝันอยากผลิตเผยแพร่ผลงานดีๆ ในทัศนะของพวกเรา จะว่าไปแล้วก็โง่มากที่พวกเราเลือกผลิตงานนอกกระแสการตลาด
ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการทำสำนักพิมพ์นั้นต้องหมุนไปตามวงจรธุรกิจ จึงไม่ต้องพูดถึงกำรี้กำไรในแง่ตัวเงิน แต่เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการร่วมสร้างสานวัฒนธรรมการอ่านการเขียนให้ประเทศนี้ตามกำลังสติปัญญาของพวกเรา และการจะประคับประคองความฝันให้ตลอดรอดฝั่ง มีหนทางเดียวคือ เราต้องผลิตงานที่มีคุณภาพ ด้วยความเชื่อมั่นว่าอนาคตจะไม่ทรยศเรา
แวดวงนักเขียนวรรณกรรมไทยค่อยๆ หดตัวลงจากการมีทางเลือกในแนวอื่น คุณมีความเห็นอย่างไร
อย่างที่บอกเล่าไว้เมื่อกี้ล่ะครับ ผจญภัยเรากำเนิดมาจากกลุ่มกวี นักเขียน นักกิจกรรมทางสังคม สำนักพิมพ์เป็นพื้นที่รองรับความใฝ่ฝันของพวกเรา พวกเราชาวผจญภัย ชีวิตกับความใฝ่ฝันปะปนกันอยู่ในนั้น พวกเราเคยอยู่ในกรุงเทพฯ กันมาคนละยี่สิบสามสิบปี วันหนึ่งเราพบว่าพื้นที่ความฝันของเราต้องโปร่งโล่งมากกว่าจะกระจุกตัวในเมืองหลวง
จึงต้องหาพื้นที่อื่น หาหนทางอื่น เพื่อดูแลรักษาพื้นที่ความฝันดั้งเดิมเอาไว้ ทั้งการเขียนและการทำสำนักพิมพ์ เราจึงทำร้านกาแฟเล็กๆ ทำร้านหนังสือเล็กๆ ทำที่พักเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ แถบชายแดน พร้อมทั้งทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมร่วมกับชุมชนไปด้วยตามแต่จังหวะชีวิตเอื้ออำนวย แต่จะว่าไป ประสบการณ์การผจญภัยและการใช้ชีวิตตามชายขอบพรมแดนคือสารตั้งต้นสำหรับงานเขียนหลายๆ ชิ้นของพวกเรา อย่างที่บอก ชีวิตและการงานหลอมรวมอยู่ด้วยกัน หนี้สินก็รวมอยู่ในความฝันนั้นด้วย (หัวเราะ)
ยังจำเป็นที่ต้องแบ่งว่า เล่มไหนเป็นวรรณกรรมอยู่ไหม เพราะเทคนิคการเขียนสมัยนี้มันพร่าเลือน
ผมว่ามันอยู่ที่ความมุ่งหมายเบื้องต้นของต้นฉบับ หรือของเจ้าของต้นฉบับมากกว่า ว่าเขามีความฝันตั้งต้นชนิดไหน ผมจึงมองว่าไม่น่าจะใช่เรื่องที่กวีนักเขียนต้องมานั่งกังวลกับชื่อเรียกหรือนิยามอะไรต่างๆ เหล่านั้น จะว่าไปแล้ว ไม่เฉพาะงานเขียนหรอกที่พร่าเลือน ศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยความพร่าเลือน เป็นศตวรรษที่พร่าเลือน ประชาธิปไตย ดี เลว ซ้าย ขวา ล้วนแล้วแต่พร่าเลือนทั้งนั้น
กล่าวเฉพาะในบริบทของงานเขียน ไม่ว่าจะพร่าเลือนยังไง ลักษณะเฉพาะของมันก็ยังคงชัดเจนมากพอที่จะนิยามตัวมันเองว่าเป็นงานชนิดไหน ดูอย่าง เซเปียนส์ ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) สิ มันนำเสนอตัวเองด้วยท่าทีแบบวรรณกรรม หยิบยืมท่วงท่าแบบเรื่องเล่า แต่ตัวมันเองก็ฉายชัดว่าคืองานประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นิยาย
นิยายสมัยใหม่หลายๆ เรื่องก็หยิบยืมท่วงท่าแบบงานวิชาการ แต่ถึงที่สุด เราก็รับรู้ได้ว่าตัวมันเองปรารถนาจะบรรจุลงในพื้นที่ของวรรณกรรม แต่ข้อดีของการเดินทางข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์จนนำไปสู่ความพร่าเลือนที่ว่า ก็คือการได้แลกเปลี่ยน หล่อหลอมประสบการณ์แต่ละชุดเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ที่สำคัญคือทำให้เราตระหนักว่าโลกมันเคลื่อนเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เป็นพลวัต วิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ไม่เฉพาะสิ่งมีชีวิตอย่างที่ ชาลส์ ดาร์วิน เคยบอกเราตั้งแต่ยุควิคตอเรียเท่านั้น
แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ศิลปะ วรรณกรรม ระเบียบระบอบการเมืองการปกครอง รวมถึงองค์กร สถาบันต่างๆ ถ้าอยากจะมีชีวิตรอดก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ ฉะนั้น ผลงานเขียนทุกประเภทจึงต้องคลี่คลาย แม้แต่งานวิชาการสมัยใหม่ก็หยิบยืมสุนทรียะเชิงวรรณกรรมมาใช้ โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยาก็หันมาสนใจเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในฐานะปัจเจกที่ก่อนนี้พวกเขาปฏิเสธ
