‘รางวัลศิลปาธร’ เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่หลายคนน่าจะเคยได้เห็นชื่อผ่านตากันมาเมื่อไม่นานนี้ หลังจาก วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้รับรางวัลสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งที่ผ่านมามีนักเขียนหลายคนไม่ว่าจะเป็น ชาติ กอบจิตติ, แดนอรัญ แสงทอง, ปราบดา หยุ่น และอุทิศ เหมะมูล เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกในปีก่อนหน้า โดยรางวัลนี้คือรางวัลที่ต้องการส่งเสริมศิลปินร่วมสมัยในสาขาต่างๆ ให้มีกำลังใจในการทำงานด้านศิลปะต่อไป
คำถามคือ แล้ว วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นใคร
อาจจะพูดได้ว่า วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คือ นักเขียนที่ฝากผลงานไว้มากมายทั้งหน้ากระดาษและโลกออนไลน์ เป็นคนในโลกวงการน้ำหมึกที่หลายคนยอมรับ ไม่ว่าจะบทสัมภาษณ์ ความเรียง เรื่องสั้น อย่าง เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง, ที่เกิดเหตุ, แด่บัณฑิต, มีตำหนิ หรือ วัยหนุ่ม
หรือจะบอกว่า วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คือ ผู้ทำให้คำว่า ‘นักสัมภาษณ์’ มีความหมายขึ้นมา และเขาคือนักสัมภาษณ์มือหนึ่งที่หลายคนยกย่อง ผ่านการใช้เวลาคลุกคลีกับแหล่งข่าวมากกว่า 3 ชั่วโมง บางทีก็ข้ามวัน บางทีก็เป็นสัปดาห์ เพื่อจะเข้าใจผู้ให้สัมภาษณ์มากที่สุด เพื่อกะเทาะเปลือกของคนที่ถูกถามและกลั่นมาเป็นงานสัมภาษณ์ที่เห็นชีวิตและตัวตนจริงๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นหนังสือ Portrait ธนาธร ที่ถอดชีวิตของนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเป็นตัวอักษรกว่า 317 หน้า
และนั่นคือ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ หรือ ‘พี่หนึ่ง’ ในสายตาของผู้เขียนก่อนจะได้เจอกัน เป็นการทำความรู้จักผ่านหน้ากระดาษจากหนังสือบางเล่ม จากบทความบางชิ้นบนโลกออนไลน์ จากการได้ฟังชื่อเสียงเรียงนามมาหลายหน จากการที่เขาเป็นศิษย์เก่าคณะอักษรฯ ศิลปากรเฉกเช่นเดียวกัน โปสการ์ดจากทับแก้ว คือหนึ่งในหนังสือที่ผู้เขียนมักจะได้ยินตอนเรียนอยู่ที่นั่น ไหนจะความทรนงที่เป็นคำบรรยายของเขาผ่านปากหลายคน ซึ่งฟังดูเท่อย่างน่าประหลาด
ผู้เขียนเคยคิดว่าชายที่ชื่อวรพจน์ต้องมีพรจากสวรรค์บางอย่าง หรืออาจมีชีวิตในอดีตไม่ธรรมดา ต้องมีคลังความมหัศจรรย์ มีช่วงเวลาและความทรงจำที่เต็มไปด้วยการผจญภัยและสนุกสนาน ต้องมีความฝัน ความมุ่งมั่น เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ว่าจะต้องเป็นนักเขียนชื่อดัง และเดินทางถึงฝันได้สำเร็จ
บทสนทนาระหว่าง ‘นัก(หัด)สัมภาษณ์’ กับ ‘นักสัมภาษณ์มือหนึ่ง’ อย่างเขาจึงเกิดขึ้นที่ร้านอาหารริมน้ำแห่งหนึ่งย่านบางลำพู สถานที่ที่พี่หนึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่มาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในยามเย็นวันนั้นที่อากาศไม่ได้ร้อน และมีลมพัดแผ่วๆ มีกาแฟหนึ่งแก้ว กับสมุดจดลายการ์ตูนรวมถึงปากกาธรรมดาๆ หนึ่งแท่งที่ชายตรงหน้าวางเอาไว้ เหมือนชีวิตและการเดินทางของเขานั้นพร้อมที่จะถูกจดบันทึกได้ตลอดเวลา
บทสนทนาครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อพยายามค้นหาที่ทางและความหมายของวงการสื่อผ่านชายที่ใช้ชีวิตมาเกือบครึ่งศตวรรษและยืนอยู่บนเส้นทางการเขียนมายาวนาน เพื่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งเป็นตำนานแห่งยุคสมัยหนึ่งที่หลายคนเคารพ เพื่อทำความรู้จักกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ว่าเขามีแสงสว่างในตัวเองอย่างไร
ตอนสมัยเรียน พี่หนึ่งสนใจอะไรเป็นพิเศษ หรือมีเป้าหมายอยากเป็นนักเขียนแต่แรกเลยมั้ย มีความฝัน?
ความฝันมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มันไกลเกินไปสำหรับเรา
เอาจริงๆ เราเรียน ม.ปลายแบบไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้มีความปรารถนาอะไร ไม่ได้มีเป้าหมายอะไร
เรียน ม.ปลายจากการเลือกว่าเรียนอะไรก็ได้ที่ไม่มีเลข ก็เลยไปลงที่ศิลป์-ฝรั่งเศส ทีนี้พอจบ ม.ปลาย ก็เชื่อมต่อคณะที่มันเรียนฝรั่งเศสต่อได้ แล้วเราเรียนที่ราชบุรี มันมีโควต้าของคณะอักษรฯ ศิลปากร โควต้าภาคตะวันตก ก็สอบโควต้าแล้วได้เรียน คือไม่ได้เรียนเพราะว่ารู้อะไร อย่างที่บอกอะ ไม่ได้ชอบ ไม่ได้มีเป้าหมายอะไร แต่ว่ามันเกลียดเลข แล้วก็เลยมาเจอฝรั่งเศส เรียนฝรั่งเศสมาแล้ว ก็เลยเรียนฝรั่งเศสต่อไป ก็แค่นี้
เพราะการศึกษาของบ้านเราทำให้คนเรียนไม่เจอตัวเองด้วยรึเปล่า
คือจะพูดงั้นก็ได้ ว่าการศึกษาไม่ทำให้เจอตัวเอง หรือจะพูดว่าเป็นความเหลวไหลส่วนตัวของเราเองก็ได้
คือนักเรียน ม.6 มี 10 ห้อง ห้องหนึ่งก็ประมาณ 50 คนอะไรแบบนี้ แต่สมมติเราจะบอกว่าเป็นความเหลวไหลของเราคนเดียว เพื่อนอีก 50 คนในห้องมันก็ไม่เห็นรู้ ก็พอๆ กันอะ คือทั้งห้องอาจจะรู้กันประมาณ 3 คน แต่ว่าคนส่วนใหญ่มันไม่ค่อยจะรู้ ทั้งที่ก็มีวิชาแนะแนว งั้นมันก็เลยออกมาลักษณะแบบเลยตามเลย อยู่ไปวันๆ แล้วแต่ว่าพอจบแล้วจะยังไงต่อ ดิ้นรนไปแบบไม่ค่อยมีทิศทาง ไม่ค่อยมีเป้าหมาย แบบจบ ม.1 ม.2 ม.3 ต่อ ม.4 ม.5 ม.6 ไปงั้นๆ ตามที่มี ตามที่พ่อแม่ส่งให้เรียน
ก็เป็นเรื่องปกติ จริงๆ คนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย
มันก็เริ่มต้นด้วยแบบนั้นอยู่แล้ว คือเรารู้ว่าเราไม่ชอบอะไร
แต่เราไม่รู้ว่าเราชอบอะไร นี่คือปัญหาของทุกยุคทุกสมัย
ซึ่งถ้าใครเจอเร็ว รู้เร็ว มันก็ดี มันก็มีคนที่รู้เร็ว ตั้งแต่อายุ 12 มันก็มี แต่เท่าที่เราเจอมาโดยมากเนี่ย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ พอไม่ค่อยรู้ มันก็เหมือนกับว่าต้องลองทำไปเรื่อยๆ
แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษามันเป็นทางเดียวที่จะพัฒนาเราไปได้
อะไรทำให้พี่หนึ่งมาบรรจบกับการทำงานด้านการเขียน
มันเกิดจากการที่เราตกงาน ตกงาน ตกงาน แล้วเราหางาน แล้วเราได้งานเป็นนักข่าว ซึ่งไม่ได้ชอบแต่แรก แต่ว่าสมัครไปทุกอย่าง ตามวุฒิปริญญาตรี จากที่ไปเปิดหนังสือพิมพ์ดู เขารับอะไร สมัครแม่งส่งเดชไป อะไรก็ได้ที่วุฒินี้มันพอจะทำได้ เพื่อที่ว่าเราจะได้มีเงินเลี้ยงตัวเอง
เราไม่ได้เริ่มจากความปรารถนา นั่งอยู่ที่บ้าน อยากจะเป็นนักเขียน เราเริ่มจากการหางานไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ไม่เคยรู้ ไม่เคยทำอะไร ไม่เคยสนใจอะไรมาก่อน แต่พอไปทำแล้วมันชอบ ทำข่าว เขียนข่าว สัมภาษณ์ รายงานข่าว ทำข่าว 4 ปี แล้วก็มาทำแม็กกาซีน
จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือสิ่งที่เราชอบจริงๆ
ยิ่งทำยิ่งมันไง ไม่อยากเลิก
อาจจะเรียกได้ว่าพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้แล้วด้วยรึเปล่า
สิ่งที่คิดที่เขียนมันก็ดิ้นรนไปทุกวัน ไม่ใช่ว่าชอบอาชีพนี้แล้ว แฮปปี้ทุกวินาที ปัญหามีเยอะแยะ คิดหรือเขียนหนังสือไม่ได้ก็มีปัญหา มันไม่ได้เขียนได้ทุกวัน บางทีมีเรื่องอยู่ อยากจะเขียนแบบนี้ แต่เขียนไม่ได้ มันไม่ได้ดั่งใจ ก็เป็นความทุกข์ ถึงเวลาวันหยุด มันไม่มีวันหยุดเหมือนชาวบ้านเขา ถ้ามันมีเรื่องที่คิดอยู่มันก็คิดอยู่ ไม่มีเสาร์อาทิตย์ มันไม่มี 5 โมงเย็น วันหยุดปีใหม่ สงกรานต์ที่เขาหยุดกัน
