เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมได้ยินประกาศจากสำนักงานการขนส่งเมืองลอนดอน (Transport for London หรือ TFL) ว่าจะมีการประท้วงหยุดทำงานของพนักงานรถไฟใต้ดิน หรือที่คนที่นี่เรียกกันสั้นๆ ว่า ทู้บสไตรค์ (Tube Strike คำว่าสไตรค์ที่แปลว่าหยุดงานประท้วงนั่นหล่ะครับ)
ถ้านับตั้งแต่วันแรกที่ผมอยู่มาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว มีการประท้วงทู้บสไตรค์เกิดขึ้นทุกปี ต่างวาระก็ต่างเหตุผลในการประท้วง ครั้งล่าสุดก็เมื่อ 9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง รอบนี้ผมโดนเข้าเต็มๆ เพราะเป็นวันที่บินมาลงสนามบินฮีทโธรว์และจะจับรถทู้บเข้าเมืองพอดิบพอดี เมื่อก่อนไม่ได้สนใจมากนัก รู้แค่ว่าถ้าสไตรค์เมื่อไหร่ก็คือชีวิตลำบาก แต่หลังๆ เริ่มค้นดูว่าทำไมเขาถึงต้องประท้วงกัน จนได้เข้าใจว่าเฮ้ยเขาซีเรียสนะ บางคนจะต้องถูกให้ออกจากงานหรือถูกให้ทำงานเกินเวลา จากที่เคยคิดแต่ว่าพนักงานรถไฟฟ้าเหล่านี้ช่างไม่มีความรับผิดชอบ เอะอะอยากได้อะไรก็จะหยุดงาน เหมือนจับคนทั้งเมืองเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับเทศบาลเมืองลอนดอน ก็กลายเป็นความเข้าใจพวกเขามากขึ้นว่ามันก็เป็นการถ่วงดุลอำนาจอย่างหนึ่งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ถูกกดขี่ข่มเหงอยู่เพียงฝ่ายเดียว
พาลคิดไปถึงว่าแล้ว BTS กับ MRT ของไทยเราเมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่เป็นหัวใจหลักของกรุงเทพแล้วเหตุการณ์สไตร้ค์แบบนี้จะเกิดขึ้นเหมือนกันมั้ย?
รถไฟใต้ดิน มนต์เสห่ห์แห่งลอนดอน
รถไฟใต้ดินหรือที่คนลอนดอนเรียกสั้นๆ จนติดปากว่าทู้บ (Tube) นั้น เป็นหัวใจของการเดินทางในเมืองหลวงอันแสนจะรีบเร่งและพลุกพล่านแห่งประเทศอังกฤษครับ เริ่มมีใช้งานกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 นู่น คนใช้งานทู้บมีตั้งแต่คนทำงานแรงงานหาเช้ากินค่ำแต่งตัวโทรมๆ ถือเครื่องมือก่อสร้างไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงใส่สูทผูกเนคไทรองเท้ามันวับ เป็นมนต์สเน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองที่ไม่ว่าคุณจะรวยแค่ไหน ทำมาหากินอะไร ก็หนีไม่พ้นต้องมาขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันอยู่ดี เผลอๆ คนทำความสะอาดกับซีอีโอบริษัทอาจจะนั่งข้างๆ กันไปตลอดทาง จนเดินเข้าออฟฟิศเดียวกันก็เป็นไปได้ เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะว่าวิธีการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินแบบนี้เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับการคมนาคมในรูปแบบอื่นๆ
ที่บอกอย่างนี้ไม่ใช่ว่าการเดินทางด้วยรถบัสหรือแท็กซี่ในลอนดอนจะไม่ดีนะครับ รถบัสเข้าถึงตรอกซอกซอยได้ดีกว่าทู้บ แต่ว่าช้ากว่ามากหากต้องเดินทางไกลๆ ส่วนรถแท็กซี่นั้นสะดวกและเร็วกว่ารถบัสหรือทู้บก็จริง แต่ค่าโดยสารก็แพงหูฉี่กว่าทู้บอยู่หลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นจะยากดีมีจนอย่างไร การเดินทางด้วยทู้บไปทำงานหรือไปเที่ยวก็ยังเป็นหัวใจหลักของมหานครแห่งนี้
เกิดอะไรขึ้นถ้าทู้บสไตร้ค์?