นักมานุษยวิทยาอย่าง คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) ก็เคยถูกประวัติศาสตร์ฉบับอนุรักษนิยมทำตกหล่นมาแล้วในศตวรรษก่อน ด้วยข้อหาว่างานมานุษยวิทยาของเกียร์ซเต็มไปด้วยอารมณ์แบบงานวรรณกรรม ไม่เหมือนงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่นักมานุษยวิทยายุคนั้นเขาทำกัน แต่ในที่สุด เกียร์ซคือผู้มาก่อนกาล ทุกวันนี้โลกยกย่องให้ผลงานของเขาเป็นงานบุกเบิก เป็นต้นแบบงานมานุษยวิทยาที่เห็นคุณค่าของความรู้สึกนึกคิด
ความพร่าเลือนของเกียร์ซในศตวรรษก่อนแตกตัวมาจากการศึกษาข้ามศาสตร์ของเขาที่เป็นคนอ่านวรรณกรรม เกียร์ซสนใจใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน ต้นทุนปัญญาความรู้หลายชุดที่สั่งสมไว้ จึงไม่แปลกที่เขาจะดื้อรั้น บุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้ขอบเขตพรมแดนเดิมๆ พร่าเลือน แต่ไม่ว่าจะพร่าเลือนยังไง ถึงที่สุดผลงานของเขาก็ถูกนับเป็นงานวิชาการ ไม่ใช่งานวรรณกรรม
การยกย่องวรรณกรรมว่าสูงส่ง ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มถอยห่าง หมั่นไส้ คุณมองอย่างไร
จริงหรือ? มันเป็นปรากฏการณ์ หรือว่าปะทุขึ้นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะกาลกันแน่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็เป็นธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ทุกยุคสมัยที่จะต้องไม่พอใจกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ดำรงอยู่ก่อน ถ้ามันเกิดจากการศึกษาหรือเกิดจากการค้นพบพื้นที่ปัญญาความรู้ใหม่ๆ นับเป็นเรื่องดี ความรู้สึกที่ว่าคือความปรารถนาของอารยธรรม ต้องส่งต่อความฝันและเคลื่อนขับขยับไปข้างหน้า ค้นหาขอบฟ้าใหม่ๆ
แต่ถ้าเกิดจากอารมณ์ชั่วครู่ชั่วคราว หรือปะทุจากแรงขับของฮอร์โมนอคติ ก็ควรที่จะไตร่ตรอง ลองทบทวนดูดีๆ อีกครั้ง อย่างน้อย วรรณกรรมก็เป็นชิ้นส่วนทางวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมของเรื่องเล่าที่มีรากหยั่งลึกมาจากอารยธรรมเก่าแก่ ซึ่งไม่ใช่เหตุบังเอิญแน่ๆ ที่มนุษย์ถ้ำคนหนึ่งลุกขึ้นมาขีดเขียนรูปทรงลวดลายบางอย่างลงบนผนังถ้ำ ด้วยเหตุนั้น สถานะวรรณกรรมจะสูงส่งหรือต่ำต้อยมันมีเนื้อหาและรายละเอียดเกินกว่าจะประเมินอย่างหยาบๆ
แน่ล่ะ แง่หนึ่งก็อยู่ที่มุมมอง รสนิยม อยู่ที่ว่าใครจะให้ค่าความสำคัญมันแบบไหนยังไง แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรมมักเป็นตัวเลือกสำคัญของการแลกเปลี่ยนระหว่างอาณาจักร ระหว่างรัฐชาติ ระหว่างวัฒนธรรม ผมไม่ค่อยเห็นว่าบุคคลสาธารณะที่ยืนอยู่แถวหน้าในองค์กร ในแวดวงของตนเองคนไหนที่ไม่เคยอ่านวรรณกรรม ไม่ต้องอื่นไกล ลองสำรวจคร่าวๆ ง่ายๆ ดูสิว่า ปัญญาชนนักวิชาการไทยคนไหนบ้างที่ยืนอยู่แถวหน้าของโลกวิชาการโดยไม่มีต้นทุนฐานคิดมาจากการอ่านวรรณกรรม
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธงชัย วินิจจะกูล, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, วรศักดิ์ มหัทธโนบล, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ไชยันต์ รัชชกูล แม้แต่นักวิชาการรุ่นใหม่อย่าง อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เหล่านี้ล้วนคือหนอนหนังสือทั้งนั้น นักวิชาการที่ไม่เคยอ่านวรรณกรรม หรือไม่เคยศึกษาข้ามสารข้ามศาสตร์ มักเป็นนักวิชาการพื้นๆ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์สังคมการเมืองตื้นๆ
เช่นเดียวกับคนวรรณกรรม หรือนักวรรณกรรมศึกษา ถ้าไม่รู้จักศึกษาหรืออ่านข้ามศาสตร์ข้ามสื่อ เขาก็เป็นได้แค่นักวรรณกรรมพื้นๆ เว้นแต่ว่าคุณคืออัจฉริยะ แต่ก็นั่นล่ะ เราเชื่อกันว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือนักฟิสิกส์อัจฉริยะคนหนึ่งของโลก แต่รับรู้กันว่าท่านเป็นนักอ่านที่หาตัวจับยาก ไอน์สไตน์ยกย่องชื่นชม ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี ไว้ว่าเป็นนักเขียนที่ให้อะไรๆ ท่านมากกว่าที่นักคิดสาขาวิทยาศาสตร์คนใดเคยให้
ตอนที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต ก็มีหนังสือนิยายเรื่อง พี่น้องคารามาซอฟ ของ ดอสโตเยฟสกี วางอยู่ข้างกาย