ถึงเป็นวันหยุดแต่เราก็ต้องคิด อาชีพพวกนี้มันเหมือนต้องคำสาปอะ เวลาแฮปปี้มันก็แฮปปี้มาก เวลาทุกข์มันก็ทุกข์มาก แล้วมันไม่มี office hour เหมือนบางอาชีพแบบ ห้าโมงเย็น สะบัดตูด จบ เลิกแล้วต่อกัน แต่เมื่อเราชอบมันเสียแล้วมันก็ตัดไม่ขาดไง แล้วก็ไม่อยากตัดด้วย ก็ยังอยากคิดอยู่ เพราะมันสนุก สนุกด้วยทุกข์ด้วยนั่นแหละ ความรู้สึกมันก็ปนกันไปตลอด
ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนจนตอนนี้ มองการทำงานด้านนี้เป็นยังไงบ้าง
งานที่ทำทุกวัน มันเหมือนขยับพื้นที่จากผู้สื่อข่าวหรือคนที่รายงานข่าวเฉยๆ ขยับไปเรื่อยๆ เหมือนเดินรุกเข้าไปในพรมแดนของคนทำงานศิลปะมากขึ้น
ทุกๆ วันที่เขียนข่าวอยู่ก็คิด เราอยากทำให้ดีไปเรื่อยๆ ก็หาไปเรื่อยๆ ว่าจะทำให้ดียังไง แล้วก็กลายเป็นชอบมากขึ้น ชอบมากขึ้น ชอบอ่านหนังสือ อยากจะเขียนหนังสือให้ดี จากเขียนข่าวก็มาเขียนสารคดี สนใจการอ่านการเขียนบทกวี อ่านนวนิยาย อ่านเรื่องสั้น ชอบฟังเพลง เหมือนถ้าเรามองกันว่าในโลกของการเขียน มันมีสองสายก็คือ fiction กับ non-fiction เรามาจาก non-fiction ไง มาจากสายข่าวเลย มาจากข้อเท็จจริงที่สุดในสาย non-fiction เนอะ แล้วเราก็ค่อยๆ ขยับมาสู่พรมแดนของบทกวีอะไรแบบนี้ เริ่มเปิด ความสนใจมันกว้าง มันไม่ได้หยุดแค่การเขียนข่าว เราสนใจงานเขียนทุกประเภท ไม่ได้กักขังตัวเองอยู่ว่าเขียนข่าวก็ต้องเขียนแบบข่าว
ถ้าอย่างนั้น ในเวลาที่อยากเขียนเรื่องไหนสักเรื่อง พี่หนึ่งมีวิธีเลือกประเด็นแบบไหน
วิธีเลือกว่าจะทำเรื่องอะไรก็คือ เลือกเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนทำ เรื่องที่แบบคนทำเยอะๆ แล้ว ไม่รู้จะไปทำซ้ำทำไม คือเราชอบความหลากหลาย เราไม่ชอบมองไปแล้วแบบ มีแต่ข้าวอย่างเดียว เราอยากให้มีผลไม้ เราชอบมีเครื่องดื่ม เราชอบเห็นความหลากหลาย เราไม่ชอบเห็นแบบเดียว สมมติมองไปในแวดวงสื่อ มันมีแต่เรื่องบันเทิงๆๆๆ อย่างเนี้ย เราก็จะเบื่อ ทั้งที่ตัวเองชอบเรื่องนี้ไหม ชอบ โคตรชอบเลย แต่มันทำกันเยอะแล้ว มันน่าเบื่อ ก็จะไปทำเรื่องอื่น
ถึงอย่างนั้น ในขณะที่อาชีพสื่อมวลชนมันเป็นอาชีพเล่าเรื่องและแสดงความเห็น แต่เพดานเรื่องสิทธิและเสรีภาพในเมืองไทยมันต่ำ มันยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดพอ เทียบกับนานาชาติ มันก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังพูดไม่ได้ พิมพ์ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็แค่สะสมข้อมูลไป ซึ่งมันก็ส่งผลต่ออาชีพเหมือนกัน เก็บไปเรื่อยๆ แต่บางที ไม่มีงานออกมาก็ไม่มีตังค์ใช้ ถูกปะ คนถามว่า เมื่อไหร่จะออกหนังสือใหม่ ไม่รู้จะออกได้ไหม เพราะเขาไม่ให้พิมพ์
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าสนใจอะไร มันไม่ได้เอาความสนใจเป็นตัวตั้งขนาดนั้น มันต้องดูความจริงด้วย
มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกของสื่อสารมวลชนผ่านการสังเกตของพี่หนึ่ง
ข้อชัดสุดก็เรื่อง ‘เวที’ ล่ะมั้ง จากกระดาษมันก็ย้ายมาอยู่ออนไลน์ พอสนามเปลี่ยน วิธีเล่นมันก็เปลี่ยน บอลโกลเล็ก บอล 5 คน 7 คน กับบอล 11 คนเนี่ยเล่นไม่เหมือนกัน บอลบนพื้นหญ้ากับบอลฟุตซอล มันคนละแบบ นักเตะบอลฟุตซอลเก่งให้ตายยังไง เอามาเล่น 11 คนก็เล่นห่วย คือมันคนละศาสตร์
งานบนหน้ากระดาษบางอย่าง ความรู้ ความถนัดนั้นมันก็ไม่เหมาะกับโลกออนไลน์ เพราะการอ่านบนโลกออนไลน์ มันเป็นอีกแพลตฟอร์มนึง พฤติกรรมการอ่านมันเสพกันคนละแบบ เพราะฉะนั้นคนทำงานก็ย่อมเคลื่อนไปบ้าง ตามสนามที่มันเปลี่ยน แต่ไม่เยอะนัก ภาพที่ชัดที่สุดคือสนามมันเปลี่ยน