โกลาหลครับ คำเดียวเลย สองสามวันก่อนจะถึงวันที่จะประกาศประท้วงหยุดทำงานก็จะเริ่มมีข่าวว่ากลุ่มสหภาพพนักงานรถไฟออกมาขู่ฮึ่มๆ ว่าจะหยุดทำงานวันนั้นเวลานั้นถึงวันนี้เวลานี้นะ (แหม จะหยุดงานยังมีความรับผิดชอบบอกเวลาอย่างชัดเจนอีกนะ) เราก็ลุ้นกันไปครับ แต่ละวันก็จะมีข่าวอัพเดตให้ได้ฟังกันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ปกติแล้วทางฝั่งบริหารนครลอนดอนก็จะเข้าไปต่อรองกับสหภาพ ถ้าตกลงสำเร็จพอใจกันทั้งสองฝ่าย สไตรค์รอบนั้นก็จะยกเลิกไป
แต่หากไม่สำเร็จท่านก็เตรียมใจกันไว้ได้เลยครับว่าเขาเอาจริง
ถ้าเกิดตกลงกันไม่ได้และมีการสไตรค์เกิดขึ้นตามที่ประกาศจริง ในวันเวลาที่กำหนดท่านจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าผู้คนจะออกมาเดินคลาคล่ำบนถนนมากกว่าปกติ รถติดยาวเป็นหางว่าวหลายกิโลเมตร รถบัสคือความหวังสุดท้ายที่ท่านเหลืออยู่ แต่มันก็ช่างเบียดเสียดแน่นขนัดยิ่งกว่าปลากระป๋องตราอะยัม เพราะทุกคนต่างแย่งกันขึ้นรถบัสเพื่อไปทำงานหรือกลับบ้านให้ทัน
ทำไมต้องสไตร้ค์?
ว่าแล้วก็มาดูสาเหตุกันดีกว่าว่าทำไม๊ทำไมมันจะต้องสไตรค์ด้วย ทำงานไปตามปกติไม่ได้หรือไง หรือนิสัยไม่ดีชอบหาเรื่องมาต่อรองเพื่อหาทางขึ้นเงินเดือน? มีคนเกลียดทู้บสไตรค์มากจนถึงขนาดไปทำวิดีโอล้อเลียนใน YouTube ว่าพนักงานรถไฟพวกนี้งานก็ไม่ได้ทำอะไรยาก แค่นั่งบนที่นั่งคนขับ (เด็กสี่ขวบยังทำได้เลยโว้ย) แถมเงินเดือนก็เยอะแล้วยังจะมาขอขึ้นอีก
แต่ถ้ามองลงไปถึงสาเหตุจริงๆ ก็พบว่าสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งกันระหว่างวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของสำนักงานขนส่งเมืองลอนดอนที่ต้องการปรับปรุงระบบรถไฟใต้ดินให้ทันสมัยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่พนักงาน ตัวอย่างเช่นรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พนักงานบางคนต้องถูกเปลี่ยนหน้าที่ เมื่อจะมีการยกเลิกช่องขายตั๋วเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติทั้งหมดนั้น การปรับปรุงนี้ส่งผลให้มีพนักงานที่เคยทำงานอยู่ในห้องขายตั๋วกว่า 270 สถานี จะไม่มีงานทำมากถึง 953 คน คนเหล่านี้บางส่วน (200 คน) อาจจะต้องถูกโยกย้ายไปทำงานกะดึกแทนเพื่อรองรับการเดินรถ 24 ชั่วโมงที่เป็นนโยบายใหม่ของลอนดอนเช่นกัน ที่เหลืออีก 700 กว่าคนจึงยังไม่มีความแน่นอนในชีวิตว่าจะต้องไปทำอะไร อย่างไรต่อไป
ปี 2559 นโยบายเดินรถไฟฟ้าบางสายตลอด 24 ชั่วโมง ก็ส่งผลกระทบต่อพนักงานไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะคนที่จะต้องถูกเลือกให้มาทำงานในช่วงกลางคืน ตัวแทนสหภาพอธิบายว่าค่าตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้น 2% และเงินโบนัสพิเศษ 500 ปอนด์ที่จะได้รับเมื่อเริ่มเดินรถช่วงกลางคืนนั้น ไม่คุ้มเสียเลยกับการที่พวกเขาจะต้องสละเวลาอันมีค่าที่จะได้อยู่กับครอบครัวเพื่อมาทำงานในยามวิกาล (แต่สุดท้ายรถทู้บ 24 ชั่วโมงก็เกิดขึ้นจนได้ สงสัยว่าตกลงกันได้แล้ว)
การประท้วงแบบนี้เกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายซึ่งจะมีผลกระทบต่อพนักงานในสหภาพ
เราอาจจะมองแค่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเรา
ในฐานะผู้ใช้งานอย่างเดียว
ก็คงจะไม่แฟร์กับพนักงานเหล่านี้นัก
มองในด้านหนึ่งการมีความสามารถที่จะ ‘ประท้วง’ ได้ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้พนักงานมีอำนาจต่อรองเพื่อไม่ให้ตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากเกินไป พนักงานเหล่านี้บางครั้งถูกใช้งานเกินเวลาที่กำหนดด้วยค่าตอบแทนที่พวกเขามองว่าไม่คุ้มค่าแก่การทำงานเพิ่ม แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะคิดได้เช่นกันว่าเรามอบอำนาจให้แก่สหภาพเหล่านี้มากเกินควรหรือไม่ เพราะการประท้วงหยุดงานเมื่อไม่ได้ผลตอบแทนตามข้อเรียกร้องที่ตนเองต้องการนั้น ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนจำนวนมากหลายล้านคนในลอนดอน
แต่จนแล้วจนรอด สรุปแล้วการประท้วงรอบนี้ไม่เกิดขึ้นครับ ผมยังยิ้มได้ที่วันนี้สามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ต้องเบียดเสียดไปบนรถบัสอันแน่นขนัด
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org
www.bbc.co.uk
londonist.com
www.theguardian.com