แต่นั่นคือโลกในศตวรรษก่อน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างเคลื่อนเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา วรรณกรรมอาจไม่จำเป็นเช่นในโลกยุคก่อนแล้วก็ได้ ถึงอย่างนั้น ผมยังเชื่อว่าปัญญาความรู้ยังผลให้กระดูกสันหลังของมวลมนุษยชาติตั้งฉากกับพื้น และต้นธารสายหนึ่งของอารยธรรมก็คือนิทานและเรื่องเล่า เข้าใจว่าเราทุกคนถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาตั้งแต่แบเบาะ กระทั่งเตาะแตะและยืดยืนหลังตรงมาพร้อมกับนิทานและเรื่องเล่า
ด้วยเหตุนี้ ขอให้เราวางเรื่องสูงส่งหรือต้อยต่ำลงก่อน และมาพินิจพิจารณากันอีกทีว่า การถอยห่างจากวรรณกรรมเท่ากับการถอยห่างจากอารยธรรมหรือไม่อย่างไร
หนังสือแปลดีๆ ท่วมตลาด ส่งผลในเชิงการทำสำนักพิมพ์ของคุณไหม
อย่างผมเล่า ผจญภัยสำนักพิมพ์ไม่ใช่ตัวแบบที่ดีของธุรกิจธุรกรรมเชิงพานิชย์ ครั้นเราตัดเรื่องนี้ออกไป การมีหนังสือแปลดีๆ ออกมาเยอะนับว่ามีประโยชน์ต่อวัฒนธรรมการอ่านการเขียนอย่างยิ่ง ต้องเข้าใจว่า หนังสือดีๆ จะช่วยยกระดับคุณภาพประชาชนพลเมืองของประเทศไทยเรา ผมว่ามีผลดีต่อทุกฝ่ายนะ กวี นักเขียนเองก็จะได้ขยับขยายขอบฟ้าปัญญาความรู้ และประสบการณ์การอ่านใหม่ๆ ให้ตนเอง
ได้แรงบันดาลใจ ได้ต่อยอดผลงานของตน เมื่อกวีนักเขียนไทยผลิตตัวบทดีๆ สำนักพิมพ์ก็จะได้เผยแพร่ผลงานดีๆ นักอ่านก็ได้เสพรับเรื่องเล่าดีๆ เชื่อเถอะ ถ้าประชาชนพลเมืองของเรามีความคิดเราก็จะมีอำนาจในการส่งเสียงต่อรองทางการเมือง ความคิดทำให้เราเข้าใจสิทธิและเสรีภาพ เมื่อเราเข้าใจเรื่องดังกล่าวเหล่านั้น แน่นอน เราต้องหาทางปกป้องมันจากการครอบงำของอำนาจที่คอยแต่แย่งชิงมันไปจากเรา
ผจญภัยสำนักพิมพ์พยายามบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่านหนังสือแต่ละเล่ม การมีหนังสือดีๆ ออกมาเยอะๆ จึงนับเป็นเรื่องดี ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของการแย่งชิงชิ้นส่วนหรือการช่วงชิงพื้นที่ทางธุรกิจ อีกอย่าง ผมเข้าใจว่าสำนักพิมพ์เล็กแต่ละสำนักพิมพ์ก็มีสมาชิกนักอ่านของตนอยู่จำนวนหนึ่ง จะว่าไป ในระดับหนึ่งนักอ่านก็มีกลุ่มความสนใจเฉพาะของตัวเองในงานแต่ละประเภทอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะสนับสนุน เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันกับแนวทางนั้นๆ ในอนาคตถ้ากลุ่มเฉพาะแต่ละกลุ่มแข็งแรงทางความคิดความอ่านมากพอ นั่นไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรอกหรือ
รางวัลซีไรต์ (รวมถึงรางวัลอื่นๆ) ยังจำเป็นต่อสังคมการอ่านของคนไทยอยู่ไหม
พูดกันตามตรง นี่เป็นคำถามที่เก่ามากเลยนะ
รางวัลมันเป็นกิจกรรมปกติอันหนึ่งของแต่ละชุมชนหรือเปล่า เราประกวดพืชผักผลไม้ เพื่อกระตุ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลผลิต เพื่อให้กำลังใจ เพื่อสร้างสีสัน หรือเพื่ออะไรต่างๆ ทางด้านบวกให้กับชุมชนชาวไร่ชาวสวนหรือเปล่า
ผู้ที่มีวุฒิภาวะมากพอก็จะเห็นว่ารางวัลต่างๆ คือเรื่องปกติ เป็นกระบวนการหนึ่งของการงานอันเหนื่อยหนัก นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักศิลปกรรม นักวิจัย นักวิจารณ์ นักแปล นักทำหนัง นักสิทธิ นักต่อสู้ทางการเมือง และนักอะไรต่างๆ เท่าที่จะมีชื่อเรียกกัน แต่ละองค์กรล้วนแต่มีรางวัลใดรางวัลหนึ่ง ประเมินค่าจากดอกผลของการงานกันทั้งนั้น ในแวดวงวรรณกรรมก็ไม่ต่างกัน
เรามีรางวัลใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก นับแต่อรุณรุ่งของศตวรรษที่ 20 ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อรางวัลโนเบล หากไม่โกหกตนเอง นักเขียนทั้งโลกย่อมใฝ่ฝันอยากได้รางวัลนี้ ในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ทุกประเทศก็มีรางวัลผุดขึ้นเยอะแยะมากมาย พูลิตเซอร์ บุ๊คเกอร์ กงกูร์ อากุตะงาวะ แต่ละประเทศก็มีรางวัลแยกย่อยยิบย่อยลงมาอีก รางวัลศรีบูรพา พานแว่นฟ้า อุชเชนี ล่าสุดมติชน อะวอร์ดกลับมาอีกรอบ
หรือแม้แต่รางวัลของชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือก่อนหน้านี้ไม่นานเราก็มีรางวัลหนึ่งชื่อว่ารางวัลปีศาจ ปรากฏตัวใหญ่โตโอ่อ่า มีสื่อประโคมข่าว มีปัญญาชนที่ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าสนับสนุน เงินรางวัลเจ็ดหลัก ซึ่งว่ากันว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์การประกวดรางวัลทางวรรณกรรมของประเทศไทย