คำพูดว่าหนังสือพิมพ์ตายแล้ว แม็กกาซีนตายแล้ว อะไรแบบนี้
สำหรับเราคำว่า ‘ตาย’ มันเป็นเรื่องแพลตฟอร์ม
หนังสือพิมพ์อาจจะตาย แต่นักหนังสือพิมพ์ไม่มีวันตาย นักเขียนไม่มีวันตาย คุณก็เปลี่ยนสนามไป เหมือนช่างภาพ ก็แค่เปลี่ยนสนามไป
แต่ทั้งนี้มันก็อยู่ที่ว่าบางคนแม่งก็ปรับตัวไม่ได้ไง มันก็มี ซึ่งก็ไม่รู้จะทำยังไง ช่วยไม่ได้ เป็นไดโนเสาร์ ปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์ไป มนุษย์มันเคลื่อนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่แล้ว มนุษย์คือตัวเรากับสิ่งแวดล้อม บางทีเราอาจจะจัดการตัวเราได้ แต่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้ มันก็อาจพ่ายแพ้เกมนั้นไป คือยุคนี้มันก็ต้องสัมพันธ์กับสนามอะ ตอนนี้บ้านใครจะซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน คงจะแบบเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ใช่ปะ ทุกอย่างมันก็อยู่ออนไลน์หมดแล้ว
ตอนนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าพี่หนึ่งคือนักเขียนดัง แถมมีรางวัลการันตี อย่างล่าสุดคือรางวัลศิลปาธร น่าจะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่างานของพี่ประสบความสำเร็จด้วย
ไม่มีอะไรสำเร็จ มันเคลื่อนไปเรื่อยๆ แต่ถามว่าชอบอาชีพนี้ไหม ชอบมาตั้งนานแล้ว อย่างที่บอกคือแน่วแน่มั่นคง ไม่มีความโลเล ไม่เคยมีความคิดที่จะเลิก ชัดเจนว่าจะทำอาชีพนี้ไปตลอด ทั้งความมั่นคงในทางจิตใจ ในทางความรัก ในทางการเลือก มันไม่ได้มานั่งคิดหรอกครับว่าประสบความสำเร็จมั้ย
ถ้าจะพูด มันก็เป็นเรื่องคุยกันเล่น แต่ส่วนตัวเรา เราก็คิดเรื่องงานที่เราทำ เพราะว่ามันยาก การเขียนหนังสืออะ คิดแค่เขียนให้ดีก็เหนื่อยแล้ว มันไม่ว่างไปคิดอย่างอื่นหรอก วันนี้เขียนให้ดีที่สุด ดีใจมาก พรุ่งนี้เขียนใหม่ก็เริ่มเหมือนเดิม ซึ่งไม่รู้จะออกมาห่วยรึเปล่า
สมมติคนถามว่า ทำบทสัมภาษณ์มานาน สัมภาษณ์มาเป็นพันคน ถามว่าสัมภาษณ์ยังไงให้ดีๆ เนี่ย ก็ไม่รู้หรอก ก็คือกูก็หาอยู่เหมือนกัน ประมาณนี้ ถ้ามึงรู้ มึงบอกกูด้วย
คือมันเปลี่ยนไปทุกวันไง โจทย์แต่ละคน เราอาจไปคุยกับคนเดิม แต่เวลาเปลี่ยน โจทย์ก็เปลี่ยน หมายความว่ามันเป็นอาชีพที่ผลิตซ้ำไม่ได้อะ คุณต้องคิดใหม่ตลอด ไม่ใช่คิดแก้วใบนี้ขึ้นมาได้แล้วอยู่ไปอีก 10 ปี ไม่ใช่แบบนั้น งานเขียนหนังสือต้องคิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันก็มีความรู้สึก ดีใจมากวันนี้ โห เขียนสุดยอด พรุ่งนี้ก็เริ่มต้นใหม่ ซึ่งไม่รู้เลย อาจจะดีมาก หรืออาจจะห่วยชิบหาย เป็นขยะ ก็คือไม่รู้เลย แต่หน้าที่คืออยากทำให้มันดี เพราะทำไม่ดีแล้วมันไม่มีความหมาย
ถ้าอย่างนั้นการมีอยู่ของรางวัลต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็นรึเปล่าในมุมมองของพี่หนึ่ง
รางวัลทุกรางวัลเป็นเรื่องที่ดี รางวัลแม่ค้าลอดช่อง รางวัลคนกวาดถนนอะไรงี้ มีให้เยอะๆ เลย มันคือการส่งเสริม ช่วยทำให้เป็นข่าว ช่วยฉายไฟ ช่วยคัดกรอง ซึ่งคำว่าเยอะๆ เนี่ย เดี๋ยวมันจะทำให้เกิดการพัฒนา รางวัลที่ห่วยๆ เดี๋ยวก็ล่มสลายไป กรรมการก็จะมีคุณภาพดีขึ้น คนทำงานก็คุณภาพดีขึ้น รวมถึงร้านหนังสือและสิ่งที่เกี่ยวข้องต่างๆ แต่ถ้ามีน้อย มันก็เหมือนกรุงเทพอะ ทุกคนต้องมากระจุกอยู่กรุงเทพที่เดียว แต่ถ้าเชียงใหม่ก็มี ภูเก็ตก็มี น่านก็มี มันก็ไม่จำเป็นต้องมาไง