แต่ปีศาจตัวที่ว่าก็ปรากฏกายเพียงวูบเดียว ไม่ทันไรก็หายวับไป คล้ายปรากฏกายขึ้นมาหลอกหลอนตัวมันเอง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ผมไม่รู้ว่ามีความจำเป็นหรือเปล่า แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ รางวัลใดรางวัลหนึ่ง ถ้าก่อเกิดขึ้นมาจากเนื้อดินของความปรารถนาดี ปรารถนาดีต่อพัฒนาการของการอ่านการเขียน สืบทอดส่งต่อความงอกเงยทางวัฒนธรรม มันย่อมเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ
แต่ถ้าก่อเกิดจากอคติชุดใดชุดหนึ่ง หรือทำเพื่อจะเอาชนะคะคาน ถมความขาดพร่องของตน มันก็ดูตลกไปหน่อย พูดกันถึงที่สุด เราน่ามองรางวัลทุกรางวัลให้เป็นกิจกรรมปกติของแต่ละแวดวง คนทำหนังนอกกระแสส่งผลงานไปประกวดรางวัลก็เป็นเรื่องปกติ จำเป็นหรือเปล่า ไม่รู้ คนทำหนังที่ใฝ่ฝันว่าจะได้ไปเดินบนพรมแดงรางวัลออสการ์ เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมไหม
หนังของอภิชาติพงศ์ได้รางวัลมาจากต่างประเทศ เราควรภูมิใจไหม นั่นแหละ รางวัลจำเป็นไหม ไม่รู้สิ พื้นที่ของการเสพซับรับรู้แผ่ขยายออกไปไหมล่ะ ใช่ แน่นอนที่สุด จะว่าไป แง่หนึ่งรางวัลก็เป็นตัวกระตุ้นให้คนทำงานสร้างสรรค์ตื่นตัว ทะเยอทะยาน ด้านดีอาจพูดได้ว่า รางวัลคือเครื่องมือตอบสนองทางเลือกและความต้องการเบื้องลึกของมนุษย์ก็ไม่ผิด
แต่ในสังคมที่แตกแยกแตกร้าวทางการเมือง รางวัลบางรางวัลก็ย่อมเปิดเปลือยความมืดดำในจิตใจของเราออกมาในรูปของอคติ อิจฉาริษยารวมหมู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าถามซ้ำผมก็จะตอบเหมือนเดิม รางวัลจำเป็นไหม ไม่รู้ แต่ผมจะบอกว่า หากคุณอยากเป็นนักเขียน โปรดนั่งลงทำงานสิ เรื่องอื่นๆ ค่อยคุยกันทีหลัง
รูปแบบการอ่านเปลี่ยนไป เป็นพวกจอยลดา ธัญวลัย webtoon ในสายตานักเขียนยุคกระดาษ มองวิธีการอ่านหรือการเขียนงานแบบนี้อย่างไร
คงไม่ต่างจากการดูหนังฟังเพลงสักเท่าไหร่นะ เหมือนทุกวันนี้เราก็ตรึงตัวเองอยู่กับ Netflix แทนที่จะเดินเข้าโรงหนัง หรือย้อนกลับไปก่อนนั้น เราเคยดูหนังกลางแปลง เคยดูจากม้วนวิดีโอ ต่อมาเราก็ดูจากแผ่น CD DVD การฟังเพลงก็เหมือนกัน จากวิทยุทรานซิสเตอร์ มาถึง Apple Music Spotify เครื่องไม้เครื่องมือเปลี่ยนผ่านไปเร็วมาก
ถึงอย่างนั้น ขั้นตอนการคิด หรือกระบวนการผลิต หลักๆ ก็เปลี่ยนไปไม่มากนัก หมายถึงตัวศิลปิน คนเขียนบท ผู้กำกับ หรือดารานักแสดง โลกของการเขียนก็คล้ายๆ กัน แม้พื้นที่การอ่านการเขียนจะมีตัวเลือกมากขึ้น หรือเริ่มมี AI คิดเขียนแทนนักเขียนมนุษย์ได้แล้ว แต่สำหรับนักเขียน
จนถึงตอนนี้ไม่ว่าจะใช้แพลตฟอร์มแบบไหน ผมว่าแทบทุกคนก็ยังฝันถึงการมีหนังสือกระดาษเป็นของตนเอง ยังไม่พูดถึงว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ยังฝันถึงการทำสำนักพิมพ์ใหม่ๆ และในจำนวนสำนักพิมพ์เหล่านั้น มีไม่น้อยที่พิมพ์งานวรรณกรรมคลาสสิกเสียด้วย ทั้งที่ผลงานเหล่านั้นหาอ่านได้ในโลกออนไลน์
บางทีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาจเหมาะกับข่าวสาร หรือมาแทนที่หนังสือพิมพ์รายวันมากกว่ามาแทนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค แต่ก็เป็นไปได้ว่าผมอาจคาดผิด จากปรากฏการณ์ ต้องยอมรับว่าพื้นที่ในโลกออนไลน์ก็แบ่งพื้นที่ทางกายภาพไปเยอะเหมือนกัน
แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เท่ากับความตกต่ำเลวร้าย เราทิ้งถ้ำกลางป่าลึกดึกดำบรรพ์มาอยู่อาคารบ้านช่องเพราะอะไร ดาร์วินก็บอกเราถึงการปรับตัวเพื่ออยู่รอด และหากว่าในอนาคตหนังสือกระดาษหมดความหมาย ไร้ความสำคัญไปจริงๆ โรงพิมพ์ก็จะกลายเป็นโกดังร้างๆ เครื่องพิมพ์ก็คงกลายเป็นรังปลวก ถึงอย่างนั้นผมว่านักเขียนก็จะยังรอด
บางความเห็นบอกว่า อ่านในทวิตเตอร์ สนุกและได้ความรู้กว่าอ่านวรรณกรรมไทย นักเขียนไทยตามสังคมไม่ทันแล้ว
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เคยกล่าวไว้ว่า ก่อนที่เราจะเปลี่ยนโลก เราจะต้องเข้าใจโลกเสียก่อน นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรไตร่ตรอง อย่างที่ผมพูดไว้ ศตวรรษที่ 21 พื้นที่และนิยามความหมายของหลายสิ่งหลายอย่างมันคลุมเครือ เลื่อนไหล เหลื่อมซ้อนทับ วัฒนธรรมการอ่านกับวัฒนธรรมการดูหรือวัฒนธรรมทางสายตาก็คลุมเครือไม่ต่างกัน บางคนสนุกกับการท่องคำคมสองสามวรรค บางคนก็สะสมความรู้บนโพสต์อิทออนไลน์ หลายคนสนุกกับตลกคาเฟ่
บางคนสนุกกับการค้นลึกลงไปในพื้นที่ของภูมิปัญญา บางคนก็สนุกในการผจญภัยไปในโลกแฟนตาซี แล้วแต่รสนิยม ความชอบ หรือจริตส่วนตัว บางทีเรามักสับสนระหว่างความรู้กับภูมิปัญญา แน่นอน แพลตฟอร์มของศตวรรษปัจจุบันช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ได้ง่ายแค่คลิกเดียว มีเครื่องไม้เครื่องมือแปลแปลงภาษาให้ใช้มากมาย แต่ตราบใดที่เราไม่รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ บดย่อย ความรู้เหล่านั้นก็ยังไม่ใช่ภูมิปัญญา เหมือนการจดจำถ้อยคำจากหนังสือที่อ่าน แล้วพ่นออกมาโดยไม่ทันได้เคี้ยว นั่นแค่ข้อมูลความรู้ ไม่ใช่ปัญญา
ต้องยอมรับว่าการอ่านเป็นเรื่องที่ผูกพ่วงกับรสนิยมด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการอ่านเองก็มีหลายแบบหลายความหมาย โรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) บอกว่า วรรณกรรมสมัยใหม่เป็นมากกว่าผลผลิตของผู้แต่ง ตัวบทเป็นพื้นที่ทางความคิดของนักอ่านด้วย บาร์ตส์บอก การอ่านสมัยใหม่ไม่ควรถูกครอบงำโดยนักเขียน หมายถึงการอ่านคือการสร้างความหมายใหม่ๆ ไปด้วย ในแง่นี้ การไม่อ่านคือการเสียโอกาสในการค้นหาความหมายใหม่ๆ ยังไม่พูดถึงว่า เราอ่านนิทาน อ่านวรรณคดี หรืออ่านวรรณกรรมบางเล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะอะไร
ผมเข้าใจว่าเราอาจไม่ได้คาดหวังการค้นพบทางปัญญามากไปกว่าความบันเทิง หรืออาจทบทวนข้อคิดบางอย่าง รื้อดูความทรงจำบางชุด หรือมากกว่านั้น เราอาจค้นพบความหมายใหม่ๆ จากนิทานเรื่องเก่าๆ หรือตัวบทเดิมๆ จากหนังสือที่เราอ่านซ้ำๆ สิ่งเหล่านี้สอนเราเรื่องการคิด การวิเคราะห์ ถอดรหัสความหมายที่ซ่อนซุกอยู่ระหว่างบรรทัด และนี่อาจคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงเรียนวรรณคดี
แม้แต่นักรัฐศาสตร์อย่าง อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ยังข้ามศาสตร์มาวิเคราะห์วรรณกรม ถอดรหัสทำความเข้าใจสังคมการเมืองได้อย่างลุ่มลึก แหลมคม
เหล่านี้คือการยืนยันว่า การอ่านคืออิสรภาพ การไม่อ่านหรือการอ่านเพียงแบบใดแบบหนึ่งคือการจองจำตนเองไว้ในมุมแคบๆ มีแนวโน้มจะมองเห็นโลก ชีวิต และความจริงเพียงด้านเดียว อย่างที่บอก การอ่านเป็นเรื่องของรสนิยม รสนิยมทางปัญญามีส่วนอย่างยิ่งต่อพัฒนาการประชาธิปไตย และทำความเข้าใจสังคม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คำถามและความรู้สึกที่คุณโยง ก็คือจิตวิญญาณประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ซึ่งควรรับฟัง ส่วนการตามทันกระแสกับถูกกระแสลากพาไป มองผิวเผินคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน ดูคลุมเครือ และผิวเผิน เหล่านี้คือสิ่งที่ถกเถียงกันได้ ถกเถียงและร่วมกันคิดพิจารณา
ในวงการสื่อมีข้อถกเถียงเรื่องเส้นแบ่งระหว่าง journalist กับ content creator หมายถึงด้านบทบาทว่าใครกันแน่ควรเรียกว่าสื่อ ในแวดวงนักเขียนมีการถกเถียงเส้นแบ่งประมาณนี้บ้างไหม เช่น ระหว่าง writer กับ content creator ใครกันที่เป็นนักเขียน
พูดกันตามตรง ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย นกทุกชนิดก็คือนก บางตัวสีสวย บางตัวเสียงร้องไพเราะ แต่ละตัวมีคุณค่าความหมายเฉพาะของมันเอง ไม่ต่างกัน นิยามความหมายของหลายสิ่งหลายอย่างย่อมต้องคลี่เคลื่อนเลื่อนไหล แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จะ writer หรือ content creator แต่ละฝ่ายก็คือนักเขียนด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครจะเลือกทำงานแบบไหน นิยามตัวเองยังไง
ผมไม่มีปัญหากับอะไรแบบนี้ เหมือนที่พูดไว้ ไม่ว่าเราจะหยิบยืมท่วงท่าหรือข้อมูลการเขียนแบบไหนมาใช้ มีความพร่าเลือนยังไง ถึงที่สุดงานมันก็บ่งบอกลักษณะเฉพาะของมัน อีกอย่างที่อยากจะพูด จากการสังเกตมาตลอดตั้งแต่โลกออนไลน์ และการเขียนการอ่านบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนถึงขณะนี้ ทุกตัวบท ทุกคอนเทนต์ ล้วนแต่มีความฝันอยากปรากฏตัวตนบนหนังสือกระดาษกันแทบทั้งนั้น