แต่เราไม่สร้างงานเพื่อจะให้ได้รางวัลนะ เราสร้างงานของเรา แล้วมีคนหรือองค์กรหนึ่งมาให้รางวัลก็ดีใจ แต่มันไม่ใช่เป้าหมาย มันไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต ก็เหมือนดอกไม้ดอกหนึ่ง มีคนเห็นคุณค่า มีคนชื่นชม ก็โอเค ขอบคุณ
แต่ถ้าพูดถึงรางวัลนี้ หรือรวมไปถึงรางวัลอื่นด้วย เราอยากมีรางวัลเยอะๆ ไม่ต้องมาผูกขาดที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมีเยอะ มันเกิดการแข่งขันอะ เหมือนมันเสรี ก็จะดีขึ้น
แต่น้อยมากที่คนจะได้รางวัลจากงานเขียนพวกความเรียงหรืองานสัมภาษณ์ ทั้งๆ ที่เป็นงานที่ปัจจุบันมีเยอะมาก
ปัญหาอย่างหนึ่งในเมืองไทยคือมันไม่ค่อยนับงานอื่นๆ ว่าเป็นวรรณกรรม เหมือนการขีดเส้นกำหนดมันยังไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างแบบง่ายสุดเลย ในเมืองไทย สิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมและการอ่านการเขียนคือ ‘รางวัลซีไรต์’ แม้ตอนนี้บทบาทจะจางลงไปบ้างแล้ว 20 ปีที่ผ่านมามันมีบทบาทมาก ซีไรต์ให้รางวัลงานเขียนแค่ 3 ประเภท คือ เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี แต่ตอนนี้งานความเรียงมันโตขึ้นมามาก แต่มันก็ไม่ถูกให้ค่า ไม่มีใครให้ความสนใจ ทั้งที่ถ้าซีไรต์สนใจว่าคนทำงานตรงนี้มีอยู่เยอะ กระทั่งอาจจะเยอะกว่าเรื่องสั้นด้วย ในตอนนี้นะ แต่เมื่อองค์กรที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ไม่ชายสายตามา ไม่ให้คุณค่า มันก็เหมือนยังไม่ทันกันอะ ระหว่างผู้ผลิตกับสถาบันหรือองค์กรบางอย่าง
รางวัลใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อสังคมมาอย่างยาวนาน
แต่มามองงานแค่ 3 ประเภท มันสะท้อนความคับแคบเกินไป
ประโยชน์จากอำนาจที่คุณมี ที่จะสร้างประโยชน์ได้มันต่ำเกินไป
มันไม่รับใช้ยุคสมัย
หรืออย่างพอพูดคำว่านักเขียน คนก็จะติดคำว่ากวีซีไรต์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นกวี นึกออกปะ มันจะติดปาก อะไรที่ถูกเผยแพร่ออกไทยรัฐ ออกช่องสามไปนาน พูดนานแล้ว มันก็เหมือนเป็นภาพจำ แต่ไม่ได้เข้าใจเลย แยกประเภทก็ไม่ออก ความเรียงคืออะไรก็ไม่รู้
พอตอนนี้คนที่มีอำนาจ องค์กรต่างๆ ไม่ได้ทำหน้าที่ อย่างพูดคำว่า ‘วรรณกรรม’ เขาก็จะไม่เห็นว่าความเรียงคือวรรณกรรม เขาไม่เห็นว่าบทสัมภาษณ์คือวรรณกรรม ทั้งที่ทุกอย่างมันเป็นได้หมด กระทั่งเรื่องสั้นอาจไม่เป็นวรรณกรรมก็ได้ เรื่องสั้นมันอาจเป็นขยะมากเลยก็ได้ แต่พอเป็นเรื่องสั้น คนอาจจะบอกว่าดีกว่าความเรียง เหมือนว่ามีความเป็นวรรณกรรมมากกว่าอะไรแบบนี้ พอนึกภาพออกปะ
พอมันถูกจับใส่ตะกร้าไปเสียแล้ว ก็เหมือนว่าดี อะไรที่ยังไม่ถูกจับใส่ตะกร้า ก็ว่าไม่ดี พูดง่ายๆ นักเขียนในเมืองไทย ถ้าไม่ได้ซีไรต์ก็ไม่เก่งดิ ถ้าเก่งก็ต้องได้ นึกออกปะ ก็เอ้า เขาไม่ได้ให้รางวัลความเรียง มันจะได้ได้ยังไง แล้วสมมตินักเขียนคนนี้เขียนแต่ความเรียง มันอาจจะเขียนดีกว่าคนเขียนนิยายมากก็ได้ แต่ซีไรต์ไม่ให้รางวัลความเรียง มันจะได้ได้ยังไง มันจะได้ออกทีวีได้ไง คนก็ไม่รู้จัก ไม่ดัง
แต่ถึงอย่างนั้น ในนามของคนทำงานเอง ใครมีหน้าที่ให้รางวัล ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปให้ดีที่สุด นักเขียนก็ทำงานเขียนไป ไม่ใช่ว่า วันๆ มานั่งรอแต่ว่า มันมีรางวัลอะไรบ้าง แล้วตั้งใจหรือพยายาม หรือหาวิธีที่จะได้รางวัลนี้ รางวัลนั้น เราไม่ได้มองแบบนี้ ไม่ได้เอารางวัลเป็นตัวตั้ง เพราะยังไงก็จะไม่เป็นฝ่ายส่งประกวด
คือใครจะส่งประกวด ก็ส่งประกวดไปนะ ก็ยินดีด้วย อยากให้มีรางวัลเยอะๆ ไม่ได้รังเกียจเลย
แต่เราแค่อยากทำงานไป
เหมือนคนอ่านเป็นรางวัลโดยตรงของนักเขียนอยู่แล้ว