โซเชียลมีเดียต่างๆ ช่วยสร้าง หรือทำลายนักเขียน
ไม่มีอะไรหรือสิ่งใดทำลายความเป็นนักเขียนของเราได้หรอก โซเชียลมีเดียต่างๆ นอกจากเป็นเครื่องมือ เป็นทางเลือกใหม่ๆ แล้ว เรายังเห็นโลกทั้งใบเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า ผมนึกไม่ออกว่ามันจะทำลายนักเขียนยังไง อีกอย่าง
ถ้าพูดกันในฐานะเครื่องมือ ผมไม่เห็นว่าการเขียนต้นฉบับด้วยพิมพ์ดีดจะทำลายนักเขียนคนใดคนหนึ่งที่เคยเขียนด้วยดินสอ ไม่เคยเห็นว่าการพิมพ์ต้นฉบับกับโน้ตบุ๊คจะทำลายนักเขียนที่เคยใช้พิมพ์ดีดทำต้นฉบับ เครื่องมือใหม่ๆ มีแต่จะช่วยให้เราทำงานสะดวกขึ้น โซเชียลมีเดียอาจเคลื่อนย้ายพื้นที่เชิงกายภาพของหลายสิ่งหลายอย่างมาวางไว้ตรงปลายนิ้วของเรา อย่างสำนักข่าว ห้องสมุด โรงหนัง และอื่นๆ แต่มันก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าความหมาย หรือกระดูกสันหลังของสิ่งดังกล่าวเหล่านั้น
ในสายตาคุณ มีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่น่าติดตาม หรืออยากให้คนช่วยกันจับตาไหม
หากเราไม่มีปัญหากับนิยามว่าใครคือนักเขียนหรือใครไม่ใช่ ผมว่า เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นคนหนุ่มที่น่าสนใจ คนที่จะเป็นกวีหรือนักเขียน ผมว่าควรมีความสนใจใฝ่รู้ และหาญกล้าแบบเนติวิทย์
ความอิจฉาริษยาในตัวนักเขียนต่อนักเขียนคนอื่น เป็นปีศาจกัดกินจิตวิญญาณหรือเป็นแรงผลักให้สร้างงาน
ในโลกของการเขียน ผมอิจฉาตนเองที่มีเรื่องรอให้เขียนให้เล่าเยอะมาก ก็เลยนึกไม่ออกว่าเคยอิจฉาใครอื่นเรื่องใดบ้างหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ของผม ในฐานะคนผู้ถูกอิจฉาริษยาอยู่บ่อยๆ พูดได้เลยว่าความอิจฉาริษยาทั้งหลายทั้งปวงที่สาดซัดมา ล้วนคือแรงขับอันแสนวิเศษสำหรับการทำงานชิ้นใหม่ๆ แมวดื้อรั้นอย่างผม จะบอกความลับให้ก็ได้ หากอยากฆ่าผม โปรดจงสรรเสริญเยินยอ (หัวเราะ)
จากคำถามเมื่อกี้ สมัยนี้คนเราเข้า Facebook เห็นแต่ชีวิตด้านดีๆ ของคนอื่น จึงเกิดอาการจิตตกจากการอิจฉา คุณมีวิธีบริหารอารมณ์อย่างไร
ไม่เลยครับ ผมมีชีวิตที่ต้องบริหารจัดการของผมเอง ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาดพร่องโดยเฉพาะในโลกของการเขียนการอ่าน ผมไม่อิจฉาใครเลยในประเทศและในโลกใบนี้ ผมคือจักรพรรดิในดินแดนของผม ผมคือซามูไรเร่ร่อนในสมรภูมิของผม ผมคือสัตว์โทนที่ภาคภูมิใจในความโดดเดี่ยวของตนเอง โดดเดี่ยวและไม่กลัวที่จะยืนยันสิ่งที่ตนคิดและเชื่อ
มีหลายความเห็นบอกว่า ทำไมคุณต้องมีท่าทีกวน (เซ็นเซอร์) ต่อประเด็นทางการเมืองต่างๆ
(หัวเราะ) ทำไมไม่คิดว่านั่นเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งพยายามทำให้กระบวนการต่อสู้ทางประชาธิปไตยเข้ารูปเข้ารอยล่ะ ทำไมไม่คิดว่านั่นคือการต่อสู้ในแบบของผม เออ.. ก็แปลกดี ทำไมผมถึงจะเลือกท่าทีกวนตีนแบบนั้นไม่ได้ล่ะ ประชาธิปไตยแบบไหนกันที่จะต้องทำตัวให้ไหลไปในร่องรางเดียวกันและเป็นแบบเดียวกันหมด
ว่าไปแล้วก็เข้าใจได้ไม่ยากหรอก ท่าทีกังขาประชาธิปไตยของผม ย่อมถูกสายตาอื่นมองกลับมาด้วยความกังขาเช่นเดียวกัน แต่นั่นคือการเลือกที่จะเป็นตัวเอง เลือกที่จะโดดเดี่ยวและไม่เป็นพวกไหนเลย ผมรู้ การยืนยันความคิดความเชื่อโดยลำพัง มันไม่ง่ายเหมือนกระโจนลงในกระแสใดกระแสกระหนึ่ง แล้วไหลตามๆ กันไป
ที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่า เราเข้าใจว่าทางเลือกมีแค่ 2 ทาง ถ้าไม่ซ้ายก็ขวา ถ้าไม่มาร่วมกับก้าวหน้าก็คือล้าหลัง ทำไมไม่คิดว่ามันมีทางเลือกอื่นๆ นอกจาก 2 ฝั่งนั้น ผมยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอดที่จะไม่กระโจนลงไปสังกัดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในสมรภูมิใดสมรภูมิหนึ่งซึ่งขับเคี่ยวกันอยู่ ผมยืนอยู่ตรงรอยเลื่อนของความขัดแย้ง นั่นคือมุมมองจากรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ผมยืนอยู่ตรงเขตแดนขอบโค้ง นั่นคือมุมมองของหยินหยาง
พยายามสำรวจตรวจตราขอบฟ้าของความขัดแย้ง ทำไมไม่คิดว่าผมกำลังต่อสู้อยู่ในสมรภูมิของตนเอง ด้วยวิธีของตนเอง ไม่หลงกล ไม่หลงทางว่าตนคือใคร นั่นคือการต่อสู้ในสมรภูมิวรรณกรรม ผมจึงไม่เลือกรินไหลไปตามลำรางหรือสมรภูมิของคนอื่น ผมยืนยันมาตลอดความขัดแย้งอันยาวนาน ท่ามกลางความพร่าเลือนที่แต่ละฝ่ายแต่ละฝั่งจ้องมองมา ขณะผมชัดเจนอย่างยิ่งว่าผมไม่เอารัฐเอาเปรียบ
ช่วงปี 2549 งานเขียนชิ้นหนึ่งของผมโดนดีดเด้งจากรางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้า ด้วยข้อกล่าวหาว่าทำลายความมั่นคงของชาติจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ห้วงเวลานั้นไม่เห็นว่ามีนักประชาธิปไตยหน้าไหนร่วมส่งเสียงปกป้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางความคิดของงานเขียนชิ้นหนึ่งเลยสักคน ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่าผมต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยลำพังมาตลอด
หลายปีต่อมาผมพบว่ามีนักเขียนนักบุกเบิกการละครสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 ชาวนอร์เวย์ชื่อเฮนริก อิบเสน (Henrik Ibsen) ที่ตลอดชีวิตเขายืนหยัดต่อสู้กับทุกฝ่ายเพียงลำพัง ซึ่งผมรู้สึกว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ผมกำลังต่อสู้อยู่ อิบเสนกล่าวไว้ว่า คนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกคือคนที่ยืนอยู่โดยลำพัง (“..that the strongest man in the world is he who stands most alone..”) คืออิบเสนเป็นนักปฏิวัติทางความคิด เขาไม่เคยออกไปร่วมขบวนการต่อสู้ ไม่ว่าบนเวทีการเมืองหรือบนถนน
แต่เขากบฏต่อทุกกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนคร่ำคร่าล้าสมัยที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นสังคมวิคตอเรียผ่านศิลปะการละคร อิบเสนยืนยันหนักแน่นว่าเขาไม่เป็นพวกใคร ไม่เป็นคนของฝ่ายไหน ภารกิจของเขาคือการเสนอความคิดผ่านบทละคร ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของผม
ผมเคยมีประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนประชาชนคนอื่นๆ บนถนนราชดำเนินพฤษภา ปี 2535 ตอนนั้นผมทำอยู่ที่หนังสือพิมพ์มาตุภูมิการเมืองรายสัปดาห์ ครั้นเสียงปืนนัดแรกระเบิดขึ้น เด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกหามผ่านหน้าผมซึ่งยืนอยู่บนถนนหน้าร้านริมขอบฟ้า จากนั้นผมก็เดินไปหยอดเหรียญ โทรกลับออฟฟิศแถวหลักสี่ พี่เซีย การ์ตูนนิสต์รับสาย ผมกรอกเสียงลงไปว่ายิงกันแล้ว พี่เซียบอกให้รีบกลับออฟฟิศ มาช่วยปิดเล่ม นั่นคือเช้าวันเดียวกับที่มหาจำลองโดนรวบตัว
ทำไมคุณไม่แสดงออกให้ชัดไปเลยว่า อยู่ฝั่งคนเท่ากัน ฝั่งที่เรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างสังคมทุกมิติอยู่ขณะนี้
ผมมีสมรภูมิของตนเอง หากใครอ่านผลงานของผมก็จะรู้ว่าผมชัดเจนอย่างยิ่งในจุดยืนที่พูดไว้ เพียงแต่ว่าเป็นจุดยืนที่แทบไม่มีใครเลือก เป็นจุดยืนที่ไม่มีใครฝ่ายใดเห็นว่าเป็นจุดยืน คือไม่เป็นคนของฝ่ายไหนเลย นอกจากเป็นพวกไม่เอารัฐเอาเปรียบ ผมพยายามยืนยันถึงเสรีภาพของปัจเจก บนหลักการประชาธิปไตย แต่กลับถูกมองว่าไร้จุดยืน หรือมีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน
เหตุเพราะความขัดแย้งถูกบีบอัดและลดทอนให้เหลือเพียงแค่ 2 ฝั่ง แต่ผมเห็นทุกฝั่งทุกฝ่ายต่างมีด้านมืดและน่ารังเกียจปนเปกันไป มีความจริงที่พูดไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผมกังขาวาทกรรม ก้าวหน้า? ตาสว่าง? ประชาธิปไตย? คนเท่ากัน? แล้วคนฝ่ายไหนล่ะ ฝ่ายที่ตนเองสังกัดหรือเปล่า แล้วอีกฝ่ายล่ะ ก็เห็นแต่ละฝ่ายต่างกดเหยียดกันโครมๆ แทบทุกนาทีในโลกออนไลน์ แต่นักต่อสู้จำนวนไม่น้อยในประเทศนี้เป็นพวกไม่อ่านหนังสือ หรือไม่ก็เป็นปัญญาชนที่ไม่สนใจการอ่าน พวกเขาจึงไม่อ่านสิ่งที่ผมคิดที่ผมเขียน บางกลุ่มเป็นมนุษย์อัจฉริยะ วิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างทุกเรื่องเกี่ยวกับผม โดยไม่เคยรู้ว่าผมคิดผมเขียนอะไรไว้บ้าง
ในบรรดานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่จริงจังจริงใจที่สุด จนถึงตอนนี้ ไม่มีใครน่านับถือเท่ากับ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เลยสักคน แกมั่นคง แน่นแน่ว ไม่อิงผลประโยชน์ทางการเมืองของใครหรือฝ่ายไหน ดูอย่างตอนนี้สิ กลุ่มที่เรียกตนเองว่าเสื้อแดง ก้าวหน้าตาสว่างหลายกลุ่มต่างทุบตีกันเอง แฉกันเอง ไม่ต่างจากวาระสุดท้ายของเหล่าสหายก่อนป่าแตกในทศวรรษ 2520