เราจะไม่ส่งประกวด ไม่ได้ต้องการการชี้นิ้วจากใคร แต่ถ้าเป็นองค์กรที่ ไม่ได้ส่งประกวด แล้วเขาเอามาให้ อย่างศิลปาธร เราไม่ได้ส่งประกวด เขาให้ เราก็ขอบคุณ
แต่นักเขียนต้องการรางวัลเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้เงินเยอะมาก
เท่าที่เรารู้ ไม่ใช่เมืองไทยอย่างเดียว แต่นักเขียนทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ หมายความว่า รายได้ค่าเฉลี่ยของนักเขียนทั่วโลกเนี่ยต่ำกว่าควรจะเป็น โดยเฉลี่ยนะ แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่านักเขียนทุกคนยากจนหมด นักเขียนที่ร่ำรวยมากกว่าแพทย์ กว่าวิศวะ กว่านักการเมืองก็มี ถ้าเขาเขียนหนังสือระดับ best seller ที่ขายทั่วโลก
ประเด็นที่ชวนคุยก็คือ อาชีพนักเขียนไม่จำเป็นต้องยากจน อาจจะรวยก็ได้ หรือจนมากก็ได้ นักเขียนที่รวยมากเลย ขายหนังสือได้เป็นล้านๆ เล่มก็มี อย่าง เจ.เค.โรว์ลิ่ง นี่รวยแน่นอน แต่เมื่อกี้เราพูดว่าค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยต่อความรู้ ต่ออายุเนี่ย เมื่อเป็นค่าเฉลี่ยแล้วมันค่อนข้างต่ำ
แต่คนที่เลือกอาชีพนี้ เขาก็ไม่ได้บังคับคุณมาเป็นนักเขียน ถูกปะ คุณจะไปตีโพยตีพายว่าสังคมนี้ไม่ใส่ใจ มันก็ไม่ใช่เรื่อง นี่ใครบังคับคุณเนี่ย คุณไม่พอใจ คุณก็ไปทำอย่างอื่น คือหมายความว่าหน้าที่ใครที่ต้องทำ เช่น สมาคมนักเขียน องค์กรของรัฐ ที่ต้องมาดูแลแต่ละอาชีพ คุณก็ต้องทำนะ คุณก็ทำหน้าที่ของคุณไป ซึ่งมันต้องมีองค์กร องค์การต่างๆ เพื่อมาดูแลประชาชน แต่ไม่ใช่อาชีพนักเขียนมีสิทธิพิเศษมากกว่าอาชีพอื่นๆ ทุกอาชีพควรมีอะไรสักอย่างมาดูแล ทั้งภาครัฐ องค์กร ต่างๆ นานา ก็ว่าไป
แต่ในทางส่วนตัว เสรีชนของทุกอาชีพอะ ต้องมีหน้าที่พึ่งพาตัวเอง อย่างเราเองรู้มั้ยว่าอาชีพนี้เงินน้อย รู้ดิ ทำไมจะไม่รู้ เราเรียนฝรั่งเศสมา ไปดิ้นรนทำงานใช้วิชาฝรั่งเศสก็คงได้งาน ได้เงินมากกว่านี้ แล้วก็เคยทำมาแล้ว ตอนที่จบปุ๊บ เราเป็นพนักงานฝ่ายต่างประเทศ ก็ได้เงินมากกว่าเป็นนักข่าว แต่เราไม่ชอบทำไง ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้อยากมีเงินน้อย ไม่ได้อยากทำอาชีพที่มีเงินน้อย แต่เผอิญว่าอาชีพที่ทำเงินมันน้อย นึกออกปะ
จริงๆ ค่าเรื่องที่เขียนไม่ได้อยากได้สามพัน มึงจ่ายมาเลย สี่หมื่น กูก็เอา แต่ว่าเขาจ่ายกันเท่านี้ นึกออกปะ แล้วเราก็เลือก เพราะว่าเราชอบอาชีพนี้ เราอยากทำ แล้วมันก็มีข้อดีอื่นๆ ที่เพียงพอสำหรับเรา เราเลือก เพราะเราชอบที่จะทำ ไม่ได้ชอบเพราะเงินมันน้อยดี ไม่ใช่ชอบอย่างนั้น
งานเขียนที่ดีและมีความหมายควรเป็นแบบไหน ส่วนตัวแล้วรู้สึกมั้ยว่าต้องเขียนออกมาเพื่อสร้างคุณค่าอะไรบางอย่าง
ถ้างานจะออกมามีความหมาย มีคุณค่าอย่างไร ให้เป็นเรื่องของคนอ่านเป็นคนตัดสิน เป็นเรื่องนักวิจารณ์เป็นคนพูด องค์กรทางวรรณกรรม กระทรวง สถาบันการศึกษา ซึ่งเราจะไม่พูดอย่างนั้น เรามีหน้าที่ทำแค่งานของเรา มันจะดี จะชั่ว จะถูก จะผิด ก็ให้องค์กร ให้คนอ่านเป็นคนตัดสิน เราแค่สนใจอยากทำงานของเราให้ดี
มันเลยพูดยากไง อะไรดีกว่าไม่ดีกว่า เอาเป็นว่าใครชอบแบบไหนก็ดูไป ผู้ผลิตบางคนเขาชอบผลิตบางอย่าง ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากจะป๊อป ไม่ใช่ว่าเขาอยากอินดี้ แต่เขาทำสิ่งที่เขาว่าดี ทำแล้วมีคนดู 7 คนอะไรแบบนี้ คุณก็ยืนยันความเชื่อของคุณไป ก็ทำไป ถึงวันหนึ่งไม่ไหวก็ล้มหายตายจากไป จะให้ไปทำแบบที่คนอยากดูเยอะๆ มันทำไม่เป็นไง มันไม่ชอบ มันไม่สนุกที่จะทำอย่างนั้น