ประวัติศาสตร์การต่อสู้เชิงอุดมคติทั่วทั้งโลกในศตวรรษที่ 20 พอถึงจุดหนึ่งก็แตกหักกันเอง ในประเทศเราตอนนี้ ฝ่ายที่เชียร์ทักษิณจำนวนไม่น้อยก็หันหัวเรือกลับลำกันแทบไม่ทัน เมื่อรู้ว่าทักษิณเป็นแค่นักฉวยใช้วาทกรรมประชาธิปไตย เป็นนักฉวยโอกาส เป็นนักธุรกิจการเมือง เขาเปลี่ยนรากหญ้าซึ่งเคยเป็นคู่ตรงข้ามกับทุนนิยม ซึ่งก็คือเขาเอง ให้กลายเป็นไพร่เพื่อต่อสู้กับกลุ่มอำมาตย์และและสถาบันฯ
ถึงวันนี้ทักษิณหันมาหมอบราบกรานคลานแทบเท้าสถาบันที่เคยปลุกให้คนเสื้อแดงลุกขึ้นสู้ หลายคนเสียชีวิต หลายคนติดคุก ถามว่า ณ วันนี้ เราจะยังเรียกคนที่หลงเชียร์ทักษิณตอนนั้นว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ตาสว่าง หรือฝ่ายประชาธิปไตยอยู่อีกหรือไม่ ด้วยเหตุดังที่ว่ามา ผมจึงมักกังขากับวาทกรรม ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ง่ายหรอกที่จะพ่นถ้อยคำสำเร็จรูปออกมาแบบนั้น แต่พฤติกรรมและการกระทำล่ะ
ก้าวหน้าแบบไหนในเมื่อยังเกาะติดและปกป้องตัวบุคคล ลอยตัวเหนือความถูกผิด แตะต้องไม่ได้เช่นเดียวกับฝ่ายที่ตนเองกำลังต่อสู้ ประชาธิปไตยอะไรกันถึงปิดกั้นทุกความเห็นต่าง ผมกังขาวาทกรรมและโวหารต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่กังขาต่อหลักการประชาธิปไตย ส่วนเผด็จการนั้น ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว ว่าพวกเขาเก่งในเรื่องป้อนปรนประชาชนด้วยความสิ้นหวัง จึงไม่มีอะไรให้กังขา
ว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในบ้านเมืองเรา ก็แทบไม่ต่างจากที่ปังกัช มิชรา (Pankaj Mishra นักเขียนอินเดีย) กล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยดูเหมือนเกมที่พวกมีอำนาจเล่นโกงกัน
นิยามคำว่าประชาธิปไตยของคุณคืออะไร
ทั้งหมดที่พูดไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือการพยายามทำความเข้าใจประชาธิปไตย ผมบอกตนเองเสมอว่าอย่าพยายามถามหาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่จงถามหาประชาธิปไตยที่มั่งคั่ง มั่นคง มั่งคั่งเรื่องอิสระและเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพทางความคิด มั่นคงในความเป็นอยู่ ชีวิตมีหลักประกัน มีความฝัน มีหลักยึด
และในฐานะนักเขียน ผมเชื่ออย่างที่มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum) ศาสตราจารย์นักปรัชญาชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า งานเชิงมนุษยศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม คือกระบวนการสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ วุฒิภาวะทางประชาธิปไตย
เมื่อเรามีวุฒิภาวะมากพอ เราก็จะรับฟังเหตุและผลกันได้มากขึ้น รู้จักและเข้าใจการอยู่ร่วมกับคนอื่นมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมา ผมจึงยืนหยัดต่อสู้ในสมรภูมิวรรณกรรม สมรภูมิของผม ตามวิธีของผม
เห็นอย่างไรกับการปฏิรูปสถาบันฯ
ทุกองค์กร ทุกสถาบันที่ไม่ตอบสนอง หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยจำเป็นต้องปฏิรูป แน่นอนที่สุด สถาบันศรัทธาอันเก่าแก่ยิ่งต้องปฏิรูป มาตรา 112 นั่นก็ด้วย คือ มาตรา 112 โดยตัวมันเองก็มีปัญหา มันจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือว่า มันถูกฉกใช้ในทางการเมือง ถ้าจะขอหยิบยืมถ้อยคำของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาเทียบใช้ในกรณีนี้ ก็ต้องบอกว่า มันถูกฉกใช้โดย ‘ผู้เกินกว่าราชา’
อยากฝากอะไรถึงสังคมไทย ในฐานะประชาชน
พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทับซ้อนซ่อนเร้นของอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ พยายามทำความเข้าใจต่อภาพลวงตาของประชาธิปไตย ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง ผมไม่มีของฝากอะไรเป็นพิเศษนอกจากผลงานเขียน ทั้งที่เผยแพร่ไปแล้ว ทั้งที่กำลังจะเผยแพร่ในอนาคต
และสำหรับรัฐไทย ควรตระหนักไว้ว่า ยาพิษถ้วยที่รัฐเอเธนส์บังคับให้โสกราตีส (Socrates) ดื่มถ้วยนั้น ทำให้เขากลายเป็นอมตะตลอดกาล