ผ่านการทำงานสัมภาษณ์ จนคนเรียกว่าเป็นนักสัมภาษณ์มือหนึ่งเลย อยากรู้ว่าการที่พี่หนึ่งได้ไปสัมภาษณ์คนเยอะๆ ทำให้มองเห็นอะไรในความเป็นมนุษย์บ้างไหม
มนุษย์คงพอๆ กัน มนุษย์คงไม่ต่างกันมาก ความต่างคงเป็นเรื่องแบบ ใครอยากใส่เสื้อผ้าสีอะไร ใครอยากไปไหน เป็นรายละเอียดยิบย่อย หลักๆ ก็คือความสันติ ความหมาย ซึ่งความหมายของแต่ละอาชีพ แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน
แต่ที่ว่าเหมือนกันก็คือ ไม่ว่าจะสวยแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะรวย ไม่ว่าจะดังแค่ไหน คุณจะมีความสุขประมาณหนึ่ง แล้วคุณก็จะมีความทุกข์ประมาณนึง ไม่มีใครมีความสุขถึงที่สุด แล้วไม่มีความทุกข์เลย
ข้อแตกต่างคือเวลามีความทุกข์ ความสามารถในการจัดการบริหารคือสิ่งที่ต่างกัน ถ้าใครมีความสามารถในการจัดการบริหารที่ดี ไม่ว่าจะรวยรึเปล่า ไม่ว่าจะสวยรึเปล่า ไม่ว่าจะดังรึเปล่า โอกาสที่คุณจะมีชีวิตที่ดีก็มีมากกว่า
เพราะฉะนั้นมันวัดกันที่ความสามารถในการจัดการ ซึ่งความสามารถในการบริหารจัดการมาจากไหน มาจากความรู้ทุกประสบการณ์ที่คุณสะสมทั้งชีวิต ถ้าคุณสะสมมาน้อย คิดมาน้อย คนที่ไม่เคยคิดย่อมคิดไม่เป็น ความคิดไม่ได้ลอยมาจากฟ้า
หรือคุณฟังมาน้อย บทเรียนในหัวก็น้อย คุณอ่านหนังสือมาน้อย เรื่องเล่าในหัวคุณก็น้อยอะ พอน้อย เวลาคุณจะคิดจะเลือกสิ่งที่คุณจะหยิบมาใช้ เช่นว่า คุณจะทำสวน มีมีด มีจอบให้เลือกร้อยแบบ คุณจะรู้ว่าดินแบบนี้ต้องเลือกใช้จอบแบบไหน จะหั่นเนื้อต้องใช้มีดแบบไหน จะปอกฝรั่งต้องใช้มีดแบบไหน ถ้าคุณอ่านหนังสือมาน้อย ฟังเรื่องเล่ามาน้อย คิดกับโลก กับเรื่องต่างๆ มาน้อย อุปกรณ์ที่คุณมีมันน้อย คุณก็จัดการกับปัญหาได้ไม่ดีอะ นี่คือข้อต่าง มันทำให้ชีวิตคุณแย่ แก้ปัญหาไม่ได้
บางทีเมื่อมนุษย์ไม่มีประสบการณ์ อ่อนเยาว์เกินไป
ก็เลยไปทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
คือในโลกนี้มันมีเรื่องที่เล็กและเรื่องที่ใหญ่ เรื่องที่สำคัญและเรื่องที่ไม่สำคัญ ถ้าคุณทรีตมันให้ถูก เป็นแผลนิดเดียว ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นโรคมะเร็ง ต้องไป มันเป็นวิธีการจัดการกับปัญหา
ถ้าใครจัดการปัญหาได้เหมาะควร ชีวิตมันก็ไม่เหนื่อยเกินไป ไม่กระวนกระวาย คุณก็จะอยู่กับตัวเองได้ ไม่ต้องโหยหาคนอื่นตลอดเวลา ไม่ต้องเรียกร้องความสนใจตลอดเวลา โพสต์เฟซบุ๊กต้องมีคนไลก์ห้าร้อยไลก์ขึ้นไปถึงจะแฮปปี้ ถ้าไม่ถึงห้าร้อยไลก์แล้วรู้สึกล้มเหลว คือคุณแขวนชีวิตไว้กับคนอื่น ประเด็นมันผิด
ถ้าถามว่าพี่หนึ่งมีวิธีการใช้ชีวิตยังไง ถึงได้มาอยู่ตรงนี้
ใช้ชีวิตด้วยการเลือก ในยามที่เลือกได้ ต้องเลือกให้ถึงที่สุด เพราะชีวิตมันมีทั้งที่เลือกไม่ได้ และเลือกได้ ฉะนั้นอะไรที่เลือกได้เราต้องเลือก และทุกการเลือก เลือกแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งขนาดเราเลือกเอง ก็มีเลือกผิด แล้วเราก็รับผิดไป ก็แก้ปัญหาไป แต่เบื้องต้นคือต้องเลือก แต่เลือกก็ต้องพร้อมรับผิดชอบ
ดีใจที่ตัวเองกล้าเลือกทำอะไร เป็นคนเอาแต่ใจ ทำแต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำ ไม่ต้องเอนตามใคร คืออย่างตอนนี้ สมมติตัวเองเป็นนักร้องฮิปฮอป แต่เพลงป๊อปดัง แล้วก็พยายามให้ตัวเองเป็นป๊อป แต่เราไม่ใช่คนแบบนั้นไง ถ้าเราชอบฮิปฮอป เราก็ทำแต่ฮิปฮอป มันไม่ดังยังไงก็ช่างมัน ถ้าไม่ดังก็จะทำให้มันดัง ได้รึเปล่าก็ไม่รู้ แต่จะทำให้มันดี
แล้วพี่หนึ่งตั้งใจจะทำอะไรต่อไป
ก็เขียนไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็อายุ 49 จะ 50 แล้ว สำหรับเรามันอยู่ในวัยชรา คือยังไม่ชราหรอก แต่เราเตรียมตัวสู่วัยชรา คือเรารู้ไง ตั้งแต่อายุ 30 มามันไม่มีทางที่ร่างกายจะแข็งแรงได้มากกว่านี้ หมายความว่าคุณไม่มีทางแข็งแรงได้อีกแล้ว มันมีแต่ขาลง
เมื่อร่างกายอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ ชราลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราคิดทุกวันนี้คือเราเรียนหนังสือ เน้นการเพิ่มความรู้ เพื่อให้มันสัมพันธ์กัน คือมันต้องมีอะไรเพิ่มมา มันถึงจะสามารถประครองชีวิตได้ ทุกวันนี้ก็เรียนฝรั่งเศสด้วยตัวเอง เป้าหมายคือต้องอ่านออกเขียนได้ ถ้าได้ถึง native ก็เอา native คือรู้สึกดีมากกับการเลือกสิ่งนี้
เราอยากเป็นคนชราที่มีประสิทธิภาพ คือไม่ต้องถามตัวเองเลยว่าเรียนไปทำไม ช่างมัน ขับรถให้เก่งก่อน เก่งแล้วเดี๋ยวขับไปไหน เดี๋ยวว่ากัน หน้าที่ตอนนี้คือขับให้เก่ง เราก็จะทำให้เก่ง ตอนนี้คือ ความสนใจหลักคือเรียนหนังสือ ส่วนการเขียนก็ทำอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้วอนาคตจะไปอยู่จุดไหนต่อ จะอยู่น่านตลอดไปมั้ย
ทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราว ก่อนหน้านี้อยู่กรุงเทพ แฮปปี้ดี อยู่มาถึง 25 ปี ซึ่งไม่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก แต่พอผ่านไป 25 ปีก็รู้สึกไม่สบาย ก็เลือกออกไปจากตรงนั้น
ตอนแรกที่มาอยู่กรุงเทพ เพราะว่าคนจบมหาวิทยาลัยทุกคน ไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน คุณจะทำงานอะไรที่จังหวัดคุณได้อะ มันไม่มีงานให้ทำ ต่อให้คุณไม่ได้เรียนที่กรุงเทพ คุณเรียนมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด แต่เรียนจบคุณก็ต้องเข้ากรุงเทพอยู่ดี สมมติว่าอยากทำข่าวหนังสือพิมพ์ อยู่ที่สกลนครมันมีหนังสือพิมพ์มั้ยล่ะ ใช่ปะ มันไม่มีนิตยสารอะไรให้เราทำ
เพราะงั้นกรุงเทพมันก็เหมือนกับแรงดึงดูด
ที่ไม่ว่าคุณจะอยากมาหรือไม่อยากมา
แต่ก็ต้องมา เพื่อหาเลี้ยงชีพ
แต่ถึงจุดหนึ่ง คุณภาพชีวิตมันไม่ดีไง เงิน 100 บาทที่กรุงเทพเนี่ย ถ้าไปเทียบกับเงิน 100 บาทที่จังหวัดน่าน เงิน 100 บาทที่จังหวัดน่านมันมีค่ามากกว่า มันใช้ได้มากกว่า สมมติว่าคุณได้เงินเดือนที่กรุงเทพ 50,000 บาท อยู่ที่น่านคุณมีสัก 30,000 บาท แต่คุณภาพชีวิตที่นู่นดีกว่า หายใจสบายกว่า เวลามีมากกว่า
แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องออกต่างจังหวัด มนุษย์แต่ละคนก็แล้วแต่ว่ามีความปรารถนา มีความสนใจยังไง คุณเลือกเอา บางคนอาจจะเหมาะสมมากที่จะอยู่ทองหล่อ ก็อยู่ไป ก็คุณชอบที่นี่ คำว่าชีวิตที่ดีของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน สำหรับเรา ชีวิตที่ดีของเราคือ ต้องมีเวลา ต้องหายใจสบาย หายใจไม่สบายไม่ชอบ
แต่ถ้าวันหนึ่งรู้สึกไม่พอดี ไม่สบายตัว ก็เปลี่ยน ก็เลิก ก็ขาย สมมติเมืองไทยไม่น่าอยู่แล้ว มีที่อื่นน่าอยู่ก็จะไป เราจะไม่ปิดตัวเองด้วยพรมแดน จะไม่กั้นตัวเองด้วยแผนที่ประเทศ มนุษย์อยู่กับโลก โลกคือทรัพย์สิน โลกคือที่อยู่ของมนุษย์ เราไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยภาษา ด้วยเชื้อชาติ ด้วยแผนที่ ถ้าเราเอ็นจอย เราไปได้ ไปอยูเปรู ไปอยู่สเปน ไปโบลิเวีย ไปได้ก็ไป
แต่ตอนนี้ ความพอดีมันคือที่น่าน พอดีไปอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ แต่พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายแปรเปลี่ยน ถ้ามันไม่สบายตัวก็ต้องเปลี่ยน แต่ก็ไม่ได้ว่าอยู่เพื่อรอวันย้าย แฮปปี้ที่จะอยู่ก็อยู่